ข้าวทุกจานอาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้างเป็นของมีค่าบทท่องก่อนกินข้าวกลางวันในโรงเรียนสมัยเด็กที่ใครๆ ก็ท่องได้และจำได้มาจนถึงทุกวันนี้ แต่จะมีสักกี่คนกันนะที่เข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง ถึงปัญหาที่เกิดจากการที่เราทิ้งอาหารไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะคนส่วนใหญ่จะยังคงเห็นเพียงแต่ภาพของอาหารที่ยังคงมีอุดมสมบูรณ์อยู่ทุกแห่งหน และยังคงนึกไม่ถึงว่า อาหารที่กลายไปเป็นขยะแล้วจะก่อให้เกิดปัญหาสังคม และมลพิษอย่างไรบ้าง

ผิดจากชายชาวอังกฤษผู้นี้ที่ตั้งคำถามต่ออาหารการกิน โดยเฉพาะเรื่องขยะอาหารมาตั้งแต่วัยเด็ก ทริสแทรม สจวร์ต (Tristram Stuart) ผู้ทรงอิทธิพลในการขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะอาหารทั่วโลก เพื่อการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน เขาเป็นทั้งนักเขียนที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ นักพูด นักเคลื่อนไหว และผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเรื่องอาหารในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ฟีดแบค (FeedBack) ที่เขาก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนทัศนคติคนทั้งโลกเกี่ยวกับขยะอาหาร

ก่อนจะเข้าเรื่องความเป็นมาของทริสแทรม อยากจะให้ทุกคนได้เข้าใจก่อนว่า 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการบริโภคของมนุษย์ในแต่ละปีนั้น ถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหาร เพราะการผลิตอาหารเป็นต้นเหตุที่ทำให้ป่าไม้กว่า 80% ของทั้งโลกถูกทำลาย สร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 30% และใช้น้ำจืดที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกของเราถึง 70% ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า

ปัญหาที่เกิดจากขยะอาหารนั้น ไม่ได้มีเพียงแต่มลภาวะในขณะที่อยู่ในกองขยะฝังกลบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่รู้คุณค่าอีกด้วย

ทริสแทรมจึงเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องขยะอาหารนี้ มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีมาแล้ว ด้วยความที่เขาโตมาท่ามกลางธรรมชาติในเมืองชนบทของประเทศอังกฤษ กับคุณพ่อที่เป็นนักธรรมชาติวิทยา เขามีความสนใจเรื่องภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่เด็กๆ และยังมีความสนใจในเรื่องระบบอาหารที่ยั่งยืน เพราะคุณพ่อของเขามักจะปลูกพืชผักไว้รอบบ้านจนมีสัตว์น้อยใหญ่แวะเวียนมาหาอยู่เสมอ ทริสแทรมได้เห็นถึงประโยชน์ของขยะอาหารเป็นครั้งแรกเมื่อเขาอายุได้ 15 ปี ในตอนที่เขาขอคุณพ่อซื้อหมูและไก่มาเลี้ยง โดยที่เขาเลี้ยงพวกมันขึ้นมาด้วยเศษอาหารต่างๆ ที่ได้มาจากโรงอาหารของโรงเรียน ร้านขนมปัง และตลาดใกล้บ้าน เขาต้องการที่จะทำแบบนั้น เป็นเพราะเขาจำได้ถึงเรื่องราวในวัยเด็กของคุณพ่อ ที่คุณปู่คุณย่ามักจะปลูกพืชผักให้เพียงพอต่อการบริโภคของครอบครัว และทำปุ๋ยเองโดยนำมูลสัตว์มาหมักกับขยะอินทรีย์ตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาประทับใจและอยากจะเข้าใจระบบการทำการเกษตร ที่มีระบบหมุนเวียนของมูลสัตว์ ขยะอินทรีย์ จนสามารถนำมาผลิตอาหารใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งในตอนนั้นเองเขาสามารถทำผลผลิตภายในบ้านร่วมกับพ่อของเขา จนนำผัก นำไข่ ไปขายให้กับคุณครู และผู้ปกครองของเพื่อนๆ ได้ทุกอาทิตย์เลยทีเดียว

