ใครจะไปคิดว่าบนดาดฟ้าเนื้อที่ 250 ตารางเมตรของห้างสรรพสินค้าย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ อย่าง Center One จะกลายเป็นพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์มากกว่า 20 ชนิด ทั้งผักสลัดอย่าง เรดโอ๊ค เรดคอส กรีนโอ๊ค กรีนคอส หรือพืชผักสวนครัว เช่น กะเพรา โหระพา ตะไคร้

เบื้องหลังคนสำคัญเปลี่ยนดาดฟ้าที่เคยว่างเปล่าแห่งนี้ ให้กลายเป็นสวนผักเขียวขจี คือ ลุงเทพ-สุเทพ กุลศรี เกษตรกรผู้ร่วมก่อตั้งฟาร์มบนดาดฟ้าหรือ Bangkok Rooftop Farming ให้กลายเป็นต้นแบบของสวนผักอินทรีย์จากเศษอาหารที่เปิดให้คนเมืองมาเยี่ยมชมและซื้อผักสดๆ ตัดจากต้นได้ถึงที่

ซึ่งหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ลุงเทพ กูรูปลูกผักผู้มีศูนย์เรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมการเกษตร ณ จังหวัดปทุมธานีเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ตัดสินใจเข้ามาปลุกปั้นสวนผักกลางเมือง ก็เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าใครๆ ก็ปลูกผักได้ แม้จะอาศัยอยู่ในป่าปูน

กูรูเกษตรอินทรีย์ ที่เริ่มจากการปรุงดิน

กว่าจะมาเป็นกูรูด้านการปลูกผักอินทรีย์ในวันนี้ ลุงเทพเองก็เคยเป็นผู้ไม่รู้มาก่อน ลุงเทพเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นว่าไม่ได้คิดจะเป็นเกษตรกรตั้งแต่ต้น แต่เกิดจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ทำให้เขาตัดสินใจย้ายไปทำงานที่ต่างจังหวัด

“ลุงจบวิศวกรเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ มีบริษัทเล็กๆ ทำงานเกี่ยวกับระบบแสงสีในกรุงเทพฯ แต่ปี 2540 เกิดวิกฤตฟองสบู่แตก บริษัทเริ่มย่ำแย่ แล้วมาเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ต้องรักษาตัวเองนาน 4 เดือน เลยตัดสินใจเลิกทำบริษัท กลับไปอยู่นครสวรรค์ เพื่อเป็นที่ปรึกษาฝ่าย R&D ของโรงงานแห่งหนึ่ง”

เมื่อมีโอกาสได้อาศัยอยู่จังหวัดนครสวรรค์ที่พอจะมีพื้นที่ริมน้ำ ลุงสุเทพจึงเริ่มทดลองปลูกผักไร้สารเคมีแปลงเล็กๆ เป็นของตนเอง “หลังจากฟองสบู่แตก รัฐบาลเขาจะมีกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund-SIF) ที่ให้ประชาชนมารวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน ลุงก็มีโอกาสได้ไปช่วยงานกับกลุ่มที่เขารวมตัวเพื่อผลักดันเรื่องเกษตรยั่งยืนในชุมชน ซึ่งเขาจะเอานักวิชาการ คนที่มีองค์ความรู้ต่างๆ มาอบรม ตัวเราก็ซึมซับความรู้จากวิทยากรมา ก็เลยตัดสินใจเอาความรู้มาปลูกผักในสวนเล็กๆ ของตนเอง”

แต่การทดลองปลูกผักไม่ง่ายอย่างที่คิด แม้จะได้ฟังวิทยากร ได้ไปศึกษาแปลงผักอินทรีย์มาบ้าง แต่เมื่อนำมาปฏิบัติจริงกลับไม่ดีอย่างที่ตั้งใจ 

“ตอนนั้นลุงไม่รู้จักอะไรเลย ไม่รู้จักดิน ไม่รู้จักจุลินทรีย์ ไม่รู้จักแมลง จึงตัดสินใจมาศึกษาเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง” 

