เพราะการสร้างสังคมให้สมบูรณ์เป็นงานที่ต้องทำกันไปยาวๆ เช่นเดียวกับการสร้างสังคมที่ยั่งยืนของวงการเกษตรอินทรีย์บ้านเราที่ต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน และถ้าโฟกัสมาที่งานสังคมสุขใจ งานใหญ่ประจำปีของคนในวงการเกษตรอินทรีย์ เราก็พบว่าปีนี้ได้จัดมาเป็นปีที่ 6 แล้ว มีงานขับเคลื่อนใหม่ๆ และกิจกรรมมากมายให้เราได้สุขใจเหมือนทุกปี โดยในปีนี้ greenery. ได้ร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายเพื่อนเกษตรอินทรีย์ ชวน 10 ร้าน กินดี กรีนดี จาก Greenery Market และร่วมวงเสวนาน่าสนใจเพื่อร่วมสร้างสังคมอินทรีย์…สู่ชีวิตที่สมดุลตามสโลแกนประจำปีนี้ด้วย 

สำหรับใครที่ไม่ได้แวะไปเมื่อ 13-15 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เรามีรายงานความน่าสนใจรวมไว้ให้ที่นี่แล้ว

สังคมช้อปเปลี่ยนโลก

เราอาจจะคุ้นเคยกับป้ายเซลช้อปหยุดโลก ช้อปช็อกโลก ช้อปกระหน่ำโลก ฯลฯ จากโปรโมชั่นของห้างสรรพสินค้าหรือแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ที่งานนี้ การช้อปของเราไม่ใช่การกระหน่ำช้อปของลดราคาอะไร แต่คือการบอกว่าพลังของผู้บริโภค สามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ยั่งยืนได้ด้วยการอุดหนุนสินค้าอินทรีย์ เพราะสินค้าเหล่านี้มาจากจุดเริ่มต้นของคนและเครือข่ายที่ใส่ใจโลก ด้วยวิธีการปลูกที่เคารพธรรมชาติ ด้วยวิธีการผลิตสินค้าที่ใส่ใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลก และด้วยวิถีที่ให้ความสำคัญกับชุมชนและสังคมรอบข้างนั่นเอง

ภายในงานนี้ เราจึงได้ช้อปสินค้าเกษตรอินทรีย์ จากเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 200 บูท ที่เอื้อให้เราได้สุขภาพดี (และอร่อย) ไปกับอาหารออร์แกนิก ทั้งปรุงสดๆ ที่เดินเคี้ยวกันเพลินไปทั้งงาน รวมทั้งยังได้ตุนวัตถุดิบทั้งผัก ผลไม้ ข้าว ธัญพืช เครื่องปรุงรส กลับไปปรุงเมนูสุขภาพดีที่มั่นใจว่าปลอดภัยที่บ้านได้อีกด้วย

ซึ่งนอกจากตลาดสุขใจเจ้าประจำของเครือข่ายสามพรานโมเดลที่ปรับปรุงใหม่ให้เดินง่าย ช้อปสนุก และกว้างขวางกว่าเดิมแล้ว ยังมีร้านเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอะเจอกัน ก็ได้มาร่วมออกร้านด้วย งานนี้เราได้ลองชิมข้าวปะกาอำปึล จากบ้านทัพไทย สุรินทร์ ข้าวหอมนครชัยศรีเจ้าถิ่นกับข้าวแกงรสเด็ด ได้ลองอุดหนุนฟักทองบัตเตอร์นัทจากสองแควออร์แกนิก พิษณุโลก ได้ชิมกะหล่ำปลีอินทรีย์จากสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา เชียงใหม่ ได้ปันเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ ได้อุดหนุนสบู่ธรรมชาติที่ใช้ยางไม้แทนสารกันบูด ได้สั่งถังปั้นปุ๋ยไปเพิ่มกำลังการย่อยสลายขยะเศษอาหารในครัวเรือน ได้อุดหนุนน้ำมันนวดสมุนไพรออร์แกนิกไปเป็นของขวัญปีใหม่ให้ญาติผู้ใหญ่ ที่มั่นใจว่าถูกใจคนรับแน่นอน ฯลฯ

สังคมช้อปไร้ขยะ 

อีกความน่ารักของการเดินงานนี้คือการสำรวจบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติจากร้านรวงต่างๆ งานใบตองห่อผักกลายเป็นค่ามาตรฐานของตลาดนี้ เชือกกล้วย ตอกรัด กาบกล้วย กาบหมาก และวัสดุธรรมชาติต่างๆ ถูกดัดแปลงมาใช้แทนพลาสติกกันอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับนักช้อปที่ทำการบ้านมาดีเช่นเดียวกัน พกตะกร้า พกถุงผ้ากันมาจากบ้านจนไม่ต้องพึ่งพาถุงจนเกินจำเป็นอีกด้วย ส่วนการแยกขยะ เราจะเห็นว่าในงานมีจุดแยกขยะอยู่หลากหลายตามจุดต่างๆ แต่ด้วยความที่มีผู้เข้าร่วมงานหนาแน่น จึงยังมีทิ้งผิดถังกันอยู่บ้าง แต่เราก็เห็นคนจำนวนมากเช่นกันที่เริ่มคิดก่อนทิ้ง ประมวลผลก่อนลงถังไม่น้อยทีเดียว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องสร้างและทำกันไปยาวๆ เช่นเดียวกับการสร้างสังคมอินทรีย์

