เมื่อพูดถึงจักรวาล เราคงนึกถึงอวกาศกว้างใหญ่ไร้ขอบเขตสิ้นสุด ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ ทางช้างเผือก อุกกาบาต หลุมดำ และสรรพสิ่งที่โคจรเชื่อมโยงกันอยู่ไกลออกไปหลายล้านปีแสง

แต่สำหรับวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด จักรวาลที่โอบกอดโลกของเธอไว้ มีขนาดเล็กเท่าชามข้าวหนึ่งชาม

“เราได้ยินคำว่าจักรวาลในชามข้าวมาจากกลุ่มสหกรณ์อินทรีย์ Hansalim ที่เกาหลีใต้ และคิดว่ามันใช่อย่างนั้นจริงๆ เพราะในอาหารมันมีมิติทางสังคมอยู่ มีความเชื่อมโยงกันทั้งชีวิตของเรา ชีวิตของเกษตร ชีวิตของระบบนิเวศ ชีวิตของโลก”

วัลลภาเป็นคนแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับการอุดหนุนเกษตรกรแบบ CSA พยายามสื่อสารกับคนในวงกว้างให้หันมาอุดหนุนเกษตรกรอินทรีย์ ชักชวนให้สังคมรู้จากตลาดสีเขียว ขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยให้กลายเป็นนโยบายระดับชาติ และเชื่อมโยงเรื่องอาหารสู่เรื่องทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน

หลายคนอาจจะรู้จักวัลลภาในบทบาทนั้น-นักขับเคลื่อนเรื่องอาหาร

แต่เราอยากรู้ว่า ในจักรวาลในชามข้าวเล็กๆ แค่พออิ่มของนักขับเคลื่อนคนนี้มีอะไรบรรจุอยู่บ้าง นี่คือบทสนทนา ที่ชวนคุยเรื่องชีวิตผ่านวิธีคิดและวิธีกินของเธอ

จักรวาลของเด็กหญิง นักศึกษาสาว และนักธุรกิจที่ขยันเกินไป

จักรวาลของเด็กหญิงวัลลภาอยู่ในบ้านแพลอยน้ำที่ชุมชนสามโคก ปทุมธานี

เธอโตมาในครอบครัวใหญ่ของคนไทยเชื้อสายจีนที่เตี่ยมาเสียชีวิตไปตั้งแต่ลูกทุกคนยังเล็ก แม่จึงกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกวัยใกล้เคียงกันถึง 11 คน มีอากงเป็นช่างทอง มีพี่ป้าน้าอารายล้อมอบอุ่น ไม่ขัดสนแต่ก็ไม่สุขสบาย เพราะความที่มีลูกมาก แม่จึงสอนให้ลูกๆ ทุกคนประหยัดมัธยัสถ์ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการศึกษา เพราะแม่บอกว่ามรดกอย่างเดียวที่แม่จะให้ได้คือการส่งเสียให้เรียนหนังสือในแบบที่เท่าเทียมกับผู้ชายในยุคนั้น 

เธอเติบโตเป็นวัยรุ่นที่มีความคิดอ่านทางการเมืองเพราะฉากของชีวิตช่วงมัธยมมีเหตุการณ์ใหญ่อย่าง 14 ตุลาคม 2516 ยิ่งเมื่อได้เห็นเพื่อนที่รู้จักมักคุ้นต้องเสียชีวิตหรือหนีเข้าป่าไปในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 จักรวาลรอบตัวจึงไม่ใช่บรรยากาศฝันหวานของเด็กสาว แต่เป็นยุคที่ต้องถามตัวเองว่าคิดเห็นอย่างไรท่ามกลางความขัดแย้งทางความเชื่อ เธอมีทั้งเพื่อนซ้ายจัดที่ทำงานใต้ดินให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พร้อมกับมีเพื่อนขวาจัดที่ร่วมอุดมการณ์กลุ่มกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้าน แต่ทั้งสองฝั่งฝ่ายก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ตอบอุดมการณ์ในใจของวัลลภาได้ จนกระทั่งได้รู้จักร้านหนังสือศึกษิตสยาม ได้อ่านงานของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้รู้จักคำว่าสันติวิธี ความเป็นธรรม และงานวรรณกรรมเพื่อชีวิตในฐานะนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณค่าของชีวิตแบบคนรุ่นเก่าที่แม่สอนสั่ง กับแนวคิดเชิงสังคมที่ไม่ซ้ายไม่ขวา จึงหล่อหลอมให้จักรวาลของเธอแตกต่างไป

