ท่ามกลางชีวิตที่วุ่นวาย รีบร้อน และเร่งเร้า เราได้สัมผัสความสงบในชีวิตเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อไรกัน ฉันมุ่งหน้าออกเมืองผ่านคดโค้งมากมายสู่เมืองสามหมอก มีหมู่บ้านเล็กๆ ในโอบอ้อมของภูเขาซ่อนตัวอยู่ ป่าเขียวครึ้ม น้ำห้วยรินไหล ยินเสียงธารกล่อมตลอดทั้งวัน ผู้คนเรียบง่าย เป็นมิตร มีชีวิตพึ่งพาผูกพันกับผืนป่า หาอยู่หากินได้ด้วยผลผลิตที่หล่อเลี้ยงจากป่า เรากินอาหารสดใหม่เปี่ยมพลังทุกมื้อ  เป็นชีวิตเดิมแท้งดงามที่บ้านห้วยตองก๊อ จ.แม่ฮ่องสอน

คน-ป่า-อาหาร สายธารแห่งการพึ่งพิง
บ้านห้วยตองก๊อเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางภูเขาเขียวในเขตป่าดิบเขาสลับป่าสน ร่มครึ้มเย็นสบายตลอดทั้งปี แม้ในช่วงที่เราไปเป็นต้นเดือนมีนาคม แต่อุณหภูมิยามดึกดื่นใกล้รุ่งเช้าก็ยังลดต่ำเป็นเลขตัวเดียว ชาวปกาเกอะญอที่นี่อาศัยอยู่กันมานานกว่า 300 ปีแล้ว ผู้คนอยู่อย่างสันโดษ พึ่งพาตัวเองและธรรมชาติรอบตัวทั้งป่าเขาและสายน้ำ

ฉันเดินทางมาพร้อมกับกลุ่มวิจัยเล็กๆ ที่มาสำรวจข้อมูลชุมชน เราพักอาศัยร่วมกับเจ้าบ้านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตที่บ้านของพะตี่ (ลุง) ทินกรและหมื่อกา (ป้า) เยาวลักษณ์-สองสามีภรรยาที่แสนอบอุ่นและอาทร ชาวปกาเกอะญอมีภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกับป่าและธรรมชาติที่งดงามลึกซึ้งเพราะป่าเป็นทุกอย่างของชีวิต พะตี่พาพวกเราเดินป่ารอบหมู่บ้านเพื่อดูการใช้ประโยชน์ป่าแบบต่างๆ  ส่วนที่ใกล้ชุมชนที่สุดคือ ป่าสะดือ เป็นที่ฝังรกของเด็กแรกเกิดเพื่อฝากขวัญไว้กับต้นไม้ใหญ่  ไม่ไกลกันนักเป็น ป่าต้นน้ำ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งน้ำซับตลอดเวลา ป่าช้า เป็นป่าพื้นที่จำกัดเพื่อเผาศพเท่านั้น  สามส่วนนี้เป็นเหมือนกุศโลบายในการรักษาป่าในพื้นที่ที่มั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครบุกรุกทำลาย ไร่หมุนเวียน จะเวียนพื้นที่ใช้ประโยชน์ทุกๆ 9 ปีเพื่อให้ป่ามีเวลาได้ฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ขากลับจากป่าพะตี่พาเราเดินอ้อมลงในแปลงนาที่เก็บเกี่ยวข้าวหมดแล้ว ภูมิทัศน์อันสวยงามบอกให้รู้ว่าถ้ามาในช่วงที่นาขั้นนาไดเขียวสดใสไปด้วยต้นข้าว ดินแดนแห่งนี้คงไม่ต่างจากสวรรค์น้อยๆ เลย

