เราเชื่อว่าคนเมืองหลายคนฝันอยากมีผักสวนครัวใกล้มือพร้อมใช้สอย แต่ด้วยข้อจำกัดจำพวกพื้นที่และเวลาดูจะสกัดฝันให้เป็นจริงยากสักหน่อย แต่หนึ่งทางออกที่กำลังเป็นเทรนด์ของหลายเมืองตอนนี้คือ urban farming
ระบบฟาร์มในเมืองที่ตั้งเป้าเพาะ-ปลูก-ป้อนอาหารให้ชุมชนที่ติ๊กถูกทุกข้อ ทั้งในแง่ของเรื่องดีต่อสุขภาพ เพราะเป็นอาหารท้องถิ่น ลดการขนส่งที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
สำหรับประเทศที่ตื่นตัวเรื่องความกินดีอยู่ดีอย่างสวีเดน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา urban farming ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กระตุ้นให้ชาวสวีดิชนึกถึงฟาร์มใกล้ตัวแทนที่จะมุ่งไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นด่านแรก โกเตนเบิร์ก เมืองที่เราอาศัยอยู่ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองตัวอย่างที่คึกคักในเรื่องนี้ แถมยังหลากหลายด้วยฟาร์มหลายขนาดหลากประเภท ตั้งแต่ฟาร์มหมูในเมือง ฟาร์มผักเพื่อคนในชุมชนที่จัดสรรพื้นที่ส่วนกลางให้ชาวเมืองในละแวกนั้นมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกพืชผักของตัวเอง และฟาร์มผักเพื่อการค้าที่เจ้าของฟาร์มขายพืชผักของตัวเองโดยตรงให้แก่ผู้บริโภค
เราเลยสบโอกาสไปร่วมทริปกับโจนาธานจากกลุ่ม Grow Gothenburg และ Student Göteborg ที่พาเราไปแวะทักทาย 3 ฟาร์ม คาแรกเตอร์แตกต่าง ทำความรู้จักพืชผักชนิดใหม่ และเรียนรู้การปลูกแบบเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้เราร้องอู้หูในใจว่า พื้นที่ เวลา อากาศ หรืออุปสรรคอื่นใดก็ไม่สามารถยับยั้งความตั้งใจสร้างพื้นที่สีเขียวและพืชผักคุณภาพดี เป็นไมตรีต่อสิ่งแวดล้อมของเกษตรกรกลุ่มนี้ได้เลย
Renströmska Trädgården สวนผักชุมชนผสมแปลงดอกไม้
โอซ่าและซาร่าเป็นเกษตรกรน้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นฟาร์มแห่งนี้เมื่อช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ทั้งคู่ขอเช่าพื้นที่สวนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลมาปลูกผักภายใต้เงื่อนไขจากโรงพยาบาลและเทศบาลว่า ทั้งคู่จะต้องดูแลพื้นที่นี้ไม่ให้รกร้างและบำรุงดูแลให้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สีเขียวของชุมชน
แล้วโอซ่ากับซาร่าก็ไม่ทำให้โรงพยาบาลและเทศบาลผิดหวัง ฟาร์มของทั้งสองคนแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือเรือนกระจกสำหรับเพาะพันธุ์ผักในหน้าหนาวและผักอนุบาล ส่วนที่สองคือแปลงกลางแจ้ง ซึ่งผลผลิตจากส่วนนี้จะขายโดยตรงให้แก่โรงพยาบาลและลูกค้าที่แวะเวียนมาที่ฟาร์ม นอกจากนั้นโอซ่ายังปลูกดอกไม้แซมสลับพืชผัก เธอเล่าว่าการขายผักลำพังไม่สามารถทำให้ฟาร์มอยู่รอดได้ และเมื่อส่งออกตลาด ดอกไม้มักให้ราคาดีกว่า และส่วนที่สามคือแปลงผักสำหรับชุมชน ด้วยความตั้งใจของทั้งคู่ที่ต้องการเปิดพื้นที่นี้ให้ทุกคนมาทำกิจกรรมร่วมกัน แปลงส่วนนี้จึงเปิดให้ชาวเมืองที่ไม่มีพื้นที่ได้เช่าปลูกผักของตัวเอง ซึ่งโอซ่าและซาร่าก็จะช่วยดูแลควบคู่ไปด้วย หรือจะใช้พื้นที่ส่วนนี้จัดอีเวนต์ต่างๆ อย่างงานเลี้ยงของแก๊งวัยเกษียณที่เพิ่งปาร์ตี้กันไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนก็ได้เช่นกัน
ผลผลิตหลักของโอซ่าและซาร่าคือผักสลัด มะเขือเทศ แตงกวา ผักกาดก้านแดง สควอช และข้าวโพด นอกจากนั้นคือผักตามฤดูกาล
เราก็ได้ชิมแรดิชสีชมพูแจ่มที่เพิ่งขุดขึ้นมาจากแปลง รสซ่าอ่อนๆ ในแรดิชสดใหม่ดูจะชัดเจนขึ้น เจือหวานจางตามธรรมชาติ จนเราชิมเพลินเหมือนเคี้ยวลูกอม
ส่วนอีกหนึ่งผักที่เราเพิ่งรู้จักคือน็อตวีด (knotweed) ผักตระกูลเดียวกับรูบาร์บหรือผักกาดก้านแดง ส่วนที่กินได้คือปล้องลำต้นคล้ายไม้ไผ่และใบรสอมเปรี้ยว โอซ่าและซาร่านำไปอบเป็นพายหน้าครัมเบิ้ลราดซอสวานิลลาให้พวกเราได้นั่งล้อมวงชิมกันกลางสวน ในเนื้อพายยังผสมดอกไม้กินได้ของโอซ่า กินคู่กับชาสมุนไพรอุ่นๆ ช่างเป็นบรรยากาศสุดละมุนจนทำให้พวกเราอยากจะนั่งคุยกันต่อยาวๆ
M3 Farming สวนผักไซไฟใต้อพาร์ตเมนต์
ถัดจากนั้น พวกเราออกเดินเท้าไปกันต่อที่สวนผักในร่มของมาร์คัส ความเก๋ไก๋ของฟาร์มนี้เริ่มนับหนึ่งได้จากความฉลาดในการใช้พื้นที่ เพราะโดยปกติแล้วชั้นล่างสุดของอพาร์ตเมนต์ในสวีเดนจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับห้องซักรีด ห้องเก็บของ และห้องทิ้งขยะ
เมื่อระบบแยกขยะของสวีเดนเปลี่ยนไป ห้องทิ้งขยะใต้อพาร์ตเมนต์จึงกลายเป็นห้องว่าง มาร์คัสเลยติดต่อกับเจ้าของอพาร์ตเมนต์ขอดัดแปลงเป็นห้องนั้นเป็นห้องทดลองกึ่งแปลงผักสำหรับเพาะผักตระกูลไมโครกรีน
เก๋ไก๋ที่สองคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ด้วยความตั้งใจให้ฟาร์มแห่งนี้เป็นแปลงผักกึ่งห้องทดลอง มาร์คัสและเพื่อนจึงออกแบบวงจรระบบไฟฟ้าควบคุมแปลงกันเอง ทำให้ไม่ต้องเข้ามาดูแลประคบประหงมบรรดาผักงอกทั้งหลายทุกวัน แถมยังสั่งงานได้แม้ตัวไม่อยู่ใกล้ฟาร์ม พวกเขายังทดลองเรื่องสเปกตรัมของแสงที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืช จนทำให้แปลงของมาร์คัสฉูดฉาดด้วยแสงสีแดง สีม่วง เพิ่มบรรยากาศไซไฟขึ้นอีกหนึ่งระดับ
เนื่องจากฟาร์มของมาร์คัสยังมีขนาดเล็กเพียงห้องเดียว ผลผลิตส่วนใหญ่จึงถูกยังส่งให้ร้านอาหารเจ้าประจำได้เพียงร้านเดียว นอกเหนือจากนั้นคือจำหน่ายให้แก่ลูกค้าขาจรที่แวะมายังฟาร์ม ถึงอย่างนั้นมาร์คัสก็เล่าแผนให้พวกเราฟังคร่าวๆ ว่า เป้าหมายต่อไปคือการนำผลผลิตของเขาส่งไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้ฟาร์ม และเพิ่มการมีส่วนร่วมให้ผู้เช่าร่วมอพาร์ตเมนต์ได้เข้ามาดูแลผักหรือมีแปลงเล็กๆ ของตัวเองด้วย
Kajodlingen แปลงผักริมน้ำบนยางมะตอย
อลังการ-ตระการตา-น่าตื่นเต้น คือชุดคำที่เราเชื่อว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับฟาร์มของวิลเลี่ยมและโจนัส นอกจากจะตั้งอยู่ในโลเกชันน่าทึ่งติดริมน้ำ พื้นที่แปลงผักกลางแจ้ง 500 ตารางเมตรของทั้งคู่ยังอยู่บนยางมะตอยที่น้อยคนจะคิดถึงว่าเอื้อต่อการเพาะปลูกได้ ทว่า จากความรู้และประสบการณ์ด้านการปลูกผักในเมืองของทั้งคู่กว่า 4 ปี และการเป็นที่ปรึกษาการเพาะผักบนหลังคาร้านอาหารและโรงแรมหลากหลายในโกเตนเบิร์ก ก็ทำให้ทั้งคู่เนรมิตแหล่งอาหารบนยางมะตอยขึ้นมาได้
เราได้เรียนรู้เทคนิคหลายอย่างจากฟาร์มของวิลเลี่ยมและโจนัส เป็นต้นว่า พวกเขายึดหลักการปลูกในระบบเดียวกับป่า เช่น การปลูกผักแบบผสมผสานที่เราได้เห็นแรดิช วาซาบิ กระเทียม ต้นหอม เทอร์นิปโตร่วมกัน ทำให้มีพืชผักหมุนเวียนสำหรับการเก็บเกี่ยวและการปลูกผักบางชนิดร่วมกันช่วยกำจัดศัตรูพืชทางอ้อมได้ หรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ก่อนเพาะผลผลิตชุดถัดไป เราไม่ควรซุยดินลึกเกินหรือกลบหน้าดินใหม่ เพื่อที่สารอาหารในดินจะได้ไม่ถูกกรบกวนเมื่อพืชถูกถอนไป หรือการเลือกใช้ดินในเมือง
ทั้งคู่เชื่อว่า ผลผลิตท้องถิ่นรสชาติดีกว่าเมื่อปลูกด้วยดินของท้องถิ่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ฟาร์มของวิลเลี่ยมและโจนัสยังคิดไปไกลเกินกว่าแค่เพาะผลผลิตให้ผู้บริโภค เพราะทั้งคู่คำนึงถึงโลกและสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าอื่นใด เช่น การขนส่งผลผลิตไปยังผู้บริโภคจะเน้นให้อยู่ในระยะที่ปั่นจักรยานถึงหรือภายในระยะ 10-15 กิโลเมตรจากฟาร์มเท่านั้น เนื่องจากพวกเขาต้องการลดพลังงานฟอสซิลจากการขนส่ง และเนื่องจากตำแหน่งของฟาร์มที่แวดล้อมด้วยออฟฟิศนานา เมื่อต้นปีทั้งคู่จึงริเริ่มโปรเจกต์ From Farm to Office อาสาส่งผักสดให้แก่พนักงานออฟฟิศที่ผูกปิ่นโตกันไว้ทุกสัปดาห์ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงพืชผักจากท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น
ส่วนโปรเจกต์ล่าสุดที่กำลังทดลองกันอยู่คือการสร้างปุ๋ยจากขยะ มุมหนึ่งของฟาร์มถูกกันพื้นที่ไว้ให้ถังหมักใบโตที่ผสมดินและของเสียไว้ด้วยกัน ของเสียเหล่านี้ได้มาจากสวนสัตว์ประจำเมือง กากกาแฟ และขยะจากอาหารสด เมื่อนำมาหมักรวมกัน จุลินทรีย์จะย่อยของเสียเหล่านี้กลับเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อดินในแปลงปลูก ถือเป็นการรีไซเคิลอันแยบยลแถมยังช่วยลดขยะจากการบริโภคได้อีกด้วย
ก่อนจะหมดวัน โจนาธานบอกพวกเราว่ายังมีฟาร์มเล็กฟาร์มน้อยอีกหลายแห่งที่อยากแนะนำให้รู้จัก แต่ด้วยข้อจำกัดทางเวลาที่ต้องขอเก็บฟาร์มอื่นๆ ไว้ในทริปหน้า และถึงแม้เราจะได้แวะเวียนไปแค่ 3 ฟาร์มเท่านั้น แต่ทุกแห่งก็สื่อข้อความเสียงดังฟังชัดให้แก่เราว่า การผลิตอาหารเพื่อชุมชนนั้นเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของระบบอาหารอย่างไร หากแต่ละชุมชนมีแหล่งผลิตอาหารที่ป้อนชุมชนได้ แน่นอนว่าเราจะได้บริโภคของสดใหม่ดีต่อสุขภาพ สนับสนุนเกษตรกรโดยตรง กระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และที่มากไปกว่านั้นคือ ลดพลังงานจากการขนส่งที่จะช่วยโลกในทางอ้อมได้ด้วย
ภาพถ่าย: ณวรา หิรัญกาญจน์