จากการเดินทางตลอดหนึ่งปีที่เทียวขึ้นลงเชียงใหม่ชุมพร นอกจากจะต้องไปทำภารกิจหลักเรื่องอาหารริมทางแล้ว ผมยังมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนในชุมชนต่างๆ ในแต่ละอำเภอของชุมพร รวมถึงเกาะต่างๆ 

ที่เรารู้ๆ กันว่าชุมพรเป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคใต้ ยังไงก็หนีไม่พ้นชื่อเสียงด้านอาหารทะเล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผมลงมาชุมพรและลุยทำเรื่องนี้ เพื่อเราและหลายคนจะได้ใช้วัตถุดิบดีๆ จากชุมพรที่ปลอดสารเคมีและได้ปลาที่มีคุณภาพไม่ทำลายระบบนิเวศ และเมื่อได้ลงพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอของชุมพร ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วชุมพรมีอะไรที่มากกว่าอาหารทะเลที่ดีอีกหลายอย่างเลย

หลังจากนั้น ผมมีโอกาสได้คุยกับพี่หนุ่ย ศิริกุล เลากัยกุล นักสร้างแบรนด์ตามศาสตร์พระราชาผู้ก่อตั้งโครงการพอแล้วดี The Creator ซึ่งทุกปีจะมีการจัดงาน Sustainable Brands ในระดับนานาชาติที่ประเทศไทย ในแต่ละปีก็จะหมุนเวียนไปลงพื้นที่ต่างๆ เช่นปีที่แล้วจัดงานที่บางกะเจ้า สมุทรปราการ หนึ่งใน hidden place ที่เปรียบเสมือนปอดของกรุงเทพฯ ส่วนในปีนี้ หลังจากที่ได้คุยกัน ก็สรุปว่าผมจะได้กลับไปที่ชุมพรเพื่อทำงาน Sustainable Brands ในรูปแบบ Oceans & Beyond ที่เราจะมาศึกษาและหาทางร่วมกันเพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนทางทะเล และ ‘มากกว่าทะเล’ โดยมีจุดเริ่มต้นที่ชุมพรนั่นเอง

ผมได้ลงพื้นที่มากขึ้นและพบว่าในชุมพรมีชุมชนที่ทำประมงพื้นบ้านอยู่ทุกๆ ที่ แต่ละที่มีธนาคารปู ธนาคารสัตว์น้ำ บางพื้นที่มีประมงพื้นบ้านร่วมกับประมงพาณิชย์แบบเกื้อกูลกัน ในทีแรก ผมแปลกใจมากๆ ว่าทำไมถึงต้องมีธนาคารสัตว์น้ำในทุกๆ จุดกว่า 10 ชุมชน ไปปากน้ำตรงไหนก็เจอ เลยได้สอบถามคนในชุมชนและได้คำตอบว่าชุมพรในอดีตออกทะเลยังไงก็ได้ปูได้ปลากุ้งหมึกไม่เคยขาด ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีจากการทำธุรกิจประมงไม่ว่าจะเรือเล็กหรือใหญ่ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัตว์น้ำเริ่มหายากขึ้นและได้กลับมาน้อยลง บางครั้งลงปูไม่ได้ปูกลับมาเลยก็มี ทำให้คนในชุมชนเริ่มตระหนักว่าถ้าหาประโยชน์อย่างเดียว ไม่รักษา ไม่ฟื้นฟู อีกหน่อยคงจะไม่มีอาชีพประมงอีกต่อไป 

ด้วยเหตุนี้ ชุมชนจึงเริ่มทดลองเรื่องธนาคารปู เก็บปูที่มีไข่นอกกระดองมาฟักจนเป็นลูกปูแล้วค่อยนำไปปล่อยในทะเลตามแหล่งธรรมชาติ หลังจากนั้นไม่กี่ปีสัตว์น้ำหลายอย่างก็ค่อยๆ กลับมา เพราะลูกปูที่ปล่อยไปก็ยังเป็นอาหารของสัตว์ทะเลอื่นๆ ด้วย ลองคิดดูว่า ปูไข่นอกกระดอง 1 ตัวมีไข่ 250,000-1,000,000 ฟอง มีโอกาสรอดในธรรมชาติจนเป็นปูที่จับมาได้อีกครั้งถึง 2,500-10,000 ตัวเลย เมื่อแนวคิดแบบนี้ส่งต่อไปทุกชุมชน จึงทำให้ชุมพรเริ่มมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติกลับคืนมามากขึ้น ชุมชนเองก็เริ่มขยับขยายอาชีพตัวเอง นอกจากการหารายได้จากประมงเพียงอย่างเดียว ก็เริ่มมีการทำท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์ในหลายๆ ชุมชนด้วย 

นอกจากนี้ ชุมพรมีสารพัดเกาะ เกาะหนึ่งที่น่าสนใจคือเกาะพิทักษ์ ที่ผู้ใหญ่หรั่งผู้นำชุมชนเอาจริงเอาจัง ชุมชนเลยแข็งแรง เป็นต้นแบบเกาะนิเวศยั่งยืนมายาวนาน ที่เกาะนี้ยังมีปลาเค็มฝังทรายและหอยแม่เถให้เก็บกินได้เอง ชุมพรยังมีสาหร่ายช่อพริกไทยที่อร่อย ไม่คาว ปลิงทะเลและสารพัดสัตว์น้ำที่ถูกเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์โดย สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มีพ่อค้าปลาที่จิตใจดีตรงไปตรงมา มีซีฟู้ดที่ปลอดภัยไร้ฟอร์มาลีน มีที่เที่ยวไปดำน้ำชมปลาวาฬบรูด้า โลมาสีชมพู เกาะปะการังและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกสารพัด 

แต่อย่างที่บอกว่า ‘มากกว่าทะเล’ ผมเลยอยากเล่าสิ่งที่ชุมพรมีอย่างล้นเหลือที่มากกว่าทะเลด้วย

ชุมพรมีข้าวเหลืองปะทิวสายพันธุ์พื้นถิ่นที่อร่อยมาก นอกจากกินเป็นข้าวสวย ยังเอามาบดทำแป้งเพื่อทำขนมจีนเส้นสดที่อร่อยจริงเฮ้! 

ชุมพรมีโรงเห็ดที่เพาะเชื้อบนกากปาล์มที่หีบน้ำมันออกแล้ว เห็ดฟางนางฟ้าจึงอวบอิ่มกรอบอร่อย

ชุมพรมีกาแฟโรบัสต้าขึ้นชื่อที่ปลูกได้ดีที่สุด ทั้งกาแฟถ้ำสิงห์ และอีกหลายๆ ที่ เพราะชุมพรที่มีดินแดงเหมาะกับโรบัสต้า

ชุมพรเป็นแหล่งผลไม้ โดยเฉพาะแถบหลังสวนและสวี ดินแดนป่าธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์มากๆ แห่งหนึ่ง

เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไม่ทำและไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไม่มางาน Sustainable Brands ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25-26 ตุลาคม 2019 ที่ชุมพร ในงานมีทั้งเวิร์กช็อปดีๆ ฟอรั่มที่ช่วยกันถกปัญหาเพื่อหาทางแก้ รวมทั้งกิจกรรมพากินพาเที่ยวให้ทำความรู้จักชุมพร คอยติดตามรายละเอียดได้ที่ www.sustainablebrandsbkk.com นะครับ

ภาพถ่าย: เชฟแบล็ค