พอพูดถึง ‘มังสวิรัติ’ เราคงจะนึกถึงคนที่กินผัก ผลไม้ เต้าหู้ และถั่วต่างๆ แต่คำว่ามังสวิรัติสำหรับคนสายเขียววิถีกรีนได้ขยายกว้างออกไปมาก ไม่ใช่เพียงเรื่องอาหารการกินแต่ยังครอบคลุมไปถึงเสื้อผ้าที่สวมหรือรองเท้าที่ใส่อีกด้วย

ฉันเพิ่งรู้จัก ‘รองเท้ามังสวิรัติ’ หรือ Vegan shoes หลังจากที่สั่งซื้อรองเท้าลดราคาออนไลน์มาด้วยความไม่ตั้งใจ รองเท้าคัชชูผ้าฝ้ายสีเทาอ่อนมีป้าย Certified vegan รูปหัวใจติดหรากว่าลายดอกไม้ของรองเท้าเสียอีก พร้อมตัวอักษรเล็กๆ เขียนอธิบายว่ารองเท้านี้ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ฉันอดสงสัยและไปหาคำตอบไม่ได้ว่ารองเท้ามังสวิรัติคืออะไรกันแน่

รองเท้าทั่วไปคู่หนึ่งทิ้งรอยเท้าไว้ให้โลกมากแค่ไหน 

ก่อนจะไปพูดกันว่า ทำไมต้องรองเท้ามังสวิรัติ เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่ารองเท้าทั่วไปคู่หนึ่งทิ้งรอยเท้าไว้ให้โลกมากแค่ไหน เนื่องจากรองเท้าเป็นสิ่งที่สวมใส่ออกไปตะลุยตามที่ต่างๆ ทั้งเดินเล่น ออกกำลังกาย ขึ้นเขา หรือลงห้วย จึงต้องผลิตจากวัสดุที่คงทนและมักใช้หนังสัตว์เป็นส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็นตัวรองเท้า พื้นรองเท้า หรือกาวบางชนิด กระบวนการในการฟอกหนังติดหนึ่งในสิบปัญหาสารเคมีมีพิษที่ทำลายโลก ไม่ว่าจะเป็นไฮโดรเจนซัลไฟล์ แอมโมเนีย และโครเมียม รวมถึงน้ำปริมาณมหาศาลในการฟอกหนัง ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้น้ำ (Water footprint) ถึง 8,000 ลิตรในการผลิตรองเท้าหนึ่งคู่

แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ตกอยู่ในขั้นตอนการผลิตเพียงเท่านั้น หลังจากหมดอายุการใช้งานรองเท้าก็กลายเป็นขยะที่ยากต่อการย่อยสลาย ทั้งพื้นรองเท้ารุ่นที่แข็งแรงพิเศษและวัสดุที่ซับซ้อนต่อการคัดแยกและนำกลับมารีไซเคิล รองเท้าเกือบทั้งหมดจึงถูกนำไปหลุมฝั่งกลบและต้องใช้เวลาอีกกว่า 25-40 ปีในการย่อยสลาย ชิ้นส่วนบางอย่างอาจใช้เวลาหลายร้อยปีเลยทีเดียว

รองเท้าที่ไม่มีชิ้นส่วนประกอบของสัตว์

Vegan shoes เป็นแนวคิดการผลิตรองเท้าที่ไม่มีชิ้นส่วนประกอบของสัตว์ไม่ว่าจะเป็นหนังสัตว์ ขน หรือกาวบางชนิด รองเท้ามังสวิรัติในยุคแรกจึงเน้นการผลิตจากเส้นใยพืช พื้นรองเท้าทำจากไม้ก๊อก และมีการพัฒนามาเรื่อยๆ ทั้งการผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ยางรถยนต์เก่า ตาข่ายดักปลาเก่า และมีการทำหนังเทียมจากไมโครไฟเบอร์ที่สามารถผลิตและออกแบบได้มีขนาดพอดีกับการตัดเย็บโดยไม่มีส่วนเหลือทิ้ง

รองเท้ายี่ห้อดังที่มีเอกลักษณ์เรื่องการผลิตและการบริจาคช่วยเหลือเด็กๆในแอฟริกาที่เมืองไทยรู้จักกันดี เช่น TOMS shoes รองเท้าผ้าผู้ชายอย่าง VANs หรือรองเท้าหนังเทียมบางรุ่นของ DR.Martens ด้านรองเท้าผู้หญิงคงหนีไม่พ้นผู้นำแฟชั่นและความรักษ์โลก Stella McCartney

แบรนด์รองเท้าสัญชาติไทยน่ารักชื่อ ‘ทะเลจร’ ก็มีความเป็น vegan อยู่ไม่น้อย รองเท้าทะเลจรผลิตจากขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่เก็บได้ในทะเล นำมาเพิ่มมูลค่าและ upcycle ให้กลายเป็นรองเท้าที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ทั้งยังเป็นการช่วยทำความสะอาดทะเลและเสริมสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม vegan shoes อาจจะไม่ใช่รองเท้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะยังมีข้อโต้แย้งในกระบวนการผลิตวัสดุบางประเภท เช่น การทำหนังเทียม หรือการย่อยสลาย แต่ vegan shoes ก็เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการเลือกบริโภคอย่างใส่ใจและรับผิดชอบ

เครดิตภาพและข้อมูล: http://mommematch.com, http://ethicalelephant.com, https://tlejourn.page365.net/, http://blog.schuh.co.uk