สภาวะอากาศแปรปวน สำหรับคนเมืองก็แค่ฝนตกในฤดูหนาว ฝนตกรถติดตอนกลับบ้านหน่อย อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอีก 1 องศาฯ ก็เปิดแอร์แรงขึ้นอีกหน่อย แต่สำหรับเกษตรกรอาชีพที่พึงพาดินฟ้าอากาศ สภาพอากาศที่แปรปวนอาจทำลายผลผลิตที่เฝ้าดูแลมาตลอดทั้งปีเลย
กาแฟก้าวเข้ามาเป็นเครื่องดื่มที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนน้ำมันหล่อลื่นทางสังคม (Social Lubricant) เป็นสิ่งที่อยู่คู่ชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปวนอาจทำให้คนเมืองได้รับรู้มันผ่านราคากาแฟในสองสามปีที่จะถึงนี้
กาแฟเป็นพืชที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
กาแฟเป็นพืชที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สภาวะอากาศแปรปวนตั้งแต่ช่วงเมษายน เป็นช่วงเวลาที่กาแฟกำลังติดดอก มีฝนตกลงมาเกสรก็ผสมได้น้อยลง โดยปกติทางภาคเหนือจะมีลมกรรโชกและฝนหลงมาในช่วงสงกรานต์สักวัน (อันนี้ดีเพราะช่วยให้เกสรกรปลิวกระจายตัว) แต่ฝนที่ตกมาต่อเนื่องหลังจากนั้น เริ่มทำให้ดอกกาแฟได้รับผลกระทบ มีราสนิมที่หลังใบอีก พอถึงเดือนพฤศจิกายนซึ่งควรจะเข้าฤดูหนาว กลับเป็นฤดูร้อนสลับกับฤดูฝน ฝนที่ตกมาในฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กาแฟจะสุกบนต้น เมื่อโดนฝนจะเกิดผลกระทบสองอย่าง อย่างแรกคือต้นไม้เมื่อโดนฝนกลไกของธรรมชาติจะลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงใบแทนที่จะลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงผลกาแฟ กาแฟกำลังจะหวานก็หวานไม่สุด อีก อย่างที่สองคือเมื่อกาแฟสุกบนต้นพร้อมที่จะให้เกษตรกรเก็บผลผลิต เมื่อโดนฝนบางทีผลกาแฟก็แตกบนต้น เสียผลผลิตไปอีก
ในฤดูเก็บเกี่ยวกาแฟต้องตากเมล็ดกาแฟเพื่อลดความชื้น ปกติเกษตรกรจะตากกาแฟไว้แถวหมู่บ้านในตอนเช้าก่อนจะไปเก็บเกี่ยวกาแฟในไร่ ที่นี้ถ้าฝนตก กาแฟที่ตากไว้ก็เปียกชื้น ผลที่เก็บมาแล้วก็เสียหายอีก เกษตรกรต้องลงทุนทำหลังคาให้ลานตากกาแฟ ซึ่งก็เป็นต้นทุนที่ต้องเพิ่มขึ้น เมื่อฤดูหนาวไม่หนาว อุณหภูมิที่สูงขึ้น1องศาเซลเซียส ทำให้มอดซึ่งเป็นศัตรูของต้นกาแฟ มีระยะฟักตัวที่สั้นลงจาก 45 วัน ลงมาเหลือแค่ 14 วัน ซึ่งมอดที่มากขึ้นในสวนกาแฟทำให้เมล็ดกาแฟเกิดความเสียหาย ทุกวันนี้ตัวเลขความสูญเสียค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50% คือผลผลิตจะหายไปครึ่งหนึ่งเลยเชียว
ข้อมูลหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปริมาณการบริโภคกาแฟอะราบีกาในไทยต่อปี ที่มีอยู่ประมาณ 50,000 ตัน/ปี ทว่าเรากลับมีผลผลิตกาแฟอะราบีกาประมาณ 10,000 ตัน/ปี เท่านั้น ซึ่งผลผลิตกาแฟไทยในปี 65-66 ก็จะลดลงอย่างน่าใจหาย จากเดิมราคาผลเชอร์รีกาแฟที่เคยรับซื้อกัน 22 บาท/กิโลกรัมในปีก่อนหน้า มาเดือนธันวาคมปีนี้ ซื้อขายกัน 38 บาท/กิโลกรัม กันแล้ว
การที่มอดแข็งแรงขึ้นจากสภาวะอากาศแปรปวนนี้เกิดขึ้นกับกาแฟทั่วทั้งโลก แต่ไทยเรามีพื้นที่ปลูกกาแฟน้อยจึงกระเทือนมาก
