เราได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ Scandinavian Green Roof Institute (SGRI) (เดอะ สแกนดิเนเวียน กรีน ลูฟ) หรือเรียกง่ายๆ สถาบันหลังคาเขียว ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเมลโม (Malmo) ประเทศ สวีเดน สถาบันแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2543 เป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร เป็นหน่วยงานแรกของโลกที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนา ศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหลังคาเขียว โดยทำการวิจัยและพัฒนาหลังคาสีเขียวร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเมลโม และเครือข่าย องค์กรเอกชน เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเมืองอย่างยั่งยืน
ระหว่างทางที่นั่งรถประจำทางเพื่อเดินทางมาสถาบันนี้ เราสังเกตเห็นอาคารและทางเดินที่มีหลังคาเขียวอยู่เป็นระยะๆ และเมื่อยิ่งเข้าใกล้จุดหมายปลายทางไปเรื่อยๆ ยิ่งพบกับอาคารที่มีหลังคาเขียวมากยิ่งขึ้น เราสะดุดตากับทางเดินทอดยาว คล้ายกับทางเดินเชื่อมของรถไฟฟ้าบ้านเรา แต่หลังคาของทางเชื่อมนั้นถูกออกแบบให้เป็นหลังคาที่ปกคลุมไปด้วยหญ้าและพืชนานาชนิด เกือบ 1 ตารางกิโลเมตรของหลังคาเขียวนั้น สร้างความตื่นตาตื่นใจแล้วให้เราเป็นอย่างมาก
เมื่อเดินทางมาถึงสถาบัน เจ้าหน้าที่ต้อนรับและบรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ หลังคาเขียวให้กับผู้เข้าชม
โดยให้คำนิยามของ ‘หลังคาเขียว’ ว่า เป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ขนาดเล็กซึ่งอยู่บนหลังคา
ซึ่งหลังคาเขียวมีความแตกต่างทั้งทางวัสดุที่นำมาเป็นหลังคา เทคนิควิธีการ และวัตถุประสงค์ต่างๆ ของหลังคาแต่ละแบบก็แตกต่างกันออกไป โดยหลักการทั่วไปแล้ว หลังคาเขียวแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ตามลักษณะของพืชและการปลูก คือ
- หลังคาเขียวแบบบางเบา เป็นหลังคาลักษณะ ภูมิทัศน์แบบนิเวศวิทยา (ecological landscape) พืชที่นำมาปลูกเป็นพืชคลุมดินตระกูล ซีดัม มอส และสมุนไพรต้นเล็กๆ
- หลังคาเขียวแบบปานกลาง เป็นหลังคาลักษณะสวนแบบนิเวศวิทยา (ecological garden) พืชที่นำมาปลูกเป็นพืชคลุมดินตระกูล ซีดัม มอส ต้นไม้ชนิดเตี้ยๆ พุ่มไม้ และสมุนไพรที่ต้นเล็กๆ
- การปลูกแบบหนาแน่น เป็นหลังคาลักษณะ สวน (garden /park) พืชที่นำมาปลูกเป็นพืชคลุมดินตระกูล หญ้าต้นไม้ชนิดเตี้ยๆ และต้นไม้
หลังจากฟังบรรยาย เราได้มีโอกาสเดินชมสถานที่และหลังคาเขียวของสถาบัน
จุดเด่นของสถาบันแห่งนี้คือ ‘Botanical Roof Gardens’ หรือ หลังคาสวนพฤกษศาสตร์ สถาบันนี้ได้พัฒนาหลังคาทั่วทั้งบริเวณอาคารและทางเดินของสถาบัน
ให้เป็นเหมือนสวนพฤกษศาสตร์บนหลังคามีความกว้างกว่า 9,500 ตารางเมตร ซึ่งพืชที่ปลูกบนหลังคานี้ส่วนใหญ่จะเป็นพืชคลุมดิน ตระกูล ซีดัม (sedum) สายพันธุ์ไม้อวบน้ำ นอกจากนั้นลักษณะสวนเหมือนสวนปกติธรรมดาที่เราเห็นกันตามพื้นดิน แต่กลับยกสวนขึ้นไปบนหลังคานั้นเอง โดยหลังคาเขียวของสถาบันตั้งงอยู่บนหลังคาทั้งสิ้น 8 จุดด้วยกัน โดยเริ่มจากเดินไปตามทางเดินเชื่อมที่ถูกสร้างเหมือนสะพานลอย เชื่อมหลังคาเขียวโดยรอบของตัวสถาบัน
จุดแรก เป็นนิทรรศการหลังคาซีดัม เป็นหลังคาเขียวที่ปลูกพืชตระกูลซีดัม ซึ่งเป็นพืชที่มักจะใช้เป็นพืชที่ปลูกสำหรับหลังคาเขียวทั่วๆ ไป
จุดที่สองเป็นนิทรรศการหลังคาตระกูลมอส โดยสถาบันแห่งนี้ได้ทดลองปลูกมอสกว่ายี่สิบชนิดซึ่งมาจากหลากหลายพื้นที่ในเมือเมลโม มีทั้งมอสที่สามารถหาได้โดยทั่วไปและตระกูลที่หายาก
จุดที่สาม เป็นนิทรรศการหลังคาพืชตระกูลหญ้า หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งหลายๆ ชนิดมีสีสันสวยงาม แปลกตา เช่น พืชตระกูลเดียวกับกุยช่ายขาว อินิเนเชีย และ หญ้าตระกูลหญ้าคาสีแดง เป็นต้น
