“ในยุคนี้รัฐบาลไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไป เพราะมีคนอีกตั้งหลายล้านคนบนโลกใบนี้ ฉันว่าปัจจัยสำคัญอยู่ที่การเลือกใช้จ่ายของเรามากกว่า ถ้าเราซื้อของในห้างหรือร้านสะดวกซื้อ แล้วเงินของเราไปที่ไหน? ถ้าเราซื้อของกับชุมชน แล้วเงินของเราไปที่ไหน?”

แอนนี่ เจ้าของบริษัท BeeConscious ชวนเราตั้งคำถาม

เรานั่งคุยกันที่ระเบียงบ้านหลังเล็กอันอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมจางๆ ของไขผึ้ง ถัดไปด้านใน พี่ๆ กำลังเตรียมส่วนผสมไขผึ้งและน้ำมันเพื่อใช้ทำไขผึ้งห่ออาหารหรือ Bee Wraps ถัดไปทางด้านหลัง เป็นวิวภูเขาเขียวชะอุ่มของดอยปุย ฝนเทลงมาหลังจากที่เรามาถึงไม่นาน ทำให้เราไม่ต้องรีบร้อนไปไหนต่อ

แอนนี่ หรือ Antoinette Jackson สาวชาวออสเตรเลียที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เมืองไทย 7 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาอยู่เชียงใหม่จวนจะ 3 ปี เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วไขผึ้งห่ออาหารมีใช้มาตั้งแต่โบราณ ก่อนการกำเนิดของพลาสติกเสียอีก โดยการเอาไขผึ้งมาเคลือบผ้าต่างๆ ไว้ใช้งาน ซึ่งคุณแอนนี่เองได้รับภูมิปัญญานี้มาจากคุณยาย ก่อนจะนำสูตรมาพัฒนาให้สินค้าใช้งานได้นานยิ่งขึ้น จากการแบ่งปันกันระหว่างเพื่อนฝูงเกิดเป็นแรงผลักดันให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายสู่ท้องตลาดภายใต้ชื่อ SuperBee Wax Wrap

ใส่ใจลงในผืนผ้า

“สินค้าออกมาดีได้เพราะทุกคนอุทิศตัวให้กับการสร้างมันขึ้นมา และใส่ความรักลงไปด้วย”

แอนนี่เล่าบรรยากาศการทำงานระหว่างที่เราเดินชมขึ้นตอนการผลิต ในห้องแรก เราเจอพี่นุชที่กำลังตัดผืนผ้าออร์แกนิกลวยลายน่ารักออกมาเป็นผืนเล็กๆ แต่เดิมจะตัดผ้าทีละชิ้นด้วยกรรไกร แต่เพิ่งมีเครื่องตัดผ้ามาช่วยทุ่นแรงเมื่อไม่นานมานี่เอง พี่ๆ ก็ดูใช้กันได้อย่างคล่องแคล่วทีเดียว

ถัดมาคือพื้นที่เตรียมส่วนผสมต่างๆ เพื่อที่จะระบายลงบนผืนผ้าให้ทั่วทั้งผืน แต่ส่วนผสมและวิธีการโดยละเอียดเป็นอย่างไรนั้นแอนนี่บอกว่าขอเก็บไว้เป็นความลับค่ะ ผ้าชิ้นเล็กๆ ที่ถูกเคลือบด้วยไขผึ้งแล้วก็จะนำไปตากให้แห้งก่อนเก็บรวบรวมมาไว้ที่โต๊ะทำงาน จะมีพี่ๆ คอยเก็บงานให้ไขผึ้งเรียบเสมอกันทั้งผืนก่อนที่จะพับให้เท่ากันเพื่อที่จะบรรจุลงกล่องกระดาษแบบไม่เคลือบสีเจาะเป็นลายรังผึ้ง เรียกได้ว่าเป็นชิ้นงาน Hand-made เกือบทั้งกระบวนการเลยทีเดียว

