พื้นที่เล็กๆ แต่อบอุ่นของร้าน Enough for life (พอแล้วกับชีวิต ยุ่งเกิน-คำแปลที่กายสรุปเองจากการคุยกับเจ้าของร้าน) ใกล้ๆ วัดร่ำเปิง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงาน ‘Sustainable coffee society’ งานสัมมนาเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนจากธุรกิจกาแฟที่จัดโดย Sustainable brand Bangkok เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา งานนี้มีวิทยากรหลักอยู่ด้วยกัน 4 คน คือ ‘ลี’ อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์กาแฟ Akha Ama ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คน ‘ทศ’ ชัยธวัช จอมติ เจ้าของแบรนด์กาแฟชุมชน Hinlad Organic Coffee กาแฟอินทรีย์จากป่า ซึ่งปลูกและดูแลแบบธรรมชาติอันเป็นหัวใจของการทำกาแฟคุณภาพของชุมชนปกาเกอะญอ ‘พีท’ คมพิชญ์ พนาสุภน นักพัฒนาธุรกิจ ผู้จัดทำโครงการกาแฟดูแลป่า และคนสุดท้ายคือกายเอง ซึ่งได้มีโอกาสได้ไปร่วมงานในฐานะวิทยากรคนหนึ่งด้วย

พูดถึงกาแฟในปัจจุบัน เราจะเห็นว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่กลายเป็นศูนย์กลางในการแสดงออกของ ‘กระแส’ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คาเฟ่ งานออกแบบกราฟิกที่นำมาใช้กับเมนูร้าน หรือบรรจุภัณฑ์กาแฟ และเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในฝันของใครหลายคน การที่ผู้บริโภคนิยมดื่มกาแฟกันมากขึ้น ก็ผลักดันให้มีร้านกาแฟเปิดตัวเพิ่มมากขึ้นและการแข่งขันก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน งานสัมมนานี้จึงจัดขึ้นเพื่อตั้งคำถามกับคำว่า ‘ธุรกิจยั่งยืน’ ว่าการทำธุรกิจกาแฟจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากผู้ปลูก ผู้ขาย พ่อค้าคนกลาง โรงคั่วกาแฟ ร้านกาแฟ ผู้ส่งออก และสุดท้ายที่ผู้บริโภค จะทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ยังไง เพราะการสร้างธุรกิจกาแฟให้ยั่งยืน คือการสร้างความสำคัญให้ทุกภาคส่วน (Inclusiveness) เกิดเป็นความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนและเรียกร้องในสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้นให้เกิดขึ้นในระบบ

คุณลี อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์ อาข่า อ่ามา พูดถึงการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการให้ความรู้กับคนปลูกกาแฟ โดยเล่าถึงประสบการณ์ที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาในพื้นที่ของชาวอาข่า แม้หน่วยงานจะเข้ามาสนับสนุนด้านต่างๆ แต่กลับไม่ยั่งยืน เพราะไม่ได้บ่มเพาะองค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดจาก know-how และความต้องการของคนพื้นที่ได้ เนื่องจากชาวไร่กาแฟบางส่วนไม่เคยแม้แต่จะกินกาแฟเลยด้วยซ้ำ “ชาวบ้านไม่รู้ว่าความยั่งยืนแปลว่าอะไร พวกเขารู้เพียงว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นกับชีวิต เขาเห็นโอกาสที่จะพัฒนาในเรื่องของรายได้และพัฒนาความเป็นอยู่ในครอบครัว แทนที่เราจะมาเสียเงินหาวิธีป้องกันสวนตัวเองจากสารเคมีของไร่ข้างๆ ทำไมเราไม่เอาเงินส่วนนี้มาให้ความรู้คนเหล่านี้ ทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งนี้ดีกับเขาอย่างไร”

