ยุคโควิดแบบนี้ ทำให้การใช้ชีวิตของทุกคนบนโลกเปลี่ยนไป เราต่างต้องปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลง และการเข้าสังคมที่ต้องรักษาระยะห่างเสมอ หลายๆ ธุรกิจหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อขายสินค้ากันมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยเรานั้นมียอดอัตราการเติบโตของธุรกิจออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมาถึง 35 เปอร์เซ็นต์ จนถึงปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นการสวนกระแสการรักษาระยะห่างทางสังคมเป็นอย่างมาก เพราะผู้คนไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้ตามปกติเท่าที่ควร


ในเชิงของการรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจอาจจะดูเหมือนเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่ในทางกลับกันกลายเป็นการสร้างขยะจากห่อพัสดุหลายรูปแบบอย่างมหาศาล ซึ่งรวมไปถึงหน้ากากอนามัยที่พวกเราต้องเปลี่ยนทุกวันด้วย

หากขยะเหล่านี้ไม่ถูกจัดการอย่างถูกวิธีนั้น จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในระยะยาวยากเกินจะแก้แน่นอน

คงจะดีไม่น้อย หากทุกๆ ที่มีระบบการจัดการขยะที่สมบูรณ์ ที่สามารถนำขยะกลับมารีไซเคิลหรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้ ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยากมากเพราะดูจะเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินตัว แต่อยากให้ทุกคนได้รู้จักกับชายคนหนึ่ง ที่แปลงขยะให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ได้เสมอมายาวนานกว่า 20 ปี ผู้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้กับโครงการรีไซเคิลหลายโครงการทั่วโลก ชายคนนั้นคือทอม ซากี้ (Tom Szaky) เจ้าของธุรกิจเทอร์รา ไซเคิล (Terra Cycle) ที่ทำให้ขยะรีไซเคิลไม่ได้นั้นกลับมารีไซเคิลได้ และลูป (Loop) แพลตฟอร์มที่ยึดหลักการไร้ขยะ โดยการเป็นผู้นำในเรื่องการเติมรีฟิลสินค้าด้วยบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำที่เป็นระบบมากที่สุด

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2001 ที่ทอมเพิ่งจะมีอายุได้เพียง 19 ปี เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำลังจะมีอนาคตสดใส แต่เขาก็ได้ตัดสินใจเมื่อตอนเรียนชั้นปีที่ 3 อย่างแน่วแน่ ว่าจะออกจากมหาวิทยาลัยมาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับขยะ ซึ่งในตอนนี้ได้กลายมาเป็นบริษัทเทอร์รา ไซเคิลที่รับขยะมาจัดการกว่า 50 ชนิดและมีสาขาทั่วโลกมากกว่า 20 แห่งในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของทอมในตอนนั้นเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ เมื่อเขาได้เห็นเพื่อนในกลุ่มของเขาคนหนึ่งนำเศษขยะอาหารไปให้ไส้เดือนกิน จนกระทั่งได้ปุ๋ยไส้เดือนออกมาปรุงดินต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้านอย่างสวยงาม เขาจึงได้ไอเดียการทำธุรกิจลดขยะ โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวอย่างเศษอาหารมาสร้างเป็นสินค้าปุ๋ยมูลไส้เดือน โดยที่เขาเริ่มจากการรับเศษขยะอาหารจากโรงอาหารในมหาวิทยาลัยมาผลิตสินค้าก่อน ซึ่งเส้นทางการทำธุรกิจของทอมในตอนนั้น เรียกได้ว่าเป็นไปได้สวยเลยทีเดียว เพราะในปีถัดมาเขาก็ได้พบกับนักลงทุนที่แสนใจดี ที่เปิดโอกาสให้เขาได้ขยายธุรกิจ และได้มีสำนักงานเป็นของตัวเอง ไม่น่าเชื่อเลยว่าทอมและเพื่อนๆ ที่ร่วมก่อตั้งธุรกิจขายปุ๋ยมูลไส้เดือน จะประสบความสำเร็จในการมีฐานลูกค้ามากมายจนทำให้สินค้าของพวกเขาได้ถูกนำไปวางขายใน Home Depot และ Walmart ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในระยะเวลาอันสั้น

