เพราะผักผลไม้หน้าตาสวยงามมักเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เกษตรกรจึงต่างหันไปใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเพื่อช่วยผลผลิต และยิ่งใช้ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตให้พอดีกับความต้องการของตลาด โดยขาดการคำนึงว่าสารเคมีนั้นส่งผลกระทบมากมายแค่ไหน ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพตนเอง ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม่อาจจะเลี่ยงได้

การได้ผลผลิตมากนั้นฟังดูเหมือนจะเป็นแรงจูงใจชั้นดี แต่ภายใต้ผลผลิตที่ออกมาได้มากตามต้องการและหน้าตาสะสวย ไม่ได้หมายถึงการสร้างรายได้ที่ดีอย่างที่เข้าใจเมื่อบวกลบคูณหารทางบัญชีแล้ว เพราะรายจ่ายที่ต้องเสียไปกับการซื้อเคมีเกษตร และการไม่สามารถกำหนดราคาขายได้เอง จึงเกิดรายได้ที่มาพร้อมหนี้สินทบตามกันเป็นวงจร

ปัญหานี้นี่เองที่นำมาสู่สามพรานโมเดล โดยอรุษ นวราช แห่งสวนสามพราน เขาก่อตั้งโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคมนี้ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์และการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งเน้นการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และเชื่อมตลาดระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการกับผู้บริโภค โมเดลนี้จะทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตลดลงจากการเลิกใช้สารเคมี โดยที่เกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาขายได้เอง และมีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การบำรุงดินด้วยวัสดุธรรมชาติ ก็นำมาสู่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพราะการเลิกใช้เคมีเกษตรจะช่วยฟื้นฟูดินและแหล่งน้ำ ที่สำคัญคือ เมื่อมีสารเคมีตกค้างในอาหารน้อยลง ผลดีที่เกิดขึ้นโดยตรงก็คือสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค

ทั้งหมดนี้นำสู่การเกิดสังคมใหม่ที่มีส่วนร่วม ทั้งในส่วนของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ที่เราขอเรียกกันอย่างเข้าใจง่ายว่า ‘สังคมอินทรีย์’

จากการเติบโตของสามพรานโมเดล ตอนนี้ได้ขยายผลมาสู่ ‘สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย’ หรือ ‘TOCA’ ซึ่งย่อมาจาก Thai Organic Consumer Association สะพานที่จะเชื่อมโยงสังคมอินทรีย์ ให้ประสานเข้ากันอย่างแข็งแรงและยั่งยืน ผ่านกิจกรรม การสื่อสารความรู้ความเข้าใจ และการตลาดที่ผู้บริโภคเข้าถึงผู้ผลิตได้ง่ายยิ่งกว่าเดิม

ทำความรู้จักกับ TOCA กันสักนิด

TOCA หรือสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการและผู้บริโภคในการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ให้ขยายออกไปได้กว้างขึ้นอย่างยั่งยืน โดยผู้บริโภคนั้นจะสามารถเข้าถึงสินค้าอินทรีย์ที่เชื่อมั่นได้จากเกษตรกรอินทรีย์ ทั้งคุณภาพความปลอดภัย ความหลากหลายและต่อเนื่องในปริมาณ ในราคาที่เป็นธรรม และจัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้และเข้าใจในวิถีอินทรีย์ให้กับคนที่สนใจ ผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วม เช่น จัดทริปท่องเที่ยววิถีอินทรีย์  หรือ Organic Tourism เพื่อชักชวนให้ผู้บริโภคได้ไปดูให้รู้จริงถึงแหล่งที่มาของสินค้าอินทรีย์กันถึงฟาร์มเกษตรกร และยังได้ชวนให้ทดลองลงมือทำจริงเป็นประสบการณ์ ซึ่งการได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองของผู้บริโภค จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นสินค้าอินทรีย์ได้มากกว่าการโชว์เพียงใบรับรอง และเวิร์กช็อปที่ผู้ร่วมทริปได้เรียนรู้จริง ยังเป็นการแบ่งปันความรู้ให้นำกลับไปลงมือทำได้เองด้วย

“ความตั้งใจคืออยากให้ผู้บริโภคอินทรีย์ ได้เข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมด้วยกัน ซึ่งไม่ได้มีค่าใช้จ่ายใดๆ การเข้าถึงวัตถุดิบอินทรีย์ไม่ใช่แค่เรื่องกิน แต่เป็นเรื่องวิถีชีวิต เรื่องไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นเรื่องของการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต ซึ่งการมีวิถีชีวิตแบบอินทรีย์นั้นดีต่อสุขภาพ ดีต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับสังคมด้วย” อรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย กล่าวถึงความตั้งใจ

