เราอาจจะคุ้นเคยกับเต้าเจี้ยวในฐานะเครื่องปรุงพื้นฐานในอาหารจีน ที่เลือนๆ จนเรารับมาอยู่ในครัวไทยแบบสนิทสนม เรียกว่าเป็นวัตถุดิบที่มีติดบ้าน ผัดผักบุ้งเร็วๆ ผัดผักไวๆ เหยาะใส่น้ำราดหน้าเพิ่มความอูมามิ ไปจนถึงทำน้ำจิ้มข้าวมันไก่ น้ำจิ้มข้าวต้มปลา หรือน้ำจิ้มสูตรเฉพาะตัวบ้านใครบ้านมัน

แต่วัตถุดิบที่เราคุ้นเคยนี้กลับแถมถั่วเหลืองจีเอ็มโอ สารกันบูด และสารปรุงแต่งมากมายในกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม ทั้งที่จริงๆ แล้ว เต้าเจี้ยวคือภูมิปัญญาโบร่ำโบราณในการนำถั่วเหลืองมาผ่านกระบวนการหมักเพื่อย่อยโปรตีนให้เล็กจิ๋ว ย่อยง่าย ดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้เต็มๆ แต่กลายเป็นว่า เจ้าสารปรุงแต่งท่วมบรรจุภัณฑ์ดันมาขัดขวางไม่ให้เราได้รับประโยชน์ของเต้าเจี้ยวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยสักเท่าไหร่ แถมแฝงอันตรายที่น่าหวั่นใจมาด้วย

แต่เรายังมีทางเลือก ปัจจุบันมีแบรนด์เต้าเจี้ยวออร์แกนิกให้เราเลือกชิม เลือกใช้ ได้ตามความชอบมากขึ้น แต่ละสูตรแต่ละแบรนด์ก็มีรสชาติ เท็กซ์เจอร์ หน้าตา ไปจนถึงความน่าอุดหนุนแตกต่างกันไป ใครชอบแบบไหนเลือกได้เลย เราชิมไกด์ไว้ให้แล้ว!

เต้าเจี้ยวออร์แกนิก lum lum

สายปรุงอาจจะคุ้นเคยแบรนด์ลำลำ จากพริกแกงอินทรีย์เลยรวมไปถึงวัตถุดิบอาหารไทยจ๋าๆ ไปจนถึงน้ำพริกอินโดนีเซียที่ดูแปลกแหวกตลาดมาก แต่นอกจากสินค้าขายดี ลำลำยังมีวัตถุดิบอินทรีย์ที่ไว้ใจได้ให้เลือกอีกหลากหลาย และเต้าเจี้ยวอินทรีย์แบรนด์นี้ก็ดีเด่น หน้าตาสีสันสะอาดสะอ้าน รสชาติอูมามิตามที่เต้าเจี้ยวดีควรจะเป็น แต่เมื่อเทียบกับทั้ง 4 แบรนด์ที่เลือกมา ลำลำจะเป็นรสเค็มที่สว่างไสวกว่าเพื่อน ผลผลิตทั้งแบรนด์มาจากฟาร์มออร์แกนิกชื่อ ไร่ชิตา ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน (พอรู้ที่ตั้ง เราก็เข้าใจว่าทำไมต้องชื่อแบรนด์ลำลำ) ซึ่งความออร์แกนิกนี้ไม่ลี้ลับตามที่ตั้ง เพราะเขาได้มาตรฐานครบครันตามประสาแบรนด์เน้นการส่งออก ทั้ง IFOAM (สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ) EU Organic Regulation (มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป) Canadian Organic Regulation

www.facebook.com/Lumlum-by-Chita-Organic-Food

เต้าเจี้ยวอินทรีย์ Natural Fermented Soy Beans

แค่เห็นชื่อแบรนด์เลมอนฟาร์มเราก็ไว้วางใจ เพราะแบรนด์นี้เขาจริงจังคัดสรรวัตถุดิบออร์แกนิกอย่างจริงจังเต็มเบอร์ นอกจากผักผลไม้ประจำฤดูกาลที่เราเป็นแฟนประจำนั้น ไลน์เครื่องปรุงในชีวิตประจำวันก็ดีเด่น เพราะมั่นใจได้ว่านอกจากวัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรอินทรีย์เครือข่ายที่ตั้งใจจริงแล้ว กระบวนการผลิตยังต้องเป็นวิธีทางธรรมชาติ ผ่านกระบวนการแต่น้อย ไม่มีสารสังเคราะห์และผงชูรส ซึ่งเต้าเจี้ยวขวดนี้ ก็ชี้ชัดว่าผลิตจากถั่วเหลืองเกษตรอินทรีย์ Non GMOs หมักด้วยวิธีธรรมชาติตามวิถีดั้งเดิมที่ยังคงเอนไซม์ธรรมชาติที่ช่วยระบบย่อยและการทำงานของลำไส้ และเราก็ได้รู้ว่าผลึกสีขาวในเต้าเจี้ยวคือผลึกไทโรซีน กรดอะมิโนมีประโยชน์ที่ช่วยบำรุงสมอง ซึ่งเกิดจากการย่อยโปรตีนถั่วเหลืองในขั้นตอนการหมักธรรมชาติ รับรองว่าไม่ใช่เชื้อรา วางใจได้เวลาหยิบมาปรุงทุกครั้ง จริงๆ ขวดนี้ทำอะไรก็อร่อย เท็กซ์เจอร์เละๆ เล็กน้อย มาพร้อมรสเค็มนัวๆ และหอมขึ้นจมูกมาก

www.lemonfarm.com

เต้าเจี้ยวอินทรีย์ ตราช้อนทอง

อย่ามองข้ามหน้าตาเรียบง่ายสไตล์โอทอป เพราะเต้าเจี้ยวกระปุกนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปแม่บ้านสันป่ายาง อำเภอแม่แตง เชียงใหม่ ที่เหล่าแม่ๆ ป้าๆ เขาจริงจังกันตั้งแต่การปลูกถั่วและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่นเอาไว้รุ่นสู่รุ่น คัดเลือกแต่เมล็ดอวบๆ สวยๆ ส่วนเมล็ดเล็กๆ ก็ถูกส่งไปหมักซีอิ๊วแทน ซึ่งถ้าเป็นโรงซีอิ้วหรือบ่มเต้าเจี้ยวทั่วไปก็ข้ามขั้นตอนนี้ไปเลย เพราะถั่วจีเอ็มโอเมล็ดเท่ากันเป๊ะ แถมยังหมักในโอ่งโตๆ มีห้องหมักโคจิจริงจัง ได้ฟีลลิ่งโฮมเมดแบบอบอุ่นใจ ส่วนเรื่องรสชาติ เราชอบที่เป็นเต้าเจี้ยวที่ยังมีความเป็นเมล็ดถั่วอยู่สูง เคี้ยวได้เนื้อได้เท็กซ์เจอร์ ไม่เหลวเป๋วละลายไปกับอาหารซะหมด 

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปแม่บ้านสันป่ายาง โทรศัพท์ 053-324-441

เต้าเจี้ยวบดอินทรีย์ ตราโมริโซย่า

อีกแบรนด์เล็กๆ ที่จริงจังเรื่องอินทรีย์จากจังหวัดฉะเชิงเทรา ย้ำชัดว่าใช้วัตถุดิบออร์แกนิก ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่ใส่ผงชูรส ไม่เจือสีและแต่งกลิ่นใช้ประกอบอาหารได้ทุกประเภท แถมยังมีนวัตกรรมเต้าเจี้ยวอินทรีย์และซีอิ๊วอินทรีย์แบบผงด้วยนะ แต่เนื่องจากเราไม่ได้จะไปเรียนต่อเมืองนอกเมืองนาที่ต้องผงรสที่คุ้นเคยไปแดนไกล เราจึงเลือกเต้าเจี้ยวบดขวดประจำมาติดครัวเสมอ ด้วยเท็กซ์เจอร์บดหยาบๆ เนื้อแน่นหนึบนี้ นอกจากจะเหมาะกับการทำน้ำจิ้มแบบดีเยี่ยมแล้ว วันไหนมิโสะหมดตู้เย็น ขวดนี้ก็พึ่งพาได้เพียงแค่ใช้เบามือหน่อยเพราะรสจัดจ้านและเค็มกว่ามาก เป็นอีกขวดที่มีติดตู้เย็นไว้ ได้ใช้อย่างสบายใจแน่นอน

www.facebook.com/chamnanfood

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง