ขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ เราไม่แน่ใจว่าคุณกำลังรับประทานอาหารอยู่หรือไม่และมื้อไหน? เช้า กลางวัน เย็น หรือ มีมื้อยิบย่อยที่คุณ enjoy eating ได้เสมอโดยที่เราไม่อาจรู้ได้

เราขอขัดจังหวะมื้ออาหารสุดอร่อยของคุณด้วยการบอกว่า วันนี้ คือวันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งทุกปีได้มีการกำหนดให้เป็นวันอาหารโลก หรือวัน World Food Day โดยถือเป็นวันก่อตั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในปี 1945 หรือครบ 75 ปีในปีนี้ ซึ่งธีมงานของปีนี้ก็คือ Grow, Nourish, Sustain. Together

วันอาหารโลก คือวันที่เราควรตระหนักถึงความสำคัญของอาหารที่เรามีกินอย่างเหลือเฟือ ในขณะที่คนอื่นไม่มี และไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามื้อต่อไปจะมีหรือไม่ ต่างจากพวกเราหลายๆ คนที่มีปัญหาตรงที่ มีสารพัดเมนูให้เลือกแต่เลือกไม่ถูก

นี่คือคำจำกัดความอย่างง่ายที่เราจะบอกให้ใครต่อใครฟังเมื่อต้องอธิบายถึงความสำคัญของวันดังกล่าว

แต่ถ้าจะให้ชัดเจนและเห็นภาพกว่านั้น คงต้องอ้างอิงจากตัวเลขในรายงานของ The State of Food Security and Nutrition in the World 2020 ที่บอกว่า เฉพาะในปีที่แล้วหรือปี 2019 มีคนเกือบ 750 ล้านคนทั่วโลก หรือ ทุก 1 ใน 10 คนที่ต้องเผชิญกับภาวะขาดความมั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรง คือไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยได้อย่างที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะทำได้ ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ สภาพแวดล้อม สังคม ไปจนถึง สภาพเศรษฐกิจ กลายเป็นวิกฤตอาหารที่ส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด ที่สะท้อนภาพให้เราเห็นได้ชัดเจนเหลือเกินถึงความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างที่แยกห่างระหว่างคนที่มีเงินซื้ออาหารได้ทุกมื้อกับคนที่ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อข้าวสักมื้อ

ขณะเดียวกัน เรื่องที่ย้อนแย้งและเป็นความจริงที่ยากจะเข้าใจ (และยากจะทำใจ) ก็คือ ทุกวันนี้โลกเรามีปัญหา food waste หรืออาหารส่วนเกินที่ต้องกลายเป็นขยะอาหาร และต้องนำไปฝังกลบในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 1,300 ตัน!

ใช่แล้ว โลกเรามีปัญหาการขาดแคลนอาหาร กับปัญหาอาหารส่วนเกินไปพร้อมๆ กันนี่แหละ?

ซึ่งพิจารณาดูแล้ว การที่เราต้องทิ้งอาหารในแต่ละมื้อ หรือแต่ละชิ้นไปครั้งแล้วครั้งเล่า ก็น่าจะมาจากเหตุผลไม่มากไปกว่าสองเรื่องนี้คือ กินไม่หมด กับกินไม่ทัน (วันหมดอายุ)

SOS กินไม่ทันส่งต่อ

เรามีโอกาสได้คุยกับ นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ หรือ พลอย Fundraising Manager แห่งมูลนิธิ Scholars of Sustenance Foundation องค์กรไม่แสวงผลกำไร (ก่อตั้งในปี 2016) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Thai SOS ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียมในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีสาขาทั้งในกรุงเทพฯและภูเก็ต ที่น่ารักคือ พวกเขาเรียกตัวเองว่า food rescuer หรือผู้ช่วยชีวิตอาหารที่กำลังจะถูกทิ้งอย่างน่าเสียดาย เพราะเห็นว่าทุกวันนี้มีแหล่งอาหารส่วนเกินที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมายถูกทิ้งไป แต่ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ พวกเขาจึงทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริการ ภาคการค้าปลีก ผู้ผลิตและซัพพลายเออร์เพื่อกอบกู้อาหารส่วนเกินเหล่านั้นและนำแจกจ่ายให้กับชุมชนที่ด้อยโอกาส

เรียกว่าทุกเดือนพวกเขาสามารถจัดส่งอาหารเกือบ 300,000 มื้อไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ศูนย์ผู้ลี้ภัย ชุมชนผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ ยิ่งช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด พวกเขาก็ยังสามารถแจกจ่ายอาหารได้เกือบ 2 ล้านกว่ามื้อให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบหลายแห่งอีกด้วย

และภายในเดือนแห่ง World Food Day นี้เอง ทาง Thai SOS ก็เลยตั้งใจจะผุดแคมเปญสำคัญขึ้นมาที่ชื่อ SOS กินไม่ทันส่งต่อ ซึ่งจะเชิญชวนให้ทุกคนสำรวจดูว่าที่บ้านของตัวเองมีอาหารอะไรบ้างที่ใกล้หมดอายุ และคิดว่าตนเองทานไม่ทันแน่ๆ จากนั้นก็นำอาหารนั้นๆ ไปส่งต่อให้กับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งญาติของตัวเองก็ยังได้