ใช้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

เบื้องหน้าของบริษัทเราจะเห็นผลิตภัณฑ์อันโดดเด่นคือ Bee wraps แต่ความจริงแล้วยังมีผลิตภัณฑ์ลูกที่เกิดจากเศษผ้าในกระบวนการผลิตอีกมากมาย ไม่ว่าจะชิ้นเล็กชิ้นน้อยแค่ไหนคุณแอนนี่ก็ไม่อยากจะทิ้งเป็นขยะ เศษผ้าที่เป็นทางยาวจึงถูกเย็บรวมกันเป็นถุงเก็บของใช้ ซองเก็บช้อนส้อม แม้กระทั้งเศษผ้าสี่เหลี่ยมเล็กๆ ก็ถูกนำไปหุ้มฝาจีบของขวดน้ำและเย็บรวมกันจนกลายเป็นที่รองแก้วหรือรองหม้อได้อีกด้วย

ฉันถามถึงไขผึ้งก้อนใหญ่ที่เรียงรายอยู่เต็มชั้นวางว่าเก็บมาอย่างไร? สำหรับสายรักษ์สัตว์อาจจะไม่ชอบเท่าไหร่นัก เธอเล่าให้ฟังว่าไขผึ้นเหล่านี้ถูกส่งมาจากเครือข่ายคนเลี้ยงผึ้งที่จังหวัดสุรินทร์ โดยเขาจะเก็บไขส่วนที่เกินจากรังออกมาโดยไม่ทำร้ายรังผึ้ง เพราะฉะนั้นก็มีให้เก็บได้อีกเรื่อยๆ เวียนไปในแต่ละรัง พร้อมกับทำท่าทางประกอบว่ารังผึ้งที่นั้นมีขนาดใหญ่มากๆ

หาทางเลือกและสร้างสรรค์

ฉันแอบคิดว่าจริงๆ แล้วไขผึ้งห่ออาหารอาจจะไม่เหมาะกับอาหารบ้านเราเท่าไหร่ แต่พี่ๆ ช่วยเสริมว่ามันขึ้นอยู่กับการใช้งานต่างหาก พี่อี๊ดเล่าให้ฟังว่าเขาเอาไปใช้ห่อผักที่บ้านและผักก็อยู่ในอีกเป็นเดือนเลย เพราะจริงๆ แล้วพืชผักแม้จะตัดออกมาแล้วแต่ก็ยังไม่ตาย มันยังมีการระบายอากาศหรือคายน้ำอยู่ พอเอาไปอยู่ในถุงพลาสติกที่อึดอัดของเลยเสียเร็ว แต่พอห่อด้วยไขผึ้งที่ระบายอากาศได้ก็ยืดอายุอาหารให้นานขึ้นและช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย ไม่ใช่แค่ผักแต่จานอาหารต่างๆ ก็เช่นกัน แถมยังคอนเฟิร์มอีกว่าน้ำพริกกะปิจะไม่เหม็นหึ่งในตู้เย็นอีกต่อไป

จากนั้นพี่คนอื่นๆ ก็สนุกสนานกับการแลกเปลี่ยนไอเดีย บางคนใช้ห่อขนม หอมใหญ่ที่หั่นครึ่งแล้ว ห่อสบู่เวลาเดินทาง และได้ยินมาว่าลูกค้าบางคนเอาไปม้วนเป็นหลอดดูดน้ำหรือชาไข่มุกได้อีกต่างหาก

แอนนี่บอกว่า Bee Wraps อาจจะไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมไทย แต่ถ้าลองมองย้อนกลับไปเราจะเห็นธรรมชาติที่ทดแทนพลาสติกได้ เช่น ใบตอง ใบบัว หรืออื่นๆ ที่มีมาแต่โบราณ แม้ปัจจุบันอาจจะหาไม่ง่ายเหมือนเดิม เราก็ต้องช่วยกันสร้างทางเลือก ส่งเสริมพลังของคนกลุ่มเล็กๆ นี้ให้มากขึ้น เพราะปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องลงมือทำ โดยไม่จำเป็นต้องรอการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐ

ภาพถ่าย: สุภัชญา เตชะชูเชิด