เมื่อพูดถึงการสร้างมูลค่าให้กับขยะพลาสติก เราคงนึกถึงการนำไปขายกับรถซาเล้งโรงงานรีไซเคิลในราคาไม่กี่สิบบาทหรือการนำไปอัพไซเคิลให้การเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กลายเป็นสินค้าหลักร้อยหลักพัน แต่ในวันนี้เราสามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกในมือให้มีมูลค่าเท่ากับทองคำได้ ด้วยการส่งไปลุ้นโชคกับ Trash Lucky 

Trash Lucky คือสตาร์ทอัพที่เชิญชวนให้คนไทยหันมาแยกขยะส่งรีไซเคิลเพื่อลุ้นทองคำที่ปลุกปั้นขึ้นมาโดย แนท-ณัฐภัค อติชาตการ ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการสตาร์ทอัพมาอย่างยาวนาน “เราชอบการเล่นเซิร์ฟและดำน้ำ ซึ่งทุกครั้งที่ไปทะเลเราเห็นถึงปริมาณขยะพลาสติกจำนวนมากมายมหาศาล ด้วยความเป็นคนรักทะเล เลยคิดว่าต้องมีสักวันที่เวลาไปเล่นเซิร์ฟจะต้องไม่เจอกับขยะในทะเลอีกแล้ว เมื่อมีโอกาสทำธุรกิจของตนเองจึงตั้งใจสร้างธุรกิจที่มาช่วยแก้ปัญหาขยะนี้ให้ได้”

แนทเชื่อว่าหนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ดีที่สุดคือการจัดการขยะอย่างถูกโดยเฉพาะการรีไซเคิล เขาจึงคิดโมเดลธุรกิจที่จะช่วยส่งเสริมให้คนทั่วไปอยากแยกขยะเพิ่มขึ้น โดยใช้การเสี่ยงดวงชิงโชคมาเป็นกลยุทธ์สำคัญ 

“กลุ่มคนที่รักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อมเขาก็แยกขยะเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ยังมีจำนวนไม่มากพอ เราจึงอยากสร้างแรงจูงใจที่ทำให้คนทั่วไปอยากมาแยกขยะให้มากขึ้น ด้วยการชักชวนให้คนส่งขยะมาลุ้นโชคกับเรา เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ขยะ ยังทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องสนุกขึ้นด้วย”

วิธีการส่งขยะมาร่วมลุ้นโชคกับ Trash Lucky ก็มีขั้นตอนที่ไม่ยาก เริ่มจากลงทะเบียนผ่านไลน์ของ Trash Lucky จากนั้นจึงแยกขยะรีไซเคิลไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก ขวดนมขาวขุ่น ภาชนะ PP ที่เข้าไมโครเวฟได้หรือกระป๋องอลูมิเนียมที่เราเก็บไว้ บีบอัดรวบรวมใส่กล่อง แล้วส่งพัสดุมาให้ที่ออฟฟิศหรือเรียกใช้บริการเรียกรถมารับขยะถึงหน้าบ้านก็ได้สำหรับคนอาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมลฑล

ขยะรีไซเคิลที่ส่งมาทุกๆ 1 กิโลกรัม จะได้รับตั๋ว 2 สิทธิ์สำหรับการจับฉลากซึ่งจะเกิดขึ้นในทุกๆ เดือน “สำหรับเราพลาสติกไม่ได้แย่หรือเป็นตัวร้ายอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการบริโภคและการผลิตที่มากในยุคอุตสาหกรรม ทำให้คนไม่เห็นค่าของพลาสติก เพราะต้นทุนราคาเพียงไม่กี่สตางค์ จึงใช้เสร็จแล้วทิ้งกลายเป้นปัญหาในทุกวันนี้ สิ่งที่เราอยากทำคือการเพิ่มมูลค่าให้ขยะ ปัจจุบันรางวัลใหญ่ของเราคือทองคำ 1 สลึงและยังมีบัตรกำนัลเงินสดมูลค่ารวมมากกว่า 10,000 บาท แต่ในอนาคตจะเพิ่มมูลค่ารางวัลให้เกินล้านให้ได้ เพื่อทำให้คนอยากเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น”

แนทบอกว่าระยะเวลาตลอด 8 เดือนที่ Trash Lucky เปิดให้บริการ สามารถนำขยะไปรีไซเคิลไปกว่า 5,000 กิโลกรัม และมีสมาชิกที่ส่งขยะให้เป็นประจำมากกว่า 400 คน มีทั้งคนที่เคยแยกขยะอยู่แล้วและมือใหม่ที่หันมาสนใจการแยกขยะเพื่อต้องการลุ้นโชค ซึ่งถือว่าตอบโจทย์การปั้นสตาร์ทอัพที่อยากให้คนส่วนใหญ่ในสังคมหันมาสนใจการจัดการขยะมากขึ้น

“เป้าหมายของเราไม่ใช้การเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น แต่คือทำให้คนไทยสามารถจัดการกับขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหลุดจากอันดับประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลจากอันดับ 6 ของโลกได้สัก 2-3 อันดับภายในระยะเวลา 5-7 ปี เพื่อให้ทะเลของเราเป็นทะเลที่ปลอดขยะและปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล”

www.trashlucky.com