เราน่าจะเคยได้ยินได้เห็นการรณรงค์ให้มีการออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งการออกกำลังกายก็มักจะมาคู่กับความเหนื่อย หรือที่เราจะได้ยินบ่อยๆ สำหรับสายฟิตก็ประเภท No pain no gain, Go hard or go home ซึ่งถ้าเป็นวงการวิ่ง ทุกคนก็จะพยายามวิ่งให้เร็ว จะได้มีสถิติใหม่ๆ เวลาลงงานวิ่งมาอวดกัน

โดยปกติแล้วเรามีคำแบ่งความเร็วในการเคลื่อนที่คร่าวๆ ได้ว่า เดิน (walk) เดินเร็ว (brisk walk) วิ่งเหยาะ (jogging) วิ่ง (run) และวิ่งเร็ว (sprint) แต่ตอนนี้เราต้องเพิ่มคำว่า วิ่งช้า (slow jogging) เข้าไปอีกคำหนึ่ง ที่ถ้าบอกว่า เราสามารถมีสุขภาพแข็งแรง วิ่งสถิติให้ดีขึ้นด้วยการวิ่งช้าๆ ได้ ก็อาจทำให้หลายคนรู้สึกแปลกใจ

ทฤษฎีชวนคนมา slow jogging นี้ คิดค้นโดยศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่น Hiroaki Tanaka ที่เพื่อนๆ อาจจะเคยเห็นคลิปวิดีโอชายญี่ปุ่นสูงอายุ ท่าทางแข็งแรง อารมณ์ดี มาสอนวิ่ง ซึ่งเขาแนะนำว่า

การวิ่งแบบ slow jogging นั้นจะช่วยทำให้สุขภาพดี สามารถลดน้ำหนักรักษารูปร่าง ป้องกันอาการบาดเจ็บ ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี

ศาสตราจารย์ท่านนี้บอกว่า สาเหตุที่ทำให้คนในยุคปัจจุบันนั้นมีปัญหาน้ำหนักตัว และมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังรุมเร้า เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป โดยถ้าเราศึกษาไปในอดีตจะพบว่า มนุษย์เราวิวัฒนาการมากับการที่ต้องเคลื่อนที่ทั้งวันเพื่อหาอาหาร ดังนั้นหลายๆ ระบบในร่างกายจะทำงานได้ดี ร่างกายต้องมีการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเบาๆ นานๆ ซึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญว่าเราฝึก slow jogging ด้วยความเร็วที่ถูกต้อง นั่นก็คือ niko niko pace ซึ่ง niko niko pace ก็คือการวิ่งในระดับความเร็วที่เรายังยิ้มและพูดคุยได้ปกติ ไม่ควรเร่งจนหัวใจเต้นเร็วหายใจแรง ซึ่งสำหรับคนหัดใหม่ ความเร็วนี้แทบจะไม่ต่างจากการเดินเลยทีเดียว

เล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ถ้าความเร็วไม่ต่างกัน งั้นเราเดินออกกำลังกายได้หรือไม่ ศาสตราจารย์ Hiroaki Tanaka ได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่าว่าที่ต้องเป็น slow jogging เพราะมนุษย์ถูกออกแบบมาให้วิ่งมากกว่า โดยเฉพาะในปัจจุบันรองเท้าเรามีส้นหนารับแรงกระแทก ทำให้คนทั่วไปเดินหรือวิ่งลงด้วยส้นเท้า ซึ่งทำให้เกิดแรงกระแทกกับข้อต่อต่างๆ แต่การวิ่งแบบ slow jogging นั้น เน้นการลงเท้าที่เป็นธรรมชาติ คือลงด้วยหน้าเท้า หรือให้เราลองกระโดดเหมือนกระโดดเชือกดู ตำแหน่งเท้าที่ลงพื้นควรเป็นตำแหน่งเดียวกันในการวิ่ง ดังนั้นจึงควรใช้ slow jogging ในการเคลื่อนที่ เพื่อให้กล้ามเนื้อน่อง เอ็นร้อยหวาย เอ็นฝ่าเท้า ได้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดแรงที่จะเกิดกับข้อต่อต่างๆ ด้วย

ส่วนการที่วิ่งช้าๆ แต่ทำให้เวลาไปลงงานวิ่งสถิติดีขึ้น ก็เนื่องจากงานวิ่งที่เราวิ่งกับตามท้องถนนนั้นเป็นการวิ่งระยะไกล ซึ่งเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก

การวิ่งช้าๆ นานๆ ช่วยให้ร่างกายผลิตไมโทคอนเดรีย ซึ่งเปรียบเสมือนโรงงานผลิตพลังงานให้ร่างกายมีจำนวนมากขึ้น เมื่อเราต้องการวิ่งทำเวลา เราจึงสามารถวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และเมื่อเราซ้อมไปนานๆ ความเร็วที่เรายังวิ่งแล้วยิ้มและพูดคุยได้ก็จะค่อยๆ เร็วขึ้นเอง

เพื่อนๆ หลายคนก็น่าจะพบประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจตอนไปพยายามหัดวิ่งมาก่อน นั่นก็คือ พอวิ่งได้สักครู่ก็จะรู้สึกเหนื่อย หอบ จุก วิ่งต่อไม่ได้ สาเหตุก็เพราะเราคุมความเร็วไม่เป็น พอออกตัวแทนที่จะวิ่งเหยาะ ก็ข้ามไปเป็นวิ่งหรือวิ่งเร็วเลย ดังนั้นวิธีง่ายๆ ในการเริ่มหัด slow jogging คือ ลองใช้ลู่วิ่งออกกำลังกายในฟิตเนสตั้งความเร็วที่เราเดินเร็วแล้ววิ่งด้วยความเร็วนั้นดู แรกๆ จะรู้สึกว่ามันช้ามากๆ แต่ฝึกสักพักก็จะรู้สึกชินและทำได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ถ้าไม่สะดวกไปฟิตเนส ก็ลองชวนเพื่อนไปสักคน ให้เขาเดินเร็วแล้วเราวิ่งเหยาะไปข้างๆ ห้ามแซง เอาความเร็วที่เรายังยิ้มและพูดคุยได้ แค่นี้ก็ได้สุขภาพแข็งแรงแบบง่ายๆ แล้วละครับ

ภาพประกอบ: missingkk