เวลาซื้อผักมาปรุงอาหาร คนส่วนใหญ่จะเลือกผักสวย ๆ ส่วนผักผลไม้ไม่งามหรือมีตำหนิมักถูกปล่อยทิ้งจนต้องนำไปทำอาหารสัตว์ ซ้ำร้ายกลายเป็นขยะอาหารก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม  แดน  มิ้งค์ และ พี อาจารย์ทั้งสามท่านแห่งวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว จึงผุดไอเดียสร้างโมเดลธุรกิจสีเขียวในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้ชื่อ “Ugly Veggies” ขึ้น เพื่อส่งต่อผักออร์แกนิกขี้เหร่ ให้เป็นทั้งสินค้าและทูตสิ่งแวดล้อมที่จะสื่อสารว่า “ต่อให้ไม่สวย ฉันก็ดีต่อสุขภาพและช่วยโลกให้ยั่งยืนได้”  

เรานัดหมายสัมภาษณ์เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจกู้โลกด้วยผักขี้เหร่นี้กับอาจารย์ทั้งสามท่านผู้ริเริ่มโครงการ ที่วิทยาลัยนานาชาติขอนแก่น เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น อ.แดน-ผศ. ชวิศ เกตุแก้ว ผู้อำนวยการโครงการ และ อ.มิ้งค์-ผศ.ดร. ภาณินี นฤธาราดลย์ พร้อมกับนักศึกษาวิทยาลัยที่เป็นแอดมินช่วยดูแลโครงงานวิจัยนี้ จึงเปิดทริปพาเรามุ่งสู่ อ.กระนวน เพื่อลงพื้นที่แปลงเพาะปลูกพืชผักผลไม้อินทรีย์ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมพูดคุยถึงจุดเริ่มต้น และเป้าหมายของแพลตฟอร์มนี้

ผักไม่สวยขายไม่ได้ ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรผู้ปลูกผักออร์แกนิก
อาจารย์แดนเล่าว่า “โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อสองปีก่อน มีทุนวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมประกาศออกมาจากสำนักวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรามีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมเป้าหมาย SDGs Goal ของสหประชาชาติอยู่แล้ว

“ในเวลาเดียวกัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ทำโครงการ U2T มหาวิทยาลัยที่ลงชุมชนหนึ่งตำบล เราจึงหาข้อมูลว่าชุมชนไหนที่มีความต้องการคำแนะนำและก็มีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยี พบว่า อำเภอกระนวน คือชุมชนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นลงไปให้ความช่วยเหลือในด้านสมาร์ตฟาร์มมิง เป็นชุมชนเข้มแข็งอยู่ในระดับหนึ่ง 

“ด้วยความที่วิทยาลัยนานาชาติของเรามีความเชี่ยวชาญหลายด้านที่เป็นประโยชน์สามารถส่งเสริมศักยภาพให้กับเกษตรกรได้ ทั้งเรื่องการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีอาหาร การทำการตลาด การทำแบรนด์ดิ้ง ก็เลยมองว่าจะทำโปรเจคอะไรที่จะสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรกันดี แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ need ของชาวบ้าน จึงลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการในทุกแง่มุมเกี่ยวกับการปลูกผักออร์แกนิก พบว่าผลผลิตประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ยของเกษตรกรจะกลายเป็นขยะอาหาร ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ จนต้องนำไปไถกลบหรือนำไปทำอาหารสัตว์ 

“สิ่งที่เกษตรกรแลกเปลี่ยนมา ทำให้เห็นว่าปัจจุบันคนบ้านเรายังไม่ค่อยรับรู้ถึงความสำคัญของการบริโภคผักที่ไม่สวย เราเลยเห็นว่านี้แหละคือปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข ถ้าเราปรับเปลี่ยนแง่มุมการรับรู้ของผู้บริโภคได้ เกษตรกรก็นำผักออร์แกนิกไม่สวยมาขายได้ แม้จะไม่ได้ราคาสูงเท่ากับผักสวย แต่ก็ยังช่วยลดขยะอาหารลงได้ ดีกว่าที่เขาจะทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์”

สร้างการรับรู้ใหม่ กินผักไม่สวยอร่อยด้วย ช่วยโลกได้
อาจารย์แดนเล่าถึงหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของแพลตฟอร์มนั่นคือการสร้างการรับรู้ใหม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจและหันมาช่วยโลกด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงเปิดใจให้ผักขี้เหร่  

แค่ผู้บริโภคเปลี่ยน Mindset หันมาบริโภคผักไม่สวย ก็ช่วยโลกลดขยะอาหารได้แล้ว

“พวกเราหาข้อมูลจนพบว่า มีกลุ่มผู้บริโภคซึ่งต้องการกินที่คุณค่า และอยากได้ผักออร์แกนิกที่ราคาถูก อาจไม่ต้องสวยเพอร์เฟกต์ก็ได้ เราจึงเห็นช่องทางว่า แค่ผู้บริโภคเปลี่ยน Mindset หันมาบริโภคผักไม่สวย ก็ช่วยโลกลดขยะอาหารได้แล้ว เพราะถ้าเปลี่ยน Perception ของผู้บริโภคที่มีต่อผักไม่สวยได้ ก็จะกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟ็ก เมื่อมีคนกินแล้วดี มันก็จะเกิดการบอกต่อ ๆ กัน และอาจจะส่งต่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุน้อยลงด้วย ซึ่งเด็กสมัยนี้เขารู้กันอยู่แล้วว่ากินอะไรแล้วมันดี  

