จะด้วยเหตุผลกลใดหรือเงื่อนไขอันมองเห็นด้วยตาเปล่าได้หรือไม่ก็ตาม เอาเป็นว่าบัดนี้ ฉันได้ย้ายสำมะโนครัวมาตั้งรกรากที่จังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย สมุทรสงคราม หรือ แม่กลอง เป็นเวลาร่วม 15 ปีแล้ว ที่นี่ไม่ใช่บ้านเกิด แต่กลายเป็นเมืองนอน เป็นที่ที่เปลี่ยนคนเมืองและคนกรุงคนหนึ่งให้ได้เรียนรู้จักว่าสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และอาหารการกินการอยู่ จะดำเนินไปควบคู่กันเสมออย่างไม่อาจแยกขาด ความหลากหลายจะก่อให้เกิดความหลากหลาย ความสมดุลจะรักษาสมดุล และความยั่งยืนคือการส่งผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่คำอุดมการณ์ แต่คือโจทย์แห่งโลกอนาคตที่คำตอบอยู่ในมือเราทุกคน

ความประทับใจอย่างแรงกล้าที่มีต่อเมืองแปลกหน้า ทำให้ฉันและคณะลุกขึ้นมาทำ “มนต์รักแม่กลอง” นิตยสารท้องถิ่นที่บอกเล่าเรื่องราวภายในสมุทรสงคราม ด้วยความเชื่อพื้นฐานว่า “ถ้าคนรู้จัก เขาก็จะรัก” ในช่วงเวลาที่เนื้อหาของท้องถิ่นยังไม่ได้แพร่หลายกว้างขวางอย่างวันนี้ และกลวิธีแบบสตอรีเทลลิ่งยังไม่ถือกำเนิด เป้าหมายของสื่อท้องถิ่นเล่มเล็กๆ นั้นทั้งต้องการส่งผ่านคุณค่าของบ้านเมืองไปสู่การรับรู้ของคนภายนอก และทั้งเพื่อปลุกพลังให้คนภายในไม่ลืมความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง

โชคดีที่การทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กลับให้ผลตอบแทนที่งดงามเกินคาด นั่นคือ การมีโอกาสได้พบเจอผู้คนและเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่นักคิด นักต่อสู้เพื่อบ้านเมือง ภาคประชาสังคม ประชาคมคนรักแม่กลอง ไปจนถึงลุงป้าน้าอาที่เป็นชาวสวน ชาวประมง ชาวนาข้าว ชาวนาเกลือ ฯลฯ ทำให้ฉันผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ได้เข้าถึงตัวตนของบ้านเมืองนี้ชัดเจนเข้มข้น

ฉันได้ตระหนักว่าคนแม่กลองมีความรักความผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติบ้านเกิดของเขาอย่างยิ่งยวด โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ตั้งแต่สวนจนถึงทะเล ตั้งแต่น้ำจืด น้ำกร่อย ยันน้ำเค็ม และมีอิทธิพลกับชีวิตของคนทุกคนไม่มากก็น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คืบก็น้ำ ศอกก็น้ำ ผู้คนที่นี่จึงต้องมีภูมิปัญญาที่จะหาอยู่หากิน ดำรงชีวิต และสร้างบ้านแปงเมืองให้อยู่กับน้ำได้อย่างแยบคาย ความสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศสำคัญต่อการกำหนดชะตาอนาคตคน และขณะเดียวกันก็อ่อนไหว ง่ายต่อการถูกทำลายล้างจากการละโมบตักตวงเอาประโยชน์จากธรรมชาติจนเกินพอดี หรือด้วยสารพัดโครงการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมสอดคล้อง เพราะฉะนั้น การรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติสำหรับที่นี่จึงไม่ใช่แค่แนวคิดเท่ๆ แต่คือความจำเป็น และเป็นทางรอดเดียว

