สําหรับคนสนใจธรรมชาติและรักสิ่งแวดล้อม ‘เชียงดาว’ คือหนึ่งในหมุดหมายสําคัญที่ต้องไปให้ถึงสักครั้งในชีวิต

ด้วยสภาพภูมิประเทศและระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ อันมีดอยหลวง เชียงดาว’ ที่ตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์โดดเด่น ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว (Doi Chiang Dao Biosphere Reserve) ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่คณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Coordinating Council (ICC) of the Man and Biosphere (MAB) Programme: MAB-ICC) ภายใต้องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้พื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว และพื้นที่ธรรมชาติอำเภอเชียงดาว เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักษ์รักษามาอย่างยาวนาน มีวัฒนธรรมภูมิปัญญา มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ และยังเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เชียงดาวยังเต็มไปด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาลอันแหล่งอาหารชั้นดี ทั้งสวนผักผลไม้ อินทรีย์ สวนกาแฟ ชา สมุนไพรต่าง ๆ ไล่เรื่อยไปถึงอาหารจากป่ามากมายหลายชนิดที่หมุนเวียนให้เก็บกินตลอดทั้งปี

และเมื่อพูดถึงเชียงดาว สถานที่แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยสีสันของธรรมชาติ แต่มากไปกว่านั้น เชียงดาวยังเป็นเหมือนบ้านของใครอีกหลายคน รวมถึงเป็นบ้านของกลุ่ม ‘ถิ่นนิยม’ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย คุณมล-ดร.จิราวรรณ คําซาว นักจุลชีววิทยาและนักจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งทํางานกับทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ ด้วยต้องการ สร้างความร่วมมือระหว่างคนในเชียงดาวและคนจากอีกหลากหลายพื้นที่ที่มีความสนใจตรงกัน เพื่อจัดการ ทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจภายในชุมชนและเชิงการอนุรักษ์

โดยเป้าหมายของกลุ่มถิ่นนิยมนั้นเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง นั่นคือการอยากทําให้เชียงดาวเป็น ‘บ้าน’ ที่ทุกคนอาศัยอยู่ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน ยั่งยืนในความหมายว่า เป็นชุมชนซึ่งพึ่งพาตัวเองทางเศรษฐกิจได้ ผ่านการใช้เครื่องมืออันหลากหลาย และเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสู่การเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร

เครื่องมืออันหลากหลายเหล่านั้นไล่เรียงตั้งแต่การร่วมทํางานกับเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ทั่วเชียงดาว สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารที่ดี เป็นมิตรต่อผู้ปลูก ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรท้องถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้แบรนด์ Tinniyom Selected และเพื่อเป็น ‘สื่อกลางกินได้’ ที่คอยช่วยเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับมิติอันหลากหลายออกสู่สังคม อาทิ น้ําผึ้งป่าอวลกลิ่น รสอันซับซ้อน นั้นย่อมเกิดจากความหลากหลายของดอกไม้ ในป่าที่คนในชุมชนลงแรงลงใจอนุรักษ์รักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์มาตลอดหลายสิบปี

มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งเครื่องมือที่กลุ่มถิ่นนิยมภูมิใจนําเสนอยังรวมถึง ‘Tinniyom Classroom’ (ถิ่นนิยม คลาสรูม) กิจกรรมที่ทีมงานถิ่นนิยมขยายความว่า คือห้องเรียนซึ่งดึงให้คนกลับมาเชื่อมโยงและตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่ง กลมกลืน ไม่แยกขาดจากธรรมชาติ ผ่านกระบวนการอันหลากหลายที่ถูกออกแบบให้เข้าใจง่าย อาทิ กระบวนการศิลปะ หรือการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เรียนรู้ธรรมชาติ “เช่นการถอดรองเท้าลองเหยียบดิน เท่านี้ก็ เป็นการเชื่อมโยงเรากับดินแล้วนะ เมื่อรู้ว่าดินมีสัมผัสยังไง อุณหภูมิแบบไหน เราก็จะเรียนรู้ในการใช้ชีวิตอยู่กับดินอย่างกลมกลืน ตามมาด้วยความอยากดูแลรักษา ซึ่งความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติแบบนี้มันกําลังหายไปจาก สังคมปัจจุบัน และทําให้ความรู้สึกอยากดูแลรักษาหายตามไปด้วย” คุณมลเสริม

“จริง ๆ ต้องบอกว่า ถิ่นนิยมไม่ใช่บริษัททัวร์ และถิ่นนิยมคลาสรูมก็ไม่ใช่ทริปท่องเที่ยว แต่เป็นเหมือนพื้นที่กลางที่ทําให้คนจากหลากหลายแบคกราวดน์ซึ่งมีความสนใจใกล้เคียงกัน ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองและเรียนรู้ธรรมชาติผ่านกระบวนการต่าง ๆ ไปด้วยกัน เรียกว่าเราพานักท่องเที่ยวธรรมชาติมาเป็นนักศึกษาธรรมชาติก็ว่าได้ และมวลรวมของห้องเรียนเชียงดาวจะทําให้เรากลายเป็นเพื่อน เป็นครอบครัว ซึ่งจะจับมือช่วยกันต่อยอดให้เกิด ผลลัพธ์อันหลากหลายต่อไปในอนาคต” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มถิ่นนิยมย้ำให้เห็นภาพ ก่อนขยายความถึงผลลัพธ์ดังกล่าวว่า คือการต่อยอดโมเดลของเชียงดาวคลาสรูม เพื่อลงมือพัฒนาท้องถิ่นอีกหลายชุมชนทั่วประเทศ ภายใต้ร่มใหญ่ของถิ่นนิยมคลาสรูม

หนึ่งในนั้นคือ ‘จอมทอง’ อําเภอลับแลของจังหวัดเชียงใหม่ ทว่าเต็มไปด้วยต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมอันมีเสน่ห์เช่นกัน ไม่แพ้อำเภอเชียงดาว กระทั่งเกิดเป็น ‘จอมทองคลาสรูม’ ทริปศึกษาธรรมชาติที่คิดค้นหลักสูตรขึ้นจากคนรุ่นใหม่ชาวจอมทอง ‘กลุ่มถิ่นนิยมจอมทอง’ ร่วมกับสมาชิกชุมชนบ้านตีนตก ชุมชนชาวปกาเกอะญอเก่าแก่ของอําเภอจอมทอง โดยมี ใจความของกิจกรรมเช่นเดียวกัน คือ การลงมือทําให้จอมทองเป็นบ้านที่อยู่ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน

ปัจจุบันกลุ่มถิ่นนิยมยังคงทํางานกับชุมชนอื่นๆ อย่างต่อเนื่องผ่านเครื่องมืออันหลากหลาย โดยมีธุรกิจเพื่อสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนงาน สร้างมูลค่าและเชื่อมประโยชน์ของคนและทรัพยากรในทั้งถิ่นแล้วนั้น ยังมีมูลนิธิเพื่อความหลากหลายท้องถิ่น Local Diversity Foundation (LDF) มาช่วยสนับสนุนดูแลงานพัฒนาดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกแรง เพื่อส่งเสริมศักยภาพปะติดปะต่อภาพ และดูแลมิติงานพัฒนาท้องถิ่นหนึ่งให้ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งการพัฒนาที่พวกเขาอยากเห็น นั่นก็คือการทําให้ชุมชนมีรายได้ มีความภาคภูมิใจ และมีความสุขไปพร้อมกับการมีทรัพยากรใช้สอยอย่างอุดมสมบูรณ์

ติดตามกลุ่มถิ่นนิยมได้ทาง: ถิ่นนิยมเชียงดาว-tinniyomchiangdao