‘ของมันต้องมี’ วลียอดฮิตเหมาะแก่การชวนเพื่อนไปช้อปปิ้งที่หลายคนคงพอจะคุ้นหูมาบ้าง และยังคงใช้ได้อยู่เรื่อยๆ ในโลกที่เราสามารถเห็นโฆษณาของใหม่ๆ ทุกที่ทุกเวลาผ่านหน้าจอมือถือ โดยเฉพาะสาวๆ เองก็คงอดไม่ได้เลยที่จะอัพเดตเทรนด์การแต่งตัวผ่านโซเชี่ยลมีเดียจากเหล่าดารา และเพื่อนฝูงทุกวัน จนรู้สึกว่าเราต้องมีบ้างจะได้สวยตามยุคตามสมัย การสื่อสารการโฆษณาที่เอื้อต่อการตลาดนี้เองทำให้แบรนด์เสื้อผ้าหลายๆ เจ้าเริ่มจับกระแสความต้องการของลูกค้าที่ไม่ต้องการเหมือนใครและไม่อยากตกเทรนด์ได้ จนเกิดเป็นปัญหาแฟชั่นมาไวไปไว (Fast Fashion) ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง บุคคลตัวอย่างในบทความนี้น่าสนใจไม่น้อย เพราะเธอคือหญิงสาวที่แจ้งเกิดและมีชื่อเสียงในวงการบันเทิงประเทศอังกฤษ แต่กลับหันหลังให้กับความยั่วยวนใจของสินค้าแฟชั่นใหม่ๆ ซึ่งเธอคนนั้นก็คือ เวนีเชีย ลา มันนา (Venetia La Manna) ภรรยาคนสวยของเชฟแม็กซ์ ลา มันนา ผู้ทำอาหารวีแกนแบบไร้ขยะนั่นเอง

เวเนเชียเริ่มต้นอาชีพในฝันของเธอด้วยการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังรายการทีวี และหลังจากนั้นเพียงไม่นานเธอก็ได้ผันตัวเองมาอยู่หน้ากล้องจนได้มาเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งในตอนนั้นเองเธอผู้ไม่เคยสนใจปัญหาด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมมาก่อน ก็ได้ตกหลุมรักการแต่งตัวที่ต้องอัพเดตเทรนด์ต่างๆ อย่างเต็มเปา เธอมีความคิดที่ว่าการที่เธอทำงานสื่ออยู่หน้ากล้องนั้น เธอไม่สมควรเลยที่จะใส่เสื้อซ้ำกันเกิน 2 ครั้งเพราะกลัวคนดูจะจำได้ นั่นจึงทำให้เธอเลือกซื้อเสื้อผ้าใหม่ตลอดเวลาจนล้นตู้ เมื่อการทำงานดำเนินรายการทีวีเป็นไปได้อย่างดี เธอก็ได้หันมาทำสื่อบนโลกออนไลน์มากขึ้น ด้วยการเปิดช่องยูทูบเป็นของตัวเอง บอกเล่าวิถีชีวิตการกินอาหารวีแกนของตัวเองให้แฟนๆ ได้ชม และได้รับแรงบันดาลใจเพื่อไปปฏิบัติตาม

และแล้ววันที่เป็นจุดเป็นทางความคิดของเธอเกี่ยวกับแฟชั่นก็มาถึง เมื่อแฟนคลับของเธอคนหนึ่งได้เข้าไปคอมเมนต์ว่า “มันก็ดีนะที่เธอกินผักเยอะ เพราะเหมือนจะได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่เธอรู้ตัวไหมว่าเธอใส่เสื้อผ้าแฟชั่นมาไวไปไวเยอะมากขนาดไหน”

เพียงคอมเมนต์แค่คอมเมนต์เดียวทำให้เวเนเชียตื่นจากความเป็นจริง เธอเริ่มศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่าแฟชั่นมาไวไปไว และปัญหาที่เกิดขึ้นจากวงการแฟชั่น เธอแทบจะไม่เชื่อตัวเองเลยว่า ที่ผ่านมาเธอได้สนับสนุนธุรกิจแฟชั่นที่ไม่คำนึงถึงผู้คนและโลกของเรามามากขนาดไหน เวเนเชียจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่สนับสนุนแฟชั่นที่มาไวไปไวอีกต่อไป เธอจึงได้เริ่มแชร์สิ่งที่เธอเรียนรู้ด้วยตนเอง และการสะท้อนความคิดของเธอผ่านอินสตาแกรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งใหญ่นี้

“ยิ่งฉันทำความเข้าใจกับปัญหาแฟชั่นมาไวไปไวมากเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตของแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ที่ฉันใส่มากขึ้น”

“ไม่ว่าจะเป็นสารพิษที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ การผลิตเสื้อผ้า 80 ล้านชิ้นทั่วโลกต่อปี ที่ต้องใช้น้ำสะอาดที่เทียบเท่ากับการเติมสระว่ายน้ำ 32 ล้านสระ หรือที่เลวร้ายที่สุดคือชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนชั้นแรงงานที่เป็นคนผลิตเสื้อเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อขายในราคาที่ถูกมากๆ”

เวเนเชียเป็นคนแรกที่สวนกระแสแฮชแท็ก ‘เสื้อผ้าประจำวันนี้’ หรือ #OOTD ด้วย ‘เสื้อผ้าเก่าประจำวันนี้’ โดยการเพิ่มตัว O ไปอีกหนึ่งตัวให้กลายเป็น #OOOTD ชวนคนในโลกโซเชียลมาลองมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าเก่าที่มีอยู่แล้ว หรือเสื้อผ้ามือสองให้กลายเป็นลุคใหม่ หรือเท่าทันเทรนด์แฟชั่นในแนวของตัวเองไม่ซ้ำกับใคร เพราะจากสถิติที่เธอได้เรียนรู้ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วสาวๆ จะซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่มาแล้วใส่เพียงแค่ 7 ครั้งเท่านั้นซึ่งเป็นเรื่องที่สิ้นเปลือง และน่าเสียดายมาก

เธอจึงได้ถ่ายรูปการแต่งตัวของเธอในแต่ละวัน และใช้แฮชแท็กนี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับสาวๆ คนอื่นที่แวะมาดูรูปของเธอเสมอ นอกจากนี้เธอยังใช้แฮชแท็กอีกหนึ่งอันที่เขียนว่า ‘ชดใช้ซะ’ หรือ #PayUp เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวและชักจูงให้คนได้ตระหนักถึงราคาของทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานมนุษย์ที่ต้องแลกมาเพื่อเสื้อผ้าแฟชั่นตัวหนึ่งด้วย

“สำหรับฉัน ฉันอยากที่จะใส่เสื้อผ้าที่ฉันมีอยู่แล้วหลายๆ ครั้งไปเรื่อยๆ”

“ทุกครั้งที่ฉันเลือกสินค้าแฟชั่นชิ้นใหม่ ฉันมักจะจินตนาการนึกถึงเสมอว่าจะเก็บเสื้อผ้าแฟชั่นชิ้นนั้นๆ เพื่อใช้ตลอดไปได้อย่างไร”

ในระหว่างที่เวเนเชียเริ่มการสื่อสารที่สวนกระแสนี้เอง ไม่ว่าจะผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวเอง หรือออกไปประท้วงหน้าร้านแบรนด์ต่างๆ เธอก็ได้รับผลตอบรับที่หลากหลายจากเหล่าแฟนๆ หรือคนทั่วไปที่ผ่านมาเห็น บ้างก็เข้าใจและสนับสนุน บ้างก็หาว่าเธอต่อต้าน แต่เหตุการณ์เช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่เธอคิดไว้อยู่แล้ว เพราะเธอกำลังส่องสปอตไลท์ไปที่ความไม่เป็นธรรม และการฟอกเขียวของแบรนด์ (Greenwashing) ซึ่งหมายถึงการที่แบรนด์สร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เวเนเชียพยายามปลุกระดมให้ทุกคนเข้าใจว่า พวกเราในฐานะผู้บริโภคกำลังเอาเงินไปใช้จ่ายกับสินค้าดีๆ มากมาย แต่แล้วพวกเราก็เหมือนกำลังโดนตบหน้าเมื่อพวกเราได้มารู้ความจริง ว่าแบรนด์ต่างๆ ที่พวกเราอุดหนุนมาตลอดนั้นกำลังทำลายโลกและผู้คน เป้าหมายของเธอจนถึงวันนี้จึงไม่ใช่การที่บอกให้ผู้คนคิดถึงแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากตัวเองเท่านั้น แต่ควรจะคิดถึงการสร้างพลังร่วมจากหลายๆ ฝ่ายพร้อมกับแนวคิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบด้วย

