โจทย์ใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลกวันนี้หนีไม่พ้นเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเทศโซนยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงเป็นประวัติกาลเนื่องมาจากสงครามอันยืดเยื้อ รวมถึงผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งมีชีวิตอย่างน่ากังวล…

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของมาตรการลดการใช้พลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ของหลายประเทศแถบตะวันตก หนึ่งในนั้นคือเยอรมนี ประเทศที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการและระบบขนส่งสาธารณะมานานนับศตวรรษ กับนโยบาย ‘ตั๋วเดินทาง 9 ยูโรตลอดสาย’ (The 9-euro monthly ticket) ที่จะเริ่มดำเนินการระยะยาวตั้งแต่กลางปีนี้

นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งเท่ากับลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการคมนาคม ผ่านการลงทุนก้อนใหญ่เป็นเงินถึง 2500 ล้านยูโร เพื่อออกตั๋วเดินทางแบบครอบคลุมทุกประเภทขนส่งมวลชนในประเทศเยอรมนี ด้วยค่าใช่จ่ายเพียง 9 ยูโรต่อเดือน หรือราว 300 บาท ซึ่งราคาถูกกว่าการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนปกติหลายเท่าตัว นโยบายดังกล่าวถูกวิจารณ์ในระยะแรกว่าอาจเป็นการลงทุนที่ได้ไม่คุ้มเสีย ทว่าผลลัพธ์ที่ปรากฎกลับตรงกันข้าม เนื่องจากนโยบายดังกล่าวช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1.8 ล้านตัน ในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน !

ตัวเลขความสำเร็จส่งผลให้รัฐบาลเยอรมนีต่อยอดนโยบายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการผลักดักนโยบายตั๋วใบเดียวเดินทางทั่วประเทศให้เกิดขึ้นอีกครั้งในปีนี้ โดยตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ทั้งสิ้น 3 ล้านตัน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเมืองเพื่อความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ โดยตั๋วเดินทางราคา 9 ยูโรใบนี้สามารถใช้ได้ทั้งกับรถไฟ รถบัส รถใต้ดิน และเครือข่ายขนส่งสาธาณณะอื่น ๆ ทั่วประเทศเยอรมนี

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มสร้างความร่วมมือกับประเทศใกล้เคียงเพื่อใช้ตั๋วเดินทางร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนชาวยุโรปร่วมลดการใช้พลังงานและลดมลพิษอย่างเต็มใจ และนี่อาจเป็นแนวทางที่ประเทศซึ่งมีปัญหามลพิษฝุ่นควันเช่นประเทศไทยของเรา ควรพิจารณาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในอนาคตด้วยเช่นกัน

ที่มาข้อมูล และภาพ:
– www.theguardian.com/world/2023/mar/17/germany-gives-green-light-new-monthly-public-transport-ticket#:~:text=The%20original%20€9%2Da,a%20cost%20of%20living%20crisis.
– www.facebook.com/vbbapp
– www.facebook.com/DieVerkehrsunternehmen/?ref=page_internal