งาน Terra Madre เป็นงานชุมนุมเครือข่ายอาหาร Slow Food เพื่อเป็นพื้นที่ให้เกษตรกรรายย่อย ผู้เลี้ยงปศุสัตว์รายเล็ก ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบอาหาร และนักขับเคลื่อนเรื่องอาหารที่ปกป้องสภาพแวดล้อมและสังคมได้ส่งต่อเจตนารมณ์ที่ดีต่อโลก โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อเป็นพื้นที่ให้กับการแบ่งปันหลักการ แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ในการทำงานของแต่ละพื้นที่ โดยจัดขึ้นทุกทุก 2 ปีในฤดูใบไม้ร่วง ที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004

ความรู้ไม่มีความหมายเท่าความเข้าใจ wisdom อยู่เหนือ knowledge

ที่นี่เขาให้ความสำคัญกับ indigenous people มาก คือสัมผัสได้เลยว่าทุกคนในงานจะให้เกียรติ ไม่มีมุมมองเชิงลบต่อการแต่งชุดประจำชาติพันธุ์แล้วประหลาด มุมมองทุกคนคือใส่ชุดชาติพันธุ์แล้วโดดเด่นและอยากแชร์เรื่องราว พวกเราใส่ชุดอาข่าไปทั้งทีม เราก็เท่ห์อยู่ ในงานขนาดมีเวทีให้ shaman หมอผีประจำหมู่บ้าน ไม่รู้จะแปลว่าอะไร เขาเชื่อมโยง spiritual เข้ากับ Physical World แล้วมาจากแอฟริกา อินเดียนแดงจากทวีปอเมริกา และญี่ปุ่น สิ่งที่พวกเขาแชร์ให้ฟังบนเวทีคือ ให้ฟังว่าเขาฟังเสียงอะไรจากธรรมชาติ และแปลให้เราฟังว่าธรรมชาติบอกอะไรเรา ณ จุดนี้ กลายเป็นว่าอะไรที่จะช่วยรักษาโลกไว้ได้พวกเรารับหมด ทั้งวิทยาศาสตร์ยันไสยศาสตร์ “we need all the help we can get” โดยสรุปคือคนที่มีความเข้าใจและเคารพธรรมชาติเป็นผู้ที่นำหนทางไปสู่การรักษาธรรมชาติ ความรู้ไม่มีความหมายเท่าความเข้าใจ wisdom อยู่เหนือ knowledge เสมอ และแต่ละพื้นที่มีปัญหาเฉพาะตัวไม่มีความรู้ข้างนอกสามารถแก้ปัญหาแบบยั่งยืนได้ มีแต่ local wisdom ที่แก้ปัญหาแบบยั่งยืน เขาเชื่อกันแบบนั้น

การจัดงานที่เมืองต้อง host ตัวแทนผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกแบบนี้ ไม่ใช่แค่ภาครัฐทำเองแล้วสำเร็จ แต่อยู่ที่ผู้คนในเมืองรักที่จะให้เมือง Turin ของพวกเขาเป็นศูนย์กลางความยั่งยืนด้านอาหาร คนในเมืองมากมายมาเป็นอาสาสมัครในงาน และเป็นมิตรต่อผู้มาเยือน ไปนั่งทานข้าวในโรงอาหาร มีคุณป้ามาทักว่า

“มาจากเมืองไทยเหรอ ?”
“ใช่ครับ”
“ฉันชื่อคาร่านะฉันชอบ host ที่พักให้กับ slowfood thailand ฉันชอบอาหารไทยมาก รู้จักเยาวดีมั้ย ? เยาวดีเป็นเพื่อนฉัน”

สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ในการไปร่วมงานครั้งนี้คือ รู้สึกเหมือนพวกเขาเตรียมปูชุดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและความยั่งยืนให้กับเจนเนอเรชั่นถัดไปแล้ว ในมุม education จะมีแต่ station สำหรับเด็กน้อย แต่ผู้ใหญ่อย่างเราก็สนุกในการเรียนรู้ไปด้วย

ชอบที่เขาไม่เคยสอนว่าไก่พันธุ์นี้ดีที่สุดให้ทุกคนมาเลี้ยงแบบเดียวกันนี้ แต่เลือกให้ความรู้ว่าความหลากหลายคือความมั่นคงและเป็นทางที่ดีที่สุด

มะเป้งก็ถาม Elena เลยว่านี่เหมือนเรามางานวันเด็กเลย เขาบอกว่าเงิน 1 ยูโร ที่จ่ายให้กับการสื่อสารต่อคน Gen Y Gen X หรือ Gen ที่เก่ากว่าไม่ค่อยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมาเข้าร่วม เห็นดีเห็นงาม แล้วส่วนมากก็กลับไปใช้ชีวิตรูปแบบเดิม รูปแบบที่สะดวกสบาย เหมือนจ่ายไป 1ยูโร ได้กลับมา 10 เซนต์ แต่เงิน 1 ยูโร ที่จ่ายให้กับการสื่อสารของเด็กน้อย ได้กลับคืนมา 10 ยูโร เพราะเด็กเวลาที่รับเรื่องนี้ไปกลับแอคทีฟมาก บางคนคอยปรามผู้ปกครองด้วยถ้าสิ่งที่ทำไม่ยั่งยืนและทำร้ายโลก ตอนเดินดู Eeducation Zone ได้เห็นการสอนให้รู้ว่าไก่บ้านในยุโรปมีกี่สายพันธุ์ ต่างกันอย่างไร ขนไก่ ไข่ไก่ ชอบที่เขาไม่เคยสอนว่าไก่พันธุ์นี้ดีที่สุดให้ทุกคนมาเลี้ยงแบบเดียวกันนี้ แต่เลือกให้ความรู้ว่าความหลากหลายคือความมั่นคงและเป็นทางที่ดีที่สุด Education Zone คือพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดของงาน สอนเรื่อง compose เศษอาหารและใบไม้ให้กลับมาเป็นดิน ให้รู้ว่าสิ่งไหนของ waste จากอาหารของเราหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์บนโลกได้ สิ่งไหนไม่ย่อยสลายและเป็นมลภาวะ

เวิร์กช็อปที่ให้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ มีมากมายละลานตา ถึงมะเป้ง นุชชี่ และเทลรุจะไปด้วยกันแต่พวกเราแยกกันเข้าเวิร์กช็อปไปตามความสนใจของแต่ละคน ไปด้วยกันก็แค่เวิร์กช็อปเบียร์ ไวน์ และสาเก นอกนั้นมะเป้งเลือกไปเข้าเวิร์กช็อปกาแฟ ชีส นุชชี่ไป Slow Fish เทลรุเลือกไปเวิร์กช็อปไปราเมน สถานที่จัดเวิร์กช็อปนั้นบ้างก็จัดในงาน บ้างก็ต้องเดินทางไปตามที่ต่างต่างของเมือง เราต้องไปดูตารางแล้วลงทะเบียนจอง ชำระเงินค่าร่วมเวิร์กช็อปและก็เข้าไปเรียนรู้

อย่างเวิร์กช็อปชีสที่เข้าร่วมเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับชีสของอิตาลี เขาก็ไม่ได้พูดเรื่องว่าดีหรือวิเศษกว่าคนอื่น เขาก็ชูจุดขายของเขา เช่นทำจากนมของเวัวที่ปล่อยธรรมชาติ เขาก็จะเอาชีสที่ทำในแต่ละช่วงเวลาของปีมาให้ชิมเปรียบเทียบ ว่าหญ้าบนเขาในแต่ละฤดูส่งผลต่อรสชาติอย่างไร แล้วก็บอกว่าวัวเราอยู่สูงกว่า น้ำนมต่อตัวก็น้อยกว่าวัวฝั่งสวิตเซอร์แลนด์ครึ่งต่อครึ่ง แต่วัวเราแข็งแรงกว่าและมีความสุข เรามีประเพณีวัวชนกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวทุกประเทศในเทือกเขาแอล์ป วัวเราชนชนะ 7 ปีซ้อน อย่างนี้เป็นต้น หรือเวิร์กช็อปเบียร์ที่เป็น local craft beer จากเมือง Turin เมืองที่ไม่ได้มีชื่อเสียงในเรื่องของเบียร์เลย เขาก็อธิบายให้เราฟังถึงวิธีการรินเบียร์แต่ละชนิด ให้เห็นว่าการเข้าใจคุณลักษณะของประเภทเบียร์ เข้าใจ Hob แค่การรินก็ทำให้รสชาติอร่อยต่างกันได้ แล้วเขาก็เล่าว่าน้ำที่นำมาทำเบียร์นี้มาจากแหล่งน้ำแร่ดังของยุโรปเลยนะเบียร์เขามีดีที่แหล่งน้ำนั่นเอง

เขามองที่จุดยืนของเขาเป็นสำคัญ ไม่เคยโม้แข่งว่าของเขาดีที่สุด

สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างที่ชี้ว่า เขามองที่จุดยืนของเขาเป็นสำคัญ ไม่เคยโม้แข่งว่าของเขาดีที่สุด แค่หาจุดเด่นสักอย่างขึ้นมาโชว์ เพื่อให้คนได้จดจำและเข้าใจถึงความแตกต่าง

เวิร์กช็อปช็อกโกแลตนี่ก็น่าตื่นเต้น เราก็อยากรู้ว่าประเทศที่ไม่สามารถปลูก cacao ได้ ทำไมจึงทำช็อกโกแลตอร่อยจัง ทาง Guido Gobino ร้านช็อกโกแลตแฮนด์เมดนี้ เขาก็บอกว่ามันคือศิลปะในการผสมรสชาติและกลิ่น เขาทำออกมาดีเพราะถั่วพิสตาชิโอของอิตาลีนั้นดีที่สุดในโลก ถึงแม้ต้นกำเนิดจะมาจากซีเรียแต่ถั่วนี้ดันชอบดินภูเขาไฟที่เมืองซิซิลี นี้เองทำให้ช็อกโกแลตของเขามีความแตกต่าง

