ตามหลักคนรักสุขภาพ เวลาเลือกซื้ออะไรกินก็ต้องอ่านฉลากให้มั่นใจเรื่องวัตถุดิบเสียก่อนจะหยิบลงตะกร้า เช่นกันกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ตอนนี้ผู้คนต่างก็หันมาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ทำให้เดี๋ยวนี้เวลาตัดสินใจซื้ออะไรก็สามารถอ่านฉลากให้แน่ใจได้เหมือนกันว่าอาหารที่เรากำลังเลือกหยิบ จะไม่สร้างผลกระทบต่อโลกมากเกินควร
เพราะบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่หลายแห่งในโลกที่มีกระบวนการผลิตแบบใช้พลังงานเยอะ วัตถุดิบแยะ มีการถางที่เพื่อปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ หรือมีกระบวนการขนส่งซับซ้อน เขาก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับปริมาณคาร์บอนที่ตัวเองปล่อยไปในกระบวนการผลิตกันแล้ว จนเกิดเป็น carbon label หรือฉลากคาร์บอนที่แปะอยู่บนบรรจุภัณฑ์ บอกรายละเอียดว่าในสินค้าหนึ่งชิ้น ตั้งแต่เริ่มผลิตจนมาถึงมือเราพวกเขาได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้วกี่กรัม เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ว่ากำลังสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ
ฉลากสุดจริงจังครั้งแรกบนแพ็กเกจอาหาร plant-based ของ Quorn
จริงๆ แล้วฉลากคาร์บอนมีให้เห็นอยู่หลายครั้งบนผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป เช่น แบรนด์มันฝรั่ง Walkers และข้าวโอ๊ต Quarker แต่ก็เป็นอีกหลายครั้งเช่นกันที่ความพยายามเหล่านี้ไม่สำเร็จผลอย่างที่ตั้งใจ ทั้งจากความล่าช้าในการคำนวณปริมาณคาร์บอน บวกกับการแปะตัวเลขเหล่านั้นลงบนแพ็กเกจต่างๆ ที่กินเวลานานเข้าไปอีก รวมถึงการที่แบรนด์อื่นๆ กลับไม่เห็นความสำคัญของการทำสิ่งนี้ กลายเป็นว่าตัวตั้งตัวตีของหลายโปรเจกต์เขาก็เลยล้มเลิกความตั้งใจตามไปด้วย
ในขณะที่หลายๆ แบรนด์กำลังอยู่ในช่วงปรับตัว หารูปแบบที่ใช่เพื่อพัฒนาฉลากคาร์บอนของตัวเอง เจ้าพ่ออาหารและเนื้อสัตว์จากพืชแห่งเกาะอังกฤษอย่าง Quorn เขาก็ออกมาประกาศว่าจะขอพูดถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตัวเองนับตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตจนมาสู่มือเราในสินค้าขายดี 30 ชนิด และตั้งใจว่าจะขยายไปสู่สินค้าทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2021 โดยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ก็เริ่มปรากฎอย่างละเอียดบนเว็บไซต์ของ Quorn แล้ว และจะกลายเป็นตัวเลขแปะอยู่บริเวณใกล้เคียงกับข้อมูลโภชนาการบนหีบห่อ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของวงการอาหาร plant-based ที่จะออกมาพูดถึงเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง
เมื่อปี 2018 Carbon Trust องค์กรเอกชนที่จัดตั้งโดยรัฐบาลอังกฤษซึ่งดูแลเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผู้คิดค้นฉลากคาร์บอนที่แรกของโลก ยังออกมาบอกด้วยว่า Quorn เองได้ทำผลงานเป็นที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับการทำปศุสัตว์และการแปรรูปเนื้อวัวที่ต้องใช้พื้นที่และทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าการแปรรูปโปรตีนจากเห็ดของ Quorn ถึง 90% หรือประมาณ 200,000 ตันคาร์บอนเลยทีเดียว
“นี่จะช่วยให้ผู้คนได้รับข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้นเกี่ยวกับอาหารที่พวกเขากิน มากไปกว่านั้นพวกเขาจะได้รู้ว่าอาหารเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อโลกมากน้อยแค่ไหน เมื่อเห็นข้อมูลมากขึ้น พวกเขาจะสามารถตัดสินใจได้ว่าอะไรคือตัวเลือกที่ดีที่สุด ไม่ต่างจากการมีฉลากทางโภชนาการที่ช่วยให้ข้อมูลเรื่องสุขภาพเลย” ปีเตอร์ แฮริสัน ผู้บริหารฝ่ายขายของบริษัท Quorn Foods กล่าวกับเว็บไซต์ The Guardian
แถม Quorn ยังตั้งเป้าด้วยว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ทางบริษัทจะสามารถแปะป้าย zero emission หรือการไม่สร้างก๊าซคาร์บอนใดๆ ได้ พร้อมสามารถชักชวนเพื่อนผู้ประกอบการด้านอาหารอื่นๆ ให้หันมาติดฉลากคาร์บอนอย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน
ถึงไม่มีฉลากคาร์บอนของตัวเองก็ร่วมใช้ฉลากระดับประเทศได้!
เพื่อไม่ให้การเข้าถึงฉลากคาร์บอนกลายเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับประเทศอื่นๆ นอกเกาะอังกฤษ หรือสำหรับบริษัทไหนที่พบว่าการคำนวณคาร์บอนอย่างละเอียดเพื่อแปะลงบนหีบห่ออาหารของตัวเองแบบที่ Quorn ทำยังเป็นเรื่องซับซ้อนเกินไป รัฐบาลต่างๆ ในหลายประเทศเขาก็เลยออกมาตรการมาสนับสนุนการแปะฉลากในรูปแบบที่ทำได้ง่ายขึ้นเสียเองไปเลย
อย่างเดนมาร์กซึ่งติดอันดับประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุดประเทศหนึ่งมาโดยตลอด ทางรัฐบาลเขาก็กำลังวางแผนขอความร่วมมือกับห้างร้าน ซูเปอร์มาร์เก็ตและผู้ผลิตอาหาร เพื่อแปะฉลากคาร์บอนที่เขาใจง่ายขึ้นอีกหน่อย ด้วยการใช้เรตแบบไล่สีแทนการบอกตัวเลขตรงๆ ให้ผู้บริโภคได้เห็นกันชัดๆ ไปเลยว่าอาหารที่พวกเขากำลังจะหยิบนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม (สีเขียว) หรือเกณฑ์อันตราย (สีแดง) เหมือนอย่างที่ทางรัฐบาลเคยทำเรตง่ายๆ ไปแล้วกับเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงแบบใส่ใจ มี animal welfare หรือการทำ Nutriotion Score ที่ใช้เกณฑ์สีจากเขียวไปถึงแดงเพื่อบอกความปลอดภัยด้านโภชนาการบนกล่องอาหารเมื่อหลายปีก่อน
หรือในประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ ทางรัฐบาลเขาก็มีฉลากคาร์บอนของตัวเองเพื่อให้ง่ายกับแบรนด์ต่างๆ ในการนำไปใช้ พร้อมจับมือชักชวนบริษัทใหญ่ๆ ให้มาร่วมแปะฉลากเหล่านี้ไปด้วย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการจับจ่ายของดีมากขึ้น และยังทำให้ผู้ผลิตต้องหันมาคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยเช่นกัน
จากการสำรวจของประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกายังพบอีกว่าการมีฉลากคาร์บอนแปะอยู่บนแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจหยิบสินค้าเหล่านั้นมากกว่าสินค้าที่ไม่บอกรายละเอียดใดๆ และยิ่งพวกมันถูกออกแบบมาให้เข้าใจง่ายมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อมากขึ้นเท่านั้น
ส่วนประเทศไทยเราก็มีฉลากคาร์บอนแบบง่ายๆ เช่นกันนะ โดยเราสามารถพบเจอได้สองแบบ คือฉลากที่แสดงปริมาณรอยเท้าคาร์บอนเป็นปริมาณกรัมต่อสินค้าหนึ่งชิ้น และฉลากลดโลกร้อนที่เป็นเครื่องการันตีว่าผู้ผลิตรายนั้นใส่ใจขั้นตอนทุกกระบวนการจนสามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยพบได้ตามหีบห่ออาหารแห้งและบนกล่องบรรจุข้าวของเครื่องใช้บางชนิด ซึ่งแม้ว่าเราอาจไม่ได้พบเห็นกันบ่อยนัก แต่ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าก็ลองสอดส่องมองหาดูก่อนสักนิด เพื่อเป็นตัวเลือกในการหยิบของดีกลับบ้านก็ดีเหมือนกันนะ
ที่มาข้อมูล:
www.theguardian.com
www.quorn.co.uk
www.greenqueen.com.hk
www.actionforclimate.deqp.go.th