ใน ป่าใช้สอย ชาวบ้านสามารถตัดไม้มาใช้เพื่อซ่อมบ้าน ทำเรือน เก็บพืชผักเพื่อหุงหาอาหารได้ เราเก็บผักกินได้หลายอย่างมาด้วยทั้งดอกเซอะลูส่าหรือตะไคร้ต้น-พืชให้กลิ่นหอมที่ฉันชอบเป็นพิเศษ ปกติผลของมันเอามาดองน้ำปลาช่วยแปลงกายน้ำปลาธรรมดาให้อร่อยขึ้นได้อีกหลายเท่า ดอกและใบอ่อนส้มปี้ที่มีรสเปรี้ยว ชาวบ้านใช้ยำกิน แอบคิดว่าถ้าเอามาต้มส้มก็น่าจะได้รสกลมกล่อมไม่ต่างจากใบชะมวง ถ้าใครชอบเรียนรู้เรื่องอาหารการกินตามธรรมชาติคงได้สนุกไปกับพืชพรรณในทุกฤดูกาล ต้นตองก๊อซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านเป็นพืชตระกูลปาล์มที่ขึ้นในป่า แต่เนื่องจากเป็นพืชสารพัดประโยชน์ ใบใช้มุงหลังคา จาวเป็นอาหาร ผลเป็นของกินเล่นและนำมาย้อมผ้าได้ด้วย ชาวบ้านจึงนำมาปลูกไว้รอบๆบ้าน ฉันลองชิมลูกตองก๊อต้มแล้วอร่อยมาก ให้รสชาติจืดมัน บางแห่งใช้กินกับข้าวเหมือนหนำเลี๊ยบ แต่คนที่นี่กินเล่นเป็นของว่าง (เหยาะน้ำตาลสักนิด) ที่กินแล้วหยุดยากจริงๆ

จิตวิญญาณในครัวไฟและไร่หมุนเวียน
ไร่หมุนเวียนเป็นคลังอาหารหลักที่สำคัญ การอยู่ในพื้นที่เชิงเขา มีที่ราบลุ่มน้อย ทำให้ต้องทำเกษตรบนทางลาดชันด้วยการผสมผสานพืชอาหารหลากหลายในพื้นที่อันน้อยนิด เป็นการจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำน้อยได้มาก และมีพืชอาหารหล่อเลี้ยงคนในครอบครัวได้ทั้งปี พืชพรรณในไร่มีทั้งข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์ ผักต่างๆ เช่น ห่อวอ (สมุนไพรกลิ่นหอม) ผักอีหลึง มะเขือ ผักกาด ผักชี ถั่ว แตง พริก งา บวบ ฟักเขียว ฟักทอง  เผือก ข้าวโพดพื้นบ้าน มันสำปะหลัง มันมือเสือ รวมถึงดอกไม้ต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นเพียงสีสันของไร่เท่านั้นแต่ยังใช้ในพิธีเรียกขวัญข้าวด้วย

อาหารหลายอย่างเก็บไว้กินได้ยาวนานในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้น เช่น มันสำปะหลัง มันมือเสือ ฟักทอง ฟักเขียว ฯลฯ ส่วนเมล็ดพันธุ์พืชในไร่จะถูกเก็บรวมไว้เหนือครัวไฟของบ้าน พืชเมล็ดใหญ่บางชนิด เช่น ฟักทอง แตง ฟักเขียว ข้าวโพดต้องผึ่งให้แห้งก่อน ส่วนเมล็ดพืชเล็กๆ รวมไว้ในห่อผ้ามัดให้แน่นแล้วนำไปวางบนกระจาดเหนือเตาไฟอีกที การถูกรมด้วยควันไฟจะช่วยป้องกันเมล็ดพืชไม่ให้ถูกมอดแมลงกัดกินจนเสียหาย

สำหรับฉัน ครัวไฟเป็นเหมือนหัวใจของเรือน ไม่เพียงเป็นที่หุงหาอาหารเท่านั้น หากยังเป็นจุดยึดโยงของบ้าน ไฟจากเตาฟืนเป็นความอบอุ่นที่เชื่อมโยงผู้คนให้เชื่อมร้อยกันในวันอากาศหนาวเย็น สนทนาถามไถ่ทุกข์สุข เป็นพื้นที่ของมิตรภาพการแบ่งปันความรัก ขณะเดียวกันก็เป็นคลังอาหารของชีวิตด้วย เพราะเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด (ของฤดูกาลเพาะปลูกหน้า) จะรวมอยู่ที่นี่ อาหารสารพันอย่างที่แปรรูปไว้กินในยามขาดแคลนทั้งผักกาดแห้ง (ดองน้ำซาวข้าวแล้วตากแห้ง) พริกแห้ง ห่อวอ เซอะลูส่า เม็ดฟักทอง ล้วนอยู่ในครัวไฟนี้ทั้งหมด