หลังเรียนจบ วัลลภาเลือกเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านสังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ โดยหวังจะเรียนรู้วิธีคิดเชิงระบบสังคม แต่ก็พบว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองมุ่งมั่นสนใจขนาดนั้น เธอจึงตัดสินใจหยุดเรียน ออกไปเดินสมัครงานเป็นสาวออฟฟิศย่านสีลม ทำงานอยู่ในบริษัทหลายปีในเนื้องานการจัดแสดงสินค้า จนกระทั่งลุกขึ้นมาเปิดธุรกิจเทรดแฟร์เป็นของตัวเอง

“ลึกๆ มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ชอบทำธุรกิจ แต่ทำได้นะ มันพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเรามีบริษัทเป็นเรื่องเป็นราวได้ แต่มารู้สึกว่าการทำธุรกิจทำให้เราไม่มีสุนทรียภาพ เราอยู่ใน fast lane ไม่มีวันหยุด ถ้าหยุดจะรู้สึกผิด อ่านบทกวีแล้วไม่เข้าใจทั้งที่เราเคยขลุกอยู่ในห้องสมุดคณะอักษรฯ อ่านวรรณกรรมเยอะแยะ เลยรู้สึกว่า เอ๊ะ เราจะทำธุรกิจไปทำไมนะ ถ้าทำแล้วชีวิตเราเหือดแห้ง ก็เลยหยุดตัวเองอยู่ 1 ปี ถามว่าตัวเองอยากจะทำอะไร”

ในช่วงเวลาค้นหาคำตอบ วัลลภาลงเรียนนิเวศวิทยาแนวลึก (Deep Ecology) ที่เสมสิกขาลัย และตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองด้วยการทำอะไรบางอย่างที่มีความหมายกับชีวิต เธอเริ่มเข้าไปช่วยงานในเสมสิกขาลัยเต็มตัว แม้จะรู้ชัดว่าไม่เข้าจังหวะกับงานภาคสังคมที่ไม่ชัดเจนฉับไวเหมือนงานภาคธุรกิจ แต่จุดเริ่มต้นนั้นก็ทำให้เธอได้ค้นพบเส้นทางที่เหมาะเจาะกับตัวเอง 

จักรวาลของกิจการเพื่อสังคม 

ในยุคที่กิจการเพื่อสังคมยังไม่เคยถูกพูดถึงในเมืองไทย เธอร่วมกับเสมสิกขาลัยจัดงานเรื่อง Alternative to Consumerism ในปี 2540 ว่าด้วยทางเลือกในการออกจากบริโภคนิยม 

“บริโภคนิยมซึมลึกอยู่ในทางวัฒนธรรม การที่เราเป็นคนขยันเกินเหตุจริงๆ มันเข้าข่ายเหมือนกันนะ” วัลลภาหัวเราะ และเล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอและว่าที่คู่ชีวิต-ฮันส์ (ฮันส์ แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด) เริ่มเห็น ‘ทางเลือก’ ในการทำธุรกิจและใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการผ่านการก่อตั้งบริษัท สวนเงินมีมา-กิจการเพื่อสังคมเจ้าแรกๆ ในไทย หากจะมีการนิยามให้ชัดเจน

“ในตอนนั้น พี่ประชา หุตานุวัตร ทำเรื่องการเมืองสีเขียว พูดเรื่องการเมืองทางเลือก พี่พิภพกับรัชนี ธงไชยทำการศึกษาทางเลือก แต่ทำไมไม่มีคนทำธุรกิจทางเลือก ดิฉันกับฮันส์กำลังคิดว่าเราไม่อยากเป็น NGO เราอยากจะลุกขึ้นมาตั้งบริษัท แต่เราก็ไม่อยากทำบริษัททั่วไป ถ้าอย่างนั้น เรียกว่าเราเป็นธุรกิจทางเลือกได้ไหม ตอนนั้นเราไม่รู้จัก Ashoka ไม่รู้ว่าผู้ประกอบการสังคมคืออะไร แต่ฮันส์มาเล่าให้ฟังว่ามีกลุ่ม Social Venture Network คือธุรกิจเพื่อสังคมที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ ในยุโรปอยู่นะ เป็นธุรกิจแบบใหม่ ที่ใส่ใจผู้คน เรามีแผนธุรกิจ มีแผนว่าเราจะมีท่าทีเรื่องเงินทองและกำไรยังไง 

“ธุรกิจแท้จริงมันต้องโอบล้อมอยู่ในชุมชน เราอยากทำสัมมาอาชีพ ไม่ได้อยากเป็นคนขับเคลื่อนสังคมแล้วไม่มีรายได้ เป็นบริษัทที่อยู่ในความหมายที่แท้ของมัน เป็นอาชีพให้ผู้คนได้ แล้วใน 18 ปีนี้ ก็รู้สึกว่ามันสร้างผู้คน เวลาเราเห็นน้องๆ ที่เคยอยู่ที่สวนเงินฯ แล้วไปทำฟาร์ม ไปทำตลาดสีเขียว ไปทำร้านกรีน เราว่าอย่างนี้ตอบโจทย์สังคม เพราะเราสร้างผู้คนขึ้นมาในสังคม”

จากความตั้งใจแรกของธุรกิจที่ขับเคลื่อนสินค้าชุมชน จัดพิมพ์หนังสือที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และจัดอีเวนต์สื่อสารแนวคิดใหม่ ได้ดำเนินและเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน และต่อยอดมาสู่อีกหนึ่งกิจการเพื่อสังคม INI อินี่ เครือข่ายนวัตกรรมสากล ที่ขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยโดยเฉพาะ ทั้งในบทบาทของการสื่อสาร เชื่อมโยง และสนับสนุนผู้คนในจักรวาลนี้ให้โคจรมาพบปะและเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันต่อไปได้ในระยะยาว 

จุดเริ่มต้นของจักรวาลในชามข้าว

ในฐานะคนกิน วัลลภาและฮันส์สนใจระบบสมาชิก CSA ที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ในเมืองไทยราวๆ ปี 2546 ซึ่งก็คือระบบที่คนกินเป็นหุ้นส่วนกับเกษตรกรด้วยการจ่ายเงินล่วงหน้าและประกันความเสี่ยงของผลผลิตจากดินฟ้าอากาศร่วมกัน เพื่ออุดหนุนให้เกษตรกรอินทรีย์มีต้นทุนในการปลูกอาหารดีส่งให้คนเมืองกิน

“เหตุผลก็คือเราอยากได้อาหารอินทรีย์ที่ดีต่อตัวเรา พอเรามาพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับอาหาร เราเห็นเลยว่าอาหารหรือพืชผักของเรามันแย่มาก มันเต็มไปด้วยสารเคมี เราก็เลยพาตัวเองไปรู้จักกับระบบสมาชิก CSA และกลายเป็นครอบครัวแรกที่รับผักจากเกษตรกรด่านช้าง ตอนนี้ไม่อยากเชื่อเลยนะว่าอยู่กันมา 16 ปีแล้ว ตั้งแต่ลูกเขายังแบเบาะ ตอนนี้อายุ 16 แล้ว”