“ที่สำคัญเมื่อนำมาผสานกับความต้องการของเกษตรกรที่ต้องการเพิ่มมูลค่าของผักที่ไม่สวย ก็จะกลายเป็น Win-Win Solution เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มเติม ผู้บริโภคได้เข้าถึงผักที่คุณค่าทางอาหารเหมือนเดิมแต่ราคาย่อมเยา 

“ครานี้ก็คิดกันว่าจะทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคเจอกันได้อย่างไร ดิจิทัลแพลตฟอร์มจึงเป็นคำตอบที่ ซึ่งในไทยยังไม่มีแพลตฟอร์มลักษณะนี้ เราก็เลยคิดว่าควรเติมเต็มช่องว่างนี้ และเป็นหน้าที่ของทั้งวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่จะได้สนับสนุนสังคมด้วย โดยมีเป้าหมายสำคัญอีกอย่างคือ เมื่อผักผลไม้ไม่สวยถูกนำไปบริโภคจะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัตถุดิบอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพ และยังลดการเกิดขยะอาหารซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”  

Ugly Veggies ผักไม่สวยจะช่วยโลก งานวิจัยที่จะไม่ยอมขึ้นหิ้ง
เมื่อได้ทราบว่า โมเดลธุรกิจนี้ถูกออกแบบขึ้นในฐานะหนึ่งในงานวิจัย จึงเกิดคำถามว่าเมื่อสิ้นสุดวาระโครงการแล้ว แพลตฟอร์มจะหยุดการดำเนินการแล้วเก็บขึ้นหิ้งเหมือนกับผลงานวิจัยเชิงวิชาการอื่น ๆ ไหม อาจารย์มิ้งค์ให้คำตอบกับเราว่า 

เราไม่อยากให้มีคำว่า งานวิจัยขึ้นหิ้ง เราอยากให้มันเป็นไปได้จริง ๆ Business Model ของเราพยายามที่จะไม่ให้เป็นไปแบบว่า จบโครงการแล้วก็ปิดไปเลย เราอยากทำให้เกิด Social Entrepreneur (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ก็คือจะทำให้โครงการนี้เป็นธุรกิจหนึ่ง ซึ่งมีเกษตรกรเป็นเจ้าของร่วมกับนักวิจัยหรือมหาวิทยาลัย จะก่อให้เกิดความยั่งยืน

อาจารย์แดนเสริมว่า “ที่จริงโกลของโมเดลธุรกิจนี้ เฟสแรกหลังสิ้นสุดระยะเวลาโครงการที่กำหนด เราชี้วัดความสำเร็จจากสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีขยะอาหารลดลง เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น ดูจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร และอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดของโครงการแต่เราคิดว่าทั้งวิทยาลัยนานาชาติและมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ประโยชน์ ก็คือเราได้ออกตัวธรุกิจนี้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนของวิทยาลัย นักศึกษาจึงได้เริ่มเรียนรู้ทำสตาร์ตอัปไปกับเรา 

“ในระยะยาว แพลตฟอร์มนี้จะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีรายได้ เราก็ต้องมีบางส่วนมาช่วยไฟแนนซ์เกี่ยวกับรายได้ของบุคลากรที่มาช่วยบริหารจัดการแพลตฟอร์มต่อไปในอนาคต ข้อดีคือทั้งทางวิทยาลัยนานาชาติและมหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีสนับสนุนโครงการนี้ให้เป็นกิจกรรมที่บรรจุอยู่ในศูนย์วิจัยของวิทยาลัยเรา ชื่อว่า ศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืนชื่อย่อ SIS ย่อมาจาก Center for Sustainable Innovation and Society ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์ก็คืออาจารย์มิ้งค์ และทางวิทยาลัยของเรายังมีสาขา Innovation Management ที่เน้น Digital Innovation เพราะฉะนั้นเราก็จะมีบุคลากรที่อยู่ในโครงการนี้ผลัดกันมาช่วยดูแล คือ จะมีอาจารย์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก แต่นักศึกษาที่จะเข้ามาก็จะได้เข้ามาเรียนรู้ตลอด

“เรามองว่าถ้าจะทำโครงการนี้ผ่านศูนย์ดังกล่าวจะเกิดความยั่งยืน ซึ่งคนที่มาทำก็คือนักศึกษาเปลี่ยนมือกันไปตามรุ่น แต่ว่าตัวนวัตกรรมก็ยังคงอยู่ เพราะจะนั้นนักศึกษาก็จะได้เรียนรู้และทำงานจริง และคนที่เข้ามาทำงานศูนย์แห่งนี้เราก็จะให้ใบประกาศนียบัตร เพื่อที่เขาก็จะได้นำไปใช้เป็นประวัติผลงานของเขาเพื่อใช้สมัครงาน