ฟังอย่างนี้คุณผู้อ่านอาจคิดว่า เมื่อราคาเมล็ดกาแฟสูงขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อเกษตรกร ทว่าความจริงแล้ว ถึงแม้ราคาผลผลิตจะสูงขึ้น แต่เกษตรกรไม่ได้มีความสุขเลย กลับเครียดยิ่งกว่าเก่า เพราะแปลงกาแฟบางคนยืนต้นตายไปครึ่งแปลง ต้นทุนที่สูงขึ้นมาจากแรงงานเกษตรที่ขาดแคลน ราสนิมที่เกิดจากฝนหลงฤดูทำให้ต้นกาแฟอ่อนแอ การที่มอดแข็งแรงขึ้นจากสภาวะอากาศแปรปวนนี้เกิดขึ้นกับกาแฟทั่วทั้งโลก แต่ไทยเรามีพื้นที่ปลูกกาแฟน้อยจึงกระเทือนมาก
อย่างเรื่องมอดกาแฟเราคุยกับเกษตรกรจากบราซิล เอาบทเรียนจากเขามาปรับใช้ โดยมีอยู่สามวิธีแก้ไข คือ
- เผาสวนทิ้ง ฟังเหมือนตลกแต่ไม่ตลก เกษตรกรที่บราซิลบอกว่าเผาทิ้งง่ายกว่ากู้กลับมา เค้ามีพื้นที่เหมาะในการปลูกกาแฟกว้างใหญ่ไพศาลเค้าเลือกทางนี้ แต่เรามีพื้นที่บนดอยที่ปลูกกาแฟได้เพียงน้อยนิด คงไม่สามารถทำตามได้
- ใช้สารเคมีพ่นทั้งสวนไปเลย ในสวนกาแฟที่ score รสชาติดี ๆ จะไม่ทำวิธีนี้เด็ดขาด เพราะเคมีที่ใช้กับต้นกาแฟส่งผลไปถึงรสชาติในแก้วกาแฟ ในทาง sensory เรียกว่าเป็น “Defect” คือทำให้กาแฟมีรสออก medicine หรือแปลง่าย ๆ คือรสจะติดขมเหมือนยา ในตลาดที่ไม่ได้สนใจรสชาติอาจเลือกวิธีนี้
- ใช้วิถีอินทรีย์ โดยนำเอา “เชื้อราบิววาเรีย” ไปฉีดพ่นในสวน เชื้อราชนิดนี้จะฆ่ามอดกาแฟ ทีนี้ถ้าเกษตรกรเลือกวิธีนี้ จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
ผมคุยกับ แสนชัย จุเปาะ เกษตรกรกาแฟอันดับต้น ๆ จาก Saenchai Estate ที่ทำกาแฟอยู่ที่บ้านวัดจันทน์ อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เขาเล่าว่า รู้สึกถึงปัญหาของมอดมา 2-3 ปีแล้ว และนำเอาราบิววาเรียไปฉีดพ่นในสวน ปรากฎว่าได้ผลน้อยเนื่องจากมอดก็หนีไปหลบที่สวนคนอื่น เพราะมอดเองมันก็รักชีวิตของมัน จนได้ข้อสรุปว่าการกำจัดมอดด้วยบิววาเรียจะต้องพ่นพร้อมกันทุกสวนในหมู่บ้านที่มีขอบชนขอบ เหมือนช่วยกันปิดประตูตีมอด
ก่อนหน้านี้เขาเคยไปชักชวนบางสวนก็ไม่เห็นความสำคัญเพราะเปลืองเงินเปลืองแรงงานเปลืองเวลา แต่ในปีนี้ทุกคนตระหนักถึงปัญหานี้เลยได้ความสามัคคี ต้นทุนของการใช้เชื้อราบิววาเรียคือ 100 กรัม ราคา 600 บาท สามารถนำมาละลายน้ำแล้วฉีดต้นกาแฟได้ 20 ต้น (ตกต้นทุนต้นละ 30 บาทต่อครั้ง) สองอาทิตย์ต้องฉีดทีนึง เกษตรกรฉีดตั้งแต่ตัดแต่งกิ่ง พฤษภาคม-กรกฎาคม สามเดือน ตกต้นทุนค่าเชื้อราบิววาเรียต้นละ 180 บาทต่อหนึ่งฤดูกาล กาแฟหนึ่งต้นให้ผลผลิตที่เป็นสารกาแฟที่พร้อมคั่ว (green bean) ประมาณ 1 กิโลกรัม (เรามีต้นทุนเพิ่มมาเพราะมอด 180 บาทต่อสารกาแฟก่อนการคั่ว คิดง่าย ๆ คือมีต้นทุนต่อแก้วเพิ่มขึ้นคือ 4 บาท ถึงตรงนี้คงพอเข้าใจแล้วว่าทำไมบราซิลถึงเลือกใช้วิธีเผาสวนทิ้ง) สิ่งนี้สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ปีตอปี แล้วถ้าอีกสามปีมอดเกิดต้านทานบิววาเรียได้หละจะทำอย่างไร ?
