แยกแล้วก็เอาไปรวมกันอยู่ดี
ไม่รู้ว่าต้องแยกยังไงดี
อยากรู้ว่าขยะที่แยกแล้วไปไหน 

เป็นคำถามที่เราได้ยินบ่อยครั้งเมื่อพูดคุยเรื่องการจัดการขยะ

ในขณะที่อีกฟากนึงก็ได้ยินเสียงจากทีมจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่ามีระบบการจัดการและพยายามอำนวยความสะดวกสบายให้กับประชาชน ขอให้แยกมาไม่ได้เอาไปรวมแน่นอน 

เอ๊ะ แล้วความจริงคืออะไร เราควรแยกขยะยังไง ที่สบายใจคนทิ้งและไม่เพิ่มภาระให้คนเก็บ เราเลยไปตามเก็บขยะกับพี่ๆ พนักงานเก็บขยะของเขตจตุจักรเพื่อมาตอบคำถามเหล่านี้

หนึ่งวันของพนักงานเก็บขยะ

เส้นทางการเก็บขยะของ กทม. จะเเบ่งเป็น 2 โซน คือกรุงเทพชั้นในกับกรุงเทพชั้นนอก ครอบคลุม 50 เขต โดยทาง กทม. กำหนดให้ทิ้งขยะได้ตั้งแต่เวลา 18.00 -03.00 น. และเส้นทางการวิ่งเก็บแบ่งโซน ริมถนนใหญ่ ชุมชน รวมถึง ตลาด หมู่บ้าน อพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียม และ ห้างสรรพสินค้า  โดยริมถนนสายหลัก สายรอง ตลาด จะเก็บทุกวัน ตั้งแต่เวลา 18.00 – 05.30 น. ในช่วงที่มีวิกฤตฝุ่น PM2.5 จะเร่งให้เก็บเสร็จภายใน 04.00 น.

ในหนึ่งกะ จะมีพนักงานประมาณ 5 คน รวมคนขับ เริ่มเข้าประจำการตอนตีสอง ถุงมือ หน้ากากอนามัย เสื้อกั๊กเรืองแสง และรองเท้าบูต คือยูนิฟอร์มชิ้นสำคัญ พร้อมขึ้นประจำการบนรถ เมื่อจัดเก็บตามถนนและชุมชนเรียบร้อยแล้ว ปิดท้ายด้วยห้างสรรพสินค้า เก็บทั้งหมดแล้วเสร็จประมาณช่วงสายๆ จากนั้นรถขยะจะมุ่งไปยังโรงแยกขยะที่ใกล้ที่สุด ซึ่งมีที่อ่อนนุช สายไหม และหนองแขม เมื่อเทน้ำขยะและขยะเรียบร้อยก็จะวิ่งกลับเข้าอู่ ช่วยกันล้างทำความสะอาดรถ เสร็จภารกิจทั้งหมดประมาณเที่ยงวัน ถึงได้เวลาของอาหารมื้อแรก 

“เราทำงานทุกวัน จันทร์ถึงอาทิตย์ ทำมาสิบสามปี สภาพขยะก็เหมือนเดิมนะ แต่ปริมาณเพิ่มขึ้น อยากขอให้ทุกคนทิ้งให้เป็นที่ ถ้าแยกมาด้วยก็ขอบคุณมาก แต่เราก็เข้าใจว่าบางคนอาจจะไม่สะดวก บางบ้านก็แยกไว้แล้วเอามาให้เรา ขยะที่แยกไว้ก็จะมาเป็นรายได้เสริม เดี๋ยวนี้ราคามันก็ลดลงมาก จากแต่ก่อนขายได้พันนึง เดี๋ยวนี้เหลือเจ็ดแปดร้อยมาหารกันห้าคน เราทำงานทั้งเหนื่อยทั้งเลอะจากขยะ ก็จะได้ไปกินข้าวเอาตอนเสร็จงานเลย กลับถึงบ้านหัวถึงหมอนก็หลับแล้วในแต่ละวัน”

ทิ้งกันไม่มีเยื่อใย

เส้นทางที่เราไปตามดู ไล่เก็บตั้งแต่ริมถนน เข้าตลาด ชุมชน และมาจบที่ห้างสรรพสินค้า ริมถนนพหลโยธินในเวลาที่ร้างผู้คนและรถรา มีแต่กองขยะที่ถูกทิ้งไว้เป็นจุดๆ ทั้งหน้าบ้าน เสาไฟฟ้า หน้าร้านค้า ภาพตรงหน้าเราไม่ใช่ถังขยะหรือกองถุงขยะ แต่เป็นกองขยะ ที่ต้องคอยยกเท้าขยับหนีเจ้าหนูตัวโตที่ไม่ได้มีความเกรงกลัวคนแม้แต่น้อย