“ที่สำคัญในสัญญาทุนของโครงการนี้เราระบุไว้ว่า จะทำไปในถึงในระดับที่ช่วยให้ตรงนี้เป็นสตาร์ตอัป และเราจะช่วยต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่งปี เพื่อให้สามารถแยกตัวออกมาเป็นรูปแบบบริษัทได้ และไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะเรามองว่าระยะเวลาเพียงหนึ่งปี เขายังไม่แข็งแรงและยังไม่สามารถรันโครงการได้ และในสัญญาทุนเขียนว่า ผู้ที่จะดูแลแพลตฟอร์มเป็นส่วนของอาจารย์และนักวิจัย เพราะฉะนั้นโมเดลธุรกิจนี้มันจะต้องเคลื่อนต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ (ยิ้ม)”

ความ “ขี้เหร่” คือจุดขาย แคร์รอตหงิกงอกลายเป็นโลโก้
“ผมคิดโลโก้ คิดอะไรเองหมดเลย (หัวเราะ)” อาจารย์แดนกล่าว และเล่าถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการออกแบบคอนเซปต์สำหรับสื่อสารแพลตฟอร์มให้เราฟัง 

“ตอนลงพื้นที่ เกษตรกรเอาผักที่เหลือทิ้งมาให้ดู มันเป็นแคร์รอตที่มันมีรากหลาย ๆ ราก บางหัวก็เบี้ยว ๆ เลยกลับมาทำการบ้าน และไปเสิร์ชดู ก็ได้คำว่า ‘Ugly Vegetable’ หรือบางทีคนต่างชาติจะใช้คำว่า ‘Imperfect Vegetable’ 

ผมคิดว่าคำว่า ‘Ugly’ มันจะทำให้คนจำได้

“พอกลับมามองในบริบทของเมืองไทย ผมคิดว่าคำว่า ‘Ugly’ มันจะทำให้คนจำได้ คือคำนี้มันแทนคำว่า ไม่สวย แทนคำว่า น่าเกลียด ด้วยซ้ำ แต่ว่าในเวลาเดียวกันมันจะทำให้คนสนใจว่า มันคืออะไรนะ ? ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ และเราใช้ภาษาอังกฤษด้วย เพราะเราคิดว่าในระยะยาวถ้าโมเดลนี้อาจจะขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย 

“ที่มาของโลโก้ชื่อแบรนด์ เราก็นำภาพแคร์รอตที่มีความบิดเบี้ยวมาแทนตัวอักษรบางตัว ซึ่งมาจากหัวแคร์รอตบิดเบี้ยวที่เราเจอตอนลงพื้นที่นั่นเอง โดยแพลตฟอร์มนี้มีมอตโต้ว่า ‘Customer and Environmental Care’ หรือในภาษาไทยว่า ถึงผักจะรูปไม่สวย แต่ยังเปี่ยมด้วยประโยชน์เราจึงส่งต่อคุณค่านี้ถึงคุณแบบออนไลน์ในราคาย่อมเยา ซึ่งตอนที่ผมนำไปพรีเซ็นต์ของบประมาณจาก วช. เรามีแบรนด์ตรงนี้พรีเซ็นต์ด้วย ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันก็ทำให้ทุกอย่างค่อนข้างภาพชัดเจน คือเรื่องแบรนด์ดิ้งก็เป็นสิ่งที่วิทยาลัยให้ความสำคัญ” 

Ugly Veggies โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ไม่มุ่งเน้นเรื่องกำไร แต่ใส่ใจเรื่องออร์แกนิก
อาจารย์แดนกล่าวต่อไปว่า เนื่องจากโมเดลธุรกิจนี้ถูกออกแบบให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ดังนั้นรูปแบบการทำงานจึงเอื้อประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคเป็นหลัก เรื่องค่าใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมนั้นเป็นส่วนรอง 

“เกษตรกรที่จะเข้าร่วมแพลตฟอร์มจะต้องมีใบรับรองสินค้าว่าเป็นออร์แกนิก เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว เราก็จะมอบองค์ความรู้ต่าง ๆ ตลอดจนกฎเกณฑ์ข้อกำหนดให้ เช่น กระบวนการจัดการกับผัก ก่อนที่จะทำการบรรจุกล่อง การคัดแยก ฯลฯ  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทรานส์เฟอร์ ที่อาจารย์พี จะเป็นผู้ไปสอน 