ไม่เพียงแต่สร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว เพราะในภาคของผู้ผลิตเองก็ต้องมีการส่งเสริมความรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดให้กับเกษตรกรอินทรีย์ด้วยเช่นกัน โดยสามพรานโมเดล และ TOCA และสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส หรือ TOPF (Thai Organic PGS Federation) เพื่อระดมความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่มีผลต่อการพัฒนาไปด้วยกันของกลุ่มเกษตรอินทรีย์

แต่ที่สุดแล้ว สังคมอินทรีย์จะเดินต่อไปไม่ได้เลยหากเกษตรกรไม่มีช่องทางการขายที่รองรับผลผลิตของตนได้ จากที่เดิมทีนั้น กลุ่มเกษตรกรมีพื้นที่การจำหน่ายสินค้าอย่างตลาดสีเขียว ที่มีขึ้นในหลายแห่ง ซึ่งข้อดีของการจำหน่ายแบบนี้ก็คือผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรง แต่เราก็ได้เห็นแล้วว่าเมื่อเกิดปัจจัยไม่คาดฝัน ที่ทำให้เปิดตลาดไม่ได้ การซื้อขายสินค้านั้นจะเป็นไปได้ยากกว่าเดิม ในเกษตรกรบางรายสามารถค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็มีข้อจำกัดกับเกษตรกรสูงวัยที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี

การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อรองรับเกษตรกรอินทรีย์ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งในการเชื่อมสังคมอินทรีย์ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้นและสม่ำเสมอ

และช่องทางการตลาดออนไลน์ ของ TOCA Platform ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ก่อนที่จะเข้ามาเปิดหน้าร้านบนแพลตฟอร์ม สามพรานโมเดลและ TOCA ได้ทำเวิร์กช็อปสร้างความรู้สร้างความเข้าใจในรูปแบบของการขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ก่อน โดยให้เกษตรกรแต่ละกลุ่มได้ลงมือทำจริง เพื่อจะได้มีความคุ้นเคยวิธีการขายที่แตกต่างจากการออกตลาด ได้เรียนรู้การวางแผนการผลิตสินค้าอินทรีย์ ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และวางแผนการจัดการภายในกลุ่มของตนเองเพื่อให้รองรับการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยสมาชิกเกษตรกรจะต้องมีการบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลแปลงปลูก แผนการผลิต ปัจจัยที่ใช้ในการผลิต การจัดการแปลง ฯลฯ และจะต้องมีการบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการทำการตลาด การตรวจสอบย้อนกลับ และการวิเคราะห์ข้อมูล

เราจึงได้เห็นเกษตรกรรุ่นใหม่จับคู่กับเกษตรกรสูงวัยแล้วเริ่มไปด้วยกัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ และได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการซื้อผ่านแพลตฟอร์มนี้

 

“ใน TOCA Platform จะมีเรื่องของการพาเที่ยวหรือร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้วย ซึ่งก็ล้วนเป็นกิจกรรมที่ให้เรามาเริ่มต้นการเรียนรู้หรือขับเคลื่อน เราได้ทำอะไรแล้วเราก็สามารถนำกลับมาแชร์ในแพลตฟอร์ม ได้กินแล้วเป็นยังไง ได้ร่วมกิจกรรมแล้วเป็นยังไง ก็จะเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมต่อๆ กันไป การได้เข้ามาเป็นสมาชิก ก็เหมือนมาเริ่มเส้นทางการเรียนรู้และสร้างสังคมอินทรีย์ไปด้วยกันกับเรา”

ซื้อขายอย่างเป็นธรรมผ่าน TOCA Platform

การซื้อของออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันของทุกคนไปแล้ว แต่การซื้อขายผ่าน TOCA Platform จะมีความแตกต่างจากการซื้อขายทั่วไปอยู่สักหน่อย เราขอเริ่มต้นทำความเข้าใจไปด้วยกัน ตั้งแต่การเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของเกษตรกรอินทรีย์ ไปจนถึงวิธีการซื้อที่ให้ความมั่นใจได้ว่า เราได้วัตถุดิบอินทรีย์ชั้นดีจากเกษตรกรโดยตรงอย่างแน่นอน