เนื้อหาตลอดที่ผ่านมาของ “มนต์รักแม่กลอง” จึงไม่พ้นไปจากนี้ได้เลย ไม่ว่าจะสื่อสารออกมาเป็นนิตยสาร หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือกิจกรรมทางสังคมใดๆ ก็ตาม มนต์รักแม่กลองกลายเป็นสื่อสายอนุรักษ์ ซึ่งไม่ได้อยากแช่แข็งบ้านเมืองให้คงสภาพเหมือนในอดีต แต่เพราะอยากมีวันข้างหน้าที่ทุกคนจะดำรงคงอยู่รอดได้ต่างหาก

จนกระทั่ง ในเวลาต่อมาเมื่อมนต์รักแม่กลองยุติการผลิตนิตยสารลงตามเหตุปัจจัย แต่เจตนารมณ์ที่อยากสื่อสารเรื่องบ้านเมืองยังอยู่ วันหนึ่ง สื่อชุมชนสำนักเล็กจิ๋วนี้ก็แปลงร่าง สวมรอยเป็นร้านค้าโชห่วย ‘เดอะมนต์รักแม่กลอง’ ไม่ได้ทำหนังสือให้อ่าน แต่เอาของมาให้กิน ชวนให้ผู้รับสารเรียนรู้เรื่องราวของแผ่นดินแผ่นน้ำแห่งนี้ด้วยรส รูป กลิ่น ในฐานะที่แม่กลองเป็นเมืองแห่งภูมิปัญญาอาหาร เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารมากมายหลายอย่างสำหรับอาหารไทย

บ้านเมืองมีของดีแบบนี้ สื่อชุมชนก็ตีความและนำเสนอในแบบที่เป็น น้ำปลา น้ำตาล น้ำส้มสายชู เกลือ กะปิ คือสินค้าหลักของเดอะมนต์รักแม่กลอง จากผู้ผลิตต่างๆ ในแม่กลอง ซึ่งว่ากันที่จริง สินค้าเหล่านี้เป็นของหาง่าย มีขายอยู่ทั่วไป ความแตกต่างอยู่ตรงไหน?

เดอะมนต์รักแม่กลอง นำเสนอสินค้าธรรมดาๆ ไม่มีความวิเศษวิโส แต่เป็นสินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติ ผ่านขั้นตอนภูมิปัญญา โดยไม่มีการปรุงแต่ง ปลอมปน ใช้สารเสริม เติมสี กลิ่น รส หรือผ่านกระบวนการแปรรูปใดๆ ซึ่งคุณสมบัติเรียบง่ายแบบนี้นี่เองที่กลายเป็นของหายากเข้าไปทุกทีในยุคที่ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมอาหารครองเมือง

น้ำปลาคือ หัวน้ำปลา หมักจากปลาที่จับได้โดยชาวประมงเรือเล็กในหมู่บ้านเท่านั้น หมักกับเกลือทะเลจากนาเกลือข้างบ้าน หมักในโอ่งดินหนึ่งปี เมื่อครบเวลาจะได้หัวน้ำปลาที่มีกลิ่นรสเต็มอิ่ม ไม่เจือจางผสมน้ำหรือใส่น้ำตาลให้เสียรสจากธรรมชาติ

น้ำตาลคือ น้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้ 100% ไม่มีการผสมน้ำตาลทราย ไม่ใช้สารกันบูด เพราะคนขึ้นตาลยังคงยืนหยัดขึ้นตาลวันละ 2 รอบ ใช้ไม้พะยอมเป็นสารกันเสีย แบบที่ทำกันมาแต่ไหนแต่ไร

น้ำส้มสายชูคือ น้ำส้มสายชูที่หมักจากน้ำตาลสดที่ได้จากดอกมะพร้าว ไม่มีส่วนผสมอื่นใดเลย หมักในโอ่งดินเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม จนกระทั่งได้น้ำส้มสายชูที่มีรสเปรี้ยว อมหวาน ตามธรรมชาติ มีคุณค่าสารอาหารและประโยชน์ต่อสุขภาพ