ความเห็นของคุณทศ จอมติ จากชุมชนปะกากะญอ บ้านหินลาด จังหวัดเชียงราย ตัวแทนฝั่งคนปลูกที่พูดถึงการใช้กาแฟเป็นเครื่องมือในการหารายได้จุนเจือชุมชนและดูแลระบบนิเวศของป่าที่อาศัย ตามหลัก ‘คนอยู่กับป่า’ ของชาวปะกาเกอญอ (พื้นที่ป่ากว่า 20,000 ไร่ในความดูแลของชุมชนบ้านหินลาด) เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การมีข้าวกินอย่างเดียวคงไม่พอ แต่การสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อคุณทศเห็นบริษัทใหญ่ๆ เข้ามารับซื้อกาแฟจากชาวบ้านแต่ไม่เคยเปิดเผยว่าเป็นเมล็ดกาแฟที่ปลูกมาจากชุมชนไหน จึงเกิดความคิดว่าทำอย่างไรชุมชนจึงจะเป็นที่รู้จัก เขาจึงพัฒนาแบรนด์กาแฟชุมชน Hinlad Organic Coffee กาแฟทำมือคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้โดยชุมชน สร้างวิถีชีวิตการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่อยู่ร่วมกับการรักษาป่า และทำให้คนเมืองอย่างเราๆ เข้าใจพวกเขามากขึ้น เพราะหลายคนยังเข้าใจผิดเรื่องการทำไร่หมุนเวียนที่ช่วยรักษาป่าของชาวปะกาเกอญอว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอยอยู่

แต่การสร้างแรงผลักดันจากฝั่งชาวไร่กาแฟอย่างเดียวคงไม่พอ คุณพีท นักพัฒนาธุรกิจด้านการศึกษา จากบริษัท แม็คเอ็ดดูเคชั่น ได้ต่อยอดการทำกาแฟในป่ากว่า 500 ไร่ พร้อมตั้งบริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด โดยไม่ได้ตั้งใจจะทำกำไรจากกาแฟเพียงเท่านั้น แต่ต้องการดึงหลายภาคส่วนให้กลับมาที่ ‘การให้ความรู้’ ซึ่งในที่นี้ ไม่ใช่ให้ความรู้เกษตรกรอย่างที่ทำกันมา แต่โครงการกาแฟดูแลป่า (Project Shade) ของคุณพีทยังจัดอบรมให้ความรู้กับนักคั่วกาแฟ เจ้าของร้านกาแฟ นักดื่ม และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ทั้งต้องการผลักดันให้การรับรองออร์แกนิกทำได้เองในเมืองไทย โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงมาก จนบางครั้งกลายเป็นกำแพงสูงที่ปิดกั้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จำเป็นต่อวงการกาแฟและการเกษตรไทยโดยรวม

ลี อาข่า อ่ามา ยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “กาแฟจะเข้าไปพัฒนาความยั่งยืนของคนปลูกได้อย่างไร ในเมื่อคนปลูกไม่ได้ดื่มกาแฟ และคนดื่มกาแฟก็ไม่ได้ปลูก การสร้างกลไกทางตลาดและความสัมพันธ์เชิงระบบ อย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องสร้างความเข้าใจด้วยครับ ถึงจะยั่งยืน”

ในมุมความเห็นส่วนตัว กายมองเรื่องกาแฟในมุมมองเชิงพฤติกรรม ซึ่งในเมืองไทยเองโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานนอกบ้านหรือทำงานแบบ salaryman มากนัก พฤติกรรมการบริโภคอาหารและกาแฟในตอนเช้าเพื่อเริ่มวัน หรือที่บางคนอาจเรียกว่า breakfast culture หรือ coffee culture จึงยังไม่เกิดขึ้นมากนัก (ผิดกับภาคใต้ของไทยซึ่งต้องเริ่มทำงานแต่เช้ามืดมาตั้งแต่สมัยทำเหมือง กรีดยาง จึงมักเริ่มต้นวันด้วย ‘โกปี้’ และ ‘แต่เตี๊ยม’) ทุกวันนี้กาแฟและการบริโภคกาแฟจึงเป็นที่นิยมเพราะอยู่ในยุคที่ทุกอย่างต้องมี digital footprint ให้ได้ถ่ายรูปโพสต์ลง IG และ FB เหมือนพฤติกรรมอื่นๆ หากมีการทำซ้ำและบริโภคที่เป็นกิจวัตรมากขึ้น การแข่งขันในตลาดและความต้องการของผู้บริโภคจะทำให้กาแฟถูกพัฒนาไปอย่างแน่นอน

ไม่แน่ว่าต่อไป digital footprint อาจจะไม่เป็นเพียงรูปถ้วยกาแฟ หรือรูปร้านสวยๆ แต่จะกลายเป็นช่องทางหนึ่งให้พูดถึงเรื่องต่างๆ ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกาแฟ รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยก็ได้