เกลือ = เค็ม

แต่ในโลกของเกลือมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ทั้งในแง่รสชาติและปริมาณโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน (ที่ไม่เกิน 6 กรัม หรือราวช้อนชานิดๆ เท่านั้น) เพราะการได้รับเกลือมากๆ ทำให้ร่างกายเราขาดน้ำ ไตทำงานหนัก และส่งผลต่ออีกหลายๆ โรคตามมา ทั้งโรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดในสมองแตกเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคกระดูกพรุน และมะเร็งในกระเพาะอาหาร!!! การเลือกเกลือและจำกัดปริมาณเกลือในการบริโภคจึงจำเป็นต่อสุขภาพไม่น้อยเลยนะ

มาทำความรู้สึกรสเกลือที่หลากหลาย และเรียนรู้ที่จะบริโภคเกลืออย่างพอดี เพื่อไตที่ปลอดภัยกันเถอะ

ดอกเกลือทะเล กินเปลี่ยนโลก

นอกจากเกลือป่นเค็มปี๋ที่เหยาะหนักมือเข้าหน่อยก็กระฉอกจนโซเดียมล้นเกิน เรายังมีทางเลือกในการใช้เกลือปรุงอาหารอย่างดอกเกลือทะเล สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จัก อธิบายสั้นๆ ว่าการทำนาเกลือซึ่งก็คือการนำน้ำทะเลมากักไว้ในนา แล้วให้แสงอาทิตย์แผดเผาจนน้ำระเหยไปเหลือแต่เกลือไว้ ซึ่งก่อนที่น้ำจะระเหยหมด เกลือชุดแรกที่ตกผลึกอยู่บนผิวน้ำ จะเป็นเกลือผลึกโต ขาวสะอาด และมีรสเค็มอมหวานปะแล่ม เจ้าของนาเกลือมักจะช้อนเก็บไว้กินเอง เพราะเป็นส่วนที่ดีที่สุด ปัจจุบันเทรนด์สนใจสุขภาพกำลังมา เราจึงเห็นดอกเกลือมีขายมากขึ้น ความดีนอกจากรสเค็มอร่อย คือผลึกที่โตกว่าเกลือป่น ทำให้เราไม่เผลอปรุงจนหนักข้อซึ่งทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมเกินความจำเป็น (อันจะนำมาสู่โรคไตและ NCDs ยังไงล่ะ) เกลือเจ้านี้ เราได้มาจากช้อปกินเปลี่ยนโลกที่คัดสรรมาจากนาเกลือบางปะกง ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นครอบครัวสุดท้ายที่ยังคงสืบทอดกิจการนาเกลือจากบรรพบุรุษด้วยนะ น่าสนับสนุนเข้าไปอีกขั้น

www.food4change.in.th/shopping/shop.html

เกลือตัวผู้ VS เกลือตัวเมีย จากสวนศิลป์หนองมน

มาลองแอดวานซ์ขึ้นไปอีกขั้นด้วยการรู้เพศเกลือ นอกจากดอกเกลือที่เล่าไปเมื่อกี้ ตามตำรายาสมุนไพรแผนไทยยังแยกย่อยเป็นเกลือตัวผู้และเกลือตัวเมียเข้าไปอีกจ้ะ เกลือตัวผู้เป็นเกลือที่มีลักษณะเป็นแท่งยาว ในขณะที่เกลือตัวเมียจะเป็นผลึกกลมป้อม เกลือตัวเมียเหมาะไว้ปรุงอาหาร หรือดองผัก ส่วนเกลือตัวผู้มักนำไปใช้ในการแทรกยา ไปจนถึงการกรีดฝีเย็บเพื่อช่วยทำคลอด (ฟังแล้วก็ขนลุกขึ้นมา) แต่ถ้าจะตั้งใจชิมจริงๆ จังๆ รู้สึกว่าเกลือตัวผู้รสจะอ่อนกว่าเกลือตัวเมียนิดหน่อย ไหนๆ ก็ซื้อมาแล้วก็เอามาปรุงอาหารในวันที่อยากรู้สึกพิเศษ เกลือกองนี้ เราได้มาจาก ร้านสวนศิลป์หนองมน ใน Greenery Market คุณพี่คนขายเล่าว่ามาจากนาเกลือสมุทรผืนสุดท้ายแห่งคลองตำหรุ ชลบุรีด้วยนะ