จุดที่สี่เรียกว่า ‘เดอะ ฮิล’ หรือ เนินเขา เนื่องจาก เมืองเมลโมนั่นเป็นเมืองที่ไม่ได้มีภูเขา หรือ เนินเขา สถาบันแห่งนี้จึงอยากที่จะสร้างเนินเขาขึ้นมา แต่จะสร้างเนินเขาบนพื้นที่ดินก็ดูจะธรรมดาเกินไป ทางสถาบันจึงสร้างเนินเขาบนหลังคาขึ้นมา ซึ่งเนินเขาแห่งนี้ สร้างขึ้นมาจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบาเรียกว่า ‘พอลิสไตรีน’ (polystyrene, PS) พืชที่ปลูกบนเนินเขานี้ก็เป็นพวกหญ้าพื้นเมืองที่หาได้ในท้องถิ่น ซึ่งสามารถออกดอกได้ในช่วงเวลานาน ไม่ต้องการการดูแลมาก เนินเขาตรงนี้ก็เลยดูเป็นเหมือนเนินทุ่งหญ้าแห่งเมลโมไปโดยปริยาย
จุดที่ห้า คือผักสวนครัวบนหลังคา เป็นจุดที่ผู้เขียนชอบที่สุดเพราะเป็นจุดที่ดูน่ารักและใช้ประโยชน์ได้จริง
ตรงบริเวณหลังคาส่วนนี้จะเป็นแปลงผักสวนครัวทั้ง 10 แปลง แต่ละแปลงขนาด 1-2 ตร.ม. มีผักสวนครัว และ สมุนไพรหลากหลายชนิด ซึ่งวัตถุประสงค์ของจุดนิทรรศการนี้ ทางสถาบันต้องการแสดงให้เห็นว่าบนหลังคาก็สามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารได้
จุดที่หก เป็นจุดอนุรักษ์พันธุ์พืช หลังคาเขียวเป็นสถานที่ที่ช่วยเป็นเหมือนแหล่งฟื้นฟูที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่น นก แมลงและสัตว์ตัวเล็กๆ ชนิดต่างๆ จากการขยายตัวของเมืองและการถูกรุกราน ดังนั้นทางสถาบันจึงต้องการให้หลังคาเขียวนี้เป็นจุดอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชและสัตว์ที่ถูกค้นพบในท้องถิ่น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
จุดที่เจ็ด เป็นพื้นที่ทดลองการใช้ถ่านชีวภาพสำหรับหลังคาเขียว ซึ่งสถาบันแห่งนี้ได้ใช้พื้นที่ 10% บนหลังคาเป็นสถานที่ทดลองใช้ถ่านไบโอเพื่อที่จะเป็นวัสดุรองปลูกพืชสำหรับหลังคาเขียวในอนาคต เนื่องจากตัวถ่านชีวภาพมีน้ำหนักเบา ย่อยสลายช้า น้ำผ่านได้ดีแต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเก็บความชุ่มชื่นเหมาะสำหรับพืชได้
จุดที่แปด เป็นจุดที่ไม่สามารถเดินไปถึงได้แต่สามารถมองเห็นได้จากทางเดินบนหลังคา ส่วนนี้เป็นหลังคาขนาดกว้าง ครอบคลุมอาคารความสูงหนึ่งชั้น หลังคาส่วนนี้มีความหลากหลายของพืชที่ใช้บนหลังคา ไม่ว่าจะเป็น ซีดัม มอส และพืชชนิดอื่นๆ และมีลักษณะความลาดเอียงที่แตกต่างกันตามพื้นที่ตั้งแต่ 4-20 องศา พื้นที่หลังคาตรงนี้ใช้สำหรับการศึกษาวิจัยค้นคว้าตามหัวข้อที่แตกต่างกันไป เช่น การอุ้มน้ำ การดูดซับน้ำของหลังคา เป็นต้น
วัตถุประสงค์หลักของหลังคาสีเขียวที่สถาบันนี้ส่งเสริมคือ การจัดการน้ำฝน และน้ำท่วม
เนื่องจากพืชที่ปลูกบนหลังคาจะช่วยอุ้มน้ำฝนและชะลอฝนที่ตกลงมาได้ โดยความเร็วของน้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคาสู่พื้นดินจะลดความเร็วลงได้นั้นก็จะขึ้นอยู่กับชนิดและความลึกของวัสดุรองปลูก ช่วยชะลอและลดปริมาณน้ำฝนที่จะไหลลงสู่พื้นดินและท่อระบายน้ำได้อย่างเป็นดี
นอกจากนั้นยังช่วยลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน อุณหภูมิความร้อนในเมืองจะเกิดขึ้นจากพื้นที่ที่เป็นคอนกรีต วัสดุก่อสร้าง อาคารบ้านเรือนต่างๆ การจราจร และแหล่งอุตสาหกรรม เป็นต้น
ดังนั้นหลังคาสีเขียวนี้จะช่วยลดผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่ปล่อยออกมาจากสิ่งเหล่านี้โดยอาศัย การคายน้ำหรือการระเหยของไอน้ำจากพืช ทำให้อุณหภูมิในบริเวณที่มีหลังคาเขียวนั้นๆ ลดลง
นอกจากนั้นหลังคาเขียวนี้ยังสามารถช่วยดูดซับและลดมลภาวะที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางอากาศเช่น ฝุ่น ควัน ก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะทางเสียงได้อย่าง ดีเยี่ยมเลยทีเดียว พืชเหล่านี้จะช่วยลดความร้อนและป้องกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่ให้ไปถึงหลังคาได้
หลังคาเขียวสามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยทำให้เพิ่มและรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เพียงแค่มีพื้นที่สีเขียวเล็กๆ บนหลังคา ก็ถือว่ามีความสำคัญในการช่วยขยายพันธุ์พืช สัตว์ แมลง นก ในท้องถิ่นที่กำลังจะสูญพันธุ์ได้อีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม greenroof.se/en