แต่กว่าจะรวบรัดตัดตอนมายังปัจจุบัน ในช่วงเริ่มต้นก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง วัลลภาบอกว่าระบบนี้เกิดขึ้นได้เป็นเพราะเกษตรกรใจป้ำ ที่แม้ในช่วงเริ่มต้นมีสมาชิกแค่เพียง 5 ครอบครัวก็ยืนยันที่จะมาส่งผลผลิตให้ และหากผู้บริโภคอยากเห็นสิ่งนี้เติบโตต่อไปก็ย่อมสร้างระบบให้สมบูรณ์ได้ เธอจึงเริ่มจัด farm visit ให้ผู้บริโภคได้ไปเจอกับเกษตรกรเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ ช่วยหาลูกค้าให้เพราะรู้ว่าต้องสร้างจำนวนสมาชิกที่มากพอเพื่อให้ระบบอยู่ได้ จากที่ทำเพียงวิ่งเต้นชักชวนคนรอบตัวมาเป็นสมาชิก เสียงของเธอก็ได้รับความสนใจจากสื่อและทุนสนับสนุน

“ตอนนั้นเหมือนเรากลายเป็นโต้โผ เป็นแม่ยก มีสื่อมาสัมภาษณ์ มีสมาชิกเพิ่มขึ้น แล้วก็มีทีมจาก สสส. มาบอกว่าสามารถทำเป็นโครงการได้นะ เพราะนับเป็นงานที่เข้าข่ายเรื่องสุขภาพคนกินเฮลท์ตี้ขึ้น แต่เราคิดว่าระบบสมาชิกมีข้อจำกัด เพราะเราอยู่กับระบบสมาชิก เรารู้ว่าคุณเลือกผักไม่ได้ มีฤดูที่ผักจะถุงเล็ก แต่ปลายปีอากาศดีผักจะถุงโต ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้บริโภคทุกคน จึงบอกไปว่าเราอยากทำตลาดสีเขียวมากกว่า”

จากจุดเริ่มต้นนั้น ตลาดสีเขียวแห่งแรกในกรุงเทพฯ จึงเกิดขึ้น โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“เวลาจะทำให้เกษตรอินทรีย์ไปได้ในสังคมไทยมันต้องมีหลายช่อง อย่าไปฝากไว้ที่ช่องเดียว”

“คนที่ไม่ได้ทำกับข้าวกินเองที่บ้านจะไม่เป็นสมาชิก CSA แน่ ชีวิตคนเมืองมันสำเร็จรูป เราก็เข้าใจ แต่ในตลาดสีเขียวมีความหลากหลายมากกว่า คนไทยเองก็ชอบช้อปปิ้ง ชอบเลือกผักเอง” วัลลภาเล่า

จากตลาดสีเขียวที่รีเจ้นท์เฮ้าส์ซึ่งเป็นตลาดสีเขียวแรก โมเดลนี้ก็ถูกขยายต่อไปยังตลาดสีเขียวที่โรงพยาบาลมิชชั่น ตลาดสีเขียวศูนย์สุขศาสตร์ มธ. รังสิต ตลาดสีเขียวโรงพยาบาลกรุงธน 1 ตลาดสีเขียวโรงพยาบาลปทุมธานี และเติบโตต่อเนื่องสู่การสร้างเครือข่ายร้านกรีน งานกรีนแฟร์ กรีนเคเทอริ่ง และออร์แกนิกสเตชั่น ที่ได้คนรุ่นใหม่มาร่วมด้วยช่วยสร้างให้สำเร็จ