ทีนี้ในสภาวะอากาศแปรปวนแบบนี้สวนกาแฟไหนที่ได้ไปต่อควรปรับตัวอย่างไร ประเด็นนี้ คุณบิ๊ก บริรักษ์ อภิขันติกุล (กรรมการสมาคมกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทย SCATH และโรงคั่ว School Coffee ในกลุ่มสหายกาแฟ ที่ทำงานพัฒนากาแฟไทย) ได้ให้แง่คิดว่า สวนกาแฟที่คะแนน cupping สูง ๆ เป็นสวนที่จัดการสภาพแวดล้อมรอบสวนดี เหมือนสวนกาแฟในป่าจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องมอดเนื่องจากสวนลักษณะนี้จะมีสภาวะ micro climate มีสภาพอากาศเป็นของตัวเอง อุณหภูมิเฉลี่ยของสวนกาแฟลักษณะนี้จะต่ำกว่าภายนอก 2-3 องศาเซลเซียส และอาจจะเป็นสวนที่ห่างไกลมอดบินไปไม่ถึงด้วย และการพัฒนาความรู้ในเรื่องของการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว Post-Harvest Process ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของกาแฟผ่านรสชาติของการ process ซึ่งสิ่งนี้สามารถชดเชยกับราคาที่สูงขึ้นได้และเกษตรกรที่ทำเรื่อง process ที่ละเอียดอ่อนก็มีตลาดรับซื้ออยู่ เป็นตลาดกาแฟพิเศษที่ไม่ได้ใหญ่มาก แต่ก็เติมโตขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะพอสู้กับกาแฟจากต่างประเทศได้บ้าง จนมีคนในวงการกาแฟที่ต่างประเทศทำนายไว้ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า ถ้าปัญหาสภาวะอากาศแปรปวนยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งโลกอาจจะไม่มีกาแฟอะราบีกาดื่มกัน
คุณบิ๊กและสมาคมกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทย SCATH ได้คุยแนวทางกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องมอดที่เป็นศัตรูพืชของข้าว โดยที่ข้าวนี่จะเก็บเกี่ยวแล้วเอามาเข้าเครื่อง ultrasonic ให้คลื่นความถี่ฆ่ามอดและไขของมันที่ฝังตัวอยู่ในข้าว (บางที่เราเห็นแมลงอยู่ในถุงข้าวที่ seal ปิดผนึกไว้ เกษตรกรเค้าคัดและทำความสะอาดแล้ว บางที่มันเกิดจากไข่ที่ฝังไว้ในเมล็ดข้าวแล้วโตอยู่ในถุง มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) ในขณะที่การกำจัดมอดของกาแฟต้องทำที่สวน ทำกับต้นกาแฟ เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวแล้วปลูกใหม่ ในขณะที่กาแฟเป็นไม้ยืนต้น
จากเรื่องราวที่กล่าวมา ผมอยากให้ตระหนักถึงปัญหาของสภาวะอากาศแปรปวนของโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับผลผลิตทางการเกษตรโดยตรง และส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของทุกคน กาแฟเป็นพืชที่อ่อนไหวจึงได้รับผลกระทบก่อน เสมือนเป็นโดมิโน่ตัวแรกที่ล้มลง ไม่นานตัวต่อไปก็กำลังจะล้มกันตามมา อะไรที่เราเคยใช้ชีวิตโดยที่ไม่ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอาจจะต้องเริ่มทบทวนตัวเองและช่วยกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากตัวเรา เพราะอย่างที่บอกว่าโดมิโน่ตัวแรกได้เริ่มล้มลงแล้ว และราคากาแฟปีหน้าคือสัญญาณแรกที่เราได้รับผลจากสภาวะอากาศแปรปวนนี้
ภาพ : มะเป้ง