อากาศยานร่อนลงจากถนนท้องฟ้าเวลาสายในอากาศเย็นๆ รุมๆ ถึงอุ่นไอ น่าน จังหวัดที่มีจังหวะช้า สบาย มีความเก่าแก่ทางด้านประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นหัวเมืองสำคัญเมืองหนึ่งทางภาคเหนือ

เช่ารถยนต์ขับชมเมืองเผลอไผลเข้าไปในตลาดตั้งจิตรนุสรณ์ ความใหม่เก่านิยมของพืชพันธุ์ผลิตผลทางการเกษตร แปรเปลี่ยนตามสังคมดิจิทัลออนไลน์และการเปิดประเทศ ผักกาด ผักกูด คะน้า ผักบุ้ง คาวตอง ดีปลากั้ง จะค้าน มะแฮะ มะไฮ่ หัวผักกาดขาว บีทรูท แครอท ผักคอส ผสมสะป๊ะปนเป ป่ออุ้ยแม่อุ้ยเอาไปแกงแคใส่หัวผักกาดสีส้มมันงามดีปลูกที่ท้ายไร่คันนากับผักเผ็ดผักแค กินกะลำอร่อยแปลกลิ้น

จอดรถกินอาหารเช้า ข้าวซอยเนื้อ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้างทางใต้ถุนโฮมสเตย์ (home stay) อบอุ่นตั่งได้นอนที่บ้าน อาหารถูกทำให้ร่วมสมัยทานง่ายกินง่าย หัวดำ หัวทอง หัวแดง หัวบรอนซ์ และหัวขาว กินได้ไทยฟู้ดดีมากๆ

เคลื่อนเครื่องยนต์ออกจากตัวเมืองน่านไปอำเภอปัว ปลายทางแห่งเสื้อผ้าแพรพรรณ เครื่องเงินเครื่องทอง ระหว่างทางได้แวะซื้อของข้างทางแม่ค้าเชิญชวน ดอกต้างหลวง ผักกูด ผักขี้หูด มะเขือส้มหลวง จานละห้าบาทสิบบาท เก็บตามป่าดินดอย กะจะเอาไปลวกกินกับน้ำพริกตาแดงมะเขือส้ม

ปัว อำเภอทางผ่านแต่กลับกลายมาเป็นสวรรค์ของผู้ใช้ชีวิตแช่มช้า (slow life) กินกาแฟ คุกกี้ เค้กพาย ข้าวควบ ข้าวแตน ขนมเกลือ อยู่โฮมสเตย์ข้างไร่กลางนา ข้างสวนสวยงามด้วยดอกผักกาดจ้อน ดอกผักขี้หูด ดอกยาสูบ ดอกข้าว และซังข้าว ดอกไม้ดอกหญ้าเรี่ยร่ายรายทาง

งานหลักหลังหน้านาที่ยังทำอยู่ให้กับนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมยล คือ การทอผ้าอย่างไทลื้อ ปลูกฝ้าย เก็บฝ้าย ฟั่นปั้นเป็นเส้นย้อมสีสันเปลือกไม้สีไม้ ทอเข้าหูก ผูกตัดเป็นเครื่องห่มห่อ ยามหน้าแล้งหน้าหนาว เดี๋ยวนี้ ซื้อด้ายในกาดมาทอเอา แม่อุ๊ยบ่มีแรงไปฟันเปลือกไม้มาย้อมฝาดย้อมสี

อาหารเช้าอาหารแลงก็กินลาบ กินส้า น้ำพริกข่า จิ้นน่องนึ่ง ข้าวเหนียวนึ่ง แนมผักสดผักหอมแก้สาบแก้เลี่ยนเลือด คนกรุงเทพกิ๋นกะลำแต้ ส้มตำ ลาบเป็ด น้ำตก คอหมูย่าง เป็ดทอดน้ำดี ก็มีให้เชิญชวนชิมทางอีสานผู้มาฝากชีวิตในดินแดนแถบนี้ กับความต่างสักคาบสักมื้อ

เดินผ่านกาดแลงถนนคนเดิน มีข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ ลูกชิ้นทอดปิ้ง ซูชิ สเต็ก สปาเกตตี้ มะหลอด พริกเกลือ ฯลฯ ทุกผู้ทุกคนกินกันโดยไม่ระแวงว่าไร้รสนิยม

ขับรถสู่ถนนปัว ดอยภูคา บ่อเกลือ ลดเลี้ยวเลิดลาดเชิดชันตามแนวสันเขางานศิลปะแห่งวิศวกรการทาง เงาไม้ร่มรื่นบังใบลมโชยเย็นออกเเห้ง ดอกไม้ป่าไสวตามแรงลม ดอกชมพูภูคาเลื่องลือเเย้มบานในอุทยานเพื่อเก็บรักษาแห่งพันธุ์ดอกไม้นี้ให้ละอ่อนลูกหลาน

บนถนนลาดชันแวะร้านชำป่าข้างทางลาดตลิ่งถนน ซูเปอร์มาร์เก็ตกลางป่าของชนเขาเผ่ากะเหรี่ยง น้ำเต้าแห้ง ขิง ข้าวดอย มะหลอด มะข่วง พริกสด พริกแห้ง รถด่วน สวิงหาปลา ไม้เกี๊ยะ ใบเมี่ยงดอง ลูกสบ่า ตัดสินใจซื้อ เผือกนึ่ง มันขาวนึ่ง มะแขว่นแห้งหอมออกมะนาว ดอกฮอวอ สองอย่างแรกเอาไว้กินกลางทาง อีกสองอย่างเอาเก็บไปทำอาหาร ราคานับญาติเป็นพี่เป็นน้อง

น้ำเต้าแห้งและมะแขว่นในห่อห้อยรายทาง

ดอกฮอวอ ตากแห้งเอาเมล็ดพันธุ์ สำหรับไปปลูกต่อ

มะหลอด หรือ บ่าหลอด ในภาษาคำเมือง เป็นผลไม้พื้นเมืองมักกินหน้าร้อน ออกรสเปรี้ยวฝาด เอามานวดเบาๆ ให้นิ่มๆ ความฝาดจะจางไป

ขับรถขึ้นลาดเนินฝ่าลมเย็นบนปลายสันดอยจนเห็น ละอองควันลอยละล่องของอำเภอบ่อเกลือจากปล่องเตาต้มเคี่ยวน้ำเกลือ แล่นผ่านทางถนนกลางอำเภอ เห็นนักท่องเที่ยวอยู่ประปรายเดินหาซื้อเกลือที่ห่อบรรจุสวยงาม มองเห็นเกลือสองบ่อที่เหลือใช้ได้ น้ำเกลือจากชั้นหินถูกตักมาต้มบนกระทะใบบัวบนเตาที่ก่อขึ้นเองสองหัวเตา ต่อบ้านสุมด้วยฟืนไฟหอมควันไม้ เนิ่นนาน 6 ชั่วโมงต่อรอบของการต้มแต่ละกระทะ ที่สามารถตักเกลือขึ้นมาตากบนก๋วยไม้ไผ่สานเหนือเตาต้มเพื่อให้สลัดสะเด็ดน้ำ

เกลือแต่ละเจ้าแต่ละบ้านมีความหอม ขนาดความหนา และรสชาติต่างกันตามความอ่อนแก่ไฟสุม เค็มออกหวานอย่างผสมน้ำตาลนวลปาก ดอกเกลือ จะใช้เวลาต้มนานกว่าเพราะต้องใช้ไฟอ่อนเพื่อให้ผลึกเกาะกันสวยรูปปิรามิด คนสมัยเก่าหวงเกลือไว้ใช้เพราะหายาก บ่าเดี่ยวนี้เดินเข้าร้านสะดวกซื้อติดแอร์กินให้ไตวายก็ไม่หมด

กับข้าวกำกินมีไก่ทอดมะแขว่นที่ถูกปาก กรอบ เค็ม แห้ง หอมมะแข่วนเดียมลิ้น กินได้กินลำอยู่แล้ว พักผ่อนนอนข้างแม่น้ำเมิงไหลริน เคลิ้มเคียงธรรมชาติ รอการเดินทางอีกวัน

เช้าแดดระบายสีสันบนใบไม้หลากสีบนหว่างเขาใบระบัดบรรเจิดสีงามของรอยฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนตะบึงเครื่องยนต์บนภูเขาบนทิวเขาหลวงพระบางกับทิวเขาผีปันน้ำ หลากหลายเชื้อชาติพันธุ์ระหว่างทางบนสันเขาสลับสีหลากอารมณ์มองเห็นด้วยสายตา ถึงแม้จะมีความข้องขัดของร้านกาแฟวิลัยนิยมความแช่มช้าบรรจุอยู่บ้างตามข้างทาง แต่ฤทธิ์กาแฟก็ยังทำให้ร่างกายสดชื่นใจได้ขับรถตะเวนต่อ

ลงลาดเนินสู่จังหวัดแพร่ชุมชนเมืองโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประตูสู่ล้านนานครตะวันออก แสดงประตูคูเมืองอยู่รายรอบและมีคุ้มเจ้าพ่อเจ้าเมืองเป็นหลักฐานแห่งความอุดมสมบูรณ์ของอำนาจและความรุ่มรวยสมัยนั้น เสื้อผ้าทอมือ ย้อมฮ่อมย้อมสี อาหารการกินจึงมีเอกลักษณ์และงดงามต่างกันไป จังหวะใหม่เก่าเต้นระบำรำฟ้อนลีลาศ ตามท้องถนนและตึกรามบ้านช่องคูหาอาคาร จากเช้าจนเย็นไฟระยิบระยับอีกสภาวะของชีวิตก็ดำเนินตื่นขึ้นทำมาหากินผ่านความครึมเมฆฝนโปรยปราย

ผ่านไปอีกวันและคืน

ย่ำรุ่งขับรถล่องไปอำเภอลอง 40 กว่ากิโลเมตรจากเมืองแพร่ ตามหาขนมจีน ขนมเส้น ข้าวปุ้น แล้วแต่จะเรียกตามภูมิภาค ขนมเส้นน้ำย้อยแม่ลาน เห็นเขาเพิ่งบรรจงบีบเส้นลงในน้ำต้ม รอสุกลอยฟ่องไอน้ำร้อน ใช้สวิงตักลงล้างน้ำเย็นอีกสองน้ำแล้วแช่ลงอ่าง ใช้มือลงจับเป็นจับตวัดไปกับนิ้วมือน้ำไหลหยดย้อยตามชื่อเรียก แล้ววางบนจานพูน นำมาพร้อมกับน้ำเงี้ยวน้ำหมู น้ำใส พริกน้ำย้อย พริกคั่วกับหอมกระเทียมจนกรอบปรุงรสเค็มออกหวาน จานข้างๆ เป็นถั่วงอกและผักบุ้งถั่วฝักยาวลวก มีส้มตำมาแนมกับแคบหมู มื้อเช้าวันนี้บรรเทิง

ภาพถ่าย: ธัญญพร จารุกิตติคุณ