“เวลาบรรจุผักผลไม้ ก็จะบรรจุในกล่องที่ Ugly Veggies เตรียมไว้ให้ แต่ว่าภายในกล่องเกษตรกรจะสามารถใส่โลโก้ของสวนได้ เกษตรกรจะเขียนตารางการผลิตและตารางการจัดส่งไว้อยู่แล้ว ว่าจะออกไปส่งวันไหน ขึ้นอยู่กับผลผลิตของเขาเอง ผู้บริโภคที่เข้ามาช็อปผ่านแพลตฟอร์มก็จะสามารถทราบรายละเอียดทั้งหมดเพื่อตัดสินใจ ตั้งแต่ชนิดของผัก โปรไฟล์ร้านค้า วันเวลาจัดส่ง ประมาณการวันที่จะได้รับสินค้า ประเภทของการส่ง พร้อมทั้งคำแนะนำจากแพลตฟอร์ม ออกแบบให้สะดวกครบครันที่สุดเพื่อเปิดช่องทางให้กับผัก Ugly ส่งถึงมือผู้บริโภค  แต่ผักสวยก็สามารถคละเคล้ามาขายในแพลตฟอร์มได้ 

นอกจากนี้ในแพลตฟอร์มของเราก็จะมีการจัดโปรโมชั่น ช่วยเหลือในด้านวัสดุในการทำโปรโมชั่นต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร และเรายังช่วยบริหารจัดการต้นทุนในเรื่องของการจัดโปรโมชั่นให้ ซึ่งเป็นความต้องการและเป็น Pain Point ของเกษตรกรที่ไม่มีความรู้ในส่วนนี้ การจัดการแบรนด์และการตลาด จึงเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มให้บริการกับเกษตรกรเพื่อเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ โดยส่วนดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมไปถึงการตรวจแปลงเราก็ลงให้ฟรี 

“เรื่องส่วนของเรื่องค่าบริหารจัดการ เราจะหักเปอร์เซ็นต์จากราคาขายทั้งหมดมาบางส่วน เพื่อใช้เป็นค่าดำเนินการบริหารจัดการทางแพลตฟอร์มของเราที่ต้องมี เช่น เราก็จะมีให้นักศึกษาช่วยดูเป็นแอดมิน หรือว่าอาจจะมีซิสเต็มเมนเทอแนนส์ ซึ่งเรื่องพวกนี้ผมคิดว่ามันสมเหตุสมผล โดยเรื่องค่าใช้จ่ายนี้จะระบุอยู่ในสัญญาให้เกษตรกรทราบแต่แรก

“สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจว่าโมเดลธุรกิจของเราเติบโตได้ มีตลาดรองรับและก่อเกิดรายได้ได้จริง ก็เพราะเราทำวิจัยผู้บริโภคที่รับประทานผักและได้คำตอบว่าพวกเขาจะใส่ใจกับเรื่องคุณค่าของผักมากกว่าราคา และเป็นกลุ่มที่รักสุขภาพกลุ่มนี้มีจำนวนมาก ที่จะทำให้เกิดรายได้ และก็สามารถแบ่งปันบางส่วนเข้ามาสู่การบริหารจัดการแพลตฟอร์มและดูแลเรื่องไอทีได้ อีกทั้งค่าบริหารจัดการไม่ได้มีราคาแพงเลยเหมือนเทียบกับแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ เพราะข้อได้เปรียบหนึ่งของของเราก็คือ เป็นโครงการที่ร่วมกับสถานศึกษาทั้งวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย จึงมีทั้งบุคลากร องค์ความรู้ และเครื่องไม้เครื่องมือสนับสนุนอยู่อย่างครบครัน ยกตัวอย่างเช่นเซิร์ฟเวอร์ที่เราใช้ ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะเราใช้เซิร์ฟเวอร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น”

ด้วย Output ของเราคือทำเพื่อสังคม ค่าบริหารจัดการก็จะเก็บเพียงแค่พอให้แพลตฟอร์มเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน

อาจารย์มิงค์ กล่าวเสริมเพิ่มเติมจากอาจารย์แดนว่าด้วย Output ของเราคือทำเพื่อสังคม ค่าบริหารจัดการก็จะเก็บเพียงแค่พอให้แพลตฟอร์มเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะว่าความยั่งยืนของแพลตฟอร์มเราคือความยั่งยืนของเกษตรกร และการลดขยะ Food Waste จริง ๆ” 

เพราะว่าความยั่งยืนของแพลตฟอร์มเราคือความยั่งยืนของเกษตรกร และการลดขยะ Food Waste จริง ๆ

จำแนกอย่างไร อันไหนคือ ผักขี้เหร่
เพื่อให้เข้าใจกับกระบวนการทำงานของแพลตฟอร์มนี้มากขึ้น อาจารย์พี-ดร.พีระพงษ์ วงษ์ทหาร ผู้อยู่เบื้องหลังองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมต่าง ๆ ได้เล่าถึงกลไกการทำงานของผู้ที่เข้ามาร่วมแพลตฟอร์มนี้ให้เราฟังว่า

