เดี๋ยวนี้เทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบ ‘โค-ลิฟวิ่ง’ (Co-living) หรือ ‘การร่วมอยู่อาศัย’ กำลังเป็นที่นิยมในหลายๆ เมืองใหญ่ทั่วโลก เพราะสามารถช่วยแก้ปัญหาการมีพื้นที่อยู่อาศัยจำนวนจำกัดในเมืองใหญ่ๆ ได้ โดยอพาร์ตเมนต์ที่มีพื้นที่ขนาดเล็กแต่ดีไซน์ฟังชั่นการใช้งานดีเยี่ยมเสมือนอยู่บ้าน มีพื้นที่ใช้สอยในการอยู่อาศัยแบบครบครัน และคำนึงถึงการเข้าถึงธรรมชาติภายนอกได้แม้จะอยู่ภายในห้องพักนั้น กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากจากคนเมืองวัยทำงาน และโค-ลิฟวิ่งอพาร์ตเมนต์ยังช่วยสร้างคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนที่มีการใช้ชีวิตหรือความสนใจคล้ายๆ กันให้มาอยู่ร่วมกันเพื่อเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสมดุลในเมืองโดยที่ยังสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าได้ด้วย

โดยไอเดียแบบโค-ลิฟวิ่งนี้ เริ่มแรกมาจากการที่ต้องแชร์หอพักกันของบรรดานักเรียน นักศึกษา หรือคนที่เพิ่งเริ่มทำงานและต้องการเช่าที่พักราคาถูก จนช่วงปี 1970 ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เริ่มมีการสร้างขึ้นและนำตึกเก่ามารีโนเวตเป็นอพาร์ตเมนต์สำหรับครอบครัวคนรุ่นใหม่วัยทำงาน ซึ่งอาจไม่ต้องการพื้นที่ในบ้านมากเกินไป แต่ต้องการพื้นที่ที่สามารถแบ่งการใช้งานกับผู้อื่นได้เป็นครั้งคราว หรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันในสังคม ซึ่งแต่ก่อนอาจจะเป็นการออกจากบ้าน มาเป็นใช้เวลาในพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันภายในคอมมูนิตี้ที่ตนเองอาศัยอยู่

ซึ่งการอยู่ร่วมอาศัยนี้ในแง่ของเศรษฐกิจก็ทำให้แต่ละครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะสามารถแชร์บางอย่างร่วมกันได้ เช่น ใช้บริการทำความสะอาดร่วมกัน มีพื้นที่ห้องรับประทานอาหารขนาดใหญ่ส่วนกลางสำหรับทำอาหารมารับประทานด้วยกัน หรือใช้จัดกิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ ได้

โดยที่แต่ละครอบครัวก็ไม่ต้องมีบ้านขนาดใหญ่ และการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันนี้ช่วยตอบโจทย์ในด้านการมีสังคมที่ดี ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่เลยซะทีเดียวเหมือนการอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร

เพราะอพาร์ตเมนต์แบบโค-ลิฟวิ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กกว่าโครงการหมู่บ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ผู้ลงทุนรายใหญ่สร้างขึ้น ที่อยู่ร่วมอาศัยขนาดเล็กลงจะให้ความรู้สึกใกล้ชิด สนิทสนมกันมากกว่า และสามารถพัฒนาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น

ทีนี้เมื่อมีพื้นที่อยู่อาศัยบางส่วนที่เราสามารถใช้งานร่วมกันได้ จึงทำให้นักพัฒนาเมืองและย่านชุมชนต่างๆ ได้ต่อยอดไปถึงแนวคิดการออกแบบโค-ลิฟวิ่ง อพาร์ตเมนต์ในเมืองที่มีพื้นที่และการจัดกิจกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด และสุขภาวะของคนในชุมชน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มาใช้ภายในอาคารร่วมกัน การออกแบบให้พื้นไม้แต่ละชั้นเก็บความร้อนไว้สำหรับทำให้อาคารอุ่นเมื่ออากาศหนาวโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงในการทำความร้อน การแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกผักในอพาร์ตเมนต์ หรือการจัดกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกันของผู้พักอาศัย เป็นต้น อย่างเช่นที่ย่านแฟร์ฟิลด์ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย นักออกแบบได้ทำอพาร์ตเมนต์ขนาดสำหรับ 20 ครอบครัว ซึ่งให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้งานร่วมกันแบบยั่งยืน ตั้งแต่ทางเดินระหว่างห้องพักที่ทำแบบเปิดโล่งให้ สามารถมองเห็นถนนในชุมชน ทำให้รู้สึกเหมือนเดินอยู่ในหมู่บ้าน

