เราได้ยินปัญหาหนี้เกษตรกรมามากจนคล้ายจะเฉยชิน แต่ก็รู้ดีว่าไม่ควรชินชา เพราะปัญหาเรื้อรังที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้นี้ ไม่ได้สร้างผลกระทบเฉพาะความเป็นอยู่ของพวกเขา เพราะในที่สุด ความยากลำบากนั้นก็จะเดินทางมาถึงคนกินอย่างเรา ผ่านอาหารที่อาบเคมีและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ระอุโลกขึ้นทุกทีด้วย

แม้ว่าคนเมืองอย่างเราจะต้องพึ่งพาอาหารที่ปลูกจากเกษตรกร แต่ที่ผ่านมา เราถูกตัดตอนด้วยระบบพ่อค้าคนกลางและโมเดิร์นเทรดที่ไม่ได้พบปะเจอะเจอหรือถามไถ่สุขทุกข์ระหว่างกันและกัน Wake up Food Fun (d) for All โครงการของมูลนิธิชีวิตไท Local Act จึงชักชวนเรามา ‘ตื่นตัว’ กับปัญหานี้ และร่วมลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน   

ธรณี ‘หนี้’ นี้ เป็นพยาน 

“Local Act ทำงานกับกลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้มาเป็นสิบๆ ปี ตอนแรกสนับสนุนงานวิจัยเชิงปฏบัติการแก้ไขหนี้สินในเชิงบุคคลและกลุ่มโดยเฉพาะกรณีหนี้วิกฤต ที่สัมพันธ์กับนโยบายกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้หน่วยงานเร่งจัดการหนี้เพื่อไม่ให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินทำกิน  อีกส่วนหนึ่งคือสนับสนุนระบบการผลิต เทคนิค ความรู้ การอบรมที่ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรให้นำองค์ความรู้ไปดัดแปลง ปรับใช้กับวิถีชีวิต ทั้งเรื่องหนี้และการผลิต” สมจิต คงทน รองผู้อำนวยการมูลนิธิเล่าให้เราฟังถึงงานที่ขับเคลื่อน ก่อนจะบอกเล่าถึงเหตุผลว่าการทำงานต่อเนื่องยาวนาน กลับไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างถอนรากถอนโคนเสียที

“รากฐานของปัญหาหนี้มีหลายปัจจัย พอทำข้อมูลเชิงลึก เราพบว่าปัญหาหนี้สินเกิดจากต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในรายที่เช่าที่ดิน การแบกรับภาระค่าเช่ายิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงมาก ยิ่งไม่ปรับ จ้างทุกอย่างทั้งไถ ทั้งฉีดยา ทั้งเกี่ยว พึ่งปัจจัยภายนอกทั้งหมดก็ยิ่งยาก รายได้เหลือไม่ถึงพันบาท ซึ่งปริมาณหนี้สินอาจไม่ได้สูงมาก แต่มีหลายก้อน บางครอบครัวมีมากถึง 6 แหล่ง เพราะสภาพคือหมุนหนี้ไปโปะเรื่อยๆ

“พอเจอหน้าแล้ง เจอโรคติดต่อแบบนี้ ก็ยิ่งผลักให้เขาไปพึ่งหนี้นอกระบบที่ไม่สามารถต่อรองเจรจาได้ เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต”

เกษตรอินทรีย์ เครื่องมือปลดหนี้ที่ชวนเกษตรกรมาลองปรับ

สมจิตบอกว่าการเข้าไปทำงานร่วมกันกับเกษตรกรเป็นไปในรูปแบบของการชวนคิดและชี้ให้เห็นวิธีปรับตัวของชาวนาว่าควรจะไปต่ออย่างไร คนที่มีรายจ่ายออกทุกทาง แต่รายได้เข้าทางเดียวจากการทำนาต้องปรับระบบการผลิตอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการลองปลูกอย่างอื่นที่มากกว่าข้าว เพราะอย่างน้อยหากไม่มีรายได้ ก็ต้องไม่มีรายจ่ายออกไป พึ่งตนเองในครอบครัวได้ และคาดหวังว่าชาวนาผู้ปลูกข้าวไม่ควรปลูกเพื่อขายอย่างเดียว แต่ควรปลูกข้าวพันธุ์ที่เก็บไว้บริโภคในครัวเรือนได้ด้วย 

สมจิตบอกว่าเกษตรอินทรีย์เป็นประเด็นที่เกษตรกรคุ้นเคยมาแต่ดั้งเดิม เพราะระบบการผลิตในอดีตไม่ได้พึ่งพาเคมีมากขนาดนี้ จนกระทั่งเริ่มมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชระยะสั้นที่ต้องอัดปุ๋ยอัดยาแบบในปัจจุบัน เกษตรอินทรีย์จึงเป็นอีกเครื่องมือปลดหนี้ที่ไม่ได้ยากเย็นเกินนำไปใช้

“การทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากต้นทุนจะลดลง เขายังได้เห็นช่วยเหลือเกื้อกูลในครอบครัวที่ตามมา เมื่อคนในครอบครัวก็มาช่วยกันฝัด ช่วยกันสี ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง”

แม้ต้นทุนจะต่ำ แต่ก็แน่นอนว่าผลผลิตแบบอินทรีย์ในช่วงแรกอาจได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือต่ำกว่าการใช้สารเคมี  ซึ่งนั่นเป็นจุดที่เกษตรกรในระยะปรับเปลี่ยนมีคำถามว่า ‘จะคุ้มไหม’ โลคอลแอคบอกว่า ความลังเลนี้แหละที่ต้องการองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ไปหนุนเสริม เพื่อตอบคำถามว่าปลูกอินทรีย์แล้วจะเอาไปขายที่ไหน การส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนเพื่อออกจากวงจรหนี้จึงต้องไปพร้อมช่องทางและโอกาส ทางมูลนิธิจึงคิดว่าควรมีกองทุนเพื่อทำงานเรื่องนี้อย่างชัดเจน

