การได้ออกไปกินข้าวบ้านเพื่อนมักเป็นเรื่องสนุกเสมอ นอกจากจะเป็นเป้าหมายแบบยิงปืนนัดเดียว ได้ไปเที่ยวบ้านเพื่อน พ่วงความอิ่มท้อง ยังได้กระชับความสัมพันธ์กับเดอะแก๊ง เพราะคงไม่มีบทสนทนาและวาระอัพเดตข่าวคราวรูปแบบไหนลื่นไหลยิ่งไปกว่าบนโต๊ะอาหาร
แต่จะเกิดอะไรขึ้น หากการกินข้าวบ้านเพื่อนถูกเพิ่มเติมเป้าหมายให้มีความหมายยิ่งกว่าเดิม
เป้าหมายเพิ่มเติมในมื้ออาหาร
ตามที่หลายคนทราบมาว่า สวีเดนคือหนึ่งในประเทศแถวหน้าที่มุ่งให้ความสำคัญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นอณูใดของสังคมก็ตาม ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม สถาปัตยกรรม การคมนาคม การศึกษา ไปจนถึงอาหารและการบริโภค ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยของเมืองโกเตนเบิร์ก ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยชาร์ลสเมอร์ (Chalmers University of Technology) และมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก (University of Gothenburg) ต่างก็รับเอาแนวคิดนี้มาชูโรงและแฝงฝังอยู่ในโปรแกรมการเรียนไปจนถึงสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยเช่นกัน เราจะเห็นโรงอาหารที่พยายามลดการใช้พลาสติก การออกแบบรถยนต์ฉบับทดลองที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือการจัดสัมมนา โปรเจกต์ และเทศกาลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนโดย Gothenburg Students For Sustainability Alliance (GSSA) องค์กรร่วมของนักศึกษาจาก 2 มหาวิทยาลัยที่ต้องการปลูกฝังนักศึกษาและบุคคลภายนอกให้ตระหนักถึงความสำคัญที่เราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่ออุ้มชูโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงทุกขณะ
Veggie At My Place คือหนึ่งในโปรเจกต์ของชาว GSSA ที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2016 ความตั้งใจของโครงการนี้คือ การปรับพฤติกรรมเล็กๆ อย่างการกินที่เราคุ้นชินในชีวิตประจำวันให้ส่งแรงกระเพื่อมต่อโลก
โปรเจกต์นี้จะแบ่งออกเป็น 4 ฤดูกาลต่อ 1 ปี สมาชิกทั้งหมดที่ลงทะเบียนในแต่ละฤดูกาลจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 4-5 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทำอาหารและกินข้าวร่วมกันอย่างน้อย 4-5 สัปดาห์ในแต่ละฤดูกาล โดยมีข้อแม้ว่าอาหารที่เราจะปรุงและกินร่วมกันนั้นต้องเป็นมังสวิรัติหรือวีแกนเท่านั้น
แต่แค่การกินข้าวกินผักบ้านเพื่อนจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้จริงหรือ
แค่กินผักก็รักษ์โลกได้
ที่มาของ Veggie At My Place เริ่มต้นจาก 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือโปรเจกต์ที่ต้องการรณรงค์ให้นักศึกษาร่วมหอพักเดียวกันแบ่งปันกับข้าวกัน ทั้งเพื่อกระชับความสัมพันธ์และเพิ่มความหลากหลายในมื้ออาหาร ส่วนที่สองมาจากโปรเจกต์ฉายภาพยนตร์สิ่งแวดล้อมประจำปีของชาว GSSA ซึ่งดูท่าว่าการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Cowspiracy ในปี 2016 จะส่งอิทธิพลชัดเจนกว่าเรื่องไหนๆ เนื้อหาหลักของสารคดีเรื่องนี้คือ การเปิดเผยข้อมูลชวนตกตะลึงของระบบปศุสัตว์ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ป่าลดลง ระบบปศุสัตว์ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 32,000 ล้านตันต่อปี มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่การคมนาคมทุกรูปแบบปล่อยออกมารวมกัน หรือคิดเป็น 51% ของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก การประเมินโดย WorldWatch ยังระบุว่า ต่อให้ในปี 2030 เราจะเลิกใช้พลังงานถ่านหิน แต่หากระบบปศุสัตว์ยังดำเนินต่อ ก็ยังมีแนวโน้มที่คาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นอยู่ดี หรือในแง่มุมของการบริโภคน้ำ การผลิตเนื้ออย่างน้อยครึ่งกิโลกรัมต้องใช้น้ำมากถึง 2,500 แกลลอน หรือถ้าเทียบกับระบบครัวเรือนแล้ว เราใช้น้ำแค่ 5% ของกิจกรรมที่เกี่ยวกับการบริโภคน้ำทั้งหมด แต่ระบบปศุสัตว์ต้องใช้น้ำมากถึง 55%