พี่ๆ พนักงานจะเริ่มเดินไล่เก็บขยะริมทาง ระหว่างที่รถขยะเคลื่อนตัวนำไปช้าๆ และจะจอดเมื่อเจอขยะกองใหญ่ ระยะทางกว่าสองกิโลเมตร ที่ทุกคนต้องเดินตามรถเพื่อเก็บกวาดขยะ ไม่ได้เกาะรถขยะเเละเก็บใส่ได้เลยแบบที่เราเคยจินตนาการไว้ ไม้กวาด ผ้าใบพื้นใหญ่ ถูกหยิบออกมาใช้เพื่อโกยขยะบนพื้นขึ้นรถ ขยะในถุงจะถูกเทออกเพื่อแยกเอา พลาสติก ขวดน้ำ กระป๋อง อะลูมิเนียม ขวดแก้ว เก็บใส่ถุงกระสอบที่พนักงานผูกไว้ท้ายรถ 

พี่ๆ เล่าว่า เนื่องจากเหตุการณ์วางระเบิดเมื่อหลายปีก่อน ถังขยะสาธารณะจึงถูกนำออกไปเพื่อความปลอดภัย โดยขอความร่วมมือให้ทุกบ้านนำขยะใส่ถุงแล้ววางไว้ที่หน้าบ้านของตน มีหลายบ้านที่ทำตาม แต่ก็ยังมีอีกหลายบ้านที่ต้องขอความร่วมมือเพิ่ม หลายบ้านไม่ยอมเอาขยะวางไว้หน้าบ้านตัวเอง แอบไปวางไว้หน้าบ้านคนอื่นเกิดเป็นเรื่องเป็นราวก็มี พอมีขยะไปสุมไว้ที่ใดที่หนึ่ง คนก็มาทิ้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นกองขยะอย่างที่เห็น

เราไปต่อกันที่ ตลาด แบ่งเป็นสองทีม ทีมหนึ่งยกถังสีน้ำเงินบรรจุเศษผักสดและถุงพลาสติกรวมกันประมาณ 10 ถัง ค่อยๆ ถูกยกเทใส่รถ ส่วนอีกสองคนจะแยกพลาสติกออกเท่าที่จะแยกได้ ดีขึ้นมานิดที่คราวนี้ขวดแก้วถูกแยกใส่ลังมาให้ด้วย ช่วยให้พี่ๆ ทำงานได้ง่ายขึ้น

เมื่อเสร็จจากตลาดเราไปต่อกันที่ ชุมชน โดยจะมีจุดจอดรถประจำอยู่ พี่สองคนจะยกถังสีน้ำเงินขึ้นรถเข็นเพื่อไปตามเก็บขยะตามซอยเล็กซอยน้อย และพื้นที่ที่รถขยะเข้าไม่ถึง ขยะถังแล้วถังเล่าถูกเข็นออกมานับครั้งไม่ถ้วนตั้งเรียงรายหลังรถขยะ คาดคะเนความหนักได้ประมาณแรงผู้ชายสองคนยก คราวนี้มีอุปกรณ์เพิ่มขึ้นมา เป็นตะขอเหล็กไว้เกี่ยวถังขยะเพื่อทุ่นแรง

สิ่งที่พนักงานเก็บขยะต้องเจอคือการโดนของแหลมบาด เพราะถุงสีดำทำให้ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ด้านใน บางทีไม่รู้ว่ามีแก้วอยู่ ถ้าแตกก็เพิ่มความอันตราย การใช้มือโกยเพื่อแยกขยะนั้นก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ บวกกับการทำงานตอนกลางคืน บางทีไม่เห็นว่ามีของแหลมแทงออกมาจากถุงโดนบาดขาเหวอะมาก็บ่อย ถึงจะเคยได้ยินเรื่องนี้มาบ้าง แต่น้ำเสียงราบเรียบที่เขาเล่าให้เราฟังราวกับการบาดเจ็บนั้นเป็นเรื่องปกติ ทำให้เราพูดไม่ออก 

“นอกจากเรื่องอันตรายแล้ว ก็จะมีพวกเรื่องร้องเรียน เช่น ทิ้งขยะไม่เป็นที่ บางทีมีการเปิดตลาดนัดใหม่ไม่แจ้งกับทางเขต แต่ทิ้งขยะไว้ คนแถวนั้นก็โทรมาร้องเรียน ทิ้งไม่เป็นที่ ขยะของเขาแต่เขาไม่อยากให้อยู่หน้าบ้านเขาน่ะ หรือร้องเรียนว่ารถขยะทำเสียงดัง ยกถังกระแทกประชดเขาหรือเปล่า เราก็ต้องพยายามอธิบายว่ามันหนักจริงๆ 

“หรือบางอพาร์ตเมนต์ เขาไม่อยากให้เราไปจอดรถใกล้ๆเพราะส่งกลิ่นเหม็น แต่เราก็ต้องไปเก็บขยะจากตึกเขาไง เราก็ทำได้ด้วยการไปจอดไกลๆ แล้วใช้ขนเข้าไปเข็นออกมา หรือร้องเรียนว่าทำงานเสียงดังตอนกลางคืน อันนี้เราก็พยายามอธิบายเราต้องทำตอนกลางคืน เพื่อลดปัญหารถติดและฝุ่นควันด้วย เราไม่ได้บอกให้มาเห็นใจ แต่เราอยากให้เข้าใจมากกว่า ถ้าทุกคนช่วยกันมันก็จะทำงานได้เร็วขึ้น” 

ปลายทางสุดท้ายของวันนี้คือ ห้างสรรพสินค้า รถขยะจอดเทียบหน้าห้องขยะเปียก และขยะแห้ง แต่ภาพที่เห็นเมื่อเปิดประตูทั้งสองห้อง คือห้องขยะแห้งที่ว่างเปล่า และกองขยะทั้งเปียกและแห้งถมสูงยันเพดานในห้องขยะเปียก ยอมรับตามตรงว่านาทีนั้นเราโกรธกับสิ่งที่เห็น 

หลายชั่วโมงที่เราติดตามการทำงานของพี่ๆ เราเห็นถึงความตั้งใจ การทำงานหนัก และประสิทธิภาพการทำงาน ถังขยะหลายประเภทที่ตั้งกันไว้ในห้าง ความสับสนของคนที่ไม่รู้จะแยกอย่างไร เจ้าถุงพลาสติกที่เราพยายามแบนกัน การรณรงค์มากมาย ห้องแยกขยะที่สร้างไว้ ปัญหาขยะไม่ใช่เรื่องที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหาได้เพียงลำพัง 

คำถามจึงกลับมาที่ตัวเองว่า เราในฐานะคนทิ้ง เราเป็นคนทิ้งที่มีประสิทธิภาพแค่ไหน? 

สูตรแยก 3 ถัง: ทั่วไป รีไซเคิล อันตราย

ปัญหาหลักที่ทำให้ขยะทั้งหลายไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ คือ การที่ขยะเปียกกับขยะแห้งทิ้งรวมกัน เกิดการเน่าเสีย และแยกภายหลังได้ยาก ทำให้วัสดุบางชนิดที่รีไซเคิลได้ ไม่สามารถเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้

กทม. ได้ปล่อยรถขยะรุ่นใหม่ โดยมีช่องแยกขยะรีไซเคิลและขยะอันตรายที่ด้านหน้า และขอความร่วมมือประชาชน แยกขยะเป็น 3 ประเภท 

1. ขยะทั่วไป หรือ ขยะเปียก หมายรวมถึงทุกอย่างที่รีไซเคิลไม่ได้ โดยทำสัญลักษณ์ สีน้ำเงิน

2. ขยะรีไซเคิล หรือ ขยะแห้ง คือ ทุกอย่างที่คิดว่ารีไซเคิลได้ พลาสติก กระดาษ อะลูมิเนียม ทำสัญลักษณ์ สีเหลือง 

3. ขยะอันตราย คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ รวมถึงยาและเครื่องสำอางหมดอายุ ทำสัญลักษณ์ สีส้ม

ขยะทั่วไป ซึ่งมีปริมาณ 10,500 ตันต่อวัน จะนำไปจัดการ 3 วิธี คือ ฝังกลบ ทำปุ๋ยหมัก และเทคโนโลยีเตาเผา และกำลังทดลองเทคโนโลยีชีวภาพเชิงกล (MBT) ด้วย ขยะประเภทวัสดุรีไซเคิล ส่งเสริมให้คัดแยกแล้วขายให้กับร้านรับซื้อ ซาเล้ง ให้พนักงานเก็บขยะ หรือนำมาทิ้งที่จุดวาง แล้วเจ้าหน้าที่จะนำมาแยกไว้ที่ท้ายรถ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นรายได้เสริมของพนักงานด้วย ส่วนของที่ยังตกค้างปะปนจะถูกส่งไปยังโรงแยกขยะของ กทม.  ส่วน ขยะอินทรีย์ คือเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ ยังไม่มีระบบจัดเก็บจากบ้านเรือน แต่รับเก็บจากสถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า หน่วยงานราชการ อาคารสำนักงาน ตลาด เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก และอาหารสัตว์ ส่วนนี้เราควรแยก ไม้จิ้มฟัน กระดาษทิชชู่ ถุงขนม ถุงพลาสติก และไม้เสียบลูกชิ้นออกด้วย  