จักรวาลในถ้วยน้ำพริก
หมื่อกาเยาวลักษณ์เจ้าบ้านของเราเป็นผู้หญิงอ่อนหวานอ่อนโยน ยามเธอเข้าไปขลุกอยู่ในครัวเพื่อทำบางสิ่งบางอย่าง มันเหมือนกับเธอกำลังเคลื่อนโลกทั้งใบให้หมุนไปด้วยความรัก อาหารที่บ้านห้วยตองก๊อเรียบง่าย สด และอร่อยลึกซึ้ง วัตถุดิบการปรุงได้มาจากรอบบ้านทั้งในแปลงสวนครัวและผักริมห้วย บนหัวไร่ปลายนาที่จะกินเมื่อไรค่อยไปเก็บเมื่อนั้น  หรืออาจเป็นผลผลิตจากไร่หมุนเวียน เช่น ฟักทอง ฟักเขียว กลายเป็นเมนูอาหารต่างๆ เช่น ผัดผักกูด ผัดฟักทอง ต้มจืดมันมือเสือ ผักกาดแห้งผัดไข่ ผัดกะหล่ำปลี ข้าวต้มห่อวอ ฯลฯ

อาหารที่ขาดไม่ได้ทุกมื้อคือน้ำพริกหรือมึส่าโตะพร้อมผักลวกผักสดพูนจาน ทั้งที่มีวัตถุดิบตั้งต้นธรรมดาที่สุดแค่พริกแห้งและเกลือ แต่น้ำพริกของที่นี่อร่อยถึงหัวใจจริงๆ น้ำพริกหนึ่งถ้วยบอกอะไรได้มากมาย โดยเฉพาะระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติของพื้นที่อาศัย เรียกได้ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวนี่แหละเป็นปัจจัยกำหนดอาหารของผู้คนให้แตกต่างหลากหลาย แม้มีข้อจำกัดบางอย่าง (ไม่มีอาหารสดล้นเหลือ) แต่ชาวปกาเกอะญอสามารถสร้างสรรค์อาหารออกมาได้มากมาย บ่งบอกความถ่อมเนื้อถ่อมตัวที่เต็มใจอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเคารพนบนอบ ผ่านน้ำพริกหลายๆถ้วย เช่น น้ำพริกเม็ดฟักทองรสเผ็ดมัน น้ำพริกมะแขว่นรสเผ็ดร้อน น้ำพริกเซอะลูส่าและน้ำพริกห่อวอกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ชวนจดจำ น้ำพริกผักกาดดองตากแห้งรสเปรี้ยวละมุน น้ำพริกมะเขือส้มรสสดใส น้ำพริกฟักเขียวที่อร่อยเหลือเชื่อ เมื่อกินกับข้าวเจ้าพันธุ์พื้นเมืองที่เม็ดอ้วนกลม นุ่มหนึบนวลกว่าข้าวพื้นราบ ยิ่งทำให้การกินอาหารแสนสุขในทุกมื้อ

โดยปกติแล้ว ชาวปกาเกอะญอกินผักมาก กินเนื้อน้อย กินปลาบ้างเล็กน้อย แต่หมูแทบไม่กินเลย นอกจากได้มาจากงานพิธีต่างๆ (อาหารในวาระพิเศษ) ฉันสังเกตว่ามื้อแรกๆ หมื่อกาคงกังวลว่าคนเมืองอย่างพวกเราจะอยู่ได้ไหมถ้าอาหารไม่มีเนื้อสัตว์ จึงพยายามทำอาหารที่ใส่หมูให้กิน แต่ด้วยความอร่อยของรสชาติบ้านๆ ที่เดิมแท้ สดตามธรรมชาตินั่นแหละที่เป็นเสน่ห์มากพอแล้ว พวกเราจึงบอกหมื่นกาไปว่าไม่ต้องหาซื้อเนื้อหมูมาเพิ่มเติมเลย เราอยู่กันได้สบายแบบไม่ได้คิดถึงเนื้อสัตว์เลย หมื่อกาจึงนำเนื้อหมูเล็กๆ ก้อนสุดท้ายที่มีไปเสียบไม้วางข้างกองไฟกลายเป็นหมูรมควันทำให้เก็บได้นานขึ้น และปันเอามาปรุงเป็นอาหารสองจานในสองวันต่อมาคือต้มจืดมันมือเสือใส่หมูรมควันหั่นลูกเต๋าเล็กๆ กับน้ำพริกหมูใส่ดอกเซอะลูส่า (ตะไคร้ต้น)  โอย…มันหอมอร่อยกรุ่นอวลในจมูกจริงๆ ความหอมของหมูรมควัน (ด้วยฟืน) ทำให้แกงจืดมีรสชาติล้ำลึกและน้ำพริกก็ยิ่งอร่อยจนน่าจดจำ

