ภายในห้องกระจกใสขนาดไม่ใหญ่ที่ตั้งอยู่ชั้น 1 ของหอศิลป์ใจกลางกรุงเทพมหานคร ถัดจากร้านกาแฟดริปที่ผู้คนแวะเวียนมานั่งไม่ขาดสาย บัดนี้ได้กลายเป็นห้องกระจกที่อัดแน่นไปด้วยสินค้าอุปโภคบริโภคแปะยี่ห้อที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย เพราะไม่ค่อยได้เห็นสินค้าเหล่านี้วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปสักเท่าไหร่

‘ออร์แกนิกเท่าที่เป็นไปได้’ คือคอนเซปต์แสนถ่อมตัวที่ทำให้เราชื่นชอบร้าน สวนชั้น 1 ‘it’s going green’ เป็นพิเศษ และตกหลุมรักมากยิ่งขึ้นเมื่อได้พูดคุยกับสาวๆ ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนของร้าน ต้องการ (วลัยกร สมรรถกร) นักวาดภาพประกอบผู้เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองด้วยธรรมชาติบำบัด ผู้ริเริ่มตลาดนิดนิด และรวบรวมเครือข่ายเล็กๆ ในนามว่า ปากช่องสโลว์ไลฟ์ เพียง-หอม (ภูเพียง-คำหอม ศรีนอก) สองสาวพี่น้องอดีตเจ้าของไร่ออร์แกนิก ณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่ผันตัวเองมาเป็นตัวแทนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และนี (อุษณีย์ ปุณโณปกรณ์) เจ้าของโฮสเทลจักรยาน

ในฐานะที่ทั้ง 4 สาวล้วนเป็นผู้บริโภคตัวจริงของสินค้าเพื่อสุขภาพและออร์แกนิก (ขาดไป 1 สาวคือ คำหอม ศรีนอก เธอติดภารภิจในวันที่เราไปถ่ายภาพพอดี) พวกเธอจึงไม่เพียงนั่งแท่นบริหารร้าน แต่ยังทำหน้าที่เลือกของที่ตัวเองใช้และชอบมาแนะนำและวางขายที่ร้าน ขับรถเอาผักผลไม้สดมาจากปากช่องด้วยตัวเอง แถมยังผลัดเปลี่ยนกันมาเฝ้าร้าน คอยให้คำแนะนำสินค้าและความรู้เรื่องออร์แกนิกแก่คนหน้าใหม่ที่หลงเข้ามาในร้าน

ประเมินจากสิ่งที่เห็น ประมวลจากสิ่งที่ฟัง รวมทั้งความเป็นมิตรของเจ้าของร้าน แน่นอนว่าไม่มีใครเดินออกมาจากร้านตัวเปล่าเลยสักคนเดียว รวมทั้งเราด้วย : )

จุดเริ่มต้นของสวนชั้น 1

นี: สามีเรา (อรัญ วะสี) มีร้านจักรยานที่นี่อยู่แล้ว วันดีคืนดีประมาณปลายปีก่อน เราสองคนนึกอยากทำร้านที่มีของดีขาย เพราะรู้สึกว่าสินค้าออร์แกนิกหาซื้อยาก ที่นี่เป็นทำเลที่ดี ใจกลางเมือง เราเป็นคนที่สนใจ แต่ไม่ใช่คนที่อินกับของออร์แกนิกแบบตัวจริง เลยไปปรึกษาพี่ต้องการ ชาวปากช่องสโลว์ไลฟ์ ว่าอยากหาคนมาช่วยทำร้านแบบนี้ด้วยกัน

ต้องการ: ตอนนั้น เรานั่งคิดว่าคนในวงการออร์แกนิกที่เรารู้จักแต่ละคนไม่น่าจะลาออกจากงานไปทำร้านกับนีที่กรุงเทพฯ ได้ คุยไปคุยมาเลยเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า เออ ถ้างั้นเราก็ชวนเพื่อนๆ เรามาทำด้วยกันหลายๆ คนเลยสิ แล้วเราสลับกัน เป็นแก๊งที่ทำงานเหมือนเป็นคนเดียวกันได้ ถามนีว่าอย่างนี้ได้ไหม แล้วก็ไปชวนเพียงกับหอมมาร่วมด้วย

เพียง: เรากับพี่สาว (คำหอม ศรีนอก)​ เคยทำไร่เอง มีความรู้เชิงลึกว่าการทำไร่ออร์แกนิกมันหนักและเหนื่อยมาก พอเราเปลี่ยนมาเป็นตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ในนาม ผักหอมแอนด์เฟรนด์ส เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเพื่อนที่ทำฟาร์ม เพื่อนจากกลุ่มตลาดงานคราฟต์ พอต้องการมาชวน เราก็เลยคิดว่าถ้าเรามาทำร้านนี้ ที่ตรงนี้น่าจะเป็นพื้นที่ของคนที่มีโอกาสน้อยหรือขาดโอกาส อย่างฟาร์มเล็กๆ ที่เขาไม่สามารถเข้าห้างได้เพราะผลิตผลไม่เยอะพอ ร้านเราจะช่วยเหลือเกษตรกรอินทรีย์ได้จริงๆ ส่วนงานฝีมือเราก็พยายามให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ของศิลปินไทย งานย้อมคราม ย้อมฮ่อม ควรมีพื้นที่ให้เขาอยู่ได้ไปถึงต้นน้ำที่เป็นคนทำเลย

ต้องการ: พอ 4 คนมารวมกัน เราก็เลยมีความมั่นใจว่าถ้าเปิดร้านเราจะหาของดีมาได้เต็มร้านแน่ๆ (ยิ้ม)

จุดนัดพบของคนขายของดี และคนอยากใช้ของดี

ต้องการ: เดี๋ยวนี้คนหันมาใช้ของใช้ในชีวิตประจำวันที่เป็นออร์แกนิกกันมากขึ้น แต่เขาหาซื้อของแบบออร์แกนิกแบบที่เราใช้อยู่ไม่ค่อยได้ เพราะส่วนใหญ่ของแบบนี้จะไปขายตามตลาดนัด แต่เรารู้จักทั้งซัพพลายเออร์ รู้จักทั้งลูกค้า คิดว่าร้านนี้น่าจะเป็นจุดนัดพบระหว่างคนซื้อกับคนขายได้ ซึ่งคนขายก็จะได้มีที่ปล่อยของโดยไม่ต้องรออีเวนต์ คนซื้อก็ได้มีของดีใช้โดยไม่ต้องรอเหมือนกัน

เพียง: อีกอย่างคือทำเลที่นี่ดีมาก ใจกลางเมือง ใกล้รถไฟฟ้า จอดรถง่าย เอาของได้ง่าย เราคิดว่าเขาสามารถลดการใช้ทรัพยากรในการเดินทางได้

นี: ของที่เราเลือกมาไม่ใช่สินค้าที่ดีที่สุดในโลก แต่มันดีต่อเรา ดีต่อลูกค้า ดีต่อเพื่อนๆ ของเรา ดีต่อโลก เลยคิดว่าสิ่งที่เลือกมาเป็นของ ‘ชั้นหนึ่ง’ สำหรับเรา เป็นของที่ดีกับเรา อยากบอกต่อให้คนอื่นได้รู้จักและใช้ด้วย

ออร์แกนิกเท่าที่เป็นไปได้

ต้องการ: เราไม่สามารถออร์แกนิกได้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้ว จริงๆ แล้วมันมีแต่ low-chemical กับ chemical-free แน่นอนว่าของร้านเราไม่ใช่ของสารเคมีเต็มๆ แบบท้องตลาด แต่ก็ยอมรับแชมพู สบู่ เครื่องสำอางแบบสารเคมีต่ำ คือไม่มีสารเคมีรุนแรง ซึ่งเดี๋ยวนี้หาง่ายขึ้น คนไทยทำเยอะขึ้น แล้วทำดีมาก แบบลืมของฝรั่งไปเลย

เราทำ Farm drop day คือเอาผักผลไม้สดจากเกษตรกรที่เรารู้จักที่ปากช่องมาลงที่ร้านตั้งแต่วันพฤหัสของทุกสัปดาห์ และขายจนกว่าของจะหมด เพื่อความสดใหม่ เรารู้ว่าเกษตรกรเขาปลูกแบบอินทรีย์ อาจจะเป็นระยะปรับเปลี่ยนหรือเลยระยะปรับเปลี่ยนมาแล้ว แต่พวกเขายังไม่มีตรารับรอง certified organic เพราะมันไม่ง่ายสำหรับเกษตรกรตัวเล็ก เราคิดว่าการที่เราเลือกของในร้านเอง เหมือนเราการันตีด้วยตัวเอง เราเลยไม่ใช้คำว่าออร์แกนิกแท้ๆ แต่เป็นออร์แกนิกเท่าที่เราจะหาให้คุณได้