TOCA Platform ไม่ได้จำกัดสมาชิกเกษตรผู้ผลิตว่าจะต้องเป็นเครือข่ายของสามพรานโมเดลอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเกษตรกรอินทรีย์ที่มีการผลิตผ่านเกณฑ์มาตรฐานก็สามารถมาร่วมจำหน่ายในช่องทางนี้ได้ เช่นตอนนี้ก็มีเครือข่าย พีจีเอส ออแกนิค เชียงราย จังหวัดเชียงราย และวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง จังหวัดอำนาจเจริญ นำสินค้ามาเข้าระบบ โดยเงื่อนไขขั้นต่ำนั้นมีอยู่ว่า จะต้องเป็นเกษตรกรอินทรีย์ที่ทำเกษตรด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อื่นๆ เช่น IFOAM Organic Thailand โดยเกษตรกรจะต้องมีการบันทึกข้อมูลกิจกรรมแปลง เช่น การผลิต การดูแล การเก็บเกี่ยว การขาย ผ่าน TOCA Platform เนื่องจากทาง TOCA มีการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับเกษตรกร และเชื่อมข้อมูลสินค้าสู่แพลตฟอร์มด้วย

สำหรับผู้บริโภค สามารถเลือกซื้อสินค้าที่จากเกษตรกรอินทรีย์ที่เข้าร่วมจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม ได้โดยการเข้าไปที่แอพพลิเคชั่นใน Line @tocaplatform แล้วสมัครเป็นสมาชิก โดยมีให้เลือกทั้งแบบสมาชิกทั่วไป และสมาชิกแบบธุรกิจ B2B จากนั้นก็เข้าไปเลือกช้อปสินค้าตามหมวดหมู่ต่างๆ ซึ่งมีหลากหลายประเภทมากกว่า 100 รายการ ทั้งอาหารสดและอาหารแปรรูป อย่างผัก ผลไม้ เนื้อหมูอนามัย ไข่ไก่ น้ำพริกเห็ด ข้าวอินทรีย์ เมล็ดกาแฟ กิมจิ น้ำตาลดอกมะพร้าว ของกินเล่น และของใช้ออร์แกนิก

เมื่อเลือกสินค้าได้ตามต้องการแล้ว ก็สามารถกดชำระเงินได้เลย สิ่งที่แตกต่างไปจากการซื้อขายออนไลน์ทั่วไป คือสินค้าอินทรีย์ของ TOCA Platform จะเป็นแบบพรีออร์เดอร์ ดังนั้นผู้ซื้อจะต้องทำการพรีออร์เดอร์ล่วงหน้า โดยเริ่มพรีออร์เดอร์ได้ตั้งแต่วันเสาร์ เวลา 12.00 น. ถึงวันพุธ เวลา 12.00 น. เพื่อให้เกษตรกรได้มีเวลาในการจัดเตรียมสินค้า จากนั้นสินค้าที่สั่งไว้ จะจัดส่งไปยังจุดดรอปที่ร้านปฐม ซอยทองหล่อ 23 ในทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ถัดไป เวลา 10.00-14.00 น. ผู้ซื้อสามารถไปรับสินค้าได้เองที่ร้านปฐม หรือขอใช้บริการจัดส่งสินค้าจากปฐมไปถึงบ้าน โดยมีค่าจัดส่งเพิ่มเติมตามระยะทาง ซึ่งการจัดส่งนี้จะมีให้เลือกอยู่แล้วในขั้นตอนการสั่งซื้อ

ความน่าสนใจของ TOCA Platform คือการสร้างโอกาสในการเชื่อมต่อทางธุรกิจ ของผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหารต่างๆ ให้สามารถซื้อขายสินค้าอินทรีย์โดยตรงกับกลุ่มเกษตรกร หรือจับคู่ธุรกิจกับเครือข่าย และผู้บริโภคทั้งแบบสมาชิกทั่วไปและ B2B ยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้าได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ว่าสินค้าที่ได้รับนั้นปลอดภัยและมีคุณภาพตามมาตรฐานอินทรีย์

การขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ในโมเดลของ TOCA จึงเป็นการขยายห่วงโซ่อินทรีย์ ที่เชื่อมทั้งต้นน้ำคือเกษตรกร กลางน้ำคือผู้ผลิต และปลายน้ำคือผู้บริโภค เข้าด้วยกัน

เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนให้กับวิถีอินทรีย์อย่างครบจบทุกกระบวนการ

สมัครเป็นสมาชิกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย และสมาชิก TOCA Platform ได้ที่ https://tocaplatform.org หรือ Line @tocaplatform

สำหรับเกษตรกรอินทรีย์ที่สนใจเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าผ่าน TOCA Platform  สามารถติดต่อได้ทางอีเมล info.toca20@gmail.com หรือ Line @tocaplatform

เครดิตภาพ : TOCA