เกลือคือ เกลือทะเล ที่ได้จากการนำน้ำทะเลมาตากในนาเกลือ จนได้เกลือทะเลบริสุทธิ์ มีไอโอดีนตามธรรมชาติ ให้รสเค็ม อมหวาน ตามธรรมชาติเช่นกัน นำไปใช้ประโยชน์ได้อเนกอนันต์

กะปิคือ กะปิที่หมักจากเคยตาดำล้วนๆ ไม่ผสมกุ้งหรือปลา ทำด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ไม่แต่งรสด้วยน้ำตาล หรือสารใดๆ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และรสชาติเค็มหวานแบบธรรมชาติ

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่คัดเลือกมาแต่ละชนิดจะเป็นเนื้อหาที่เล่าถึงระบบนิเวศและวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ในสมุทรสงครามแล้ว ยังสืบสาวราวเรื่องไปถึงตัวผู้ผลิตแต่ละรายด้วย ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นคนที่ต่อสู้ มีบทบาท หรือทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างใดอย่างหนึ่ง เรื่องราวของผู้ผลิตจึงเข้มข้นกลมกล่อมไม่แพ้รสชาติในผลิตภัณฑ์ของเขาเลย (จะทยอยเล่าให้ฟังนะคะ)

เดอะมนต์รักแม่กลองทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่าย นำเสนอสินค้าในชื่อตราของผู้ผลิต เพื่อเชื่อมโยงคนทำกับคนกินให้ใกล้ชิดกันขึ้นอีกนิด ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรีไซเคิลได้ แปะฉลากหน้าตาเรียบง่ายให้อารมณ์เหมือนอ่านบทความสั้น จำหน่ายสินค้าทั้งทางออนไลน์และหน้าร้าน แต่ถึงอย่างนั้น ต้องบอกว่าร้านค้านี้ไม่เน้นขายมากเกินไป ไม่ใช้การตลาดนำคุณภาพที่แท้จริงของสินค้า ไม่ทำโปรโมชั่นลดราคาล่อตาล่อใจ ไม่ยุยงส่งเสริมให้บริโภคเกินจำเป็น แต่สนับสนุนการกินอย่างรู้ที่มาที่ไป กินอย่างปลอดภัย บริโภคอย่างรับผิดชอบ และส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม

เดอะมนต์รักแม่กลองวางตัวเองเป็นธุรกิจทางสังคม ใช้การขายของแค่บังหน้า แต่เบื้องหลังคือต้องการสื่อสารเนื้อหา ขายเกลือไม่ใช่เพื่อขายความเค็ม แต่เพราะอยากเล่าเรื่องราวความสำคัญของแผ่นดินเกลือและชีวิตชาวนาเกลือซึ่งถูกมองข้ามเสมอ ขายน้ำตาลไม่ใช่แค่ขายความหวาน แต่เพื่อยืนกรานความสำคัญของระบบนิเวศแบบสวนยกร่องและอาชีพชาวสวนตาลแบบดั้งเดิมที่นับวันจะเหลือน้อยลงทุกที ฯลฯ มากกว่าขายสินค้า จึงเป็นการส่งผ่านเรื่องราวเพื่อให้สังคมได้รับรู้และร่วมกันสร้างพลังจากนักบริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่าเดิมได้

เดอะมนต์รักแม่กลองอาจเป็นธุรกิจที่เดินช้า และอัตราการเติบโตต่ำ แต่กลับคาดหวังผลกำไรที่มีความหมายยิ่งกว่าเงินทอง และใช้ไม่หมดในชาติเดียว จะเรียกสิ่งนั้นว่าความยั่งยืนก็ได้ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน วิถีชีวิตยั่งยืน ชุมชนยั่งยืน อาหารยั่งยืน เป็นผลกำไรที่ไม่อาจงอกเงยและตอบแทนได้ในเวลารวดเร็ว แต่เชื่อว่าคุ้มค่าสมการรอคอย ค่อยๆ ช่วยกันทำกำไรไปตามกำลัง ยังไงขออย่าให้ถึงกับขาดทุนเลยนะ

ภาพ: เดอะมนต์รักแม่กลอง