“มาโฟกัสที่เรื่องดินเป็นหลัก ลุงสังเกตจากการเปรียบเทียบดินที่ผ่านการปรุงมาแล้วกับดินที่ลุงไปขุดแล้วหยอดเมล็ดพันธ์ุไปเลยเนี่ย พบว่าอย่างแรกมันโต แต่อย่างหลังมันไปต่อไม่ได้ เลยรู้ว่าดินเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ก็ทดลองปรุงเป็น 10 สูตรเลย แต่พอของมันไม่มีก็ตัดทิ้งไปบ้าง จนสุดท้ายสูตรที่ง่ายแต่ได้ผลที่สุดก็คือปุ๋ยคอก ปุ๋ยมะพร้าว ดินแค่นั้นเอง”

ส่งต่อวิถีอินทรีย์ที่ปลูกได้ สร้างรายได้จริง

เมื่อทดลองซ้ำๆ จนมั่นใจว่าสูตรการปรุงดินใช้งานได้จริง ลุงเทพจึงเริ่มขยับขยายขอบเขตความสนใจในการปลูกผักของตนเอง จากการทดลองปลูกเล่นๆ ก็กลายเป็นความตั้งใจส่งต่อองค์ความรู้ไปให้กับผู้อื่น

“ลุงคิดว่าวิธีการที่จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงความรู้ต่างๆ อย่างแท้จริง คือเราต้องมีหน่วยเรียนรู้ที่ให้ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้โดยสะดวก ลุงจึงมาทำงานกับศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ยั่งยืน จังหวัดปทุมธานี เพราะมันสามารถเดินทางได้สะดวก เกษตรกรสามารถเดินทางมาศึกษาดูงานได้”

“อย่างในศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ยั่งยืน นอกจากเราจะมีเรื่องการปรุงดินให้ดีเพื่อไม่ให้ใช้ปุ๋ยเคมี เรายังเอากลไกทางธรรมชาติมาบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงอย่างเช่นใช้จุลินทรีย์มาช่วยให้ผักเจริญเติบโต ใช้ตัวห้ำตัวเบียนเพื่อกำจัดศัตรูพืช เป็นเกษตรประณีตที่มีผลผลิตเลี้ยงตนเอง มีรายได้เลี้ยงคนงานในนั้นได้จริง”

นอกจากจะเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรผู้สนใจปลูกผักอินทรีย์ได้มาศึกษาวิธีการปลูกที่ได้ผล ศูนย์เรียนรู้ที่ปทุมธานียังเปิดพื้นที่ให้คนนอกที่ไม่ใช่เกษตรกรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาเรียนรู้วิธีสร้างอาหารปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ไปถึงวัยเกษียณ 

ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในการเปลี่ยนดินเสียให้กลายเป็นดินดี สามารถสอนเกษตรกรและคนทั่วไปให้สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ ลุงเทพจึงถูกเชิญไปเป็น Organic Coach หรือ วิทยากรสอนปลูกผักออร์แกนิกมาแล้วทั่วประเทศ จนกลายเป็นที่รู้จัก ถูกยกย่องให้เป็นกูรูด้านการปลูกผัก ที่มีลูกศิษย์และแฟนผักมากมาย 

จากที่ปรึกษา สู่การปั้นดาดฟ้ากินได้ใจกลางกรุง

ประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ที่สะสมมาเป็น 10 ปี ทำให้ลุงเทพถูกชักชวนให้มาช่วยแนะแนวทางและปรับปรุงพื้นที่ในเมืองให้สามารถปลูกผักได้จริง ซึ่งดาดฟ้าของ Center One ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งนั้น

“ลุงไม่เคยปลูกผักบนดาดฟ้ามาก่อนเลย แต่ลุงเคยเห็นกรณีศึกษาของโรงพยาบาลในบอสตัน ที่เขามีฟาร์มบนดาดฟ้าแล้วเอามาให้คนป่วยข้างล่างได้กิน ลุงเองก็แชร์ไว้ในเฟซบุ๊กว่าน่าสนใจ อยากทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้ในไทย เพราะมันท้าทาย” 

