“สังขยาหน้าตั้งไข่                  ข้าวเหนียวใส่สีโศกแสดง
เป็นนัยไม่เคลือบแคลง             แจ้งว่าเจ้าเศร้าโศกเหลือ”

 “ทองหยิบทิพย์เทียมทัด           สามหยิบชัดน่าเชยชม
หลงหยิบว่ายาดม                       ก้มหน้าเมินเขินขวยใจ”

“ทองหยอดทอดสนิท                ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง                         แต่ลำพังสองต่อสอง”

“ฝอยทองเป็นยองใย                เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน
คิดความยามเยาวมาลย์             เย็บชุนใช้ไหมทองจีน”

มีโอกาสมาทำงานที่ เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส มีรำพึงรำพันกับ กาพย์เห่เรือชม เครื่องคาว เครื่องหวาน อยู่บนถนนทางเท้าขรุขระก้อนหินอ่อนในเมืองแห่ง 7 เนินเขา (The city of 7 hills) เดินอย่างน่องปูดโปนบนทางเท้าคับแคบเนินชัน กับภาพสถาปัตยกรรม แสดงความยิ่งใหญ่โอฬารเมื่อครั้งออกเรือหาอาณานิคมห่างไกล แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ข้าวปลาอาหาร ดินแดนเลือดเนื้อแลน้ำตาแห่งอดีตกาล

ขนมไข่แดงสีทองในร้านกาแฟ Confeitaria Nacional ข้างทางเมืองเก่า คะนึงจากบทกาพย์เห่เรือ เดินเขาไปหาขนมแห่งความคุ้นเคยที่สยามประเทศที่ถูกส่งผ่านมาจากดินแดนนี้โดยคุณท้าวทองกีบม้า Marie Guyoma de Pinha ที่บทแห่งประวัติศาสตร์บันทึกไว้ สีเหลืองทองเคลือบฉ่ำหวานน้ำตาล น่ากินหวานอย่างลืมรสชาติอื่นใด

Fios de ovos – ฝอยทอง
Trouxas do ovos – แผ่นไข่แดงต้มในน้ำเชื่อมม้วน
Ovos moles – ก้อนไข่แดงเคลือบน้ำตาล
Castanha de ovos – ไข่แดงกวนในน้ำเชื่อมจนเหนียวปั้นเป็นรูปหยดน้ำ
Doce de ovos – ไข่แดงกวนในน้ำเชื่อม
Tigelada – คิดถึงหม้อแกง สังขยา
Bolo de coco – เค้กมะพร้าว อย่างบ้าบิ่น

การประดิษฐ์ปรุงมีความเหมือนและแตกต่างจากที่ทำในประเทศสยาม แต่เครื่องปรุงหลัก ไข่แดง น้ำตาล น้ำเชื่อม รูปแบบความงามสร้างสรรค์จริต แล้วแต่ผู้ทำจะปรุงสรรค์ให้ออกมา เรียกชื่อตามรูปร่างและวิธีการ ความเป็นมาในการใช้ไข่ทำของหวานของ ประเทศโปรตุเกส เกิดจากการที่เหล่านางชีในโบสถ์คริสต์ ใช้ไข่ขาวช่วยในการลงแป้งชุดเสื้อผ้าสีขาวบริสุทธิให้แข็งตึง จนทำให้ไข่แดงเหลืออยู่มากโขจึงมีการคิดค้นทำของหวานขึ้นมา ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นมีการเดินทางมาของน้ำตาลจากเมืองอาณานิคมบราซิล ทำให้แต่ละเมืองมีการทำของหวานออกมาหลากหลาย 

ความคิดของคนโบราณทุกอย่างมีคุณค่าสามารถสร้างให้มีมูลค่าได้ จากก้อนหินสีใส ไร้ราคา ที่ไม่คิดว่ามันจะถูกเรียกว่า เพชร ที่มีอำนาจแลกเปลี่ยนราคามหาศาล

ขนมไข่แดงสีทองก็เป็นเพชรเม็ดหนึ่งของวงการอาหารของโลกนี้ การเดินเรือของโปรตุเกสทำให้ประวัติศาสตร์อาหารของโลกเปลี่ยนไปอย่างมากมาย อาหารทำให้คนรู้จักกันและแบ่งปันกัน มีการสอน มีแลกเปลี่ยน อย่างฝอยทอง บนทางผ่านของอดีต นั้นได้แวะเข้าไปในหลายประเทศของเอเชีย ด้วยความหวานนั้นช่วยปัดเป่าความร้อนแรงแห่งรสอาหารหลัก และความแห้งผากของลำคอจากชากาแฟเครื่องดื่มมื้อรอง การเรียกชื่อต่างไปตามภาษาประเทศ

ไทย – ฝอยทอง
ญี่ปุน – Keiran Somen
กัมพูชา – Vawee
มาเลเชีย – Jala Mas
อินเดีย – Muttamala

พรมแดนของอาหารไม่เคยถูกกีดขวางจากความหิว การเดินทางเป็นประสบการณ์แห่งการอิ่มท้องของผู้มีอาชีพของคนครัว  อยากลอง อยากกิน อยากทำให้กิน เป็นความงามอย่างมหัศจรรย์ อดีต อนาคตของอดีตได้มาเจอกัน

ภาพถ่าย: ปริญญ์ ผลสุข

เกร็ดสุขภาพจาก Greenery:
การบริโภคน้ำตาลหรือขนมหวานมากเกินไปอาจเป็นผลเสียต่อสุขภาพ และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี (NCDs) จากข้อมูลธงโภชนาการของคนไทย แนะนำการบริโภคน้ำตาลที่เติมเพิ่มในอาหารไม่เกิน 4, 6 และ 8 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600, 2,000 และ 2,400 กิโลแคลอรีต่อวันตามลำดับ

ทั้งนี้ ในบทความข้างต้นได้เล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของขนมทอง ขนมหวานจากประเทศโปรตุเกส ซึ่งนับเป็นอาหารที่เกิดจากการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่เหลือใช้อย่างไข่แดง อีกทั้งขนมทองในอดีตยังถือว่าเป็นอาหารที่หาทานได้ยาก ไม่ใช่สิ่งที่ทานได้บ่อยๆ อย่างทุกวันนี้ ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจประวัติศาสตร์และบริบทของอาหาร ก็จะเลือกกินได้อย่างเข้าใจมากขึ้น