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการอื่นๆ จาก กทม. เช่น กำหนดช่วงเวลาการทิ้งขยะไว้ที่ 18.00-03.00 น. เพื่อให้สามารถจัดเก็บได้ภายใน 5.30 น. เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและฝุ่น PM 2.5 ขยะชิ้นใหญ่และขยะอันตรายสามารถเรียกให้ไปรับหรือนำมาทิ้งที่เขตได้ทุกวันอาทิตย์ 

ขยะเปียก vs ขยะแห้ง vs ถุง

  • แก้วน้ำเป็นขยะเปียกหรือแห้ง ตอบ ขยะแห้ง ทิ้งถังรีไซเคิล ให้ดูจากตัววัสดุหลักว่าเป็นพลาสติก มีลุ้นเอาไปรีไซเคิลได้ แต่ก่อนทิ้งลงถัง เทน้ำออกก่อนก็จะดีขึ้นไปอีกนะ
  • ภาชนะกระดาษ เป็นขยะเปียกหรือแห้ง ตอบ ขยะเปียก เมื่อกระดาษเปื้อนคราบน้ำมัน เศษอาหารแล้ว จะนำไปรีไซเคิลไม่ได้  
  • ถุงพลาสติกต้องทิ้งถังไหน ตอบ ขยะทั่วไป รวมทั้งโฟม หนัง เศษผ้า ยาง ซองขนม กทม. สามารถเอาไปเผาเป็นเชื้อเพลิงได้ แต่ต้องแยกออกจากเศษอาหาร 


ชวนมาทิ้งกันอย่างมีเยื่อใย

นอกจากแยกขยะสามถังแล้ว อยากชวนมาทิ้งขยะแบบมีเยื่อใยให้พนักงานเก็บขยะทำงานได้ง่ายขึ้นอีกนิด

  • ทิ้งให้เป็นที่ ถ้าตรงนั้นไม่มีถังโปรดอย่าทิ้ง กองขยะไม่เท่ากับถังขยะ
  • ทิ้งขยะใส่ถุงใบใหญ่ ทิ้งขยะให้ลงถัง 
  • ถ้ามีขยะอย่าเก็บไว้นานจนเน่า เอามาทิ้งได้เลย พี่มาเก็บทุกวัน 
  • หลีกเลี่ยงการมัดแยกเป็นถุงขยะย่อยเล็กๆ เพราะเป็นการเพิ่มขยะในขยะ และแยกต่อได้ยาก
  • หลีกเลี่ยงการทิ้งขวดแก้วในถุงดำหรือถุงสีทึบ 
  • ห่อหุ้มของมีคมให้มิดชิด รวมทั้งไม้เสียบลูกชิ้น หักให้เป็นท่อนสั้นลง หรือทำสัญลักษณ์แยกออกมาให้ชัดเจนว่าของมีคม อันตราย
  • เลือกใช้ถุงขยะสีใส ให้มองเห็นว่าข้างในมีอะไร ลดเวลาและความเสี่ยงในการเปิดถุง
  • เลือกใช้ถุงที่มีความหนา ให้เหมาะกับปริมาณและน้ำหนักของขยะ ถุงบางใส่ของหนักแค่ยกก็ขาดแล้ว 
  • เทน้ำออกจากแก้ว ขวด กระป๋อง ก่อนทิ้ง ช่วยลดน้ำหนักขยะ ลดความเน่าเหม็นได้มากเลย
  • กระดาษลังมัดแยกออกมาเอาไปขายต่อได้
  • แยกหน้ากากอนามัย ใส่ในถุงใสให้เห็นชัด หรือทิ้งรวมกับทิชชู่ในห้องน้ำ ผ้าอนามัย
  • แยกทิชชู่ในห้องน้ำ ห่อผ้าอนามัย ใส่ในถุงใส เพื่อให้เห็นชัดจะได้ไม่ต้องเปิด
  • ขยะเศษอาหาร แยกไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบลูกชิ้น ทิชชู่ ถุงพลาสติกออกก่อน

แม้สถานการณ์ขยะของกรุงเทพฯ ในวันนี้จะอยู่ในขั้นวิกฤตและขาดความรู้ความเข้าใจ แต่สุดท้ายแล้วเราเชื่อว่าเรื่องนี้ยังมีความหวังอยู่มาก เพราะพลังในการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่มีพวกเราทุกคน เริ่มจากแยกขยะที่บ้านของตัวเอง แชร์เรื่องราวต่อไปให้คนอื่น บอกต่อเพื่อนๆ นึกถึงใจพี่ๆ นักเก็บขยะกันอีกหน่อย หากทุกคนปรับกันคนละนิด จะช่วยให้เรื่องนี้ดีขึ้นได้เยอะเลย  

ภาพถ่าย: สราลี สิทธิการุณ