“จนลุงได้มาเจอกับคุณหนู-ปารีณา ประยุกต์วงศ์ เลขาธิการสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอย่างยืน ที่เขาพยายามทำโครงการเอาขยะเศษอาหารจากศูนย์อาหารของห้าง Center One มาทำเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกผักอินทรีย์บนดาดฟ้า ซึ่งช่วงแรกมันได้ผลที่ไม่น่าพอใจนัก เขาก็เลยชวนลุงมาให้คำปรึกษา ดูว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง”

“ลุงเชื่อว่าถ้าดินดีจะปลูกผักที่ไหนก็ขึ้น เลยมาจัดการเรื่องปรุงดิน เอาของที่มีนี่แหละมาเขย่าๆ ให้เขาปลูกใหม่ เพราะว่าถ้าดินดี จะปลูกผักในแปลงหรือปลูกบนดาดฟ้าก็ได้ทั้งนั้น แล้วมันก็เติบโตขึ้นมาได้ต่อเนื่องจริงๆ จากนั้นเราก็เอาช่วยวางแผน จัดการให้เป็นระบบฟาร์ม ชวนแฟนผักที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้มาช่วยปลูกในช่วงแรก แล้วก็ทำตลาดเอาไปขายในเฟซบุ๊ก ในห้าง Center One”

“พอคุณปารีณาเขาเห็นว่าลุงเทพเองดูแลการผลิตผักได้ มีองค์ความรู้ มีเรื่องการตลาดของคนรุ่นใหม่มาผนวกกัน คุยกันไปคุยกันมาก็ชวนให้ตั้งเป็นบริษัทโดยที่อาสาสมัครทั้งหลายก็มามีส่วนร่วม เกิดเป็น Bangkok Rooftop Farming ขึ้นมา”

ลุงเทพบอกว่าจุดมุ่งหมายของสวนผักบนดาดฟ้าแห่งนี้ ไม่เพียงแค่เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยที่คนเมืองเข้าถึงง่าย แต่ยังสามารถสร้างผลกระทบมากมายทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อมและสังคม

“ตอนลุงทำฟาร์มที่ปทุมธานีก็ขายได้ อยู่ได้ ให้ความรู้คนอื่นได้ แต่มาอยู่ที่นี่ลุงได้เห็นพลังของมันมากกว่าเดิม ตั้งแต่เรื่องผู้บริโภคที่เขาจะเชื่อมั่นได้ว่าผักที่เราทำมันปลอดภัยจริงๆ เพราะฟาร์มตรงนี้เปิดให้เขาสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาดูได้ทุกวัน”

“เรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็ได้แก้ปัญหาขยะเศษอาหารซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของห้างฯ เพราะเขาต้องเสียค่าจัดการขยะเป็นขั้นบันได ยิ่งเขามีขยะเยอะก็ต้องจ่ายค่าเก็บขยะเยอะ อย่างที่ Center One เสียเงินค่ากำจัดขยะอาหารปีละหลายแสน ถ้าเราสามารถเอาขยะมาสร้างประโยชน์ก็จะกลายเป็น circular economy ที่นอกจากจะลดขยะ ยังลดรายจ่าย สร้างรายได้ด้วย”

ลุงเทพเล่าต่อว่าขยะอาหารจำนวนมากจากห้างสรรพสินค้า แม้จะมีรถขยะมารับเอาไปฝังกลบก็สร้างมลภาวะปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ การนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยจึงเป็นการตัดตอนกระบวนการสร้างก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซมีเทนที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้โลกร้อน และยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งได้ด้วย เพราะมีพื้นที่ขายบริเวณชั้น 1 ของห้าง Center One

“นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพื้นที่อย่างดาดฟ้าที่ปกติไม่สร้างประโยชน์อะไรเลย ให้กลายเป็นสวนผักมีต้นไม้สามารถดูดซับแสงแดด ยังช่วยให้พื้นที่ตรงนี้ก็เย็นขึ้นได้ ลุงได้เห็นผลดีทุกด้านเลยพอมาอยู่ในเมือง”