“ปัจจุบันเกษตรกรในโครงการมีทั้งหมดเจ็ดกลุ่ม ผักที่ผลิตออกมามีค่อนข้างหลากหลาย เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ จึงจัดกลุ่มของผักใหม่ ให้สะดวกต่อการนำไปใช้ในงานวิจัยได้ และสามารถบอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในผักแต่ละชนิดด้วย โดยแบ่งผักเป็นสามแบบ คือ ผักใบ พืชหัว และพืชผล เมื่อจำแนกกลุ่มของผักตามชนิดแล้ว ก็จะนำผักแต่ละกลุ่มไปจัดการคัดแยกเกรดของผักแต่ละชนิดอีกครั้ง เพื่อทำการคัดว่า ผักตามหน้าตารูปร่างลักษณะอีกครั้ง

อาจารย์แดน เสริมอีกว่า กว่าจะได้เกณฑ์วัดว่าผักหน้าตาแบบไหนควรจัดหมวดหมู่อย่างไร ต้องทำการเก็ฐข้อมูลจากผู้บริโภคซึ่งใช้ผักจริง ๆ 

“ในกระบวนการทำงานเพื่อจำแนกผักของเรา เราจะเลือกผู้บริโภคจากกลุ่มที่หลากหลาย และมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มที่เป็นออร์แกนิกเลิฟเวอร์ กลุ่มที่เป็นฟาร์มเกษตรกรปลูกผักออร์แกนิกเอง กลุ่มเชฟที่ใช้ผักทำอาหาร เพื่อเก็บข้อมูลว่าผู้บริโภคแต่ละกลุ่มให้คำจำกัดความคำว่า ผักขี้เหร่ว่าอย่างไรบ้าง สามารถแบ่งเกรดอย่างไร แล้วก็นำข้อมูลที่ได้จากทั้งสามกลุ่มมาวิเคราะห์ร่วมกัน จนได้คำตอบการจำแนกกลุ่มของผักได้เป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มผักดีและผักดีรอง กลุ่มนี้เช่น ผักที่มีผลเต่งแต่แค่ไซส์ไม่ได้มาตรฐาน จะไม่นับว่าเป็น Ugly Veggies และสุดท้ายก็จะเป็นผักไม่สวย หรือที่จัดว่าเป็นผักน่าเกลียด ในแต่ละกลุ่มเราก็จะมีคำคุณภาพบ่งบอกไว้ในแพลตฟอร์ม มีข้อมูลระบุกำกับไว้ให้ผู้บริโภคได้รู้และตัดสินใจ 

“ผักขี้เหร่ของแพลตฟอร์มเราหมายถึงผักที่หน้าตาไม่สวยแต่ใช้ได้ อาจจะมีปัญหาแค่เรื่องหน้าตา เช่น ใบหัก มีรู ถ้าเป็นพืชผลก็อาจจะมีช้ำบางส่วน ย้ำนะครับว่าแค่ช้ำบางส่วน ก็สามารถนำมาขายได้ หรืออาจจะมีลักษณะของติดขั้วสีดำ หรือว่ามีรอยจุดสีดำบริเวณผล ตรงนี้ถือว่าเป็นผักไม่สวยแต่สามารถนำมาใช้ได้ อีกกลุ่มคือผักที่ใช้ไม่ได้เลย เช่น สุกคาต้น ตก ผิวเหี่ยว มีรอยปริ ผิวเหี่ยว มีรูที่มากเกินไปอาจเกิดจากแมลง ผักกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกษตรกรก็จะนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ แต่จะมีบางส่วนที่เราสามารถดึงกลับมาใช้ได้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูป” 

การแปรรูป คืออีกหนึ่งหัวใจที่จะช่วยลดขยะอาหาร
อาจารย์พีเล่าถึงการนำผักไม่สวยเข้าสู่อีกหนึ่งกระบวนการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดปัญหาขยะอาหาร นั่นก็คือการแปรรูป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่ทางวิทยาลัยเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกร โดยปักธงว่าการแปรรูปนั้นจะทำในรูปแบบโฮมเมดเฉพาะครัวเรือน เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ทำในสเกลการแปรรูปที่ใหญ่โต เพราะขัดต่อความยั่งยืน

เราจะไม่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดูอลังการมากนะครับ เพราะมันจะกลายเป็นการโยนภาระให้กับเกษตรกร

ณ ตอนนี้ วิธีการแปรรูปวัตถุดิบเราพิจารณาตามอุปกรณ์ที่ผู้ประกอบการมี เราจะไม่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดูอลังการมากนะครับ เพราะมันจะกลายเป็นการโยนภาระให้กับเกษตรกร 

“โปรดักต์แรกที่จะเกิดขึ้นคือมะเขือเทศอบแห้ง ด้วยการที่เกษตรกรเขามีพาราโดมที่เป็นโดมแสงอาทิตย์อยู่แล้ว สามารถใช้ได้ทั้งกลุ่มในเครือ เราก็เลยออกแบบเอามะเขือเทศหน้าตาไม่สวย ผลแตก มาทำเป็นมะเขือเทศอบแห้ง เพราะมะเขือเทศที่เป็น waste หลังเก็บเกี่ยวมีปริมาณเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด” 

อ.แดน เล่าถึงเป้าหมายในการส่งเสริมการแปรรูปโปรดักต์ให้กับเกษตรกรของแพลตฟอร์มว่า

“ในไอเดียของเรา มันไม่ใช่ในแนวโปรดักต์ที่เราจะเอามาทำเป็นสเกลใหญ่หรือเป็นคอมเมอร์เชียล แต่จะเป็นโปรดักต์ที่แต่ละบ้านจะทำ และมันก็จะออกมาเป็นแพ็กเกจแบบของเขาเอง แล้วก็สามารถนำมาขายในแพลตฟอร์มของเรา ถ้าเราทำในแนวคอมเมอร์เชียล Mindset มันจะต่างกัน มันจะกลายเป็นเราจะต้องไปหา Waste ของหลาย ๆ คนมาร่วมกัน แล้วก็เอามาใส่เครื่อง อาจจะต้องมี Center ในการทำแบรนด์ แล้วก็ต้องไปผ่านมาตรฐานนู่นนี่ อะไรแบบนั้น คือมันจะเป็นคนละ Mindset 

แนวทางที่เราเลือกมันจะยืดหยุ่นได้มากกว่า อย่างเช่นแต่ละบ้านก็จะมีไอเดียแบบว่า มาทำเป็นน้ำปั่นเย็นขายสิ เกษตรกรก็จะมาปรึกษากับทางเราและนักวิจัยว่า จะทำได้ไหม จะมีกลิ่นไหม รสชาติจะเพี้ยนหรือไม่ เพราะว่าเป็นผักผลไม้ที่กำลังจะสุกหรือสุกมาก ซึ่งตรงนี้เกษตรกรในกลุ่มจะสามารถปรึกษาเราได้โดยตลอด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เราก็ช่วย”

อาจารย์พี กล่าวเพิ่มเติมจากอาจารย์แดนว่า

“ส่วนเรื่องมาตรฐานที่เราเข้าไปมีบทบาท ก็คือ เข้าไปช่วยเรื่องมาตรฐานในการผลิต ให้เกษตรกรสามารถผลิตออกมาให้มีมาตรฐาน แต่ว่ามาตรฐานในเชิงเอกสาร ยังไม่ถึงระดับนั้น แต่เราก็จะให้ไอเดียเขาไปว่า ถ้านำวัตถุดิบแบบนี้มาใช้มันจะเป็นไปได้ไหม ถ้านำวัตถุดิบแบบนี้มาใช้จะดีไหม จะทำออกมาให้หน้าตาเป็นอย่างไร อันนี้เป็นมาตรฐานที่เราช่วยในเบื้องต้น”

เปิดตัวเดือนกว่า ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
เราถามถึงผลตอบรับของแพลตฟอร์มที่เพิ่งเปิดตัวให้ใช้งานได้จริงวาเป็นอย่างไร อาจารย์มิ้งค์ เล่าด้วยความภูมิใจว่า

“ในระยะเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา จากค่าสถิติ คือ waste ที่เกษตรกรมีอยู่ 30-50 % พอเราเอาผักสวยรอง และผักไม่สวยไปขาย ก็ทำให้เปอร์เซ็นต์ของ Waste ลดลง +/- 90-95 เปอร์เซ็นต์ อีก 5 เปอร์เซ็นต์ที่มันเน่าเสีย มันใช้ไม่ได้ เกษตรกรก็เอาไปทำเป็นปุ๋ยและอาหารสัตว์ อันนี้เป็นผลสำรวจจากเกษตรกรในอำเภอกระนวน 10 ครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรเขาก็จะบอกว่าผักไม่สวยที่มีอยู่ขายหมดแล้ว นั่นหมายความว่าเวสต์ของเขาหมด ตรงตามเป้าหมายที่เราวางเอาไว้” 

อาจารย์แดนกล่าวเสริมว่า “เรามีออร์เดอร์เป็นศูนย์ในสัปดาห์แรก แล้วพอโครงการเริ่มเป็นที่รู้จักจากการทำการตลาดออนไลน์ต่าง ๆ ก็เริ่มมีออร์เดอร์เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้เห็นว่ามันมีความเป็นไปได้ เพราะแค่ช่วงแรกที่เปิดตัว เกษตรกรก็บอกว่า ผักหมดแล้ว จนผมกังวลว่า Supply จะมีน้อยไปด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะอย่างที่บอกไปว่าว่าการที่เราจะหาเกษตรกรเข้ามาได้ จะต้องผ่านมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ ตรงนี้เป็นความกังวลแต่ไม่ใช่ปัญหา เพราะจากที่เราทำวิจัยมา เรามีลิสต์ว่าใครมีใบรับรองออร์แกนิกไทยแลนด์ ถ้าเราเสนอโครงการนี้ไป มันจะเป็นอะไรที่ทำให้เขาได้ประโยชน์”

Ugly Veggies ทำให้ผักออร์แกนิกขี้เหร่ไม่พอขาย อีกเสียงยืนยันจากเกษตรกรตัวจริง
ไม่นาน รถตู้ของวิทยาลัยก็มาถึงฮักเห็ดฟาร์ม ฟาร์มปลูกผักออร์แกนิกภายใต้การรับรองมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ ที่เข้าร่วมโครงการ เราได้พบกับ แพท-ปิตุพร ภูโชคศิริ เจ้าของฟาร์มซึ่งพาเราเดินชมพืชผักและชี้ให้เห็นว่าหน้าตาผักแบบไหนคือผักขี้เหร่ ก่อนจะเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม Ugly Veggies ให้เราฟังว่า

“แพทเรียนจบการศึกษาด้านเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สาขาพืชไร่ค่ะ แล้วก็ไปเรียนต่อด้าน Advance Diploma Project Management ที่ออสเตรเลีย พอเรียนจบแพทเลือกทำงานเป็นเชฟ ทีนี้ก็กะว่าจะย้ายประเทศไปทำงานเป็นเชฟต่อที่สิงค์โปร์ จึงกลับมาอยู่บ้านที่เมืองไทยสามเดือนเพื่อรอเดินทาง ตอนอยู่บ้านเรารู้สึกว่าดีจัง เราจากบ้านไปนานรู้สึกคิดถึง และคุณแม่ก็เกษียณอายุแล้วไม่มีใครดูแล ช่วงนั้นแพทลองปลูกเห็ดขายเล่น ๆ ไปด้วย ปรากฏว่ารายได้ดีมาก จึงตัดสินใจว่าอย่างนั้นก็อยู่บ้านดีกว่าไม่ไปต่างประเทศแล้ว และก็เริ่มปลูกผักออร์แกนิกขาย เริ่มสร้างเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ที่ทำเกษตรอินทรีเหมือนกัน ตอนนั้นมีทั้งหมด 5 กลุ่ม ซึ่งทุกกลุ่มได้รับใบรับรองออร์แกนิกไทยแลนด์ทั้งหมด 

“ความจริงของการเป็นเกษตรกรผู้ปลูกผักออร์แกนิกก็คือ เราปลูกผักร้อยต้น ไม่ใช่ว่าผักจะขายได้ทั้งหมดนะคะ เพราะกลุ่มผักไม่สวยจะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดเลย อย่างแคร์รอตที่หัวหงิก ๆ งอ ๆ คือไม่เคยได้ขาย ทุกคนในกลุ่มประสบปัญหานี้ทั้งหมด ครั้นจะนำไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าก็ต้องลงทุนเกี่ยวกับนวัตกรรมเพิ่มอีก จึงเริ่มมองหาช่องทางแก้ไขปัญหานี้

“ตอนอยู่เมืองนอกเราเห็นว่าที่นั่นเขาจะผูกปิ่นโตวัตถุดิบกัน เกษตกรส่งพืชผักใส่กล่องคล้ายกล่องสุ่มให้กับลูกค้า พร้อมแจ้งรายละเอียดคำนวณแคลอรี่ที่เหมาะสมต่อการนำไปปรุงอาหาร กลุ่มพวกเราจึงมีไอเดียนี้เป็นไอเดียตั้งต้น ประจวบเหมาะกับที่ทางอาจารย์และนักวิจัยของทางวิทยาลัยนานาชาติขอนแก่นลงมาสำรวจพื้นที่ และเล่าถึงแพลตฟอร์ม Ugly Veggies ให้ฟัง เราก็สนใจมาก พอเราเข้าร่วมแพลตฟอร์มก็ได้เชื่อมโยงกับผู้บริโภค โดยมีแอดมินของทางแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางช่วยสื่อสารโปรโมทสินค้า ช่วยบอกเล่าปัญหาที่ลูกค้าร้องเรียนเพื่อปรับปรุง ช่วยให้ข้อมูลความต้องการของผู้บริโภค 

เมื่อก่อนเราขายแคร์รอตหงิกงอไม่ได้ พอลองขายผ่าน Ugly Veggies แล้วขายดีมาก จนกระทั่งไม่พอขายแล้วค่ะ

เมื่อก่อนเราขายแคร์รอตหงิกงอไม่ได้ พอลองขายผ่าน Ugly Veggies แล้วขายดีมาก จนกระทั่งไม่พอขายแล้วค่ะ

 “เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่สะดวกต่อเกษตรกรมาก ๆ เพราะเราก็แค่รับออร์เดอร์แล้วแพ็กสินค้าส่งเท่านั้น ที่สำคัญ จากที่เมื่อก่อนเราขายแคร์รอตหงิกงอไม่ได้ พอลองขายผ่าน Ugly Veggies แล้วขายดีมาก จนกระทั่งไม่พอขายแล้วค่ะ” 

คุณแพทยังสาธิตการแพ็กผักลงในกล่องสุ่มเพื่อขายในแพลตฟอร์มให้เราได้เห็น เมื่อประกอบกับเรื่องราวที่เกษตรกรผู้นี้ได้เล่ามา เราจึงเข้าใจชัดเจนว่าแพลตฟอร์ม Ugly Veggies นั้นดีต่อใจเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบออร์แกนิกอย่างมากจริง ๆ  

เป้าหมายไกล ๆ ในใจของผู้ริ่เริ่มโครงการ 

ท้ายที่สุดของการสนทนา เราถามทั้งสามท่านผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมนี้ ว่ามองเป้าหมายในอนาคตว่าอยากให้แพลตฟอร์ม Ugly Veggies เติบโตไปในทิศทางใด พวกเขาก็ได้ให้แนวคิดเอาไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเริ่มจาก อาจารย์มิ้งค์ ผู้ดูแลเรื่องแบรด์ดิ้งและการทำการตลาด เธอมองว่า

เราอยากทำให้สังคมเป็นสังคมแห่งความยั่งยืนจริง ๆ ถ้าในเชิงการตลาดก็คือ เราอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าของไม่สวยมันมีประโยชน์ มีคุณค่า แล้ว Ultimate Goal ก็คือว่า เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น อยากจะให้ผู้บริโภครับรู้ว่ากว่าที่เราจะได้สินค้าที่เป็นออร์แกนิกจริง ๆ  มันมีความลำบากของเกษตรกรอยู่เบื้องหลัง เพราะฉะนั้นแม้ผักเหล่านี้จะไม่สวยก็ยังอยากให้บริโภคต่อไป เพราะมันจะทำให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้น ขยะอาหารน้อยลง และก่อเกิดสังคมคุณภาพที่ยั่งยืน” 

อาจารย์พี ผู้มอบความรู้และให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรมต่าง ๆ แก่เกษตรกร ได้แลกเปลี่ยนมุมมองว่า

ผมมองในมุมของคุณภาพสินค้า ที่เหมือนการสร้างมาตรฐานที่ดีให้เกษตรกรได้ส่งมอบคุณค่าของผักออร์แกนิกจริง ๆ ให้ผู้บริโภค ผักไม่สวยก็ยังมีประโยชน์ ส่วนนี้เราช่วยยืนยันให้ผู้บริโภคได้ตระหนัก รวมไปถึงเราสามารถช่วยเสนอไอเดียให้เกษตรกรนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าให้กับเขาได้อีก ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและเป้าหมายของแพลตฟอร์มด้วย”

ท้ายสุด คือความคิดเห็นจากอาจารย์แดนผู้อำนวยการโครงการ ซึ่งได้ฉายวิสัยทัศน์กับเราว่า

“ผมอยากเน้นก็คือในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการนำทรัพยากรที่เกิดจากการเหลือทิ้งจากการผลิตทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ความจริงแล้วส่วนเหลือทิ้งมันสามารถนำกลับมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้มากมาย ผมหวังว่า Ugly Veggies จะเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับทุกคน โดยเฉพาะเกษตรกรอยากให้กลับมาคิดในเรื่องการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาใช้ และฉุกคิดสักนิดหนึ่งว่าสิ่งที่เราทำมันสร้างมูลค่าได้มากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ อันนี้คือสำคัญมาก 

แพลตฟอร์มของเราไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่ผมว่ามันจะเป็นการพลิกเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น

แพลตฟอร์มของเราไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่ผมว่ามันจะเป็นการพลิกเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งบุคลากรที่เป็นอาจารย์อย่างพวกเรา มีความพร้อมที่จะช่วยผลักดันสังคมฐานรากให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและก็มีความยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผมอยากจะเน้นตรงนี้”

Ugly Veggies ยังฝันไกลกันอีกว่า ในอนาคตแพลตฟอร์มนี้นอกจากกลุ่มที่เป็นเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักอินทรีย์แล้ว อาจขยายไปยังภาคส่วนของการทำการเกษตรอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาในรูปแบบเดียวกัน เพราะเชื่อมั่นว่า Ugly Veggies จะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะอาหาร และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนของโลกใบนี้ได้แน่นอน 

ล้อมกรอบ: เป็นพาร์ตเนอร์หรือสมัครใช้งาน Ugly Veggies ได้อย่างไร
สำหรับเกษตรกรท่านไหนสนใจร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับแพลตฟอร์มนี้ สามารถสมัครออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ http://kku.world/uglyveggies หรือสแกน QR Code โดยเข้าไปดูรายละเอียดผ่านเพจเฟซบุ๊ก Ugly Veggies Thailand 

ส่วนผู้บริโภค ก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแพลตฟอร์ม Ugly Veggies โดยเข้าไปที่ https://uglyveggies.kku.ac.th แล้วกดปุ่ม “ดูสินค้า” จะนำคุณสู่แพลตฟอร์มในรูปแบบไลน์ธรุกิจ อ่านข้อมูลก่อนสมัคร ก่อนกด “อนุญาต” เท่านี้ก็เข้าไปเลือกซื้อผักไม่สวยแต่เป็นออร์แกนิกมาไว้บริโภคเพื่อสุขภาพของคุณและเพื่อสุขภาพของโลกได้แล้ว

ภาพ: ศศิธร มูลสาร