“โลกแห่งการสื่อสารมันทำให้เรื่องพวกนี้ไปเร็ว เราจะใช้ digital society อย่างไรให้มันเป็นประโยชน์กับเรา มันอาจจะมีข้อที่ทำให้เรารู้สึกสูญเสียไป เช่น คนอาจจะอ่านหนังสือน้อยลง แต่สิ่งที่เราได้มาคือมันช่วยให้สิ่งที่พวกเราทำมีช่องเยอะขึ้น เมื่อก่อนเราต้องขึ้นอยู่กับสถานที่ แต่เดี๋ยวนี้โลกออนไลน์สร้างโอกาสมหาศาล สร้างโอกาสแห่งการสื่อสารเรื่องราวของพวกเรา ทำให้เกิดการขายของออนไลน์ เดี๋ยวนี้ Young Smart Farmer ขายของได้ผ่านออนไลน์แล้วนะ เขามาเล่าให้เราฟังว่า พี่เชื่อไหมว่าข้าวที่ผมกำลังจะเกี่ยวมีคนจองหมดแล้วนะ เวลาเราฟังเรื่องแบบนี้เราปลื้มแทนเขา คือเขาไม่ต้องไปผ่านคนกลางงี่เง่าต่อไปแล้ว เขากำหนดราคาเองได้ เดี๋ยวนี้ทำออร์แกนิกสเตชั่น มีตั้ง 25 แห่ง ไม่ต้องทำเต็มรูปแบบอย่างร้านกรีนที่ต้องเสียค่าเช่า ค่าเฝ้าร้านให้ยุ่งยาก บ้านก็เป็นออร์แกนิกสเตชั่นได้ แค่ให้ที่บ้านมีตู้แช่ มีเกษตรกรมาดรอปของไว้ คนมารวมตัวกัน หยิบผัก หยิบอะไรไป เรื่องแบบนี้มันจินตนาการไม่ออกหรอกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว”

จักรวาลของพลเมืองอาหาร

มากไปกว่าการขับเคลื่อนเรื่องอาหารอินทรีย์ ล่าสุด วัลลภากระโดดเข้ามาสร้างพลังให้อาหารในเชิงนโยบายที่กำลังร่างภาพใหญ่ให้สังคมผ่านเครือข่าย Food Citizen ซึ่งก็คือการนำเอาประสบการณ์ของสวนเงินมีมามาคิดในเชิงภาพรวมของสังคม เชิงนโยบายอาหาร โดยเริ่มต้นจากการรวมพลังกันของคนทำงานที่ได้รับทุนจาก สสส. ในแผนอาหารกว่า 60-70 โครงการที่ไม่กำหนดว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ มาผนึกกำลังภายใต้แบรนด์ที่เรียกว่าพลเมืองอาหารเพื่อย้ำว่า คนทุกคนในห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่เป็นผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ล้วนเป็นกำลังของระบบอาหารที่จะร่วมผลักดันนโยบายไปด้วยกัน

“ถ้าเราอยากเห็นโลกนี้มีอาหารอินทรีย์ถ้วนหน้า Organic Food For all มันต้องเปลี่ยนในระดับล่าง เราสร้างเขตย่อยๆ อย่างเดียวไม่พอ มันต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเชิงนโยบายด้วย”

“เรามีผู้ประกอบการสังคม เราอยากทำเรื่อง Food Citizen หมายถึงเราอยากสังเคราะห์และบูรณาการระบบอาหาร หากเราไม่มองเชิงระบบ มันไม่เปลี่ยนนะ ถ้าคุณไม่ทำให้ร้านกรีนเชิงจำนวน Economies of scale ถ้าคุณไม่มีกรีนเคเทอริ่งเยอะขึ้น ถ้าคุณไม่มีเกษตรกรอินทรีย์เยอะขึ้น ถ้าคุณไม่มีผู้บริโภคสีเขียวเยอะขึ้น มันจะไม่มีทางทำให้เราเปลี่ยนได้”

“คำว่าพลเมืองคือพลังของเมือง คือพลังของระบบอาหารของเมือง”

วัลลภาบอกว่าพลังของคนที่ริเริ่มทั้งหลายต้องมารวมตัวกันและต้องสร้างนโยบายแบบมีส่วนร่วมของทั้งระบบอาหาร ซึ่งพลังเหล่านี้ทำให้เครือข่ายสามารถยื่นข้อเสนอให้กับกระทรวงต่างๆ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง Organic to school เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขทำเรื่อง Green Hospital เสนอกระทรวงพาณิชย์ให้ตลาดของจังหวัดจะต้องมีบูทนึงเป็นผักอินทรีย์ และขยายไปสู่ทุกกระทรวง พร้อมกับชักชวนให้รู้สึกว่า ทุกคนเป็นพลังที่จะเปลี่ยนระบบอาหาร