FB: สวนศิลป์หนองมน

ดอกเกลือบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

หลังจากเมารถในการขึ้นดอยภูคาแสนคดเคี้ยวและชื่นชมทะเลหมอกและลำธารไหลเย็นเรียบร้อย เราก็ต้องแวะไปจุดท่องเที่ยวยอดฮิตอย่างบ่อเกลือ จังหวัดน่านอย่างชัวร์ ซึ่งการได้ไปเห็นบ่อเกลือโบราณที่สืบทอดกันมาว่าแปดร้อยปีและไม่เคยเหือดแห้ง เห็นกรรมวิธีดั้งเดิมในการต้มเกลือด้วยกระทะใบเขื่อง และได้รู้ความรุ่งเรืองเชิงประวัติศาสตร์ระดับเป็นแหล่งผลิตเกลือส่งขายไปยังอาณาจักรโบราณอย่างสุโขทัย เชียงใหม่ เชียงตุง หลวงพระบาง สิบสองปันนา ไปจนถึงจีนตอนใต้ ใจก็คิดว่ายังไงเกลือที่นี่ก็ต้องอร่อยแล้วล่ะ และเมื่อซื้อกลับมาลองชิม ยังพบความน่ารักของผลึกเกลือทรงคิวบ์เหมือนที่เคยเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ ส่วนรสชาติ พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยบอกว่าจะอ่อนเค็มแก่เค็มต่างกันไปตามแรงไฟสุม แต่ไม่เค็มจัดจ้านเหมือนเกลือป่น อธิบายให้ชัดคือเป็นรสเค็มที่นวลกำลังดี ไปทั้งทีอย่าลืมซื้อมะแขว่นเมืองน่าน มาทำไก่ทอดมะแขว่นโรยเกลือกินด้วยนะ

เกลือหิมาลายันสีชมพู kurera

ขนาดเกลือยังมีวรรณะ เพราะเจ้าเกลือหิมาลายันสีชมพูสวยนี้ ถูกจัดอันดับให้เป็นเกลือชั้นสูงหรือสุดยอดของเกลือ เพราะมันมีอายุกว่า 200 ล้านปี มีแร่ธาตุมากถึง 84 ชนิด และว่ากันว่าเป็นเกลือที่บริสุทธิ์ที่สุดในโลก นักกินสายเฮลท์ตี้เลยต้องมีติดครัวไว้ปรุงอาหาร แต่สำหรับฉัน ยอมรับตามตรงเลยว่าใช้เพราะมันสวยดี ยิ่งแบบ salt plate เป็นจานเสิร์ฟอาหารยิ่งดูอลังการเข้าไปใหญ่ ใช้ได้ทั้งแบบเอาไปตั้งเตาให้ร้อน แล้วย่างเนื้อสัตว์ลงไปบนเกลือได้เลย หรือจะเอาไปแช่ช่องฟรีซแล้วเสิร์ฟอาหารเย็นๆ ให้สดชื่นก็ได้ ยอมรับอีกครั้งว่าเคยลองครั้งเดียวแล้วพบว่ายุ่งยากไปนิด แต่ก็อลังการอย่างที่คิดจริงๆ แหละ

FB: www.facebook.com/KureraPinkSalt

เกลือดำหิมาลายัน (Volcanic Rock Salt)

หลังจากเกลือชมพูมาครองซีนอาหารสุขภาพพักใหญ่ หินเกลือสีดำวับวาวก็ตามมาติดๆ เว็บไซต์ฝรั่งบอกว่าเหมาะกับวีแกนที่อาจจะโหยหารสชาติของไข่ต้ม เพราะเจ้าเกลือนี่จะเปลี่ยนอะโวคาโดให้มีรสชาติเหมือนถูกโปะด้วยไข่อะไรแบบนั้น ซึ่งเสียงจากผู้ชิมชาวไทยเช่นฉัน ขอบอกว่าเจ้าเกลือนี่กลิ่นกำมะถันแรงมาก ชิมแล้วตุๆ ปะแล่มๆ เหมือนก๊าซไข่เน่าเบาๆ จนถึงกับต้องไปเสิร์ชหาจนได้ความว่า ถ้าเราต้มไข่จนสุกนานเกินไป ไข่จะทำปฏิกิริยาจนเกิดกำมะถันบางๆ นั่นเอง แต่อย่างไรเสีย ฉันเลยไม่ได้กินเจ้าเกลือตัวนี้ แต่เอามาเป็นสปาแช่มือแช่เท้าก็รู้สึกว่าเบาสบายไม่เหนอะหนะเท่าเกลือแกงธรรมดา อาจจะอุปาทานตามสรรพคุณก็ได้ แต่ไหนๆ ก็ซื้อมาแล้ว ก็ต้องใช้ให้คุ้มล่ะนะ

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง