หลังสารคดีเนื้อหาร้อนอย่าง Seaspiracy ออกฉายนานร่วมเดือน ก็กลายเป็นประเด็นวิพากษ์ในวงกว้างตามคาด โดยเฉพาะแวดวงนักอนุรักษ์และคนทำงานด้านอาหาร ที่ตกเป็นเป้าโจมตีกระทั่งต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงกันยกใหญ่ ไม่ว่าจะเรื่องการทำประมงเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งทำลายทั้งสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลกระทั่งเสียสมดุล หรือประเด็นพาดพิงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในวงการนักอนุรักษ์ระดับนานาชาติ ที่ตกเป็นเป้าของประเด็นร้อนระหว่างประเทศถึงขนาดหลายรัฐต้องหยิบยกขึ้นมาถกกันในสภา

กระนั้นหากพูดอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องใส่ดอกจันตัวใหญ่ๆ ไว้สักหน่อยว่า สารคดีเรื่องนี้ประกอบขึ้นจากทั้งข้อเท็จจริงและข้อถกเถียงที่ยังคงคลุมเคลือ เมื่อผนวกรวมกับมุมมองและวิธีการเล่าที่ ‘ชวนดราม่า’ เพื่อกระตุ้นอารมณ์ร่วมของผู้ชม ก็ยิ่งทำให้บางประเด็นในเรื่องกลายเป็นถ่านร้อน ปลุกเร้าให้หลายคนถึงกับประกาศออกมาว่าจะเลิกบริโภคอาหารทะเลอย่างเด็ดขาด ตามข้อเสนอที่สารคดีเรื่องนี้ยืนยันหนักแน่นเช่นเดียวกัน

ทว่าในโมงยามที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติครั้งใหญ่ ที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลน โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ และยังต้องพึ่งพาหารนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารอยู่

คำถามก็คือ การเลิกกินอาหารทะเลคือทางเลือกที่ดีที่สุดจริงหรือ?

ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ตรงกัน ผู้เขียนขอไล่เรียงถึงเนื้อหาและข้อเสนอของสารคดีเรื่องนี้เป็นลำดับ กล่าวคือ ใจความสำคัญของ Seaspiracy ระบุถึงการทำลายทรัพยากรทางทะเลทั้งในมิติของการทำประมงเกินขนาด (over fished) ที่เป็นสาเหตุให้ปลาลดจำนวนลงมหาศาล จนมีการประเมินว่าปลาอาจหมดทะเลภายในปี 2048 กว่านั้นยังเป็นสาเหตุการตายอย่างเปล่าประโยชน์ของบรรดาปลาใหญ่ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ อาทิ ‘วาฬ’ ที่ถูกฆ่าแล้วทิ้งลงทะเลนับแสนตัวต่อปี ด้วยเพราะมันติดร่างอวนตาถี่ของการทำประมงเรือใหญ่ขึ้นมาโดยเปล่าประโยชน์

นอกจากนั้นยังพบการกล่าวถึงวิกฤต ‘ฉลาม’ สัตว์ใหญ่อีกชนิดที่ถูกล่านับแสนตัวต่อปีเนื่อง ด้วยวัฒนธรรมการบริโภคครีบฉลามของประเทศแถบเอเชีย

ผลกระทบนอกจากจำนวนฉลามที่ลดลง ยังรวมถึงการทำลายห่วงโซ่อาหารของท้องทะเล เมื่อไม่มีปลาใหญ่กินปลาเล็ก ชนิดปลาในมหาสมุทรจึงไม่สมดุล กว่านั้นยังส่งผลต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสัตว์ทะเลและพืชทะเลรับบทสำคัญในการปกป้องดูแลโลกมานับล้านปี

สารคดีเรื่องนี้ยังหว่านแหไปยังประเด็นการทำลายท้องทะเลในมิติสิ่งแวดล้อม ทั้งจากจำนวนพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลจากการทำประมงเชิงอุตสาหกรรม รวมถึงผลประโยชน์ทับซ้อนที่หมุนเวียนอยู่ระหว่างทุนใหญ่กับองค์กรเพื่อสังคม ที่มีฉลากสร้างความอุ่นใจว่า ‘ดีต่อท้องทะเล’ แปะอยู่บนผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่เราพบตามซูเปอร์มาร์เก็ต เรื่อยไปถึงประเด็นแรงงานทาสในเรือประมงขนาดใหญ่ ที่ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกพาดพิงภายในเรื่อง จนฝั่งรัฐบาลต้องออกแถลงการณ์แก้ต่างให้กับประเด็นร้อนนี้กันอย่างพัลวัน

จากเหตุผลทั้งหมดข้างต้นข้อเสนอที่ Seaspiracy หยิบยื่นให้คนดูคือการ ‘เลิกกินอาหารทะเล’ เพื่อกอบกู้ท้องทะเลและโลกนี้ไปด้วยกัน ข้อเสนอดังกล่าวนับว่า ‘สุดโต่ง’ ในระดับนักกิจกรรมด้านอาหารลงความเห็นกันว่า ช่างเป็นข้อเสนอที่ขาดความเป็นรูปธรรมและไม่ยั่งยืน

เพราะหากเอาหลักฐานมากางดูกันอย่างลงรายละเอียด จะพบว่าการเลิกกินอาหารทะเลอาจไม่ใช่ทางออก แต่การกินอาหารทะเลต่างหากคือทางออก!

