ปัญหาเรื่องอาหารเหลือทิ้ง หรือ Food waste ในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องใหญ่มานานแล้ว เพียงแต่เราทุกคนไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เพราะข้าวปลาอันอุมสมบูรณ์บอกกับเราว่าถึงยังไงก็คงไม่อดตาย ขึ้นชื่อว่าดินแดนในน้ำมีปลาในนามีข้าว ความหิวโหยเลยดูเป็นเรื่องไกลตัวเราไปหน่อย ยิ่งบวกกับสตรีทฟู้ดที่มีให้เลือกกินทั้งวันทุกวันในราคาสบายกระเป๋า ยิ่งทำให้เราห่างหายจากการตั้งคำถามถึงคุณค่าของ ‘อาหาร’ กันอยู่บ้าง
เรียกว่าเป็นความเหลือกินที่ทำให้เรากินเหลือก็คงไม่ผิด
แต่ความรุ่มรวยดังกล่าวกลับทำปฏิกริยากับ Bo H. Holmgreen และ Turid Kaehny ต่างออกไป เพราะหลังจากทั้งคู่เดินทางเยือนหลายประเทศจนมาถึงประเทศไทย และเกิดสะกิดใจว่าทำไมหลังมื้ออาหารเพียงไม่กี่ชั่วโมง อาหารเหลือทิ้งจำนวนมากจากโรงแรมห้าดาวถึงกลายเป็นขยะ เสียทั้งทรัพยากร เสียทั้งพลังงานในการปรุง แถมยังน่าเสียดายแทนคนไม่มีกิน
การเปลี่ยนแปลงคงไม่เกิดหากทั้งสองหยุดความสงสัยไว้แค่นั้น กลับกัน ทั้งสองเลือกจะร่วมมือกับนักกิจกรรมด้านอาหารจากออสเตรเลีย Ozharvest และตั้งมูลนิธิ Thaiharvest-SOS ขึ้นมาเมื่อปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างแหล่งอาหารเหลือทิ้งแต่ยังคุณภาพดี ไม่ว่าจะจากโรงแรมหรู ร้านเบเกอรี ร้านอาหาร หรือครัวตามบ้าน และนำอาหารเหล่านั้นส่งถึงมือผู้ขาดแคลน ทั้งบ้านเด็กกำพร้า ค่ายพักพิงผู้อพยพ หรือสถานบำบัดผู้ป่วยจิตเวช เป็นงานที่ต้องอาศัยแรงกายแรงใจในระดับเราขอยกนิ้วให้ในความพยายาม
ซื้อไม่คิด กินไม่หมด ทิ้งไม่เลือก
ฝ้าย-ธนาภรณ์ อ้อยอิสรานุกุล Donor Relation ของมูลนิธิ Thaiharvest-SOS บอกกับเราว่าสาเหตุหลักของอาหารเหลือทิ้งบนใบโลกนี้ คือ การจัดการอาหารที่ไม่เป็นระบบ เช่น การซื้อของตุนไว้มากซะจนกินไม่ทัน หรือการคัดเกรดสินค้าเกษตรจากหน้าตาที่ทำให้ผักหน้าตาขี้เหร่ต้องกลายเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย
“มีบางคนถามเราว่า แค่กินแอปเปิ้ลไม่หมดลูกเดียวมันจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมขนาดไหนกันเชียว แต่เราอยากให้คิดอีกมุม ว่ามันไม่ใช่แค่แอปเปิ้ลลูกเดียวที่เสียไป แต่คือแรงงานชาวสวน น้ำที่ใช้ปลูกต้นแอปเปิ้ล ไหนจะค่าขนส่งอีกเท่าไหร่ ถ้าคิดมูลค่ารวมแล้วมันมหาศาลกว่าแค่แอปเปิ้ลลูกเดียวมากๆ” ฝ้ายยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพกว้างของความสูญเสียที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง
“บางคนไม่รู้ว่าประเทศไทยปล่อยก๊าซมีเทนที่ทำให้โลกร้อนเป็นอันดับ 3 ของโลก และก๊าซมีเทนส่วนมากเกิดจากขยะ ก็คืออาหารเหลือทิ้งนี่แหละ อาจเพราะประเทศเรามีอาหารอุดมสมบูรณ์ ค่าครองชีพไม่ได้แพงมาก เลยมีอาหารเหลือเยอะเป็นพิเศษ”
และนั่นกลายเป็นงานที่เธอและทีมร่วมใจกันทำ คือเข้ามาแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งด้วยการจัดการและสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาหารให้กับเด็กและเยาวชน ผ่าน 3 โปรเจกต์ที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างอยู่ตอนนี้
“เรามองว่าวิธีแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งในระยะยาว ต้องเริ่มจากการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการกินและสร้างระบบจัดการอาหารเหลือที่มีประสิทธิภาพ เลยเกิดเป็นโปรเจกต์ Food Rescue คือการเข้าไปเป็นตัวกลางระหว่างผู้บริจาคอาหารกับผู้ขาดแคลน Composed Program คือการเข้าไปสนับสนุนให้ฟาร์มหรือโรงเรียนนำอาหารเหลือทิ้งมาทำปุ๋ยหมัก และ Gardening Program ที่เราเข้าไปร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อสอนวิธีการสร้างอาหาร เช่น การปลูกผักสวนครัว ไปพร้อมกับให้ความรู้เด็กๆ เกี่ยวกับเรื่องระบบอาหารด้วย”
เผื่อเหลือ เพื่อขาด
ผู้บริจาคอาหารเหลือทิ้งสามารถเป็นได้ทั้งโรงแรม โรงเรียน ฟาร์ม ร้านอาหาร หรือครัวเรือนก็สมัครเป็นผู้บริจาคได้เหมือนกัน และเลือกได้ด้วยว่าจะบริจาคเป็นรายวัน รายเดือน หรือรายสะดวก จากนั้น กระบวนการทำงานของ Thaiharvest-SOS จึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริจาคเต็มที่ ตั้งแต่จัดหาภาชนะสำหรับใส่อาหารเหลือทิ้งให้กับผู้บริจาคอย่างเพียงพอ มีรถเย็นไปรับอาหารถึงครัว แถมยังมีบริการหลังการบริจาค ด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้บริจาคให้แบบมืออาชีพ
“ข้อกำหนดในการบริจาคเรากี่ไม่กี่ข้อ หนึ่งคือ เราไม่รับอาหารที่เน่าเสียง่าย เช่น ข้าวสุก ซีฟู้ด และอาหารที่ใส่กะทิ นอกนั้นจะเป็นเบเกอรี่ ผลไม้แต่งจาน หรือผักสดสำหรับปรุงอาหารก็รับทั้งหมด พอรับมาแล้วเราจะนำอาหารทุกอย่างมารวมกันที่ครัวกลางของมูลนิธิ คัดแยกประเภทอาหาร ตรวจสอบคุณภาพ และนำจัดส่งให้กับคอมมิวนิตี้ในเครือข่าย ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 6 ที่ด้วยกัน”
ฝ้ายเล่า ก่อนอธิบายเพิ่มเติมถึงข้อกำหนดของชุมชนที่จะเข้ามาเป็นเครือข่ายรับอาหาร ว่าจะต้องสามารถจัดการและแจกจ่ายอาหารให้กับผู้คนในชุมชนได้อย่างมีระบบ อาทิ ศูนย์พักพิงผู้อพยพชาวปากีสถาน หรือบ้านวิถีชาย สถานสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชที่ทางมูลนิธินำวัตถุดิบเข้าไปปรุงอาหารแจกจ่ายทุกๆ เดือน พร้อมจัดกิจกรรมนำอาหารเหลือทิ้งที่กินไม่ได้แล้วมาหมักปุ๋ย เพื่อใช้ประโยชน์จากอาหารให้หมดจด
“อุปสรรคอีกอย่างของการบริจาคอาหารในไทยคือ ผู้บริจาคที่เป็นองค์กรใหญ่ เขาก็จะกลัวว่าอาหารที่บริจาคมาจะกลายเป็นพิษต่อผู้รับบริจาค แล้วแบรนด์จะเสียหายหรือเปล่า สุดท้ายเลยไม่ค่อยกล้าบริจาคกัน จุดนี้ต้องบอกเลยว่าเราดูแลสิทธิ์ของผู้บริจาคเต็มที่ โดยมีสัญญาเขียนชัดเจนว่าเมื่ออาหารออกจากมือของผู้บริจาคแล้ว ความรับผิดชอบหลังจากนั้นเป็นของมูลนิธิทั้งหมด และเป็นจรรยาบัญของเราที่จะไม่เปิดเผยว่าอาหารที่ได้รับบริจาคเป็นของใคร ยกเว้นแต่ผู้บริจาคยินยอมให้เปิดเผยเท่านั้น” ฝ้ายยืนยันด้วยน้ำเสียงมั่นใจ
กินไม่ไหวก็ใส่ตู้เย็น
นอกจากจะเดินทางไปรับอาหารเหลือถึงครัวของผู้บริจาคแล้ว ทางมูลนิธิ Thaiharvest-SOS ยังมีบริการสำหรับผู้ต้องการบริจาคเป็นรายสะดวก ด้วยการติดตั้ง ‘ตู้เย็น’ ไว้ตามคอมมิวนิตี้มอล์ต่างๆ ในกรุงเทพฯ อาทิ ศูนย์การค้า River City Bangkok และ The Commons ซอยทองหล่อ 17
“ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็สามารถเป็นผู้บริจาคได้เหมือนๆ กัน สมมติคุณจะจัดปาร์ตี้สุดสัปดาห์นี้ และคิดว่ามีอาหารเหลือทิ้งแน่ๆ ก็ติดต่อประสานกับเรา เราก็พร้อมจะเข้าไปรับอาหารถึงในครัวโดยไม่ต้องเป็นสมาชิกมาก่อนก็ได้ หรือถ้าใครอยู่ใกล้ตู้เย็นที่เราติดตั้งไว้ ก็สามารถนำอาหารไปใส่ไว้ได้เลย”
ในตอนนี้มูลนิธิ Thaiharvest-SOS ดำเนินงานด้วยทุนส่วนตัวของผู้ก่อตั้ง และเงินบริจาคจากเอกชน รวมถึงการจัดอีเวนท์เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงเรื่อง Food Waste พร้อมเปิดรับบริจาคเพื่อนำทุนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการอาหารเหลือทิ้งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
เช่นอีเวนท์ UGLY FRUIT ที่ทางทีมงานจะนำผลไม้เหลือทิ้งแต่ยังคุณภาพดีซึ่งได้รับบริจาค มาเปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มและอาหารแสนอร่อย พร้อมกิจกรรมสื่อสารถึงปัญหาอาหารเหลือทิ้งมากมายให้ร่วมสนุก ในวันที่ 29 กันยายนนี้ที่ Whiteline สีลมซอย 8 เวลา 1 ทุ่มเป็นต้นไป (ติดตามรายละเอียดงานได้ที่ UGLY FRUIT)
How to การบริจาคอาหารให้กับ Thaiharvest-SOS
1.ตรวจเช็คว่าอาหารเหลือของคุณยังคุณภาพดี และไม่ใช่ข้าวสุก อาหารกะทิ หรือซีฟู้ด
2.ติดต่อเพื่อสมัครเป็นสมาชิก หรือเพื่อให้ทีมงานไปรับอาหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ที่ 096-808-8008 หรือ อีเมล info@thaiharvestsos.org
3.หรือสามารถนำอาหารเหลือคุณภาพดีไปฝากใส่ตู้เย็นได้ที่ศูนย์การค้า River City Bangkok (ท่าน้ำสี่พระยา) หรือคอมมิวนิตี้มอล์ The Commons (ซอยทองหล่อ 17)
ติดตามความเคลื่อนไหวของมูลนิธิ Thaiharvest-SOS ได้ที่ https://www.facebook.com/thaiharvestsos