โดยแต่ละห้องพักแม้ว่าจะมีขนาดพื้นที่ไม่กว้างใหญ่ แต่ก็สามารถแบ่งโซนการใช้งานได้อย่างลงตัว มีแสงแดดและลมธรรมชาติเข้าถึงทุกพื้นที่ ทำให้ประหยัดพลังงานและอยู่สบาย โดยส่วนที่เป็นไฮไลท์ของอพาร์ตเมนต์อยู่ที่ชั้นดาดฟ้าที่แบ่งเป็นพื้นที่นั่งเล่น จัดปาร์ตี้สังสรรค์ร่วมกัน มีแปลงผักขนาดย่อมที่ผู้อยู่อาศัยมาแชร์พื้นที่กันเพื่อปลูกผักสวนครัว มีแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถช่วยผลิตไฟฟ้าได้ประมาณหนึ่ง เพื่อนำค่าไฟฟ้าที่อพาร์ตเมนต์นี้ผลิตได้ไปหักลดหย่อนจากค่าไฟฟ้าที่แต่ละห้องต้องจ่ายรายเดือน นอกจากนี้ยังมีระบบเก็บและกรองน้ำฝนไว้ใช้สำหรับสวน และมีห้องซักผ้าส่วนกลาง ทำให้พื้นที่ชั้นดาดฟ้าทั้งหมดเป็นพื้นที่โค-ลิฟวิ่งแบบคนเมืองสมัยใหม่ที่ตอบสนองด้านที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืนในระยะยาว ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นร่วมกัน

จริงๆ แล้วการทำที่อยู่อาศัยร่วมแบบยั่งยืนนั้น ไม่ได้อยู่ที่การออกแบบทางสถาปัตย์ หรือการมีเทคโนโลยีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาใช้ในอพาร์ตเมนต์เท่านั้น แต่อยู่ที่ความคิดเล็กคิดน้อยในการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนก็ทำได้

เช่น โฮสเทลเล็กๆ ที่มีแก้วน้ำหรือกระบอกน้ำให้ผู้เข้าพักยืมใช้ และมีจุดกรอกน้ำไว้บริการภายในที่พัก แทนที่จะแจกเป็นขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือการมีที่จอดจักรยานเพิ่มและสามารถเช่ายืมได้ แทนการใช้พื้นที่ทำที่จอดรถยนต์ การจัดการแยกขยะภายในอพาร์ตเมนต์ มีถังหมักสำหรับทิ้งเศษอาหารไว้ใช้ทำปุ๋ยที่สวนส่วนกลาง ฯลฯ โดยสิ่งง่ายๆ เหล่านี้ก็เป็นการชักชวนผู้ร่วมอยู่อาศัยแต่ละคนให้เข้ามารวมกันเป็นคอมมูนิตี้ เพื่อช่วยส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืนให้กันและกันนั่นเอง