ความจริงที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นยังมีความโหดร้ายมากไปกว่านั้น เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เอาเปรียบและกดขี่มากที่สุด 80% ของคนงานตัดเย็บเสื้อผ้านั้นเป็นผู้หญิงผิวสี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพวกเธออาศัยอยู่ในประเทศด้อยพัฒนาในซีกโลกใต้ที่ไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะในด้านค่าจ้าง และชีวิตความเป็นอยู่ เวเนเซียอยากจะเห็นอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ไม่เพียงแต่ตอบรับความต้องการของเหล่าช่างตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ยังให้ความเสมอภาคในธุรกิจและแบรนด์อีกด้วย เพราะหากพวกเราไม่มีช่างตัดเย็บเหล่านี้เราก็จะไม่ได้เห็น และไม่ได้มีเสื้อผ้าแฟชั่นสวยๆที่เราใส่อยู่ในทุกๆ วัน

หลังการแพร่ระบาดโควิด-19ที่ผ่านมา เวเนเชียได้ร่วมก่อตั้งโครงการ Remember Who Made Them ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘โปรดจำไว้ว่าใครเป็นคนทำขึ้นมา’ ร่วมกันกับเพื่อนๆ ของเธอ เมื่อเธอได้เห็นแล้วว่ายังมีอีกหลายแบรนด์ที่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก้คนตัดเย็บเสื้อผ้าอย่างเป็นธรรม โครงการนี้เป็นการรวมกลุ่มกันอย่างลงตัวของเหล่าผู้ใจบุญ นักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม ศิลปิน และกลุ่มที่ยึดมั่นในแฟชั่นที่ยั่งยืนซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มคนตัดเย็บเสื้อผ้าที่กำลังเผชิญกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบกันออกไป โดยพวกเธอพยายามพูดถึงเรื่องสถาณการณ์แฟชั่นมาไวไปไวในปัจจุบัน สร้างการตระหนักรู้และลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านพอดแคสต์ และสื่อความรู้ฟรีที่สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้ ในขณะเดียวกันก็เปิดรับการบริจาคเงินเพื่อส่งต่อไปให้สหภาพแรงงานสตรีที่ทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าอีกด้วย

“ฉันไม่เคยต้องการให้ใครรู้สึกผิดต่อนิสัยการช้อปปิ้งของตัวเองเลย เพราะหากให้พูดตรงๆ ผู้คนที่สามารถซื้อสินค้าที่ยั่งยืนหรือตรงตามหลักศีลธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ที่มีราคาสูงกว่าสินค้าที่ผลิตมาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มคนที่มีต้นทุนทางสังคมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในเรื่องของสถานะการเงิน หรือสิทธิพิเศษในการเข้าถึงสินค้าบริการที่หลากหลายก็ตาม ดังนั้นไม่ใช่ว่าคนที่มีต้นทุนทางสังคมน้อยกว่าแล้วเขาเลือกซื้อเสื้อผ้าแบรนด์แฟชั่นมาไวไปไวราคาถูกแล้วจะถือว่าผิด หากแต่พวกเราทุกคนทุกๆ ฐานะได้ยึดมั่นในใจเวลาที่เลือกซื้อเสื้อผ้าว่า ‘เราจะลงทุนซื้อแต่เสื้อผ้าที่เราจะรู้สึกรักและใส่มันได้ตลอดไป’ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเราลดปริมาณการซื้อเสื้อผ้าลงได้เช่นกัน”

หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า เราจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงนิสัยการแต่งตัวของเราได้อย่างไร มาลองดูวีธีแบบฉบับเวเนเชียกันเถอะ

1. จงเชื่อมั่นในตนเอง ในสไตล์ของตัวเองที่ตัวเองรู้สึกสบายใจ ไม่ต้องยึดติดกับเทรนด์ต่างๆ ที่มีมากนัก

2. จัดตู้เสื้อผ้าให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ แบ่งแยกประเภทของเสื้อผ้าให้ชัดเจน เช่นแยกกระโปรงออกจากกางเกงเป็นต้น เพื่อที่เราจะได้เห็นอย่างชัดเจนว่าเรามีเสื้อผ้าแบบไหนอยู่แล้วบ้าง

3. ลองหยิบจับเสื้อผ้าที่มีอยู่แล้วมาสนุกกับการมิกซ์แอนด์แมตช์ บางทีเสื้อผ้าที่เราไม่เคยได้ใส่เลย พอเรามาใส่กับเสื้อผ้าตัวเก่งก็อาจจะให้ลุคใหม่ๆ กับตัวเราได้ ลองหาไอเดียจาก Pinterest ก็ดีไม่เบา

4. ดูแลเสื้อผ้าอย่างถูกวิธีเสมอ อย่าลืมอ่านฉลากบนเสื้อผ้าทุกครั้งว่าทำมาจากวัสดุอะไร ต้องซักอย่างไร รีดได้ไหม เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าชำรุดโดยไม่เจตนา

5. เมื่อเสื้อผ้าที่เรามีเกิดการชำรุด ไม่ว่าจะกระดุมหลุด หรือขาด ก็ขอให้ได้ใช้เวลาซ่อมมันก่อนที่จะโยนทิ้งไป การที่เรารักษาเสื้อผ้าของเรา ซ่อมผ้าเมื่อเสียหายก็เหมือนเป็นการให้ความเคารพทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป รวมไปถึงเหล่าช่างตัดเย็บที่ผลิตเสื้อผ้าชิ้นนั้นๆ แก่เราด้วย

6. หากอยากซื้อเสื้อผ้าใหม่จริงๆ ลองเปิดใจซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือลองเข้ากลุ่มการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า อย่างที่ในประเทศไทยมีกลุ่ม Fashion Revolution Thailand อยู่ บอกได้เลยว่าหลายครั้งเสื้อผ้ามือสองยังมีคุณภาพดีอยู่มาก และบางชิ้นอาจจะสวยราวกับได้เครื่องประดับที่ไม่มีใครเหมือนเลยด้วยซ้ำ

เมื่อเราเข้าใจว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นผ่านอะไรมาบ้าง ก็จะทำให้เราตระหนักถึงปัญหาที่ดูเหมือนจะไกลตัวอย่างเรื่องของแรงงานสตรี หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น พลังการเปลี่ยนแปลงอยู่ในมือของพวกเราผู้บริโภคทุกคน ที่จะเป็นผู้เลือกว่าจะสนับสนุนแบรนด์สินค้าแบบใด หรือจะแก้ไขนิสัยเดิมของตัวเองอย่างไรเพื่อให้เราซื้อเสื้อผ้าลดลงและใช้ของที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นจะใหญ่เกินตัวของพวกเราผู้บริโภคทุกคน แต่การที่แต่ละคนเปลี่ยนนิสัยการแต่งตัวเพื่อความยั่งยืนกันมากขึ้น ก็ได้ถือว่าเป็นกระบอกเสียงใหญ่ที่สร้างแรงกระเพื่อมออกไปในวงกว้างได้แล้ว มาทำให้การหยุดยั้งแฟชั่นมาไวไปไวเป็นเทรนด์ใหม่ที่ทุกคนต้องหันมาทำตามกันเถอะ

ที่มาข้อมูล
www.venetialamanna.com
www.theglossarymagazine.com
www.
nowthisnews.com
www.
theglossarymagazine.com
www.
rememberwhomadethem.com
www.stylist.co.uk
www.getpodcast.com

ภาพประกอบ: Paperis