“เราต้องสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้ทุกคนในข้อต่อของระบบอาหาร ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ต้นทาง เป็นผู้ผลิตหรือเกษตรกร ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่กลางทางเป็นผู้จัดการ เป็นผู้ประกอบการ หรือเขาเป็นคนกิน เราต้องไปคุยเรื่องราวเหล่านี้ ดิฉันไม่ได้เล่นบทนี้ได้เก่งนะ เพราะว่าเราเป็น Storyteller มากกว่า ไม่ได้สนุกกับการทำเรื่องเชิงนโยบาย แต่เห็นว่าต้องทำ บางคนบอกว่าเอาแค่ปลอดภัยก็ได้ไหม ใช้เคมีได้ แค่อยู่ในระดับปลอดภัย ดิฉันก็จะบอกว่า ถ้าจะทำ ก็ต้องไม่มีเลย คุณปลอดภัยแต่คุณยังทำลายพื้นดิน คุณกินในระดับปลอดภัย แต่ว่าโลกไม่ปลอดภัยและกำลังแย่ลงเรื่อยๆ ตอนนี้เรามาถึงจุดที่โลกวิกฤตแล้ว รัฐบาลหลายประเทศประกาศ Climate Emergency สภาวการณ์ฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม ตอนนี้โลกจะไม่รอดแล้ว เดือนกรกฎาคม 2562 นี้เราได้ใช้ทรัพยากรหมดไปแล้ว ตอนนี้เรากำลังติดลบแล้วนะ”

ท่ามกลางปัญหาใหญ่ที่ทุกคนบนโลกต้องเผชิญ หลายคนคิดว่านี่คือสิ่งที่ใหญ่เกินตัวและเราไม่อาจทำอะไรได้ แต่วัลลภายืนยันหนักแน่นในความเชื่อว่า หากผู้บริโภคทุกคนรู้จักเกษตรกรตัวเอง ระบบอาหารจะเปลี่ยนไปและโลกใบนี้จะดีขึ้น เพราะการรู้ที่มาของอาหาร ทำให้ผู้บริโภคกับผู้ผลิตเชื่อมโยงกับผืนดินและโลกผ่านเกษตรกร

“เกษตรกรคือผู้พิทักษ์ผืนดินนะ เราดูแลเกษตรกร เกษตรกรดูแลผืนดินผืนโลกให้เรา เราแยแสกับเกษตรกร เกษตรกรแยแสกับพื้นดิน โลกเปลี่ยนเลยนะ”

“คือใน Organic Principle ทั้งสี่ส่วน มันประกอบไปด้วย Principle of care สอง Principle ecology สามคือ Principle of health และสี่ Principle of Fairness ที่ต้องเชื่อมโยงและสอดคล้องกันหมด ดิฉันเคยไปช่วยคิดต้นทุนของเกษตรกร บางทีก็ตลกนะ เกษตรกรนี่ไม่คิดค่าแรงตัวเองเลย ให้ตายเถอะ ผู้บริโภคจะรู้ไหมว่าที่คุณกินอาหารราคาถูกได้เพราะเกษตรกรไม่ได้คิดค่าแรงตัวเอง ดิฉันถามว่าแล้วจะไม่พูดเรื่องค่าแรงตัวเองเลยเหรอ เขาถามว่าคิดยังไง ก็คุณปลูกพวกนี้วันหนึ่งต้องใช้ตังค์เท่าไหร่ ต้องใช้เวลายังไง เอาสักวันละ 300 ก็ได้ เขาบอกว่าคิด 300 เลยเหรอ เกรงใจ คิด 150 แล้วกัน”