Zero waste life ชีวิตเรียบง่าย (ที่ไม่ได้ทำกันง่ายทุกคน)
วันที่สามของการพักอาศัยพวกเราไปเดินป่า เก็บพืชผัก (ที่พะตี่บอกว่ากินได้) มาบางส่วน และหารือกันว่าวันนี้เราน่าจะแบ่งเบาภาระของเจ้าบ้านด้วยการทำอาหารให้เจ้าบ้านกินบ้าง ตอนเย็นน้องชายร่วมทริปจึงคว้าแหออกไปในลำห้วย ส่วนพวกเราสาวๆคว้าก๋วย (ตะกร้า) ออกไปเก็บผักกูด หมื่อกาเห็นท่าไม่น่าปล่อยลำพัง รีบแปลงโฉมติดตามออกมาด้วย แกเดินก้าวฉับๆ ริมห้วยแป๊บเดียวเท่านั้นก็ได้ผักกูดมาเต็มมือ ส่วนพวกเรานั้นก็ก้มๆ เงยๆ มองหาและได้มากันคนละนิดหน่อยเท่านั้นเอง แต่ความฮายังไม่สิ้นสุดเมื่อหมื่อกาเดินมาบอกว่าผักกูดที่เราเก็บมานั้นมันผิด (ฮ่า) ผักกูดของจริงต้องไม่มีขนขาวรอบตัว จากนั้นหมื่อกาใช้สวิงช้อนปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอยในลำธารได้ปริมาณที่พอกินแล้วจึงชวนกันกลับบ้าน ส่วนน้องชายนั้นหรือ…ได้ผลประกอบการรวมทั้งสิ้นคือปลา 2 ตัวจิ๋วเท่านั้น (ฮ่าฮ่า)

แต่เอาน่า…มื้อเย็นวันนั้นจบลงด้วยดีด้วยฝืมือผู้มาเยือน ด้วยเมนูผัดผักกูด หมกปลาที่ใช้ปลาเล็กปลาน้อยและกุ้งฝอยผัดน้ำขลุกขลิกกับรากผักชี กระเทียมและดอกเซอะลูส่า ยำใบส้มปี้ใส่ปลากระป๋อง ไข่ต้มราดน้ำยำจากส้มโอป่า และส้มตำจากมะละกอริมรั้ว ปิดท้ายด้วยโดนัทปกาเกอะญอที่หมื่อกาใช้แป้งข้าวจ้าวขยำรวมกับกับกล้วยพื้นเมืองจนเนียน ปั้นเป็นวงแล้วทอดกรอบ อร่อยชวนคิดถึงกล้วยทอดที่มีรสเฉพาะตัว ซึ่งเราดัดแปลงสูตรแป้งนี้มาทำเป็นบัวลอยกล้วยน้ำกะทิให้ชาวบ้านกินในวันต่อมา (อร่อยด้วยล่ะ)