ในช่วงที่ทริสแทรมรับเศษอาหารจากที่ต่างๆ มาใช้เป็นอาหารสัตว์นั้น เขาเริ่มสังเกตเห็นว่าสิ่งที่เขาได้รับมาส่วนใหญ่ยังคงเป็นอาหารที่รับประทานได้อยู่ แต่กลับกลายเป็นขยะไปเสียแล้ว ความสงสัยนี้ทำให้เขาเริ่มตั้งข้อสังเกตกับถังขยะใบโต ที่อยู่ด้านหลังของซูเปอร์มาร์เก็ตที่มักจะทิ้งอาหารสดวันละจำนวนมากอยู่ทุกวัน ว่าเหตุใดอาหารที่ผลิตขึ้นมาจะต้องถูกทิ้งไปมากถึงเพียงนี้

พอผมเริ่มใส่ใจเรื่องขยะอาหารมากขึ้น ทำให้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนผมก็เห็นแต่อาหารดีๆ ถูกทิ้งเต็มไปหมด ในขณะที่ยังมีผู้คนอีกเป็นพันล้านคนต้องทนทุกข์ยากจากการขาดแคลนอาหาร ผมจึงเริ่มลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับกลุ่มธุรกิจอาหาร โดยเริ่มแสดงให้ผู้คนสาธารณะได้เห็นถึงปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

พอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ทริสแทรมก็เริ่มเป็นตัวตั้งตัวตีในการเข้าไปกอบกู้อาหารดีๆ ที่ถูกทิ้งจากซูเปอร์มาเก็ตในแต่ละวัน เพื่อนำมาเป็นอาหารในการดำรงชีวิตของเขา ถึงแม้จะมีคนมองว่าเขาทำตัวประหลาดไปบ้าง แต่เขาก็ยังยืนหยัดที่จะทำเช่นนั้นต่อไป เพราะเขาต้องการให้คนได้ตระหนักถึงปัญหาขยะอาหารแบบเขาบ้าง ซึ่งยิ่งทริสแทรมได้ทำการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับระะบบห่วงโซ่อุปทานอาหาร และลงพื้นที่เพื่อให้ได้เห็นกับตามากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าการแก้ปัญหานี้ไม่สามารถทำได้โดยเพียงลำพัง และไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ จนทำให้ปริมาณขยะอาหารลดลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจนได้ เขาจึงได้ริเริ่มคิดถึงกลยุทธ์การแก้ปัญหาในแต่ละขั้นของห่วงโซ่อุปทาน โดยเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคสร้างแรงจูงใจและชักจูงเหล่าเกษตรกร ผู้ค้าปลีก และรัฐบาลให้เข้าใจหลักการปฏิบัติที่สมควร

งานใหญ่แรกที่ทริสแทรมจัดขึ้นแล้วสร้างปรากฏการณ์ระดับโลกคืองาน Feeding 5000 ในปี 2009 ที่เขาเชิญชวนเชฟจากทุกแห่งหนและอาสาสมัคร มาร่วมกันทำอาหารจากอาหารส่วนเกินที่ยังคุณภาพดีแต่กลับจะถูกทิ้งไป เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนใครก็ได้เลยโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 คน ณ จัตุรัสทราฟัลการ์ (Trafalgar Square) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งต่อมาอีกหลายๆ เมืองใหญ่ทั่วโลกก็ต่างพากันจัดงานนี้บ้าง เพื่อจุดประกายให้ผู้คนภายในประเทศสนใจปัญหาที่เกิดจากการทิ้งอาหาร เช่น ภาวะโลกร้อนจากการทิ้งขยะอาหารในกองขยะฝังกลบ และปัญหาสังคมที่เกิดจากความขาดแคลนอาหารในประเทศที่การเข้าถึงอาหารนั้นจำกัด