ไม่เกิน 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร

ต้องการ: ผักเรามาจากปากช่อง แต่ก็มีจากลพบุรี นครปฐมด้วย ข้าวก็มาจากหลายจังหวัด เราสามคนก็ช่วยกันหา supplier มาลงกัน

นี: ปากช่องอยู่ไกลจากกรุงเทพฯ ไม่เกิน 200 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่สร้างคาร์บอนน้อย และผักที่เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ยังเรียกว่าเป็นการกิน local ได้

เพียง: ยกตัวอย่างอย่างผักของอูโน่ฟาร์ม เขาทำกันมานานจนเป็นธุรกิจในครอบครัว ฟาร์มเขาอยู่ที่ต้นน้ำของเขาใหญ่ น้ำที่เขาเอามาใช้ในการเกษตรเลยเป็นน้ำที่บริสุทธิ์มากๆ แล้วเขาก็ทำปุ๋ยกันเอง เป็นฟาร์มที่ให้ผลผลิตได้แน่นอน เพราะเขาเป็นสายเลือดเกษตรกรจริงๆ เราก็พยายามจะหาตลาดให้เขามากที่สุด เพื่อที่เขาจะได้ทำต่อ เพราะเขามีเรี่ยวมีแรงที่จะทำมันต่อไป

สินค้าที่คนขายพูดได้เต็มปากเต็มคำ

ต้องการ: ส่วนใหญ่แบรนด์ที่เรามาวาง เรารู้จักกันมานมนานตั้งแต่ตลาดนิดนิด เขาก็ยินดีที่มาลงกับเรา จะบอกว่าของร้านเราแปลกเลยไหมก็ไม่ อาจจะหาได้อีกสองสามที่ แต่หาได้ทั่วไปไหม ก็ไม่ ที่สำคัญ ทุกอย่างในร้านเรากินเอง ใช้เองด้วย เรากินกันจริงๆ นะ (หัวเราะ)

อย่างแบรนด์ Organic pantry จากเชียงใหม่ อันนี้แปลกหน่อยเพราะเขายังไม่เคยเอาไปวางขายตามตลาดนัดหรือที่ไหน พอดีเรารู้จักกัน แล้วเราไปเยี่ยมร้านเขาที่เชียงใหม่ก็พบว่า ตายแล้ว เขาทำจริงจังมากและสวยมาก เป็นของที่ไม่ใช่สารเคมีเลย กึ่งของใช้อายุรเวท เช่น น้ำผึ้งที่ผสมสมุนไพรเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเจ้าของแบรนด์เขาใช้วิธีธรรมชาติบำบัดมานานมากแล้วตั้งแต่ที่เขาป่วย พอตัวเขาย้ายไปอยู่เชียงใหม่ เขาก็เลยเปิดร้าน พอเราไปเจอด้วยตัวเอง เราก็เลยได้สินค้าที่ไม่มีสารเคมีเลยมาอยู่ในร้านด้วย

เพียง: รองเท้า ทะเลจร ก็คอนเซปต์ดีมาก เขาเก็บขยะจากทะเลมาทำรองเท้า มันคือการเดินทางของขยะจากทั่วโลกมาทางมหาสมุทร นอกจากรองเท้าสวย ยังช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย เขาบอกว่าวันไหนที่ไม่มีรองเท้าแบรนด์ทะเลจรอีกแล้ว วันนั้นคือชัยชนะของเขา แปลว่าไม่มีขยะในทะเลอีกแล้ว

นี: พอเราได้สินค้าที่เราเชื่อถือได้สบายใจ เราก็กล้าพูดเต็มปากเต็มคำเวลาเราบอกลูกค้า เราจะไม่กั๊ก เพราะเราไม่ได้หลอกลวง

ช่วยกันซื้อ เท่ากับช่วยกันลดต้นทุน 

ต้องการ: สินค้าออร์แกนิกแพงเพราะมันมีต้นทุน อย่างพืชผัก บางคนคิดง่ายๆ ว่ามันไม่ใส่ปุ๋ยเคมีจะแพงได้ยังไง แต่ที่จริงมีหลายเรื่องที่ต้องดูแล เพราะเราไม่ใส่สารเคมีนั่นแหละ ฉะนั้นเรื่องแรงงานสำคัญมาก

เพียง: เช่น ยาฆ่าหญ้า ราดไปทีนึงผักก็ไม่มีหญ้าแล้ว แต่ถ้าปลูกแบบออร์แกนิก จะมีหญ้าขึ้นมาตลอดเวลา ถ้าหญ้าเบียด ผักจะไม่โต ฉะนั้นก็ต้องใช้แรงงานคนถอนหญ้ากันเป็นไร่ๆ มันเป็นเรื่องของแรงงานทั้งนั้นที่ทำให้ต้นทุนมันแพงขึ้น ซึ่งสินค้าที่เราเลือกมา พูดเลยว่าเราจะไม่กดราคาผู้ขาย เขาต้องคิดราคาที่เขารู้สึกว่าสมเหตุสมผล อยู่ได้