ในท่ามกลางความขบขันอันงกเงิ่นของพวกเราชาวเมือง  ฉันสะท้อนใจกับวิถีการบริโภคของพวกเราที่ล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหลือแสน เวลากินปลา เราคนในเมืองหมายถึงการได้กินปลาตัวโตๆ เป็นชิ้นเป็นอัน แต่สำหรับคนที่นี่ การได้ปลาตัวเล็กตัวน้อยสักสี่ห้าตัวมาทำแกง ซดให้มีรสชาติของปลาก็เพียงพอแล้ว หรือแม้แต่หมูรมควันก้อนเล็กที่ฉันเล่าถึง แค่นั้นทำหมูกระเทียมหรือหมูทอดจานเดียวยังไม่พอเลย แต่หมื่อกานำมาใช้เพียงเล็กน้อยกลับทำอาหารได้ถึงสองมื้อแถมอร่อยไม่แพ้กัน ทุกอย่างที่ชาวบ้านใช้ เขาใช้อย่างรู้ค่า (เพราะความมีจำกัดจึงบริหารอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด) เป็นวิถีชีวิตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติเลย เศษอาหาร น้ำข้าว หรือเศษผักต่างๆก็ใช้เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่แทบไม่มีอะไรต้องเหลือทิ้ง มันเป็นชั่วขณะที่สั่นสะเทือนในใจฉันอย่างยิ่ง ทำให้เข้าใจอย่างหมดใจแล้วว่าเหตุใดเชฟหลายๆ คนที่เคยได้ใช้ชีวิตร่วมกับชาวปกาเกอะญอจึงกล่าวว่า “พวกเขาเปลี่ยนชีวิตผม”

หลายวันที่บ้านห้วยตองก๊อ ก่อรูปบางสิ่งบางอย่างในใจฉัน มันชวนให้คิดถึงชีวิตที่เรียบง่ายที่เป็นไปได้ในแบบของเรา (ยามที่ต้องกลับเข้าเมือง) ขณะเดียวกันก็ย้ำเตือนให้เรารู้ว่าความสุขที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินเงินทองนั้นมีอยู่จริง คนห้วยตองก๊อยิ้มง่าย จิตใจดี พูดกันแต่เรื่องดีๆ มีอะไรก็แบ่งปันกันใช้ ผู้ชายตีมีดไว้ใช้เอง ทำงานจักสานงานไม้ ผู้หญิงทอผ้าใช้เอง งานผ้าย้อมสีธรรมชาติของที่นี่สวยหวานเป็นเอกลักษณ์ ยิ่งแต่งแต้มด้วยลายปักลูกเดือยอันประณีตก็ยิ่งงดงาม

การไร้ซึ่งไฟฟ้า ตัดขาดจากสัญญาณโทรศัพท์ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ช่างดีเหลือเกิน เพราะจะมีสักกี่ครั้งในช่วงชีวิตที่เรามีโอกาสมองคนตรงหน้า มองโลกตรงหน้าอย่างเต็มตาเต็มหัวใจได้เท่านี้ เราได้กลับไปเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์ที่สัมพันธ์กันด้วยถ้อยคำ สัมผัส รอยยิ้ม เสียงหัวเราะแท้ๆ ไม่ใช่ผ่านคีย์บอร์ด ชั่วขณะที่ลมพัดเย็นโชยผ่าน โอบกอดจากขุนเขาป่าเขียว เสียงร้องเพลงจากสายน้ำ ชีวิตที่งดงามและยั่งยืนปรากฏตรงหน้า  การพึ่งพาตัวเองได้อย่างถ่อมตนต่อธรรมชาตินี่แหละคือชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับฉัน

หมายเหตุ : บ้านห้วยตองก๊อ อยู่ในอ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เส้นทางในภูเขาไม่เหมาะกับการขับรถไปเอง ช่วงฤดูฝนต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ สามารถเที่ยวได้ทั้งปี หน้าฝนมีนาขั้นบันไดที่สวยงาม เดือนสิงหาคม-กันยายนผลผลิตและดอกไม้ในไร่หมุนเวียนเริ่มแบ่งบาน นัดหมายการเดินทางเข้าหมู่บ้านเริ่มต้นได้จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน สอบถามรายละเอียดที่

FB: การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านห้วยตองก๊อ

ขอขอบคุณ : พะตี่ทินกร-หมื่อกาเยาวลักษณ์ เล่อกา และชาวบ้านห้วยตองก๊อทุกคนสำหรับการดูแลเสมือนครอบครัว และ Doister ผู้สนับสนุนการเดินทาง

ภาพ: วิรตี ทะพิงค์แก และ จรรยวรรธ สุธรรมมา