ให้การปลูกผักเป็นเรื่องของทุกคน

นอกจากจะเป็นเกษตรกรที่ผลิตผักปลอดภัยให้คนเมืองได้กินแล้ว ในอนาคตสวนผักบนดาดฟ้าแห่งนี้ยังจะเปิดให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ ที่องค์กรที่สนใจการปลูกผักบนระเบียงบนดาดฟ้าเข้ามาศึกษาได้

“โมเดลของ Bangkok Rooftop Farming มันต่อยอดไปยังอาคารอื่นๆ ได้ ไม่ใช่แค่ห้างสรรพสินค้า แต่โรงแรม โรงพยาบาล หรือโรงอาหารใหญ่ๆ ที่มีพื้นที่บนดาดฟ้าและมีโรงอาหารของตัวเองก็สามารถทำแบบเราได้”

“เจ้าของเองก็ลดค่าใช้จ่ายในการเอาไปทิ้ง แบ่งเบาภาระสังคมได้ และจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ ด้วย กทม. เขาตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 2030 จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ 30% แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนดาดฟ้าให้เป็นสวนผักเพิ่มเป็น 50% ใน 2 ปีก็ยังทำได้”

ไม่เพียงแค่เปิดพื้นที่ให้องค์กรหรือหน่วยงานที่สนใจ ลุงเทพยังอยากให้สวนผักดาดฟ้าแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนเมืองทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุหรือคนพิการ ที่อยากปลูกผักให้สามารถมาศึกษาเรียนรู้ได้ เพราะการปลูกผักกินเองนอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เปลี่ยนที่ดินว่างเปล่าให้มีประโยชน์ ยังเป็นหลักประกันว่าเราจะมีอาหารกิน เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตที่คาดการณ์ไม่ได้

“อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าการปลูกผักไม่ใช่เรื่องทุกข์เข็ญ มันควรจะเป็นเรื่องที่ง่ายและทุกคนสามารถทำได้ เพราะนี่คือความมั่นคงทางอาหาร”

“คนเมืองอาจจะคิดว่าตัวเองมีอาหาร มีวัตถุดิบให้ซื้อเยอะแยะ จะปลูกผักเองทำไม แต่ถ้าไปดูตามตลาดสี่มุมเมือง จะเห็นว่าผักนำเข้ามาจากต่างจังหวัดทั้งนั้น แปลว่าคนในเมืองพึ่งพาตัวเองไม่ได้ เขาพึ่งพาต่างจังหวัดหมดเลย แล้วถ้าหากเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมาจริงๆ มีเงินแค่ไหนก็ไม่มีกิน หรือก็คือคุณไม่มีความมั่นคงทางอาหารแล้ว”

ลุงเทพบอกเราว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขายังมุ่งมั่นจะปลูกผักอินทรีย์ทำงานร่วมกับ Bangkok Rooftop Farming และศูนย์เรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมการเกษตร จังหวัดปทุมธานี รวมถึงเป็นวิทยากรที่เดินทางไปสอนคนปลูกผักในหลายพื้นที่ ในวัยที่เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันต่างเกษียณหมดแล้ว เป็นเพราะอยากส่งต่อคุณค่าของการปลูกผักที่มากกว่าได้กินดี

“การปลูกผักเองนอกจากเราจะได้อาหารดีกินแล้ว มันยังเต็มไปด้วยคุณค่าทางจิตใจ ระหว่างทางที่ปลูกเรามีความสุข มันเพลิดเพลิน การได้เฝ้ามองว่าผักมันจะโตไหม จะเป็นอย่างไร คือการสร้างจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิต ทำให้ลุงยังอยากปลูกผักต่อไป เป็นความรู้สึกที่อยากส่งต่อให้คนอื่นๆ เช่นกัน” 


Bangkok Rooftop Farming – ฟาร์มบนดาดฟ้า

ห้างเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยฯ
14/2 ซอยวัฒนโยธิน ถนนราชวิถี
ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 

FB: www.facebook.com/bangkokrooftopfarm