นี: สบู่ แชมพู ที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรม เขาทำล็อตใหญ่ ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยเลยต่ำ แต่แบรนด์พวกนี้เขายังเล็ก ต้นทุนต่อหน่วยเลยสูง นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เราคิดว่า ถ้าเราสามารถทำให้คนสนใจและหันมาใช้สินค้าออร์แกนิกเพิ่มขึ้น มันก็จะยิ่งทำให้ต้นทุนของวงการสินค้าเพื่อสุขภาพมันต่ำลง ท้ายสุด ผู้บริโภคก็จะได้ของพวกนี้ในราคาที่ถูกลง เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราอยากทำร้านนี้

ออร์แกนิกไม่ใช่แค่เรื่องตัวเราคนเดียว

ต้องการ: เราเปลี่ยนมาใช้ชีวิตแบบนี้ 7-8 ปีแล้ว เพราะเราคิดถึงสุขภาพตัวเองก่อน แต่พอเราค้นคว้า มันไม่ได้ดีแค่ต่อสุขภาพเรา มันดีต่อสุขภาพโลก ดีต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังดีต่อสังคมด้วย เราก็เลยคิดว่าเออ นี่มันเป็นทางออกของโลก เลยเปลี่ยนมาใช้ชีวิตแบบนี้เท่าที่จะเป็นไปได้ให้มากที่สุด หลายปีที่หันมาใช้ชีวิตแบบนี้ก็คิดว่ามาถูกทางและสนุก ทุกวันนี้หาของใช้ของกินเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นเยอะมาก เพราะโลกมันหนักขึ้นทุกที มลพิษมันเยอะขึ้น คนเป็นโรคเยอะขึ้น คนก็ยิ่งกลับมาหาสิ่งนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ

เพียง: การที่เราได้ใช้และรู้จักกับเจ้าของฟาร์มและสินค้าออร์แกนิก สุขภาพเราก็ดีขึ้นจริงๆ คนขายรู้เขาก็มีกำลังใจในการขาย คราวนี้มันเกิดเป็นพี่เป็นน้องกันแล้ว ไม่ใช่แค่การซื้อขาย เราได้รับฟังเรื่องชีวิตเขา ช่วงนี้พายุเข้า ผักเสียยับเยิน เราเป็นตัวกลางที่จะบอกลูกค้าได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เป็นเพราะอะไร ทีนี้มันเลยเกิดเป็นสังคมเล็กๆ ต่อไปเราก็อยากให้ร้านนี้เป็นอย่างนั้น เป็นสังคมที่ทุกคนเข้ามาในร้านแล้วรู้สึกเป็นเพื่อนกัน เป็นร้านของเขาเหมือนกัน เราก็มีความสุข

นี: เราไม่ได้อยากเป็นร้านค้าที่ขายของอย่างเดียว แต่อยากให้ที่นี่เป็นชุมชนของคนที่สนใจสุขภาพตัวเองและสิ่งแวดล้อมมาคุยกัน มาเจอกัน เราหาสิ่งดีๆ ผลิตภัณฑ์ดีๆ มา ลูกค้าต้องการสิ่งไหน เราก็เสนอข้อมูลให้ได้อย่างใกล้ชิด เราไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่นอน อีกหน่อยเราคิดว่าจะมีเดลิเวอรี่ ส่งสินค้าทางจักรยาน มีเวิร์กชอป จัดกิจกรรม อยากให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด

เพียง: เราพยายามจะให้คนได้รับรู้ว่ามันมีวิธีการใช้ชีวิตประจำวันที่ดีกับตัวเรา และดีกับโลกด้วย ดีกับลูกหลานด้วย ตรงนี้สำคัญ

เราพูดเสมอว่าออร์แกนิกไม่ใช่ตัวคนๆ เดียว ฉันกินแล้วฉันสวย อมตะ แต่ออร์แกนิกคือคุณกินแล้วรู้ด้วยว่าคุณต้องได้คิดด้วยว่าคุณทิ้งอะไรไว้บ้าง เมื่อคุณตายไป

สวนชั้น 1 ‘it’s going green’
เปิดทุกวัน (เว้นวันจันทร์)​ 10.30-20.00 น.
ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง