‘ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความยากจน’ เป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งหากเราได้มองลึกลงไป เราจะเห็นว่ายังมีปัญหาอีกหลากหลายมิติซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพความเป็นอยู่หรือคุณภาพชีวิตที่พึงมี โดยเฉพาะเรื่องความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นปัจจัยแรกๆ ที่จะสามารถทำให้กลุ่มคนยากไร้ได้หลุดพ้นจากความกังวลเรื่องปากท้องของตัวเองและครอบครัว ไปสู่การหาลู่ทางยกระดับชีวิตของตนเองในด้านอื่นๆ

ในมหานครนิวยอร์ก มหานครที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในโลก เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและความบันเทิง ที่วัยรุ่นทั่วโลกต่างมีความคิดที่จะได้ลองออกเดินทางไปทำตามความฝันสักครั้งหนึ่งในชีวิตที่นั่น ในภาพของเมืองที่สวยหรูนั้นยังคงมีพื้นที่หนึ่งทางตอนใต้ของย่านบร๊องซ์ (South Bronx) ถูกจัดว่าเป็นเขตที่ประชาชนมีความยากจนมากที่สุดของประเทศ ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวอพยพย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะชาวแอฟริกันอเมริกันที่ย้ายมาจากทางตอนใต้ของประเทศ เพื่อเข้ามาสู่มหานครนิวยอร์ก เรื่องที่น่าเศร้ากว่านั้น คือการที่การเหยียดเชื้อชาติและสีผิวของเพื่อนมนุษย์ยังคงมีอยู่ที่นั่นในยุคนี้ ซึ่งทำให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในย่านบร๊องซ์ แตกต่างจากประชากรในพื้นที่อื่นโดยอย่างสิ้นเชิง

แต่การจมปลักอยู่กับปัญหาโดยไม่คิดสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรที่แตกต่าง ก็จะไม่สามารถทำให้สิ่งที่เป็นอยู่ดีขึ้นได้

แรงกดดันของสภาวะทางสังคมรอบตัวจึงผลักดันให้ ทันยา ฟีลด์ (Tanya Field) คุณแม่ลูก 6 ชาวแอฟริกันอเมริกันที่อาศัยอยู่ที่นั่น ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทำให้ชีวิตของคนในพื้นที่บร๊องซ์ตอนใต้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศเพื่อช่วยผู้หญิงและคนเพศทางเลือกในหมู่ชาวผิวสีที่มีความยากจน หรือการสร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชนให้มีการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้เองอย่างเป็นระบบภายในพื้นที่ ด้วยโครงการสวนผักแห่งเสรีภาพ (Libertad Urban Farm) ที่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นฟาร์มแห่งความสุขของชาวผิวสี (Black Joy Farm หรือ BJF) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสตรีนิยมของชาวผิวสี  (Black Feminist Project) ที่เธอเองเป็นคนก่อตั้งขึ้นอย่างไม่แสวงหาผลกำไรตั้งแต่ปี 2009

เมื่อพูดถึงเรื่องปัญหาการเข้าถึงอาหารของกลุ่มคนที่มีฐานะยากจน มีความจริงจากงานวิจัยที่น่าประหลาดใจคือ ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินมากกว่าคนที่มีฐานะดีถึง 30 เปอร์เซ็นต์  ด้วยสาเหตุที่ว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงผักและผลไม้คุณภาพดีได้ ซึ่งนั่นทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะได้รับสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จนทำให้มีอายุขัยที่สั้นลงอีกด้วย หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ การเข้าถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขามากมายขยายไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า หรือไก่ทอดนั้น สามารถทำได้ง่ายและบ่อยครั้งกว่า เพราะเมื่อเทียบกับการบริหารเงินในกระเป๋าของพวกเขากันแล้ว อาหารด้อยประโยชน์เหล่านี้มีราคาที่ถูกมากกว่าการซื้อของสดในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นอย่างมาก

“หากจะพูดว่าที่บร๊องซ์ตอนใต้นี้เป็นเขตที่ไม่มีอาหารเลย จนทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ก็ไม่ถูก จริงๆ แล้วที่นี่เรียกได้ว่าเป็นเขตที่มีอาหารอย่างท่วมท้นเลย เพราะศูนย์กระจายสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอยู่ไม่ไกลจากที่ ที่ฉันอาศัยอยู่ แต่พวกเขาเป็นธุรกิจใหญ่ที่ไม่เคยสนใจไยดีชุมชนรายได้ต่ำในละแวกใกล้เคียงเลย”

ทันยาประสบปัญหาในเรื่องของอาหารการกินที่ไม่มีคุณภาพมากับตัว เธอรู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องเลยที่ตัวเธอนั้นไม่สิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อตัวเธอและลูกๆ ของเธอ การที่เธอไม่สามารถดูแลด้านโภชนาการได้เท่าที่ควรทำให้น้ำหนักตัวของเธอเพิ่มขึ้นจนเป็นคนอ้วนเกินมาตรฐานโดยไม่ตั้งใจ หนำซ้ำลูกๆ ของเธอต่างก็มีอาการภูมิแพ้ผิวหนังจากการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ทั้งสิ้น ทันยาจึงได้ตัดสินใจออกจากงานประจำของเธอแล้วหันมาเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม และทำโครงการเพื่อชุมชนของเธออย่างจริงจัง ซึ่งโครงการสวนผักชุมชนเป็นโครงการที่เธอให้ความสนใจมากที่สุด เพราะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องอย่างยั่งยืน โดยการสร้างพลังให้คนในชุมชนเห็นว่า พวกเขาทุกคนสามารถนำพื้นที่ส่วนสาธารณะกลางมาทำประโยชน์ร่วมกันได้

เป้าหมายของโครงการสวนผักอินทรีย์นี้ คือการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงอาหารสด คุณภาพดี และปลอดภัย ทุกคนจะได้เรียนรู้วิธีการกินอาหารที่ถูกต้องเพื่อการรักษาสุขภาพของตัวเอง และครอบครัว รวมไปถึงการอบรมเพิ่มทักษะทางอาชีพภายในสวนผัก และการสร้างตลาดขายผักขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนช่วยกันสร้างรายได้กลับคืนมาสู่ชุมชน เพราะเธอเองรู้ดีว่าในหมู่เครือข่ายชาวผิวสี สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จำเป็นต่อพวกเขาจริงๆ นอกเหนือจากนี้ ทันยายังได้ใช้พื้นที่สวนผักชุมชนของเธอ เป็นสถานที่พัฒนาความเป็นผู้นำให้แก่ผู้หญิงชาวผิวสีที่อยู่อาศัยในละแวกนั้นด้วย โดยเริ่มแรกเธอจะให้สมาชิกผู้หญิงที่เข้าร่วมการอบรมได้ผลัดกันเป็นหัวหน้าผู้ดูแลสวนผัก หลังจากนั้นจึงเริ่มจุดประกายความคิดในเรื่องการใช้ชีวิตผ่านบทสนทนาต่างๆ เช่น การเป็นคุณแม่ที่ดี การเป็นผู้นำในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ภายในบ้าน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมที่ทันยาจัดขึ้นล้วนทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแน่นแฟ้นขึ้น และเห็นคุณค่าของกันและกันอีกด้วย

“ความไม่ยุติธรรมทางอาหาร เป็นอาการร้ายแรงของระบบเศรษฐกิจที่กีดกันกลุ่มคนบางส่วนออกไป พวกเราต้องสร้างแหล่งอาหารของเราขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีแม้แต่การสนับสนุนทางสังคม การเงิน และการศึกษามารองรับ สิ่งที่ควรจะเป็นคือ

“เราต้องคิดถึงความยุติธรรมทางอาหาร ในมุมที่ระบบอาหารท้องถิ่นและระบบอาหารของชาติได้ฉีกระบบเดิมๆ ที่ชนชั้นนำมักจะได้เปรียบกว่าเสมอออกไป”

หนึ่งปีให้หลัง หลังจากที่ทันยาสร้างสวนผักชุมชนขึ้นมา เธอได้ตั้งข้อสังเกตว่ายังคงมีคนยากจนอีกมากในบร๊องซ์ตอนใต้ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอาหารดีๆ ที่ปลูกในสวนของเธอได้เพราะไม่สะดวกเดินทางเข้ามา ด้วยราคาของการเดินทาง เธอจึงเกิดไอเดียร้านผักผลไม้เคลื่อนที่ขึ้น โชคดีที่เธอมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรที่เธอรู้จัก พวกเขาให้เธอกู้ยืมรถประจำทางสีฟ้าคันหนึ่งเพื่อแปลงเป็นตลาดผักผลไม้เคลื่อนที่ โดยที่สินค้าบางส่วนก็มาจากสวนผักผลไม้ของเกษตรกรด้วย เพื่อให้เธอแน่ใจว่าเธอจะมีผักผลไม้ดีๆ เต็มคันรถในขณะที่ขับไปทั่วเพื่อขายพวกมันให้ชุมชนรายได้ต่ำในราคาที่ย่อมเยา แต่หากเธอพบเจอลูกค้าคนใดที่มีความขัดสนจริงๆ เธอก็ยินดีที่จะช่วยเหลือโดยการมอบผักผลไม้บางส่วนโดยไม่คิดเงินเลย

การช่วยเหลือของทันยาในด้านอาหารยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ ด้วยความที่เธอเองเป็นที่รักของทุกคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มสตรีและเพศทางเลือกชาวผิวสี เธอมักจะถูกเรียกว่า ‘คุณแม่ทันยา (Mama Tanya)’ เธอจึงริเริ่มโครงการสนุกๆ ขึ้นซึ่งเธอให้ชื่อว่า ‘ครัวของคุณแม่ทันยา’ โครงการนี้เธอลงมือถ่ายวิดีโอทำอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และสามารถหาวัตุดิบได้ง่ายมาผลิตเป็นสูตรอาหารต่างๆ เพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ แน่นอนว่าจะทำให้คนดูได้เรียนรู้การทำอาหารที่ดีไปพร้อมๆ กับเธออย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามด้วย แต่ถึงอย่างนั้นเธอเองก็ยังคงมีความใฝ่ฝันที่จะทำอาหารให้ผู้คนได้เห็น และได้ลิ้มลองต่อหน้า เธอจึงเริ่มเปิดครัวของคุณแม่ทันยาแบบป๊อปอัพไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อถือโอกาสพบปะผู้คน และสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมให้เข้าใจถึงปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่ดีให้มากขึ้นด้วย

เรื่องราวของคุณแม่ทันยาทำให้เราเห็นแล้วว่า ปัญหาความยากจนไม่ได้จบลงเพียงแค่การที่คนคนหนึ่งไม่มีเงินเพียงพอ

แต่กลับมีผลกระทบไปถึงคุณภาพชีวิต การกินอาหาร และสุขภาพ คุณแม่ทันยาได้เปลี่ยนแปลงบร๊องซ์ตอนใต้ ให้มีความยุติธรรมทางอาหารเกิดขึ้น ความพยายามของเธอนอกจากจะทำให้เธอสามารถลดน้ำหนักจนมีสุขภาพที่ดีจากการกินแต่อาหารที่มีประโยชน์แล้ว ยังทำให้ผู้คนที่นั่นมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย จึงไม่แปลกใจเลยที่เธอได้รับรางวัลมากมาย และถูกขนานนามว่าเป็น ‘ผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงระบบอาหารในสหรัฐอเมริกา’

ที่มาข้อมูล:
www.theguardian.com
www.cuisinenoirmag.com
www.theblackfeministproject.org
www.nytimes.com

ภาพประกอบ:  Paperis