ในยุคสมัยที่อาหารการกินไม่ได้พ่วงมากับความปลอดภัยเหมือนอย่างเคย และสารเคมีเริ่มกลายเป็นที่นิยมในการทำเกษตรกรรมทั่วโลก ผู้คนกลุ่มใหญ่ในยุค 70 เริ่มตระหนักถึงปัญหา จนเกิดการสร้างระบบและมาตรฐานที่จะสร้างความมั่นใจให้กับคนทั่วโลกว่าเรายังมีทางเลือกอีกมากมายสำหรับการกินดีอยู่ดี 

ช่วงเวลานั้นเองที่เกษตรกรและนักวิจัยชาวยุโรปกลุ่มใหญ่ เริ่มออกมาผลักดันมาตรฐานออร์แกนิกให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล ในขณะที่เกษตรกรอีกไม่น้อยก็กำลังค่อยๆ ผลักดันระบบสมาชิกเล็กๆ ภายใต้ชื่อ CSA หรือ Community Support Agricultural เพื่อรับส่งผักสดสะอาดจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ไปยังผู้บริโภคบ้านใกล้เรือนเคียงในชุมชน 

โดยระบบที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นต้นแบบของ CSA ยุคใหม่ ที่เชื่อมโยงเกษตรกรและสมาชิกในชุมชนให้ใกล้ชิดกันสุดๆ ก็เกิดขึ้นไม่ใกล้ไม่ไกล ที่แดนอาทิตย์อุทัยนี่เอง!

ด้วยความที่การปลูกผักโดยใช้สารเคมี เพื่อให้ได้ปริมาณมากและรูปลักษณ์สดใหม่กลายเป็นที่นิยมอย่างมากเช่นกันในแดนปลาดิบยุคนั้น คุณลุงเทรุโอะ อิชิราคุ (Terou Ichiraku) เกษตรกรชาวญี่ปุ่น ผู้ศึกษาเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มายาวนาน และเป็นผู้ก่อตั้ง Japan Organic Argriculture Association (JOAA) องค์กรที่ส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังแห่งแรกๆ ของญี่ปุ่น จึงเริ่มออกมาพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน ให้พวกเขาได้ตระหนักถึงภัยใกล้ตัวจากการกินผักที่มีสารเคมี การรับซื้อผักจากพ่อค้ารายใหญ่และการกินผักนำเข้าจากต่างประเทศที่ต้องใช้เงินเยอะ แถมยังไม่รู้ที่มาที่ไปของแหล่งผลิตอีกด้วย

เมื่อพูดคุยจนเห็นพ้องต้องกัน ระบบ ‘Teikei’ ที่แปลตรงตัวได้ว่าการร่วมธุรกิจ ซึ่งเป็นระบบสมาชิกแบบง่ายๆ และเป็นมิตรจึงถือกำเนิดขึ้นในยุค 70 โดยมีต้นแบบมาจากระบบส่งนมของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นในอดีต ที่มักรวมตัวกันสร้างกลุ่มสมาชิกรับนมสดจากฟาร์มใกล้ชุมชน

ซึ่งระบบส่งผักของคุณลุงเทรุโอะก็มีวิธีการคล้ายกันแค่เพิ่มความจริงจังลงไปอีกนิด โดยให้ชาวบ้าน 3-10 ครัวเรือนมาร่วมผูกปิ่นโตกับเกษตรกรหนึ่งคนในชุมชนเพื่อรับผักสดรายเดือน แลกกับข้อตกลงต่างๆ ที่อยากทำร่วมกัน อาจจะเป็นการจ่ายเงินก็ได้ หรือการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ก็ดี ซึ่งจุดเด่นของเจ้า Teikei คือการสร้างระบบขึ้นบนพื้นฐานของความเป็น ‘เพื่อน’ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยน ซื้อขายแบบ ‘พ่อค้า-ลูกค้า’ เหมือนอย่างการรับซื้อผักจากเกษตรกรทั่วไป

โดยหนทางสู่การเพิ่มเพื่อนระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคตามวิถีชาวญี่ปุ่นนั้นง่ายมากและสามารถลองทำตามได้ด้วยหลักการสั้นๆ ดังนี้

เกษตรกรผู้เป็นสมาชิกจะต้องทำการเกษตรแบบพออยู่พอกิน เน้นเลี้ยงครอบครัวให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก พอเหลือจึงค่อยส่งต่อให้กับเพื่อนๆ สมาชิกในชุมชน ดังนั้นการทำฟาร์มของเกษตรกรในระบบ Teikei จะต้องไม่ใช่ฟาร์มใหญ่ที่เน้นผลผลิตมากๆ เพื่อป้องกันการใช้สารเคมี เพราะคุณลุงเทรุโอะเชื่อว่าถ้าเกษตรกรได้กินของดี เราเองก็จะได้กินของดีเหมือนกัน

ส่วนหน้าที่ของผู้บริโภคคนไหนที่ตกลงเพิ่มเพื่อนกับเกษตรกรในชุมชนคนนั้นๆ เรียบร้อย ก็จะต้องแวะเวียนไปช่วยเหลือ เรียนรู้การปลูกผักเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของวัตถุดิบที่เรารับมากิน เราเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ‘en-no’ นอกจากนี้ในยามที่เกษตรกรมีปัญหาด้วยเหตุจากภัยธรรมชาติหรือความไม่พร้อมต่างๆ ที่ส่งผลต่อการผลิตอาหาร เพื่อนก็ต้องไม่ทิ้งเพื่อน อาจสามารถรวมกลุ่มกันเข้าไปช่วยเหลือหรือเรี่ยไรเงินเพื่อช่วยพัฒนาฟาร์มให้ดีขึ้นด้วยก็ได้

ไม่ว่าผักรอบนั้นจะมีหน้าตาแบบไหน หน้าที่ของเราคือการรับผักเหล่านั้นมากิน ซึ่งนี่ช่วยให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องทิ้งผักหน้าตาแปลกๆ ที่ยังกินได้หรือไม่สามารถแบ่งขายตามท้องตลาดได้หมด และทำให้ผู้บริโภคได้รู้ว่าผักหน้าตาแปลกๆ เหล่านี้ ที่อาจไม่ได้มีสีสวยลูกโตเหมือนอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็สามารถนำมาประกอบอาหารให้อร่อยได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ไม่ว่าในสัปดาห์นั้นเราจะได้รับผักชนิดใด เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรุงและกินให้หมด เพราะระบบ Teikei เน้นเรื่องการกินไม่ให้เหลือ และเชื่อว่าผักทุกชนิดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่หัวถึงราก ดังนั้นหากไม่รู้จักผักชนิดนั้นมาก่อนก็ต้องหาเวลาไปสอบถามกับเพื่อนๆ สมาชิกในกลุ่มเดียวกัน หรือกับเกษตรกรว่ามันจะสามารถเอาไปทำอาหารอะไรได้บ้าง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ สมาชิกได้ทำกิจกรรมร่วมกันและสนิทกันมากขึ้นไปด้วย อีกทั้งระบบส่งผักนี้ยังให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมชาติมากๆ เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะต้องหลีกเลี่ยงการปลูกผักนอกฤดูกาล ปริมาณและผักที่เลือกปลูกจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งนี่ทำให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสลองผักหลากหลายในแต่ละช่วงของปี และทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับตัววัตถุดิบมากกว่าเมนูอาหารที่ทำด้วย

สุดท้ายการตั้งราคาจะต้องอยู่บนพื้นฐานของเพื่อนที่เข้าใจเพื่อน โดยจะต้องเกิดจากการตกลงกันของทุกฝ่าย แม้บางทีราคาอาจจะสูงกว่าท้องตลาดอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าวัตถุดิบที่ส่งตรงถึงมือเรานั้นจะเป็นผักที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัย แถมยังมาส่งให้กินได้ถึงที่อีกด้วย

แน่นอนว่าในระยะเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา ระบบ Teikei กลายเป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ของชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง อีกทั้งรูปแบบของการรับส่งผักที่สะอาดปลอดภัยยังขยายตัวเป็นวงกว้างและมีความเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นด้วยวัฒนธรรมที่เน้นความสำคัญของชุมชน และความใกล้ชิดของเพื่อนบ้าน

ทำให้โมเดลการส่งผักจากเกษตรกรอินทรีย์เริ่มมีรูปแบบหลากหลาย มีการสร้างระบบเพิ่มเพื่อนแบบเล็กและใหญ่แตกต่างกันไปตามจำนวนผู้คนและการจัดการที่เข้าถึงได้ จนไปถึงการสร้างระบบ Teikei แบบสหกรณ์ชุมชนที่ค่อยๆ ขยายจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการดัดแปลงวิธีจัดส่งและติดต่อกับเพื่อนผู้บริโภคใหม่ด้วยเทคนิคแตกต่างกันไป

ในปัจจุบันโมเดลเพิ่มผักเพิ่มเพื่อนอย่าง Teikei ก็มีกระจายอยู่ทั่วโลก บ้างเกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับ Teikei บ้างเกิดขึ้นทีหลัง ซึ่งแต่ละที่ก็มีชื่อเรียกวิธีการจัดการและกลุ่มเพื่อนๆ ของตนเองแตกต่างกันไป เช่น Gruppi di Acquisto Solidale (G.A.S) ของอิตาลี ที่เป็นการรวมกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการใกล้เคียงกัน เพื่อรับซื้อวัตถุดิบจากแหล่งเดียวกัน และ A Vegetable Box Scheme ของอังกฤษ ซึ่งเป็นบริการรวบรวมพืชผลอินทรีย์จากฟาร์มที่ไว้ใจได้ไปส่งให้กับผู้บริโภคถึงบ้านหรือในสถานที่ที่ตกลงกันไว้ หรืออย่างของไทยเราก็น่าจะรู้จักกันดีกับวิธีการผูกปิ่นโตกับเกษตรกรตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทำ CSA แบบง่ายๆ และได้เพื่อนเช่นเดียวกัน

ส่วนครั้งต่อไปเราจะเอาเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวงการออร์แกนิกในแง่มุมไหนมาเล่าให้ฟัง สามารถรอติดตามได้ที่นี่เลย!

ภาพประกอบ: Paperis