ด้วยตัวเลขชวนตระหนกทั้งหลายนี้ ชาว GSSA จึงเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเป็นมังสวิรัติและวีแกนกันภายในกลุ่มเล็กๆ ก่อนจะขยับขยายไปสู่โครงการที่มีสมาชิกร่วมอย่างน้อยฤดูกาลละ 100 คนในปัจจุบัน ด้วยความหวังว่าโครงการเล็กๆ นี้จะช่วยต่อเวลาและรักษาสิ่งแวดล้อมบนโลกให้อยู่คู่เราไปอีกนานๆ
มากกว่ามื้ออาหาร
สมาชิกของ Veggie At My Place จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มมังสวิรัติ และกลุ่มวีแกน ตัวเราที่ยังเป็นชาวกินทุกอย่าง ยังเห็นความเย้ายวนใจของเนื้อสัตว์ และคิดว่าคงยากที่จะหักห้ามใจต่อไข่ นม และชีสได้ แต่อยากเข้าร่วมโครงการ เพราะอยากพบปะเพื่อนต่างชาติกลุ่มอื่นนอกเหนือจากเพื่อนในชั้นเรียน ชอบความสุขเวลาทำอาหารให้คนอื่นกิน และคิดว่าคงเป็นเรื่องท้าทายถ้าต้องทำอาหารแบบมีข้อจำกัด เราเลยลงทะเบียนไปว่า เราไม่เกี่ยงที่จะอยู่ในกลุ่มมังสวิรัติหรือวีแกน
ผลปรากฏว่า เราถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มวีแกน นั่นหมายความว่า อาหารที่เราจะต้องปรุงและกินร่วมกับเพื่อนๆ ในอีก 4-5 สัปดาห์ต่อจากนี้จะต้องเป็นวัตถุดิบที่มาจากพืชเท่านั้น ในกลุ่มย่อมของเรามีอีก 3 สมาชิกร่วมทีมคือ ทามาร่าจากเยอรมัน เลอาจากฝรั่งเศส และซาจิตจากอินเดีย อันที่จริงแล้วในกลุ่มเรามีแค่มาทาร่าเท่านั้นที่เป็นวีแกนแบบเต็มตัวตั้งแต่อายุ 17 ปี ส่วนเลอาเพิ่งเริ่มเป็นมังสวิรัติเต็มตัวเมื่อปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าที่จะเป็นวีแกนต่อไปในเร็ววัน ส่วนซาจิตเป็นมังสวิรัติแบบ Flexitarian เพราะยังหักห้ามใจไก่ย่างทันดูริแบบอินเดียไม่ได้
ถึงอย่างนั้น ในวาระการพบปะของเราในมื้อค่ำที่ผ่านๆ มา เราคุยกันถึงความเป็นไปได้ที่จะเลิกเบียดเบียนสัตว์อย่างสมบูรณ์ เลอายอมรับว่าชีสคือสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับสาวฝรั่งเศสอย่างเธอ ส่วนทามาร่าที่แม้จะเป็นวีแกนเข้มข้น แต่ก็ต้องละเมิดบ้าง เมื่อพบข้อจำกัดเวลาเดินทางท่องเที่ยว หรือในมื้ออาหารคริสต์มาสของครอบครัวที่มักประกอบด้วยเนื้อสัตว์เป็นหลัก แต่ทุกคนคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า หากเราไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงเลย แรงกระเพื่อมที่จะส่งผลต่อโลกคงไม่ได้ตั้งต้นเสียที
นอกจากนั้น ทุกวันนี้ชาวมังสวิรัติและวีแกนก็มีตัวเลือกมากขึ้น เห็นได้ชัดจากซูเปอร์มาร์เก็ตในสวีเดนที่มีสินค้าเพื่อผู้บริโภคกลุ่มนี้มากมายไม่แพ้เชลฟ์สินค้าปกติ ส่วนใครที่กังวลว่าอาหารวีแกนน่าจะรสชาติน่าเบื่อหน่าย และอาจได้สารอาหารไม่ครบ เราขอยกมือคัดค้าน เพราะแกงแดงผักรวมที่อัดแน่นไปด้วยถั่วลูกไก่ เคล มันฝรั่ง แครอท เซเลอรี่ ซุกินี และโปะหน้าด้วยเต้าหู้นั่นช่างมีรสละมุน ไหนจะอีกมื้อที่เราดัดแปลงแกงถั่วแบบอินเดียมาเป็นเวอร์ชั่นวีแกนด้วยการใช้ถั่วเลนทิลและฟักทองเป็นส่วนผสมหลัก ตบท้ายด้วยพายแอปเปิ้ลหอมแอมเปิ้ลคอมโพตที่เชื่อมเองและโรยหน้าด้วยผงอบเชยแบบไม่ยั้ง ก็ยิ่งทำให้เราอยากพยักหน้ายืนยันว่า มื้ออาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์เป็นเรื่องไปได้ และอิ่มอร่อยถูกลิ้นไม่แพ้กัน
แต่ที่มากไปกว่านั้น มันคือมื้ออาหารที่เราได้มีส่วนช่วยกอบกู้โลกแบบอ้อมๆ ด้วยนะ
ที่มาข้อมูล:
www.veggieatmyplace.com
www.cowspiracy.com
ภาพถ่าย: ณวรา หิรัญกาญจน์