Wake up Food Fun (d) for All จึงเป็นกองทุนที่ทางมูลนิธิตั้งใจจะทำเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับระบบการผลิตจากเคมีมาสู่อินทรีย์ โดยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผ่านการให้ความรู้ การอบรม และเงินทุนให้ยืมที่ไม่มีดอกเบี้ย แต่มีสัญญาในการใช้คืนเพื่อหมุนเวียนส่งต่อแนวคิดนี้ต่อไปให้กับสมาชิกในเครือข่ายเกษตรกร ที่ร่วมทำงานในเบื้องต้นมีทั้งหมด 9 แห่งซึ่งกระจายอยู่ในจังหวัดชัยนาท ปราจีนบุรี สระบุรี และปทุมธานี โดยที่เกษตรกรเหล่านี้ ล้วนมีความตั้งใจที่จะปรับระบบการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี และร่วมสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภคด้วยอาหารที่ปลอดภัย

ข้าวเกยไชย ข้าวอินทรีย์จากท้องนาภาคกลางที่กำลังปรับเปลี่ยน

“เราลงไปคุยกับเกษตรกร บอกว่าต้องการคนจริงมาทำข้าวอินทรีย์ด้วยกัน ถ้ามี 10 ไร่ แบ่งมาทำ 2-3 ไร่ก่อนก็ได้ ให้ความรู้ก่อน ทดลองก่อนว่าต้องเจออะไรบ้าง การไม่ใช้เคมีเลยและต้องทำต่อเนื่อง หญ้าโตสู้กับข้าวต้องจัดการยังไง ส่วนผลผลิตที่คาดว่าจะได้ ทางมูลนิธิจะซื้อในราคาประกันที่ตันละ 12,000 และช่วยหาตลาดให้เพื่อสร้างกำลังใจ” สมจิตเล่าฉะฉานถึงการทำงานร่วมกับเกษตรกรระยะปรับเปลี่ยน ที่ต้องการความเข้าใจจากผู้บริโภคอย่างเราไม่น้อยเลย

ข้าวขาวเกยไชยจากนครสวรรค์ที่ขายอยู่ในเพจมูลนิธิ คือสินค้าตัวสำคัญของกองทุนฯ เป็นข้าวบาสมาติจากอินเดียเมล็ดยาวผสมกับข้าวช่อราตรีของไทย ปลูกนาปรังภาคกลางได้ แม้จะไม่หอมเหมือนข้าวหอมมะลิ แต่นุ่มและหุงขึ้นหม้อ และมูลนิธิกับเกษตรกรก็ยังไม่หยุดที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาหลังออกไปสู่ตลาดจริง โดยเฉพาะการทำตลาดที่ต้องคำนึงถึงความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อพันธุ์ข้าวต่างๆ ควบคู่ไปกับการฟื้นคืนข้าวพันธุ์ท้องถิ่น เพราะจะเข้ากับสภาพอากาศและดูแลโดยธรรมชาติได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น

ผลผลิตข้างนาที่เราร่วมอุดหนุนได้

นอกจากข้าวในนาระยะปรับเปลี่ยน ยังมีผลผลิตอื่นๆ จากข้างท้องนา  รวมทั้งเกษตรกรที่ปลูกผลผลิตอื่นๆ เช่นบ้านชัยคลีมีหน่อไม้ป่าเยอะ ผู้บริโภคอย่างเราก็จะได้กินหน่อไม้หวานอร่อยส่งตรงจากพื้นที่ หรือน้ำตาลโตนดของชัยนาท เป็นอาชีพเสริมของชาวนาในพื้นที่ที่ยังผลิตด้วยกระบวนการดั้งเดิม ที่สมจิตบอกว่า กลิ่นหอม ไม่หวานมาก มีลักษณะข้นเหมือนนมข้นหวาน แต่ดีต่อสุขภาพมากกว่าเพราะมาจากตาลโตนดร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ผสมน้ำตาลทรายเลย เช่นเดียวกับส้มอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรจากปทุมธานีที่เปิดให้จองก็ได้รับเสียงตอบรับน่าชื่นใจ

ถ้าอยากอุดหนุนผลผลิต เพจมูลนิธิชีวิตไทก็มีอัพเดตผลิตภัณฑ์อยู่สม่ำเสมอ และในบางผลผลิตก็จะนำไปร่วมพรีออเดอร์กับตลาดสวนผักคนเมืองบ้าง ส่วนถ้าคนที่อยู่ใกล้ๆ พื้นที่ตั้งของมูลนิธิในหมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส ไทรม้า ก็สามารถร่วมกลุ่มไลน์ของหมู่บ้านที่จะอัพเดตผลผลิตพร้อมจำหน่าย ให้เราได้อุดหนุนสินค้าดีๆ จากใจชาวนาได้หลายช่องทาง

มาร่วมเป็นผู้บริโภคที่ได้สนับสนุนเกษตรกรระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อลดปัญหาวงจรหนี้ของพวกเขาผ่านกองทุนนี้ด้วยกัน

มูลนิธิชีวิตไท 

www.landactionthai.org
www.facebook.com/LocalAct

ภาพถ่าย: มูลนิธิชีวิตไท