งานนี้ทำให้ผู้คนได้เห็นถึงปัญหาในลักษณะที่จับต้องได้ เพราะพวกเขาเห็นว่ามีอาหารยังกินได้ที่เกือบถูกทิ้งมากมายขนาดไหน มากองรวมกันรอการปรุงอาหารให้กลายเป็น 5,000 มื้อแสนอร่อย”

“หลังจากจบงาน ประชาชนได้เริ่มเข้าใจว่าพวกเขาสามารถเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองได้ทันที และที่น่าประทับใจกว่านั้น คือการที่เหล่าซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มหันมาหาแนวทางและดำเนินการส่งต่ออาหารส่วนเกินที่ขายไม่ได้แล้วไปให้แก่มูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ก่อนไม่มีบริษัทใดพูดถึงเลย

เบื้องหลังความสำเร็จของงานฟีดดิ้ง 5000 คือการทำงานโดยทริสแทรมและเจ้าหน้าที่ในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรฟีดแบค (FeedBack)’ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทริสแทรมก่อตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งเน้นการทำงานในด้านการเคลื่อนไหวสังคมผ่านแคมเปญต่างๆ การสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อผลักดันการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ และนโยบายระดับประเทศและนานาชาติให้ร่วมกันปฏิวัติระบบอาหารในปัจจุบัน เพื่อการฟื้นฟูธรรมชาติอย่างยั่งยืน

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะยังไม่เห็นภาพแน่ชัดว่าอาหารส่วนเกินที่ขายไม่ได้และกำลังจะถูกทิ้งไปมีลักษณะอย่างไร คำตอบก็คือวัตถุดิบผักผลไม้ที่หน้าตาไม่สวย ไม่ผ่านมาตรฐานความสวยงาม (cosmetic standards) หรืออาหารที่จวนจะถึงวันหมดอายุนั่นเอง ปัญหานี้ก่อปัญหาที่ยิ่งใหญ่ให้กับเหล่าเกษตรกรทั้งในประเทศและประเทศที่ส่งออกผลผลิตไปยังประเทศอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศที่ไม่ได้มีรายได้สูงนัก หากผลผลิตที่พวกเขาเก็บเกี่ยวมาไม่ตรงกับมาตรฐานความสวยงาม ก็จะไม่สามารถส่งต่อไปขายได้ ทำให้โดยปกติแล้วผลผลิตกว่า 40% ต้องถูกคัดทิ้งอยู่ที่ฟาร์ม หรือหากนำไปขายในท้องที่ก็จะทำราคาได้ไม่ดีนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผักผลไม้เหล่านั้นก็ยังคงมีรสชาติที่เหมือนกันกับผลผลิตที่สวยงามเพราะมาจากแหล่งเดียวกัน

ทริสแทรมจึงเดินหน้าขอความร่วมมือซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศอังกฤษ ที่นอกจากจะบริจาคอาหารที่ขายไม่หมดให้กับมูลนิธิแล้ว ยังขอให้ทางรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายการรับซื้อสินค้าที่ต้องตรงตามมาตรฐานอาหารสวยงามเท่านั้นด้วย หลายๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงได้จัดซุ้มขายอาหารหน้าตาไม่สวยขึ้น และขายในราคาที่ถูกลงกว่าปกติ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าเลือกซื้อกลับไปมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภคด้วยว่า ถึงแม้อาหารจะหน้าตาประหลาดแต่ก็ยังคงอร่อย และปลอดภัยต่อการรับประทาน ซึ่งแน่นอนว่าเหล่าเกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากการลดระดับมาตรฐานอาหารสวยงาม เพราะพวกเขาไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเวลาที่ถูกยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าเพียงผู้เดียวอีกต่อไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อาหารที่หน้าตาไม่สวยเกินกว่าจะนำไปขายได้ก็ยังคงมีอยู่ที่ฟาร์มรอการทำลาย ทริสแทรมเลยตั้งกลุ่มอาสาสมัครหน่วยเก็บตกอาหาร (Gleaning Network)’ ในประเทศอังกฤษ และประเทศในทวีปยุโรปขึ้นมา เพื่อไปช่วยกันเก็บผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานทั้งในพิ้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ต และรวมไปถึงที่ฟาร์มด้วยนั้น ส่งต่อไปให้กับประชนชนในประเทศที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

สิ่งที่ทริสแทรมทำแต่ละอย่างนั้นคือการพยายามสร้างวิธีการแก้ปัญหาขยะอาหารในทุกๆ ขั้นตอน และทุกๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานอาหารอย่างเป็นระบบ ซึ่งเขายังคงนึกถึงวิถีดั้งเดิมของเขาในสมัยเด็กอยู่เสมอ นั่นคือเรื่องของการนำขยะอาหารมาใช้ประโยชน์ให้กลายเป็นอาหารสัตว์ เขาจึงริเริ่มแคมเปญ ‘The Pig Idea’ ขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ที่ก่อนหน้านี้ไม่อนุญาตให้ใช้ขยะอาหารเพื่อเลี้ยงหมูเพื่อการอุตสาหกรรม

หลายๆ ประเทศนำเข้าถั่วเหลืองหลายตันต่อปีเพื่อเลี้ยงหมูในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปลูกถั่วเหลืองนั้นคือการที่โลกเราสูญเสียพื้นที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์อย่างป่าอะเมซอนเพื่อการปลูกถั่วเหลืองสำหรับเลี้ยงสัตว์ ซึ่งระบบอาหารของพวกเราในตอนนี้พวกเรายังคงเลี้ยงหมูด้วยข้าวสาลี และข้าวโพด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นแหล่งอาหารที่คนด้อยโอกาสในทวีปแอฟฟริกา และเอเชียสามารถรับประทานได้ทั้งสิ้น

โครงการนี้ของทริสแทรมก็ประสบความสำเร็จอีกเช่นเคย เพราะเมื่อกฎหมายได้รองรับการใช้ขยะอาหารเพื่อเลี้ยงสัตว์แล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งก็ได้เริ่มส่งขยะอาหารไปให้ฟาร์มเลี้ยงหมู ยกตัวอย่างเช่น ขนมปังเหลือท้ายวันจากร้านค้าไปให้ฟาร์มเลี้ยงหมู ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วการนำขยะอาหารไปเป็นอาหารสัตว์ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ถึง 20 เท่าเลยทีเดียว

ตลอดระยะเวลาการทำงานของทริสแทรม เขาได้แสดงให้คนทั่วโลกได้เห็นแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นทำได้จริง หากเราร่วมมือกันสร้างฟันเฟืองที่เป็นจุดเปลี่ยนในภาคส่วนต่างๆ

หากเราเป็นเพียงผู้บริโภค เราควรที่จะบริโภคอย่างมีสติมากขึ้น เข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเอง หากเราเป็นกลุ่มธุรกิจ เราควรลองมองภาพรวมของวิธีการดำเนินงานภายในธุรกิจว่ามีจุดไหนที่กำลังทำลายสังคม และโลกอยู่ แล้วจึงหาวิธีแก้ไขปัญหานั้นๆ และหากเราเป็นผู้นำประเทศ เราควรนึกถึงการวางนโยบายที่จะเอื้อต่อการสร้างการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง ที่จะให้ประชานชนทั่วไป และกลุ่มธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น

พวกเราล้วนสามารถปฏิวัติปัญหาขยะอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่คนหนึ่งคน เมืองหนึ่งเมือง หรือประเทศหนึ่งประเทศ หากทุกฝ่ายร่วมทำงานด้วยกัน แน่นอนว่าจะสามารถยุติปัญหาความขาดแคลนอาหาร และการเสื่อมสภาพของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างแน่นอน

ที่มาข้อมูล:
www.ashoka.org
www.tristramstuart.co.uk
www.nationalgeographic.org
www.eatforum.org
www.nationalgeographic.com

ภาพประกอบ: Paperis