หลักฐานแรกที่เราชวนกางดูไปพร้อมกันคือ พลวัตของการทำประมงในโลกปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่เป็นมิตรขึ้นเรื่อยๆ แม้การเปลี่ยนแปลงจะช้า แต่ด้วยกระแสอนุรักษ์และการสนับสนุนของประเทศที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งมองเรื่องความยั่งยืนทางทะเลและอธิปไตยด้านอาหาร (food sovereignty) เป็นประเด็นสำคัญ ประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่จึงต้องหันหัวเรือไปยังการผลิตอย่างยั่งยืนอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับไทยเองหลังจากถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรปเมื่อปี 2015 ทำให้ต้องปรับปรุงมาตรฐานการประมงกันแบบยกเครื่อง เกิดการขึ้นทะเบียนเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่กว่าหมื่นลำ เพื่อตรวจสอบเครื่องมือและการใช้แรงงานทาสภายในเรือกันอย่างจริงจัง กระทั่งสหภาพยุโรปเปิดไฟเขียวให้อีกครั้ง

แต่กระนั้นการพัฒนาก็ยังอยู่ในระดับ ‘พอรับได้’ สำหรับการค้าระหว่างประเทศ ด้วยถ้ามองในรายละเอียดการทำประมงเชิงอุตสาหกรรมก็ยังพบปัญหาอีกมาก การลักลอบจับปลาในเขตห้ามล่า (no-take zone) ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ปัญหาการกดขี่แรงงานยังมีให้เห็น แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับกระบวนเหล่านี้ว่า ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาระยะยาว และในวันนี้หัวเรือของการพัฒนาได้ค่อยๆ ปรับสู่ทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้นเป็นลำดับ ทว่าอัตราเร่งจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับทั้งนโยบายระดับรัฐและระหว่างรัฐ กว่านั้นยังรวมถึงความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภคที่ควรตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ

ข้อเท็จจริงอีกประการที่เราอยากย้ำเพื่อความเข้าใจคือ การทำประมงเป็นแหล่งโปรตีนที่เป็นมิตรกับโลกมากที่สุด ณ ปัจจุบัน หากเทียบการผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ทั้งการทำปศุสัตว์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับหนึ่งจากทุกอุตสาหกรรม หรือการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่เป็นต้นตอใหญ่ของมลพิษในดิน น้ำ และอากาศ ยังไม่นับการผูกโยงกับเกษตรพันธสัญญาอันเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ต้องอาศัยการลงทุนลงแรงในการแก้ปัญหาระดับนโยบายอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ทั้งนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมประมงนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการพัฒนาแบบองค์รวมที่ต้องมองให้เห็นภาพใหญ่ร่วมกันว่า ท้องทะเลเป็นทรัพยากรของมนุษยชาติ การทุ่มงบประมาณเพื่อดูแลมหาสมุทร จึงไม่ใช่แค่เรื่องอัพเกรดเครื่องมือการจับปลาให้ทันสมัย หรือการปิดน่านน้ำเพื่ออนุรักษ์เท่านั้น แต่คือการมอบความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศและการกินอย่างยั่งยืนแก่ประชากรโลก และองค์ความรู้เหล่านี้เองคือเชื้อเพลิงที่จะช่วยเร่งการพัฒนาการทำประมงให้พัฒนาเร็วกว่าเดิม

องค์ความรู้เหล่านั้นที่เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามถึง ‘ต้นทาง’ ของอาหารทะเลในจานว่ามาจากไหน

เพราะแน่นอนว่ายิ่งเรารู้จักแหล่งที่มาเฉพาะเจาะจงมากเท่าไหร่ เราย่อมเห็นกระบวนการผลิตระหว่างนั้นชัดเจนขึ้น นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับอาหารในจาน ในอีกทางยังสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตรายย่อยและผู้บริโภคให้แน่นแฟ้น และเมื่อเรามองเห็นกันและกันมากขึ้น การพัฒนาแบบเป็นองค์รวมก็ย่อมเป็นไปได้

และหนึ่งในวิธีดูแลท้องทะเลที่เริ่มได้จากตัวเราก็คือ การอุดหนุนสินค้าจากประมงเรือเล็กหรือประมงพื้นบ้านตามโอกาสและกำลังทรัพย์ ที่นอกจากจะได้อาหารทะเลสดใหม่วันต่อวันแล้ว ยังได้ทำความรู้จักชนิดของอาหารทะเลอันหลากหลาย ที่ชาวประมงหมุนเวียนเปลี่ยนมานำเสนอตามฤดูกาล และหากมองไกลอีกนิด การอุดหนุนสินค้าจากประมงเรือเล็ก ยังช่วยอุดหนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และเปิดโอกาสการพัฒนาทั้งคุณภาพและราคาให้สามารถเข้าถึงในวงกว้าง เพื่อร่วมรักษ์ท้องทะเลผ่านการกินไปด้วยกัน

ใครอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการเลือกกินอาหารทะเลอย่างลงรายละเอียด ปลาชนิดไหนควรกิน ปลาชนิดไหนควรเลี่ยง ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ใน ล้อมวงลงครัว 

เครดิตภาพ: Netflix, พงษ์ศิลา คำมาก