ประเด็นเรื่องการจัดการขยะและพยายามลดขยะจากต้นทางให้มากที่สุดก็เป็นสิ่งที่งานนี้ให้ความสนใจ ด้วยความที่เป็นงานเทศกาลอาหาร จะมีสเตชั่นของถังขยะอยู่หลายจุดรอบงาน และมีอาสาสมัครคอยแนะนำประจำทุกจุด เพื่อให้แน่ใจว่าขยะแต่ละประเภทจะลงในถังที่ถูกต้องเสมอ สิ่งที่ชอบคือถังขยะไม่มีคำว่าเต็มแล้วขยะล้นออกมา เพราะมีรถไฟฟ้าขนถ่ายขยะคันเล็กที่ถ่ายขยะออกจากสเตชั่นตลอดเวลา

เขาบอกว่าสหภาพยุโรปจะไม่ใช้พลาสติกภายใน 2030 เขาเชื่อว่าโลหะสามารถรีไซเคิลได้ 100%

ในงานภาชนะที่ใช้แปลกมากเป็นโลหะ จานที่ใช้ในเวิร์กช็อปเป็นโลหะ น้ำดื่มที่ใช้ในงานเป็นกระป๋องอลูมิเนียม ก็เลยเข้าไปคุยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เขาบอกว่าสหภาพยุโรปจะไม่ใช้พลาสติกภายใน 2030 เขาเชื่อว่าโลหะสามารถรีไซเคิลได้ 100% เลยถามว่าต้องลงทุนอย่างไรในเมื่อยังไม่มีตลาดรองรับเลย เขาก็พาไปหาคน ๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นคนทำธุรกิจกระป๋องนม เขาก็บอกว่าเราไม่ได้เริ่มใหม่ทั้งหมด แต่ลองไปหาคนที่มีโครงสร้างของสิ่งที่ใกล้เคียงและชี้ให้เห็นถึงทิศทางในอนาคต เราก็เลยถามถึงประเด็นเรื่องการรีไซเคิลพลาสติกเพื่อเปรียบเทียบกัน เขาบอกมีความยากกว่าเพราะพลาสติกที่จัดเก็บและแยกไม่ถูกต้องจำนวนมาก ต้องใช้ต้นทุนในการทำความสะอาดก่อนเข้าขบวนการรีไซเคิล มันไม่คุ้มที่จะทำ พลาสติกส่วนมากที่เป็นภาชนะสำหรับอาหารจึงไม่สามารถเอากลับไปรีไซเคิลได้ ในขณะที่โลหะไม่มีปัญหานี้ ภาชนะที่เป็นจานในงานจึงเป็นโลหะบางบางเหมือนฝากระป๋องนม และน้ำที่เสิร์ฟหรือขายในงานบรรจุอยู่ในกระป๋องอลูมิเนียม

สิ่งนี้เป็นที่ถกเถียงกันของผู้มาร่วมงานเองด้วย เพราะบางคนบอกว่าอลูมิเนียมใช้พลังงานในการรีไซเคิลเยอะ แต่ก็เป็นความแตกต่างของแต่ละประเทศเพราะค่าคาร์บอนของอะลูมิเนียมในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ประเทศที่มีโรงถลุงและหลอมจะมีค่าคาร์บอนของการรีไซเคิลที่ต่ำกว่า แต่มะเป้งก็เชื่อมั่นในอลูมิเนียมรีไซเคิลในประเทศไทย เพราะเวลาที่เราแยกขยะแล้วรถซาเล้งมารับ เขาชอบกระป๋องอลูมิเนียมที่สุด

มีอยู่บูธหนึ่งที่เราสนใจมาก เป็นกลุ่มเรือขนส่งสินค้าระหว่างเกาะของกรีซ เป็น sail boat ใช้ลมสินค้าของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในการขับเคลื่อน เป็นแบบนี้มานานและเขาก็พยายามอนุรักษ์ไว้ไม่ให้หายไป ได้ไปคุยกับเขา เขาบอกว่าแค่อยากให้องค์ความรู้ในการเดินเรือการนำร่องแบบนี้ไม่หายไปไหน ทุกวันนี้กลุ่มนี้ก็ยังขนส่งสินค้าในรูปแบบเดิมอยู่

งานอาหารก็มีเกษตรกรจากทุกที่เอาผลผลิตแปรรูปมาขาย คือไม่ต้องคิดเรื่องน้ำหนักขึ้นเดี๋ยวจะหมดสนุก เราทยอยชิมไปเรื่อยทั้ง 4 วัน จนครบ ภาพที่เกษตรกรแต่ละประเทศเอาของมาแลกเปลี่ยนกันน่ารักมาก ฉันเอาอันนี้ให้เธอชิมเธอแบ่งอันนั้นให้ฉันชิม เป็นงานที่สนุกมากสำหรับคนรักอาหารที่ยั่งยืน

ถึงแม้สิ่งที่ทุกคนต่อสู้กันอยู่มันยาก แต่ก็ดีใจที่ได้เห็น ได้พบเจอ ได้พูดคุย กับคนที่มีความฝันเดียวกันจากทุกมุมโลก อย่าง slow food people

ภาพ : มะเป้ง