_mg_0340

ใครจะเชื่อว่าซูชิจะหมดโลก เพราะทุกวันนี้เรายังหาปลาดิบแบบเสิร์ฟสวยเต็มจานกินได้แทบทุกหัวระแหง แต่เตรียมตัวบอกลาแซลม่อนสีส้มสดเนื้อแน่นชุ่มลิ้นได้เลย ถ้าคุณไม่คิดจะสนใจปัญหาที่เรากำลังจะเล่าให้ฟังต่อจากนี้

ข้อมูลจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) รายงานไว้ว่า เป็นไปได้มากที่ปลาจะสูญพันธ์ไปจากโลกในปี ค.ศ. 2048 แม้ว่าอีก 31 ปีข้างหน้าจะฟังดูยาวไกลตัวเราพอสมควร แถมการไม่ได้กินปลาอาจไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนสำหรับบางคน แต่ที่น่ากลัวคือ ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ‘การทำประมงแบบไม่ยั่งยืน’ เป็นปัญหารุนแรงที่ถูกผู้บริโภคมองข้ามหน้าตาเฉย

วันนี้ การทำประมงบนโลกเกินกว่าครึ่งเน้นหาผลประโยชน์ใส่ตัวมากกว่าสิ่งแวดล้อม ท้องทะเลไทยเองก็เจอปัญหาหนัก คือการทำประมงเกินขนาด ใช้เครื่องมือการทำประมงแบบทำลายล้าง ตัดวงจรชีวิตของปลาไม่ให้เติบโตและขยายพันธุ์ ซึ่งทำให้ปลาและสัตว์ทะเลเริ่มร่อยและสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ

การไม่มีปลาดิบกินกลายเป็นปัญหาที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับปัญหาใหญ่อื่นๆ ที่ตามมาอีกเป็นยวง ทั้งปัญหาว่างงานเฉียบพลัน ปัญหาสิทธิมนุษยชนและแรงงาน การล่มสลายของระบบนิเวศทางทะเล การสูญเสียแหล่งอาหารหลักเพื่อพัฒนาประเทศ (โดยเฉพาะประเทศที่ติดทะเล) ลามไปถึงปัญหาโลกร้อน ซึ่งเราแทบไม่รู้เลยว่าเป็นผลจากการจับปลาแบบไม่ยั่งยืนเช่นกัน

คำถามคือ แล้วคนกินอย่างเราจะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้

ตอบง่ายๆ คือหลีกเลี่ยงการสนับสนุนวงจรการทำประมงที่ไม่ยั่งยืน ด้วยการสำรวจด้วยตัวเองเล็กๆ น้อยๆ อาทิ พยายามเลือกซื้อสัตว์ทะเลที่โตเต็มวัย หลีกเลี่ยงการซื้อสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์และอาหารทะเลที่มาจากการทำประมงแบบทำลายล้าง สนับสนุนอาหารทะเลจากการประมงพื้นบ้าน ซึ่งตอนนี้ องค์กร Greenpeace บ้านเราก็ทำแอพพลิเคชั่นชื่อ ‘จาก’เลสู่จาน : A guide to Sustainable Seafood’ คู่มือการเลือกซื้ออาหารทะเลอย่างยั่งยืน ให้คนไทยเข้าไปโหลดและอ่านข้อมูลแบบละเอียดแต่เข้าใจง่ายกันได้ฟรีๆ

ลองเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการถามหาที่มาที่ไปของปลาที่เรากินจากพ่อค้าแม่ค้า แม้จะไม่ได้คำตอบ แต่อย่างน้อยก็เป็นการสะกิดคำถามลงไปในใจคนขาย ให้เขารู้ถึงสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจริงๆ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำอาจดูเป็นการลงทุนที่เล็กน้อย แต่คุ้มค่า อย่างน้อยก็ทำเพื่อที่จะมีซูชิอร่อยกินกันต่อไปในภายภาคหน้า

ที่มา: food.good.is , seafoodwatch.org , wwf.panda.org , แอพพลิเคชั่น จาก’เลสู่จาน

เครดิตภาพถ่าย : มณีนุช บุญเรือง