สังคมเข้มแข้งด้วยระบบ PGS ที่เข้มข้น

ในงานนี้ นับเป็นการย้ำชัดๆ ของสามพรานโมเดลเรื่องการจับมือกับเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าทั้งของกินและของใช้เข้าสู่กระบวนการสร้างระบบผลิตที่สมดุล ด้วยการผลักดันระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System (PGS) ให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเจ้าระบบนี้ก็คือการจัดการแปลงเกษตรและบริหารกลุ่มที่ผู้ร่วมเครือข่าย มีส่วนกำหนดข้อตกลง ร่วมตรวจแปลง และแลกเปลี่ยนความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ระหว่างกัน โดยอ้างอิงกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วน ทั้งคนกลาง ธุรกิจที่อุดหนุน หรือกระทั่งคนกิน ซึ่ง ณ ตอนนี้ สามพรานโมเดลได้ทำงานกับกลุ่มที่มีระบบ PGS 15 กลุ่ม และกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) อีก 17 เจ้า ให้คนกินอย่างเรามั่นใจได้มากยิ่งขึ้น 

สังคมห่วงโซ่อินทรีย์ออนไลน์

นอกจากผลิตภัณฑ์อินทรีย์จับต้องได้ซื้อง่ายขายคล่องแล้ว ในงานนี้ยังมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น Thai Organic Platform เชื่อมห่วงโซ่อินทรีย์ครั้งแรกในไทย อรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ เล่าว่าแอพพลิเคชั่นนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำคือเกษตรกรอินทรีย์ กลางน้ำคือผู้ประกอบการ และปลายน้ำคือผู้บริโภคอย่างเราๆ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงเกษตรกรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น นอกจากจะเป็นช่องทางจำหน่ายออนไลน์แล้ว ผู้บริโภคยังสามารถติดตามการประชุมกลุ่ม การตรวจแปลง ไปจนถึงความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์เบื้องต้น รวมทั้งยังสามารถเห็นกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงการท่องเที่ยวหรือการเยี่ยมชมแปลงที่ผู้บริโภคสามารถมามีส่วนร่วมได้ด้วย

สังคมแห่งความรู้ ความเข้าใจ และการลงมือทำ

ไม่แค่ได้ชิมเพลินและช้อปสนุกเท่านั้น ตลอดงานทั้ง 3 วัน ยังมีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ ทั้งจากเกษตรกรรุ่นใหม่ เครือข่ายขับเคลื่อนรุ่นใหญ่ และคนเมืองนักปลูก หากได้ลงนั่งฟังจริงๆ จังๆ เราจะได้เรียนรู้ก้าวสำคัญของการพัฒนาเกษตรกรสู่ระบบธุรกิจในเสวนาถอดบทเรียนโครงการ Farm to Functions ได้รู้จักความเท่ของโกโก้ไทย ผ่านเสวนา Cocao Journey หรือไปดูวิธีนำเสนอตลาดสีเขียวแนวทางใหม่ๆ ในเสวนา Green Market ตลาดสีเขียวสำหรับคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงเวทีเล็กๆ คุยแบบชิลล์ๆ (ในเรื่องไม่ชิลล์) ในหัวข้อ อยู่อย่างเท่าทัน…อันตรายจากสารเคมี ฉบับผู้บริโภคเข้าใจง่าย เป็นอาทิ

ด้านเวิร์กช็อปและประกวดปรุงอาหารออร์แกนิก Creative Chef ก็สนุกไม่ใช่เล่น งานนี้ใครถือสมุดมาจดสูตรเรียกว่าได้ไอเดียไปไม่น้อย กิจกรรมเส้นผักออร์แกนิกจากปันอยู่ ปันกิน ก็น่าสนใจ หรือแม้แต่กิจกรรมเด็กๆ ที่ได้ดูน้องๆ เล่นเพลินๆ เราก็เพลินไปด้วย ทั้งกิจกรรม วาดศิลป์ เล่นสี Eco Printing ขยะมหาสนุก และกิจกรรมเส้นทางอาหารอินทรีย์ในปฐมออร์แกนิกวิลเลจ ที่ได้ยิ้มกันแก้มปริทั่วหน้า

และนี่คืออีกก้าวของสังคมสุขใจที่กำลังเดินหน้าต่อไป โดยที่ทุกคน รวมทั้งคนกินต้องก้าวไปพร้อมๆ กัน

ภาพถ่าย: สังคมสุขใจ และ greenery.