“อยู่ๆ ผมก็ตกกระไดพลอยโจนมาทำธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมขยะ ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากจะทำหรอก เพราะเป็นสิ่งที่ไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่และไม่มีค่าอะไร แต่ผมก็มาลองนึกดูอีกครั้ง ผมก็คิดได้ว่าขนาดของอุตสาหกรรมนี้นั้นยิ่งใหญ่อย่างกับจักรวาล”

“ของกินของใช้และผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวัน วันหนึ่งจะต้องกลายเป็นขยะอย่างแน่นอน แปลว่ายังมีเรื่องที่ผมต้องทำอีกมากในอุตสาหกรรมนี้”

ในช่วงที่ทอมขายปุ๋ยมูลไส้เดือนนั้น เขาและเพื่อนๆ ก็ได้ผุดไอเดียรับคืนขวดน้ำพลาสติกขนาด 20 ออนซ์ที่ส่วนใหญ่จะเป็นขนาดของขวดน้ำอัดลม เขาเริ่มวางกล่องรับคืนตามจุดต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ร้านค้าในบริเวณใกล้เคียง ไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วอเมริกา เพื่อเชิญชวนทุกคนมารักษาโลกด้วยกัน โดยการเอาขวดพลาสติกมาให้เขาได้นำไปบรรจุปุ๋ยมูลไส้เดือนเพื่อขายต่อ ซึ่งถือเป็นการตัดการผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ไปโดยปริยาย ทอมได้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ปุ๋ยมูลไส้เดือนนี้ว่า ‘อาหารพืช’ ซึ่งยังคงเป็นสินค้าหลักของเทอร์รา ไซเคิลมาจนถึงทุกวันนี้

การที่ทอมได้เปิดรับระบบรับคืนขวดพลาสติก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ซ้ำต่อในการทำสินค้าแรกนี้ของเทอร์รา ไซเคิล ถือเป็นก้าวสำคัญที่เปิดประตูแห่งโอกาส และไอเดียดีๆ ที่ทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมขยะในภาคของการรีไซเคิล นับตั้งแต่นั้นเทอร์รา ไซเคิลจึงเริ่มเป็นที่สนใจในหมู่แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคที่มาเร็วไปเร็ว (Fast Moving Consumers Goods: FMCG) ที่ได้ติดต่อเข้ามาร่วมทำโครงการลดขยะที่เกิดจากแบรนด์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นขยะทั่วไปอย่างห่อขนมกรุบกรอบ ถ้วยโยเกิร์ต แผงยาเม็ด หรือจะเป็นขยะที่รีไซเคิลได้ยากอย่างกางเกงผ้าอ้อมเด็กใช้แล้ว หลอดยาสีฟัน บรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง รวมไปถึงคอนแทกต์เลนส์ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ทุกๆ แบรนด์ตกลงพร้อมใจที่จะสนับสนุนเงินเพื่อทำโครงการจัดการกับขยะของแบรนด์ตัวเองผ่านเทอร์รา ไซเคิล และนั่นคือหนทางที่ธุรกิจนี้ของทอมสามารถสร้างรายได้ และอยู่ได้อย่างยั่งยืน

นอกเหนือจากนี้ยังสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคให้รู้จักการลดขยะ และจัดการกับขยะอย่างมีรับผิดชอบมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่นตอนที่เทอร์รา ไซเคิลประกาศเก็บก้นบุหรี่จากที่สูบบุหรี่สาธารณะเป็นครั้งแรกของโลกที่ประเทศแคนาดา และต่อมาที่สหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้คนว่า ก้นบุหรี่นั้นประกอบไปด้วยไมโครพลาสติกอยู่ หากทิ้งไม่เป็นที่จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งในตอนนั้นเองเทอร์รา ไซเคิลสามารถเก็บรวมรวมก้นบุหรี่ได้ถึง 2,500  ล้านชิ้นแล้วได้นำไปแปลงเป็นสินค้าต่างๆ ตั้งแต่กระเป๋าเป้ไปจนถึงรั้วตาข่าย

“ถ้าคุณถามต้นไม้ว่าขยะคืออะไร ผมคิดว่าต้นไม้คงจะตอบไม่ได้หรอก เพราะในธรรมชาติไม่มีสิ่งที่เรียกว่าขยะ”

 “ธรรมชาติมีกลไกสร้างระบบหมุนเวียนเปลี่ยนของเสียนำมาใช้ใหม่ได้ ดังนั้นต้นตอของขยะที่เกิดจากการบริโภคไม่ได้เป็นเพราะพลาสติก แต่มันคือการที่เราใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง”

เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ทอมเริ่มได้สังเกตว่าธุรกิจเทอร์รา ไซเคิลของเขายังไม่ได้ตอบโจทย์การลดขยะ หรือทำให้ขยะหายไปอย่างถูกจุดปัญหาที่ต้นตอ แต่เป็นเพียงการจัดการ และกำจัดขยะอย่างถูกวิธีในตอนท้ายเท่านั้น เขาจึงมีไอเดียการทำธุรกิจแบบใหม่ ที่ทั้งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และลดขยะไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งนั่นก็คือธุรกิจการเติมรีฟิลสินค้าด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ และทำไปพร้อมๆ กับการขายของออนไลน์ ธุรกิจนี้จึงมีชื่อว่าลูป (Loop) และเพิ่งเปิดตัวให้บริการไปเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งมีหลากหลายแบรนด์สินค้าคู่บ้านได้เข้าร่วมแพลตฟอร์มนี้ไปแล้ว 40 แบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น ยูนิลีเวอร์ เป๊ปซี่โค เนสท์เล่ และอื่นๆ อีกมากมาย

หลักการของลูปนั้นง่ายมาก เริ่มจากลูกค้าไปซื้อของที่เว็บไซต์ลูป จากนั้นสินค้าแบรนด์ที่เลือกก็จะมาส่งที่บ้าน โดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงและนำไปใช้ซ้ำได้ เช่น ขวดน้ำสเตนเลส เมื่อลูกค้าได้ใช้สินค้าไปจนหมดแล้ว ก็สามารถเรียกให้รถของลูปมารับขวดหรือกล่องที่ได้มาจากลูปกลับไปเพื่อทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ตามมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร และป้องกันการปนเปื้อนที่อาจจะเป็นอันตรายต่อลูกค้าเมื่อรับประทานอาหารเข้าไป เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ทำให้ชีวิตของผู้บริโภคที่อยากจะปกป้องโลกเป็นไปได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องสั่งของออนไลน์ แต่ยังไงก็ตาม ทอมก็ยังคงมีความคิดว่า ทุกอย่างที่เขาทำมานี้ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญนี้ได้อย่างจริงจัง

เรายังคงต้องมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของเราให้เป็นรูปแบบใหม่ ที่ใส่ใจโลกและสังคมเข้าด้วยกัน

“ผมเชื่อว่าในระยะเวลาอันสั้นนี้ ผู้คนคงยังจะไม่ได้ตระหนักถึงปัญหามากนัก และยังคงหลงใหลในความสะดวกสบายอยู่ เราจะเห็นว่าการใช้ชีวิตแบบที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อธรรมชาติ จะทำให้เราใช้ชีวิตนั้นอย่างมีขั้นมีตอนมากขึ้น ในอนาคตผู้คนอาจจะเริ่มพกของใช้ส่วนตัวไปใช้เองมากขึ้น ทั้งๆ ที่วันนี้พวกเขาไม่อยากจะพกใส่กระเป๋าให้หนักเลย หรือพวกเขาอาจจะอยากทำความสะอาดขยะรีไซเคิลก่อนทิ้งก็ได้ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยล้างเลยแล้วโยนทิ้งไป”

มาจนถึงปัจจุบัน เทอร์รา ไซเคิลประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจเป็นอย่างมากในด้านการหารายได้อย่างยั่งยืน จากบริษัทที่เข้ามาสนับสนุนโครงการรีไซเคิล และด้านสร้างการมีส่วนร่วมกับคนกว่า 80 ล้านคนในทวีปอเมริกา และยุโรป

คงจะมาถึงตาของพวกเราบ้างแล้วที่ จะลดจำนวนขยะที่เกิดขึ้นจากตัวเรา โดยงดซื้อของที่ไม่ได้มีความจำเป็น  และพยายามพกพาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ไปตามที่ต่างๆ เสมอ เพื่อเป็นการลดขยะอย่างจริงจังด้วยกันในส่วนที่เราทุกคนทำได้ด้วยตนเองตั้งแต่วันนี้

ที่มาข้อมูล
www.thehumblebrag.co
www.nspackaging.com
www.terracycle.com
www.greenbiz.com
www.observer.com
www.terracyclefoundation.org

ภาพประกอบ: Paperis