ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการเข้าร่วมกิจกรรมของสโลว์ฟู้ดมากที่สุด ทั้ง ๆ ที่อเมริกาเองได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งอาหารฟาสต์ฟู้ด

สำหรับเราผู้เขียนมันเป็นเรื่องที่สนุกมากทีเดียวที่ได้ยินเรื่องราวในอดีต ตอนที่แมคโดนัลด์มาเปิดสาขาแรกที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี จนเกิดการประท้วงอย่างสันติ และจากการประท้วงครั้งนั้นนำพาไปสู่การจัดตั้งองค์กรอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือองค์กรสโลว์ฟู้ดอินเตอร์เนชันเนล ซึ่งก่อตั้งโดยนายคาร์โล เปตรินี

จากหนึ่งในผู้ประท้วงในครั้งนั้น ชายชาวอิตาลีกลับกลายมาเป็นผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรักอาหารในสังคมคนอเมริกัน เป็นเหตุให้มีเครือข่ายสโลว์ฟู้ดในหลาย ๆ เมืองของประเทศนี้ ยกตัวอย่างเช่นเมืองเดนเวอร์ ซึ่งจัดงานสโลว์ฟู้ดขึ้นในปี 2018 บริเวณใจกลางเมือง ย่านลาแมร์ สแควร์ โดยสโลว์ฟู้ดเนชั่นเป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งเป็นโอกาสดีของผู้เขียน เพราะขณะนั้นได้พักอาศัยอยู่ไม่ไกลจากที่จัดงานพอดี จึงมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมและชมงานและเข้าเวิร์กช็อปต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วเมืองหรือแม้กระทั่งกิจกรรมอื่น ๆ ที่จัดขึ้นโดยพร้อม ๆ กันของฟาร์มต่าง ๆ รอบ ๆ เมือง

รูปแบบงานของที่เดนเวอร์นั้นไม่ต่างกันมากกับงาน Terra madre ในประเทศอิตาลี ที่มีกิจกรรมออกร้านให้ช้อปให้ชิมอาหารหลายอย่างจากเครือข่ายผู้ผลิตอาหารต่าง ๆ แต่ความแปลกอยู่ที่ว่าไม่น่าเชื่อว่าคนอเมริกันจะตื่นตัวกับคอนเซ็ปต์ของสโลว์ฟู้ดมากมายขนาดนี้ จากการสังเกตของตัวเลขผู้เข้าร่วมจากการเข้าร่วมเป็นจำนวนหมื่นกว่าคนในงานนี้ ซึ่ง คาร์โลเองก็เคยได้กล่าวไว้ว่า ตอนที่เค้าได้เริ่มมาทำงานกับสโลว์ฟู้ดอเมริกาในยุคแรก ๆ คนอเมริกันบริโภคเบียร์จากเจ้าใหญ่ ๆ อยู่ประมาณสองสามยี่ห้อ ดูตอนนี้สิ อเมริกาสิมีโรงทำคราฟต์เบียร์เกิดขึ้นอย่างมากมาย และมีฟาร์มเมอร์มาร์เก็ตที่ผุดขึ้นเป็นหลายพันแห่งทั่วประเทศ

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ได้มีความใกล้ชิดและสนใจเกี่ยวกับเรื่องอาหารของคนอเมริกันอยู่พอสมควร ได้ทราบดีว่า อาหารสำเร็จรูปนั้นได้เข้ามาอยู่ในครัวของเกือบทุกบ้านตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 จนกระทั่งในปี ค.ศ.1962 รายการทีวีช่องหนึ่งของอเมริกาได้เชิญ Julia child หญิงสาวชาวอเมริกันที่ได้ตามสามีไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสและเธอได้ใช้เวลาว่างเรียนทำอาหารจนได้เป็นเชฟอาหารฝรั่งเศสคนแรก ๆ ของอเมริกา มาถ่ายทอดการทำอาหารฝรั่งเศสให้ผู้คนทางบ้านสัญชาติอเมริกันที่เกือบลืมไปแล้วว่าการหั่นมะเขือเทศ หั่นหอม ปอกมันฝรั่งนั้นทำอย่างไร Julia Child (จูเลีย ไชลด์) ได้ถ่ายทอดเมนูอาหารฝรั่งเศสชื่อ beef bourguignon (เบิฟบูร์กีญง เป็นสตูเนื้อชนิดหนึ่งที่ตุ๋นในไวน์แดงที่มาจากแคว้นเบอร์กันดี) ซึ่งถือว่าเป็นจานที่มีชื่อเสียงในอเมริกามาถึงทุกวันนี้ ด้วยความที่เป็นอาหารฝรั่งเศสจึงมีการทำอาหารด้วยวิธีการเดิมและใช้เวลาในการปรุง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้คนอเมริกันส่วนหนึ่งหันกลับมาสนใจการทำอาหารจริง ๆ อีกครั้ง

แต่หลังจากนั้นมาในปี ค.ศ.1971 Alice Waters (อลิส วอเตอร์) เชฟ นักเขียน และนักกิจกรรมเพื่อสังคม เธอได้เปิดร้านอาหารในแนวเพื่อสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อม ชื่อว่า Chez Panisse (เชปานีส) ในเมือง Berkeley (เบิร์กลีย์) รัฐ California (แคลิฟอร์เนีย) ซึ่งเป็นเมืองที่เธออาศัยอยู่ ร้านอาหารของเธอเป็นร้านแรก ๆ ที่เสิร์ฟอาหารในสไตล์ farm to table โดยใช้พืชผักผลไม้และวัตถุดิบที่มาจากท้องถิ่น และเนื้อสัตว์ที่ปราศจากฮอร์โมนและสารเร่ง นั่นถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของวงการอาหารครั้งใหญ่ของอเมริกาและนับว่าเป็นความโชคดีของเราที่ได้มางานสโลว์ฟู้ดที่เดนเวอร์ เพราะ อลิส วอเตอร์ เป็นแขกคนหนึ่งที่จะมาบรรยายในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตที่เชื่อมโยงกับอาหารของเธอ และภายหลังเราได้ทราบว่าเธอเป็นเพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมอุดมการณ์กับคาร์โล เปตรินี ที่เป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน แล้วเธอก็ยังเป็นเชฟและช่วยเหลืองานในเครือข่ายของสโลว์ฟู้ดมาอย่างยาวนาน

การฟังเธอบรรยายในครั้งนั้น สำหรับเราเธอไม่ได้เป็นเชฟที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการทำอาหารเก่งแค่เพียงอย่างเดียว แต่เรื่องความเก่งกาจที่สุดของเธอก็คือการเลือกใช้วัตถุดิบ ซึ่งนั่นได้เป็นต้นแบบของคนทำอาหาร ของเชฟและร้านอาหารในหลาย ๆ ร้านของอเมริกา ร้านที่ตั้งใจทำให้เกิดการสร้างจิตสำนึกในการสร้างวัฒนธรรมอาหารยั่งยืนให้เกิดขึ้นในเมืองของเธอ นอกจากนี้เธอยังเป็นตัวตั้งตัวตีในโครงปลูกผักในโรงเรียนต่าง ๆ (Kids Edible School Yard Project) ให้นักเรียนได้ทำแปลงผัก ทำปุ๋ยหมัก และให้นักเรียนมีส่วนร่วมในช่วยกันปรุงอาหารเป็นอาหารกลางวันทานกันเอง ซึ่งตอนนี้เธอมีเครือข่ายเป็นหมื่นโรงเรียนทั่วทั้งประเทศ

ครั้งหนึ่งเธอได้เปลี่ยนบริเวณโดยรอบศาลากลางจังหวัด ให้กลายเป็นแปลงผักของเมืองและเป็นของผู้คนที่มาร่วมงานที่เธอได้จัดขึ้นด้วยการเชิญเชฟ เกษตรกร และผู้ผลิตอาหารมาออกร้าน ด้วยเป้าหมายให้ผู้คนได้รู้จักการทำอาหารแบบสโลว์ฟู้ดว่าเป็นการทำอาหารง่าย ๆ ที่ทำได้จริง งานนั้นถือว่าเป็นงานแรกของเธอที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมของผู้คนมากกว่า 85,000 คน จึงไม่น่าแปลกที่เธอได้รับฉายาว่าเป็น “mother of slow food” นอกจากนี้ อลิส วอเตอร์ ยังเป็นผู้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงอย่าง “WE ARE WHAT WE EAT” และเล่มอื่น ๆ อีกประมาณยี่สิบกว่าเล่ม ไม่ต้องบอกว่าเรามีความยินดีมากแค่ไหนที่มีโอกาสได้ร่วมงานแบบนี้ และเป็นการสร้างแรงให้เราได้ทำงานต่อในด้านอาหารในชุมชนของเรา

จะปรุงอาหารด้วยวัตถุดิบที่เป็น good clean and fair ให้ได้มากที่สุด

Slow food cook’s Alliance เป็นโครงการระดับโลกที่สามารถให้คนทำอาหารทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการเป็นพันธมิตรเครือข่ายอาหารที่จะช่วยกันปกป้องความหลากหลายของพืชพันธุ์อาหาร เป็นการรวมตัวกันของคนทำอาหารไม่ว่าจะเป็นจากร้านอาหารใหญ่ ๆ ร้านเล็ก ๆ หรือ รถขายอาหาร หรือ ร้านอาหารข้างถนน แค่คนเหล่านี้เป็นคนที่ใช้วัตถุดิบที่มาจากการสนับสนุนผู้ผลิตรายเล็กรายน้อย ภายใต้เงื่อนไขการผลิตอาหารแบบสโลว์ฟู้ด ซึ่งตอนนี้มีผู้เข้าร่วมกับในโครงการนี้ประมาณยี่สิบกว่าประเทศทั่วโลก องค์กรสโลว์ฟู้ดประกาศชัดเจนว่ายินดีต้อนรับคนที่ทำอาหารในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นอาหารชาติพันธุ์ อาหารท้องถิ่น อาหารฟิวชั่นสมัยใหม่ หรือ อาหารแนวสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพียงแต่ว่าแต่ละคนแต่ละกลุ่มจะให้คำมั่นสัญญาว่า จะปรุงอาหารด้วยวัตถุดิบที่เป็น good clean and fair ให้ได้มากที่สุด สร้างของเหลือจากอาหารให้น้อยที่สุด และไม่สร้างอาหารที่จะก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

สำหรับในส่วนของเครือข่ายขององค์กรสโลว์ฟู้ดในประเทศไทย ตอนนี้มีสองที่ที่ได้รับการจดทะเบียนขึ้นตรงจากองค์กรสโลว์ฟู้ดอินเตอร์เนชั่นเนลที่มีสมาชิกในกลุ่มที่เป็นทั้งผู้ผลิตอาหาร เชฟ คนทำอาหาร คนทำกาแฟ คนที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ในเชียงใหม่คือกลุ่ม Slow Food Community Food for Change Chiangmai หรือสามารถเรียกสั้น ๆ ว่ากลุ่มสโลว์ฟู้ดเชียงใหม่ก็ได้ และอีกที่หนึ่งก็คือที่จังหวัดชุมพร ชื่อ Slow Food Community Abundant Food Biodiversity

การทำงานของกลุ่มสโลว์ฟู้ดที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในประเทศไทยก็คือที่เชียงใหม่โดยที่ผ่านมาทางกลุ่มได้จัดกิจกรรมหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น งาน Testing Market ที่ตรงหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่จัดขึ้นในปี 2019 เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งเป็นเครือข่ายสโลว์ฟู้ดในเชียงใหม่และเพื่อเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องของสโลว์ฟู้ด

กิจกรรม Good seed, Good food ซึ่งจัดต่อเนื่องกันเป็นเวลาสี่ครั้งแล้ว กิจกรรมนี้เป็นการต่อต้านอาหารจีเอ็มโอแบบน่ารักโดยให้เพื่อน ๆ คนรักอาหารได้นำมาอาหารมาวางรวมกันบนโต๊ะยาวและแบ่งปันกันทานกับผู้อื่น โดยมีข้อแม้ว่าอาหารที่นำมานั้นไม่ได้มีส่วนประกอบของพืชจีเอ็มโอ หรือ พืชที่ได้ผ่านการตกแต่งพันธุกรรมมาแล้ว

Slow Food Journey เป็นกิจกรรมการเดินทางที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมและเรียนรู้จากผู้ผลิตอาหารที่ช่วยกันสร้างอาหารในแบบอาหารยั่งยืน กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สำหรับผู้เดินทางไปเยี่ยมและเจ้าบ้านได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกันผ่านอาหารจานโปรดของชุมชน

ในปลายปีนี้สโลว์ฟู้ดเชียงใหม่ได้มีการวางแผนจัดงาน earth market ซึ่งเป็นกิจกรรมสากลของเครือข่ายสโลว์ฟู้ดทั่วโลก ซึ่งงานนี้จะเป็นการรวมเอาเครือข่ายผู้ผลิตอาหารยั่งยืนในท้องถิ่นได้นำอาหารวัตถุดิบที่ตัวเองทำ ตัวเองปลูกมาให้ได้ช้อปได้ชิมกัน ซึ่งทุกท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับเราซึ่งจะจัดขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดทั้งปีได้จากในเฟซบุ๊กเพจ Slow Food Community Food For Change Chiangmai

ส่วนบุคคลทั่วไปที่ทั้งทำอาหาร และ ไม่ทำอาหาร เพียงแค่คุณรักอาหารและอยากเข้าเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นสมาชิกขององค์กร Slow Food International ก็สามารถสมัครได้ที่ www.slowfood.com และรายละเอียดในเว็บไซด์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณได้ทราบข่าวคราวและรายละเอียดกิจกรรมขององค์กรสโลว์ฟู้ดได้ แต่การมีส่วนร่วมที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายที่สุดคือ การจัดการโต๊ะอาหารของครอบครัวและจานข้าวของกิน ว่ามันมาจากไหน ใครทำใครปลูกด้วยวิธีการแบบไหนให้กลายมาเป็นอาหารสามมื้อของเรา ซึ่งถ้าทำได้สำหรับผู้เขียนแล้วถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวงการอาหารในระดับ จานข้าว หรือ ระดับครอบครัว ของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด