Bagel เจ้าขนมลูกกลมๆ มีรูตรงกลาง หน้าตาคล้ายไปทางโดนัท ว่ากันว่าต้นกำเนิดมันมาจากประเทศโปแลนด์ ดินแดนแห่งขนมปังอีกแห่งหนึ่ง เหมือนอย่างเช่นเรื่องราวของอาหารพื้นถิ่นชนิดอื่นๆ ตัวเบเกิลเองก็ได้เดินทางไปทั่วโลกผ่านวันเวลา ผู้คน จนตัวมันเองได้รับความนิยมไปทั่วโลก เรียกได้ว่าถ้าสักคนได้ลองกัดกินสักคำสองคำ ย่อมหลงรักมันเข้าอย่างแน่นอน
เมื่อมีการเดินทางย่อมมีเรื่องราวในที่ที่เหล่าเบเกิลเดินทางไป ครั้งนี้เมื่อมันเดินทางมาถึงไทยแลนด์ ดินแดนแห่งความหลากหลายทางด้านอาหารและเหล่าพืชพันธุ์ มันจึงถูกจับแต่งตัวใหม่โดยคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมของมันไว้ พิเศษคือนำเอาแป้งข้าวของไทยที่มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องสายพันธุ์ สีสัน มาผสมผสาน จนเกิดเป็นเบเกิลแป้งข้าวฉบับบ้านๆ
เราลองจับแป้งข้าวสังข์หยดซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นบ้านของจังหวัดพัทลุง เรียกได้ว่าหุงเป็นข้าวสุกกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ผสมกับเจ้าแป้งสาลีที่เราเลือกที่ปลูกแบบออร์แกนิก ทั้งยังไม่มีสารฟอกขาว จับยีสต์ น้ำตาล เกลือ น้ำเปล่า น้ำมัน ลงผสม นวดๆ พักๆ พักๆ นวดๆ สลับกันไป ว่าแล้วยังมีแป้งข้าวอีกหลายตัว จับมาแปลงร่างแต่งตัวเป็นเบเกิลลูกกลมๆ อีกดีกว่า แป้งข้าวนครชัยศรีกลิ่นหอมสีสันขาวนวล ที่มาเหมือนกับชื่อสายพันธุ์คือทุ่งนครชัยศรี แป้งข้าวมะลิแดงสีออกแดงๆ สมชื่อ มาจากทุ่งนาสุพรรณบุรี แป้งข้าวเหนียวดำ เหนียวหนุบหนับสีสวยงาม จากทุ่งนาเมืองร้อยเอ็ด มองหาข้าวจากเมืองเหนือเพื่อจะได้ครบทุกภูมิภาค เลือกข้าวหอมนิลให้สีนิลสมชื่อ จากทุ่งนาเมืองเชียงใหม่ แถมแป้งจากทุ่งนาเมืองตรังที่มีสีแดงอีกตัวทั้งหอมทั้งอร่อยก็คือเจ้าแป้งข้าวหอมกระดังงา
เบเกิลที่รัก ขนมปังแห่งความสุข
ส่วนผสม
แป้งสาลีออร์แกนิก 200 กรัม
แป้งข้าวพื้นบ้าน 50 กรัม
น้ำอุณหภูมิห้อง 140 กรัม
ยีสต์ผง 2 กรัม
เกลือ 4 กรัม
น้ำตาล 15 กรัม
น้ำมันรำข้าว 7 กรัม
ใช้สองมือนวดแป้ง คลึงๆ ปั้นๆ เป็นแท่งยาวๆ ตวัดปลายทั้งสองเข้าหากัน เชื่อมต่อเป็นรูปร่างคล้ายโดนัท วางพักไว้สักครู่ ให้ยีสต์ตัวน้อยได้ทำงานของมัน ขั้นต่อไปที่ทำให้แป้งตัวอ้วนกลมของเรากลายเป็นเบเกิลโดยสมบูรณ์ คือการต้มโดยนำพวกเขาไปว่ายเล่นในน้ำเดือดประมาณข้างละ 15 วินาที หรือถ้าเราชอบความเหนียวหนึบมากหน่อยก็อาจต้มนานกว่านั้นได้ แล้วแต่ความชอบ แต่ไม่ควรนานเกินไป เพราะแป้งตัวน้อยของเราจะเสียรูปทรงและเกิดความเหนียวเกินไป อาจตกแต่งหน้าให้พวกเขาในขั้นตอนนี้ เช่นโรยธัญพืช งาขาว งาดำ ตามสะดวกได้เลย
เกือบลืมไป ก่อนนำเหล่าพวกแป้งน้อยของเราไปต้ม ควรทำการวอร์มเตาอบของเราเสียก่อน โดยใช้อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส เป็นเวลา10-15 นาที เพื่อที่เตาของเราจะได้พร้อมรับกับเหล่าเบเกิลน้อยได้ทันทีที่ต้มเสร็จ เท่านี้แป้งเบกิลน้อยของเราก็พร้อมเข้าเตาอบ โดยใช้อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียสเช่นเดียวกับตอนอุ่นเตา และใช้เวลาในการอบประมาณ 25-30 นาที
จับคู่เบเกิลแป้งข้าวพื้นบ้าน กับทอดมันผักแบบบ้านๆ
ระหว่างรอ เราอาจทำเครื่องเคียงที่จะรับประทานคู่กับเบเกิลน้อยของเรา เจ้าขนมพวกนี้อาจทานคู่กับครีมชีส แยมผลไม้ต่างๆ หรือพวกเนยถั่วก็ได้ วันนี้เห็นยอดผักข้างบ้านงอกงาม เลยตัดสินใจทำทอดมันผักเพื่อจะได้จับเจ้าเบเกิลน้อยแต่งตัวใหม่กลายเป็น เบเกิลสอดไส้ทอดมันผักแบบบ้านๆ ทำไปทำมาเตาอบของเรามีเสียง ‘ติ๊ง’ เป็นเสียงบอกว่าเหล่าขนมรูปร่างอ้วนกลมของเราพร้อมแล้ว จัดการผ่าครึ่ง จับทอดมันผักของเราที่เตรียมไว้ ผักใบแสนสดใหม่หลากสีสัน ตามที่เราชอบสอดเข้าไป เสริมด้วยไข่ต้มสักฟอง เท่านี้มื้ออันแสนอร่อยของเราก็พร้อมเสิร์ฟ
สัมผัสแรกที่กัดเข้าไป มีความเหนียวนุ่มตามแบบฉบับเบเกิล เพิ่มเติมมาก็ด้วยกลิ่นของข้าวพื้นบ้านของไทย ต่อด้วยความสดใหม่ของผักต่างๆ สุดท้ายเป็นความจัดจ้านของทอดมันผักที่ประกอบด้วยพริกแกงใต้อันมี ขมิ้น คะไคร้ กระเทียม พริกขี้หนู พริกไทยดำ กะปิกุ้ง ผักต่างๆ อีกนับ 10 ชนิด จึงเป็นที่มาของเมนูขนมปังแห่งความสุขในวันนี้ เจ้าขนมอ้วนกลม ‘เบเกิลที่รัก’
ถ้าอยากลองทำเบเกิลในแบบฉบับบ้านๆ หรืออยากแลกเปลี่ยนเรื่องราวของการทำเบเกอรี่ทางเลือก สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ เพจ PungCraft บ้านเรียนขนมปัง เพราะมากกว่าเบเกอรี่ คือการแบ่งปันเรื่องราวแป้งข้าวพื้นบ้าน
ภาพถ่าย: ArmYaAtHome
เกร็ดสุขภาพกับ greenery.
ในขั้นตอนปรุงทอดมันผักสไตล์ปักษ์ใต้ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันทอดซ้ำ และควรตั้งน้ำมันให้ร้อนจัด เพื่อลดการอมน้ำมัน อีกทั้งการซับน้ำมันออกหลังทอดเสร็จก็ช่วยกำจัดน้ำมันส่วนเกินไปได้เช่นเดียวกัน