เราเป็นคนหนึ่งที่ติดตามกิจกรรมตลาดนัดสีเขียว หรือ งานเกษตรอินทรีย์ตามที่ต่าง ๆ แต่ขอยอมรับว่ายังไม่เคยได้มางานสังคมสุขใจเลย ถึงแม้จะติดตามข่าวสารมาโดยตลอด และแล้วในครั้งนี้ เราได้โอกาสเดินทางไปร่วมงาน งานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดระหว่าง 17-19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สวนสามพราน ซึ่งจัดโดย มูลนิธิสังคมสุขใจ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริม การจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน (สสปน.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน พร้อมด้วยเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ

งานครั้งนี้ จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “รวมพลังขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ เพื่อเรา…เพื่อโลก” โดยความโดดเด่นของาน นอกจากจะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ การบริโภคที่ปลอดภัยไร้สารเคมีแล้ว ยังมุ่งเน้นเรื่องสังคมเกื้อกูลกัน และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญคุณค่าตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งแหล่งผลิตวัตถุดิบต่าง ๆ การจัดจำหน่าย การตลาด จนไปสู่ผู้บริโภค ที่ยั่งยืนรวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาผสมผสาน ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์หนึ่งของงานในครั้งนี้ด้วย

เมื่อเดินเข้าไปในงานแล้ว เราได้พบกับ ตลาดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพดีกว่า 200 บูธ ทั้ง ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ข้าว ผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูป งาน Art & Craft ต่าง ๆ เสื้อผ้า เครื่องประดับ สินค้าเพื่อสุขภาพ เครื่องหอม และเวิร์กช็อปน่ารัก ๆ เน้นสอนจริง ทำเอง ที่ทุกเพศ ทุกวัยสามารถเข้าร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็น การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ การเพ้นต์กระเป๋า เป็นต้น

นอกจากบรรยากาศสบาย ๆ ของตลาดนัด ร้านค้า เวทีเสวนา และกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่สะดุดตาของผู้ร่วมงานทุกคน น่าจะเป็นจุดแยกขยะที่บริการทั่วทั้งงานทั้งหมด 6 จุด โดยจุดแยกขยะจะประกอบด้วยถังแยกขยะที่ค่อนข้างละเอียด ตั้งแต่ ขยะเศษอาหาร ขยะปนเปื้อน ขยะย่อยยาก เช่น ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น พลาสติกยืด กระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋อง เป็นต้น นอกจากถังขยะแยกละเอียดแล้วยังมี จุดล้างภาชนะ จุดตากภาชนะ เพื่อให้ขยะปนเปื้อนที่ไม่สะอาดนั้นกลายเป็นขยะที่สะอาดมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไปได้ นอกจากนั้นแต่ละจุดจะป้ายให้ความรู้ และมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดให้ความรู้ขั้นตอนในการแยกขยะ และวิธีการแยกขยะที่ถูกต้อง

หลังจากแยกขยะต่าง ๆ แล้ว ขยะแต่ละประเภทจะมีที่ไปของแต่ละชนิด เช่น ขยะเศษอาหาร ซึ่งถือเป็นขยะที่เกิดขึ้นมากที่สุดในงาน ซึ่งจะถูกนำไปบ่อหมักไบโอแก๊สที่อยู่ในพื้นที่ นำแก๊สกลับมาใช้งาน เศษผัก เศษผลไม้ นำไปเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำไปทำปุ๋ย ขยะย่อยสลายเช่น ไม้เสียบลูกชิ้น ตะเกียบ ถูกส่งต่อไปยังโรงเผาขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงาน ส่วนขยะรีไซเคิลถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล พลาสติกยืด ถูกส่งต่อไปยังโครงการ วน เครือข่ายพันธมิตที่จะนำพลาติกกลับไปผลิตเป็นถุงขยะกลับมาใช้ใหม่ และขยะกำพร้าต่าง ๆ ถูกส่งต่อให้กับ บริษัท N15 Technology นำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงใช้ในโรงงาน

นอกจากกระบวนการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางแล้ว ยังมีการกระตุ้นผู้บริโภคให้สนใจการแยกขยะมากขึ้น คือการนำ แอพพลิเคชั่น TOCA Platform เข้ามาใช้ในการสะสม Earth Points แต้มรักษ์โลก ซึ่งนำไปคำนวณเป็นค่า Carbon Footprint ช่วยลดคาร์บอนให้กับโลกของเรา และที่สำคัญ Earth Points สามารถนำไปแลกรับสิทธิมากมายภายในงานอีกด้วย นอกจากผู้ร่วมงานจะได้รับสิทธิพิเศษในงานแล้ว สิ่งสำคัญคือ ผู้จัดงานที่อยู่เบื้องหลังสามารถเห็นข้อมูล data base ทั้งหมดเกี่ยวกับขยะที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ผลและวางแผนการจัดการขยะต่อไปได้อีกด้วย สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรใดที่สนใจ ทางผู้จัดงานเองก็ยินดีให้คำแนะนำ การนำ แอพพลิเคชั่น TOCA Platform ไปใช้ในการจัดการขยะในหน่วยงานของตนเองอีกด้วย

บอกได้เลยว่า การเดินงานงานสังคมสุขใจ ในครั้งนี้รับรู้ได้ถึงความตั้งใจของผู้จัดงานที่ใส่ใจตั้งแต่ เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการซึ่งเป็นต้นน้ำ ผู้บริโภคที่ได้มาเลือกซื้อสินค้าอินทรีย์ที่มีคุณภาพจากเกษตรกรตัวจริง จนถึงการคำนึงถึงการสร้างสังคม และการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ในทุกมิติ ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ นโยบายของภาครัฐ และเทรนด์ของโลกเรื่อง BCG Economy Model เห็นความเชื่อมโยงของสังคมอินทรีย์กับเรื่อง เศรษฐกิจชีวภาพ หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยสังคมสุขใจ เพื่อเรา เพื่อโลก อย่างยั่งยืน หากเกิดการต่อย่อความร่วมมือต่อไปเรื่อง ๆ ประเทศไทยของเรา อาจสามารถกลายเป็นแลนมาร์กใหม่ด้านตลาดเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืนอีกแห่งหนึ่งของโลกก็เป็นได้

ภาพ : ศรันย์ แสงน้ำเพชร