เสร็จแล้วก็แค่ถ่ายรูปคู่กันกับอาหารแล้วโพสต์ลง social media ติด hashtag #กินไม่ทันส่งต่อ เล่าความรู้สึกของตัวเองว่าหากต้องทิ้งอาหารนี้ไปในขณะที่ยังมีคนขาดแคลนอาหารอยู่จะรู้สึกอย่างไร จากนั้นก็แท็กชวนเพื่อนมาร่วมส่งต่ออาหารกัน และสนับสนุนมูลนิธิ Thai SOS โดยการร่วมสมทบทุนเงินจำนวน 20 บาทให้แก่มูลนิธิเพื่อส่งต่ออาหารดีๆ ที่กำลังจะถูกทิ้งได้อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย

“สิ่งที่จะได้จากแคมเปญนี้คือผู้ที่เข้าร่วมจะได้เห็นด้วยตนเองเลยว่า พวกเขาสามารถเริ่มต้นลดปัญหาขยะอาหารและช่วยเหลือคนที่ขาดแคลนอาหาร ด้วยการกระทำเพียงเล็กๆ น้อยๆ อย่างการส่งต่ออาหารและการบริจาคเงินในจำนวนไม่มาก การตระหนักรู้ในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้คนได้มีโอกาสฉุกคิดถึงเรื่องพฤติกรรมการซื้ออาหารเกินความจำเป็น ไม่มากก็น้อย”

มาเป็นฮีโร่ผู้ช่วยชีวิตอาหารกันเถอะ

ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ คุณจะพบว่ามีเรื่องราวเกี่ยวกับวันอาหารโลก ที่น่าสนใจอยู่หมวดหนึ่งที่ชื่อ Food Heroes หรือว่าด้วยเรื่องราวของคนจากหลากหลายประเทศที่ทำหน้าที่ส่งมอบอาหารให้กับผู้คนและชุมชนในท้องถิ่นที่กำลังขาดแคลนอาหาร เรื่องราวของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราหลายๆ คนที่แม้จะตระหนักถึงปัญหาของการขาดแคลนอาหารและอาหารส่วนเกิน แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะลงมือทำอย่างไรดี เหล่าฟู้ดฮีโร่ กลุ่มนี้เองที่เป็นต้นแบบที่ทำให้เราเห็นว่า คนตัวเล็กๆ ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จากจุดเล็กๆ ที่ตัวเองยืนอยู่ได้เหมือนๆ กัน

แต่สิ่งที่สำคัญไม่ต่างจากการลงมือทำ หรืออันที่จริงจะเรียกว่าเป็นจุดที่ก่อให้เกิดการลงมือทำก็คือ มายด์เซ็ต หรือกรอบความคิดที่คนเรามีเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน เพราะนั่นแหละคือจุดที่เปลี่ยนยากที่สุด ซึ่งตรงนี้เราเห็นด้วยอย่างหนึ่งกับนันทพรแห่ง Thai SOS  ที่บอกว่า เราทุกคนไม่ว่าจะในฐานะตัวบุคคล หรือองค์กรก็มีส่วนที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อระบบอาหารที่ผลิต และส่งอาหารมาถึงมือเรา จนกระทั่งถึงตอนที่เราทิ้งไป

“ควรหยุดมองว่าขยะอาหารนั้นไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เพียงเพราะอาหารคือขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้จึงไม่ได้สนใจเรื่องการลดขยะอาหาร หรือแยกขยะอาหารได้ดีเท่าที่ควร” นันทพรบอกว่า ทุกวันนี้คนทั่วไปยังไม่ได้เข้าใจถึงผลกระทบของขยะอาหารที่มีความร้ายแรงเมื่อถูกนำไปทิ้งรวมกับขยะชนิดอื่น รวมไปถึงผู้บริโภคไม่ได้มองเห็นว่าจริงๆ แล้วบนโลกใบนี้มีอาหารดีๆ ถูกทิ้งไปเป็นจำนวนมากเพราะไม่เคยได้เห็นปัญหาที่เกิดระหว่างกระบวนการผลิต การขนส่ง และการคัดแยกทิ้งอย่างใกล้ชิดมาก่อน ส่วนอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนในบ้านเราเปลี่ยนมายด์เซ็ตได้ยาก ก็เพราะ

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราอยู่ในประเทศที่อาหารอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี จึงไม่ได้รู้สึกว่าเราขาดแคลนอาหาร ดังนั้นการตระหนักถึงคุณค่าของอาหารและปัญหาที่เกิดจากการบริโภคของตนเองจึงเป็นสิ่งที่ยังขาดไปด้วย”

อีกไม่นานแคมเปญสนุกๆ อย่าง SOS กินไม่ทันส่งต่อ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เราอยากชวนคุณลองหันมาสำรวจอาหารในบ้าน อาหารตรงหน้า และอาหารที่เรากำลังคิดจะทิ้ง ฯลฯ เผื่อบางทีเราอาจจะมองอาหารด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะสำหรับเราแล้ว…

คุณค่าทางอาหาร อาจไม่ใช่แค่สิ่งที่เราได้รับจากการกินอาหารเข้าไปในร่างกาย แต่มันยังหมายถึง คุณค่าที่เกิดจากการไม่ทิ้ง หากแต่เลือกที่จะส่งต่ออาหารในวันที่เรากินไม่ทัน เพื่อให้คนอื่นที่จำเป็นกว่าได้รับไปแทน

ที่มาข้อมูล:
www.fao.org
www.scholarofsustenance.org

เครดิตภาพ: Scholars of Sustenance Foundation