“มันไม่มีอาหารราคาถูกหรอก มันถูกได้เพราะมันผลักภาระให้ผืนดิน ผลักภาระให้โลก ผลักภาระด้วยการเอาเปรียบเกษตรกร”

งานของพลเมืองอาหารคือการออกแบบประสานความร่วมมือ (Design for Collaboration) นับเป็นการเปิดพื้นที่และเชื่อมต่อหยดน้ำเล็กๆ ที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ก่อนที่น้ำเหล่านั้นจะเหือดแห้งไป ทั้งจากการที่เกษตรอินทรีย์ถูกเกษตรกรเคมีล้อมจนเกิดปัญหาการปนเปื้อนเคมี บวกกับการที่ไม่สามารถสร้างจำนวนให้มีผู้ซื้ออาหารอินทรีย์มากๆ และอาหารอินทรีย์ก็ยังถูกมองว่าแพงต่อไปเพราะไม่มีตัวหารมาทำให้ถูกลง

“การที่ไข่ฟองละ 3 บาทคือการเอาเปรียบสิ่งแวดล้อมแน่นอน เอาเปรียบแรงงานแน่นอน เอาเปรียบแม่ไก่แน่นอน เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนสังคมด้วยตัวอย่างเล็กๆ ที่เกิดขึ้นแค่ไม่กี่แห่ง ตลาดสีเขียวทั่วประเทศอาจจะไม่เกิน 70-80 แห่ง สังคมไทยยังไม่เปลี่ยน เราจะต้องทำให้กลายเป็นนโยบาย ถามว่ามันมีความเป็นไปได้ไหม เรื่อง Organic to School กำลังจะมานะ กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 20 แห่ง เป็นโรงพยาบาลสีเขียว กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันเรื่อง Young Smart Farmer เริ่มมีนโยบายแบบนี้เกิดขึ้นในหลายกระทรวงแล้วเหมือนกัน เราต้องทำให้เห็นในจำนวนที่เยอะขึ้น เป็นเรื่องราวมากขึ้น”

วัลลภายิ้ม เป็นรอยยิ้มที่ขยายความต่อได้ว่ามีความหวัง

“คนกินยังไม่เห็นว่าการกินของตัวเองเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนโลกนะ คนกินยังไม่เห็นว่าการกินของตัวเองมีนัยทางการเมืองแห่งชีวิตประจำวัน เรากำลังจะพิมพ์หนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ Politics of the Everyday คนเขียนคือ Dr. Ezio Manzini ที่เขียนเรื่อง Design When Everybody Designs เราต่างเป็นนักออกแบบ เขาบอกว่าโลกเปลี่ยนแปลงจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นผู้บุกเบิก แต่ฮีโร่ทางสังคมเหล่านี้ต้องทำให้เกิด normative transformation หมายถึงความเป็นปกติในตัวผู้บริโภคแต่ละคน จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง คล้ายกับการทำให้อยู่ใน normal life อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน 

“การลงทุนกับผู้ผลิต กับเกษตรกร คือการซื้อสังคมใหม่ ผู้บริโภคยังไม่รู้พลังแห่งการซื้อของเขา ยังไม่รู้พลังการเลือกกินหรือไม่กินอะไร เขาเลือกสังคมและเขาลงทุนกับสังคมนั้น การที่เราลงทุนกับเกษตรกร อินทรีย์ เรากำลังลงทุนกับโลกใหม่ที่เราอยากเห็น”

“นี่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่อยากจะเห็นโลกที่ดีกว่า เราอยู่ในระบบที่ขาดตอน อยู่ในระบบที่ต้องตัดตอน เด็กไม่รู้ว่าไก่มาจากไหน ผักอินทรีย์เป็นยังไง คนเริ่มไม่เห็นที่มาของอาหาร นี่คือการเมืองแห่งชีวิตประจำวันของเรา มีผลต่อสังคมที่เราอยากจะเห็น เหมือนที่เราสงสารเจ้ามาเรียมจะเปล่าประโยชน์ เพราะมันก็จะมีอีกหลายๆ มาเรียม แต่ถ้าเราเชื่อมโยงได้ว่าพฤติกรรมเราที่ใช้พลาสติกมีผลต่อมาเรียมนะ คนต้องเริ่มเห็นความสำคัญและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ได้”

ในฐานะนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและเห็นการเปลี่ยนแปลงจากคนรอบตัวมากมาย เธอบอกว่ามนุษย์เป็นนักปรับตัวเสมอ เพียงแต่ว่าต้องมีแรงกระแทกที่ก่อให้เกิดกระบวนการที่เราอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและเริ่มต้นบางอย่าง แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนได้ในวันแรกๆ แต่หากความตระหนักนั้นแข็งแรงพอ ย่อมไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับมนุษย์อย่างเรา

จักรวาลและจิตวิญญาณของอาหาร

“ดิฉันเชื่อว่าอาหารมีจิตวิญญาณนะ วันไหนต้องอาศัยอาหารนอกบ้าน รู้สึกเลยว่าอาหารมันกระด้าง มันอร่อยในแบบของลิ้นที่ติดเครื่องปรุงรสเยอะๆ จนลืมรสชาติแท้ๆ ของอาหาร ดิฉันเคยไปกินอาหารของภูฏานและทิเบต เป็นชุมชนที่ถนนยังเข้าไปไม่ถึง จึงไม่มีเครื่องปรุงรส เขาใช้เกลืออย่างเดียวนะ แต่เขาไปเด็ดผักมาจากต้น พลังชีวิตในผักยังมหาศาล ผัดง่ายๆ ปรุงรสด้วยเกลือ แต่อร่อยมาก ถ้าบ้านเรา น้ำมันหอยมาเลย ซีอิ๊วอะไรก็ไม่รู้ ปรุงเข้าไปเถอะ ทุกวันนี้ ถ้าเป็นวันพฤหัสบดี มื้อเย็นวันนั้นมันเป็นผักที่สดกรอบอร่อยมากเลยเพราะผักจากด่านช้างเพิ่งมาส่ง ดิฉันเชื่อว่าพลังชีวิตในอาหารเป็นสิ่งที่เราต้องเรียกคืนมา”

มากไปกว่านั้น สำหรับชีวิต, อาหารคือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของวัลลภา

“เราอยู่กับประชุม เราอยู่กับคอมพิวเตอร์ อยู่กับเดดไลน์เยอะแยะ แต่เมื่อได้เข้าครัว มื้อเย็นนี้เป็นมื้อที่ศักดิ์สิทธิ์มากเลย การทำอาหารมื้อเย็นของเรามันเป็นพิธีกรรม ปวดหัวเรื่องประชุมเมื่อครู่ อยู่กับการแกะกระเทียมข้างหน้ามันก็หายหมด เรารู้สึกได้พักผ่อน ได้กินอาหารที่มีรสชาติรสมือเรา แล้วเราก็ได้แชร์กับผู้คน” รอยยิ้มยืนยันชัดจนเราเห็นภาพเธอปรุงอาหารอย่างงดงามอยู่ในครัว

เราถามเธอว่า ในจักรวาลในชามข้าวของเธอ มีอาหารแบบใดบรรจุอยู่บ้าง เธอตอบอย่างเรียบง่ายว่าคืออาหารที่ดี  

“อาหารที่ดีต้องเป็นอาหารที่อย่างน้อยๆ ต้องบำรุงทั้งร่างกายและจิตใจเรา มันมีมิติเรื่องของความเป็นจริงทางกายภาพที่ทำให้เรามีเรี่ยวแรง มีพละกำลัง และมีสุขภาพที่ดี และอาหารจานนี้มันให้คุณค่าทางด้านจิตใจเรา เพราะเรามีสัมพันธภาพอยู่ในอาหาร” 

“อาหารเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีได้ มันคือสังคมที่เราเลือกอยากจะเห็นผ่านอาหาร”

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง และ เพจเฟซบุ๊ก Food Citizen