ในกรุงเทพฯ ของเราตอนนี้ก็เริ่มมีที่พักแบบโค-ลิฟวิ่งบ้างแล้ว โดยเครือข่ายผู้ประกอบการโฮสเทลและโรงแรมขนาดเล็กต่างๆ ได้รวมตัวกันทำออนไลน์แพลตฟอร์มชื่อว่า mutual+ ให้เป็นช่องทางสำหรับผู้ที่ต้องการหาที่พักที่ยั่งยืนกับตัวเองและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้ความเป็นอยู่ทุกๆ วันในเมืองของผู้คนนั้นดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กิจการโฮสเทลและโรงแรมขนาดเล็กไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก ประกอบกับผู้คนมีรายได้ลดลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ การปรับโฮสเทลมาเป็น ‘บ้าน’ ในรูปแบบการพักอาศัยที่ชวนให้ผู้คนมาอยู่ด้วยกันแบบโค-ลิฟวิ่งอย่างที่กำลังนิยมในหลายประเทศ น่าจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความสมดุลในการใช้ชีวิตในเมืองได้

โดยหนึ่งในโฮสเทลที่ว่านี้คือ เดอะ ยาร์ด โฮสเทล (The Yard Hostel) ในย่านอารีย์ โฮลเทลที่บรรยากาศเหมือนมาพักผ่อนบ้านญาติหรือมาแวะนอนบ้านเพื่อน เป็นโฮสเทลแบบอีโค่ เฟรนด์ลี่ ที่เจ้าของและทีมงานคำนึงถึงความพอดีและหลักการความยั่งยืน 3 ข้อ คือ People (ผู้คนและสังคม) Planet (สิ่งแวดล้อม) และ Profit (รายได้) ในการทำกิจการ ซึ่งนอกจากจะเปิดเป็นที่พักที่ออกแบบโดยนำตู้คอนเทนเนอร์มาเชื่อมต่อกันแบบเปิดโล่งให้ดูกลมกลืนกับชุมชนแล้ว ที่นี่ยังมีพื้นที่สนามหญ้าซึ่งเป็นแหล่งรวมพลในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกร้านขายของเพื่อสุขภาพ การทำบาร์บีคิวร่วมกันตอนเย็น โดยวัตถุดิบทั้งเนื้อสัตว์และผักสดมาจากเกษตรกรจังหวัดต่างๆ ในเมืองไทยที่ทางเดอะ ยาร์ด คัดสรรมาแล้วว่าปลอดสารพิษ

หรือในตอนกลางวันก็เปลี่ยนพื้นที่นั่งเล่นเป็นคลาสเรียนโยคะ หรือออกกำลังกายมวยไทย มีพื้นที่ให้เช่าสำหรับทำกิจกรรมเวิร์กช็อปสร้างสรรค์สังคม และตอนนี้มีพื้นที่สำหรับงานแสดงดนตรีสดเพิ่มเติมจากการปรับปรุงตู้คอนเทนเนอร์ที่เคยใช้เป็นห้องพักแบบหอรวม (Dormitory) เรียกได้ว่าที่นี่เป็นพื้นที่โค-ลิฟวิ่งแบบสร้างสรรค์ทั้งสิ่งแวดล้อมและจิตใจ เหมือนได้มาอยู่บ้านที่มีทั้งครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่ไม่ต้องแบกภาระดูแลพื้นที่ทั้งหมดเอง

หรือที่เคลิ้ม โฮสเทล (Kloem Hostel) ย่านพญาไท ที่พักซึ่งเป็นเรือนไม้ไทยโบราณที่ปรับปรุงใหม่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก เน้นให้ผู้เข้าพักสร้างคอมมูนิตี้ด้วยกันโดยพื้นที่ใช้งานส่วนกลางเอื้ออำนวยเหมือนอยู่บ้านส่วนตัวกลางเมือง จะเห็นเปลผูกอยู่ใต้ถุนบ้าน และพื้นที่คอร์ตยาร์ดหลังบ้านสำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเคลิ้ม โฮสเทล เริ่มเปิดให้เช่าเป็นที่พักทั้งระยะสั้นและระยะยาวราคาถูกที่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอินเทอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว โดยไอเดียในการแชร์พื้นที่ร่วมกันแบบโฮสเทล เช่น มีห้องนอนรวมแต่กั้นเป็นสัดส่วนส่วนตัว ห้องอาบน้ำ พื้นที่รับประทานอาหาร พื้นที่พักผ่อน ทำให้สามารถช่วยคนทำงานที่ต้องการจะลดค่าใช้จ่ายจากการเช่าคอนโดระยะยาวได้ หรือการได้เปลี่ยนบรรยากาศจากการที่ต้อง work from home ที่บ้านใครบ้านมันนานๆ มารู้จักกับกลุ่มคนใหม่ๆ ที่มีการทำงานหรือความสนใจคล้ายๆ กัน ก็เป็นจุดประสงค์ในการมาพักอาศัยแบบโค-ลิฟวิ่งของคนเมืองวัยทำงานยุคนี้

ส่วนย่านเมืองเก่าใจกลางเยาวราชก็มีลุก โฮสเทล (Luk Hostel) สไตล์โมเดิร์นสัญชาติไทยจีน ซึ่งตอนนี้ได้ปรับเปลี่ยนจากโฮสเทลมาเป็น ลุก โฮม (Luk Home) หอพักราคาย่อมเยาที่โดดเด่นด้วยพื้นที่ส่วนกลางสีเขียวบนดาดฟ้าหนึ่งเดียวใจกลางเยาวราช เป็นเสมือนโค-เวิร์กกิ้ง และลิฟวิ่ง สเปซขนาดใหญ่ เข้าถึงแสงและอากาศจากธรรมชาติที่ถูกกรองอีกชั้นด้วยต้นไม้ให้ได้พักสายตา แบ่งเป็นส่วนแพนทรี ซึ่งจัดสรรไว้ให้ผู้ร่วมอยู่อาศัยได้พบปะพูดคุยกัน ส่วนกลาสเฮาส์ พื้นที่นั่งเล่นหรือทำงานในเรือนกระจกตั้งแต่เพดานยันพื้น สามารถมองทะลุลงไปถึงโถงทางเข้าชั้นล่างได้ ทำให้ภายในตึกเมืองเก่าดูไม่อึดอัดเพราะมีแสงธรรมชาติส่องลงไปถึงทุกชั้นในอาคาร ทางลุก โฮม ยังมีอาหารบริการสามมื้อที่วัตถุดิบมาจากชุมชนใกล้เคียง ลดการเดลิเวอรี่อาหารที่สร้างขยะพลาสติก สถานที่บวกกับรูปแบบโค-ลิฟวิ่งเหล่านี้จึงเหมาะกับการมาใช้ชีวิตร่วมกันของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวมที่อยู่สบาย ช่วยคุมค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนได้ ทำให้อยู่ในเมืองใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

เรื่องของโค-ลิฟวิ่ง ที่อยู่ร่วมอาศัยในเมืองแบบยั่งยืนที่กล่าวมานี้ จึงเป็นแนวคิดที่ตอบสนองไลฟสไตล์การอยู่ร่วมกันแบบใหม่ ที่ไม่ว่าบางคนอาจจะต้องการมีที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายแต่ยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือการอยากมีคอมมูนิตี้สร้างสรรค์ตามที่ตนสนใจแต่ไม่ต้องออกจากบ้าน

โค-ลิฟวิ่ง อพาร์ตเมนต์หรือโฮสเทลที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นบ้านในกรุงเทพ ฯ ตอนนี้ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการเข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดีในเมืองได้ และหวังว่าเมื่อไอเดียนี้มีการตอบรับที่ดีในเมืองไทย เราจะได้เห็นการพัฒนาอพาร์ตเมนต์แบบร่วมอยู่อาศัยโดยมีทั้งนวัตกรรมและกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมาดูแลผู้คนและสังคมเพิ่มขึ้นด้วย

ที่มาข้อมูล
www.archdaily.com
www.nevertoosmall.com
www.sweden.se
www.theculturetrip.com
www.mutualplus.co
www.facebook.com/kloemhostel
www.facebook.com/lukhostel
www.facebook.com/theyardbangkok

เครดิตภาพ: The Yard Hostel, Luk Home, Kloem Hostel, Shutter Stock