ใครหลายคนน่าจะมีกองหนังสือทั้งเก่าและใหม่เข้าคิวรออ่าน แต่พอถึงงานหนังสือทีไรก็อดใจไปหิ้วกลับมาเพิ่มไม่ได้ และเชื่อว่าบรรดาคนรักหนังสือย่อมอยากส่งต่อหนังสือที่รักให้คนอื่นได้อ่านต่อ การจัดการหนังสือเก่าในบ้านจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยาก ที่จะทิ้งก็เสียดาย จะเก็บไว้ก็พื้นที่ไม่พอ 

เราอยากพาไปดูวิธีส่งต่อหนังสือของชาวนิวยอร์กเกอร์ ซึ่งแก้ได้ 2 ปัญหาด้วยการส่งต่อหนังสือเพียงเล่มเดียว เรากำลังพูดถึง Books Through Bars แพลตฟอร์มรับบริจาคหนังสือและส่งต่อให้คนในเรือนจำ โดยอาสาสมัครจะมารวมตัวกันเพื่อตอบจดหมายจากคนรักหนังสือหลังลูกกรง แล้วจัดส่งหนังสือให้ตามคำขอ 

การเข้าถึงหนังสือ คือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นที่เมืองฟิลลาเดเฟีย ก่อนจะขยายสาขามาสู่นิวยอร์กเป็น Books Through Bars NYC ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนที่มีมุมมองหลากหลายต่อระบบเรือนจำ มีทั้งคนที่เชื่อในการเลิกทาส คนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ต้องขัง พวกเขาต่างรู้สึกไม่พอใจที่ลูกกรงไม่เพียงแค่พรากอิสรภาพจากผู้ต้องขัง หากแต่ยังกักขังพวกเขาจากการเรียนรู้อีกด้วย พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อเชื่อมผู้ต้องขังกับหนังสืออีกครั้ง ด้วยความเชื่อว่า การอ่านออกเขียนได้และการเข้าถึงหนังสือ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

“ทำไมฉันถึงเป็นผู้ต้องหาจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าฉันบริสุทธิ์ ทำไมฉันไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าฉันทำผิดจริง” เป็นคำถามที่เราเองจำได้แม่น จากการฟังบรรยายเรื่องระบบความยุติธรรมในอเมริกา 

เมื่อทำผิดก็ต้องได้รับโทษ นี่เป็นกฏของการอยู่ร่วมกันในสังคม ทว่าระบบของอเมริกา เมื่อเกิดคดี บุคคลนั้นจะกลายเป็นผู้ต้องหาและส่งฝากขังทันที กระบวนการเรียกร้องและพิสูจน์ความบริสุทธิ์จำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินการ เรือนจำของอเมริกาจึงกลายเป็นสถานที่ที่เข้าง่ายแต่ออกยาก และยิ่งทวีความรุนแรงสำหรับคนจนและคนผิวสี สำหรับคนกลุ่มนี้ พวกเขาไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง

ในห้องขังขนาดเล็กที่คำถามว่า ทำไมในนี้ถึงมีแค่คนผิวสีกับคนจน? สะท้อนกลับไปกลับมา หนังสือจึงเป็นความบันเทิงเพียงไม่กี่อย่างที่พอจะบรรเทาความทุกข์ และเป็นประตูให้พวกเขาเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้บ้าง 

ทว่าห้องสมุดในเรือนจำมักจะขาดแคลนหนังสือใหม่ๆ หนังสือไม่พอ ขาดการจัดการ เนื่องจากมีงบไม่เพียงพอ Books Through Bars จึงใช้วิธีส่งหนังสือโดยตรงให้ผู้ต้องขังตามคำขอแทนการบริจาคให้ห้องสมุด โดยทีมจะเข้าไปแนะนำโปรแกรมนี้ในเรือนจำและผ่านการบอกต่อแบบปากต่อปากของผู้ต้องขัง หลายครั้งทีม BTB พบว่าจดหมายหนึ่งฉบับบรรจุคำขอมาจากหลายคน เพราะว่าผู้ต้องขังบางคนไม่สามารถเขียนได้ จึงเกิดเป็นกลุ่มช่วยเหลือกัน และส่งต่อหนังสือให้กันเองระหว่างผู้ต้องขังอีกด้วย 

Books Through Bars จึงไม่ใช่แค่คนส่งหนังสือ แต่เป็นคอมมูนิตี้ให้ผู้ต้องขังได้มีปฏิสัมพันธ์กันในโลกภายในเรือนจำ และได้ปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ภายใต้เป้าหมายหลักที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา 

จดหมายรัก จากนักอ่าน

แต่ละสัปดาห์ Books Through Bars ได้รับจดหมายหลายร้อยฉบับจากเรือนจำทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เหล่าอาสาสมัครจะมารวมตัวกันอาทิตย์ละสองครั้ง ที่ชั้นใต้ดินของร้านหนังสือ Freebird ซึ่งตอนนี้ได้ถูกแปลงให้เป็นคลังหนังสือที่รับบริจาคมาของ BTB เหล่าอาสาสมัครมารวมตัวกันเพื่อเปิดจดหมาย คัดเลือกหนังสือให้ตรงกับคำขอมากที่สุด ชั่งน้ำหนัก และห่อส่งไปรษณีย์ 

นอกจากจดหมายขอหนังสือแล้ว บางครั้งมีจดหมายเขียนมาขอบคุณสำหรับหนังสือที่ส่งไปให้ พร้อมเล่าว่าหนังสือช่วยชีวิตพวกเขาไว้อย่างไรบ้าง ไปจนถึงภาพวาดส่งกลับมาแทนคำขอบคุณด้วย เป็นมิตรภาพน่ารักๆ ที่ทีมเก็บจดหมายเหล่านี้ไว้ทั้งหมด

ถ้าอยากพักจากโลกตรงหน้า จงหยิบหนังสือสักเล่มขึ้นมาอ่าน

สองข้างผนังของชั้นใต้ดินแห่งนี้แน่นไปด้วยชั้นวางหนังสือ ภาพที่เห็นไม่ต่างไปจากห้องสมุดขนาดย่อม หนังสือถูกจัดเรียงตามหมวดหมู่ พร้อมทำหน้าที่เป็นตั๋วใบหนาที่จะพาผู้ต้องขังไปพักผ่อนในโลกนอกกำแพง ไม่ว่าจะเป็นโลกวรรณกรรม ย้อนเวลาไปในโลกประวัติศาสตร์ หรือไปโลกอนาคตในนิยายวิทยาศาสตร์ การ์ตูน ศาสนา การเมือง ไปจนถึงเรียนรู้จากชีวประวัติคนดัง 

ที่สำคัญ บางเล่มยังพาพวกเขาไปรู้จักกับรากของตัวเอง ในหมวดหนังสือประวัติศาสตร์คนผิวสี เช่น The Black Panthers Malcolm X และเรื่องราวของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ช่วยย้ำว่าพวกเขายังมีคุณค่าและมีความหวัง ซึ่งแน่นอนว่าหมวดหนังสือส่งเสริมคนผิวสีไม่มีวันได้อยู่ในลิสต์ของห้องสมุดเรือนจำแน่นอน โดยหนังสือที่ได้รับคำขอมากที่สุด คือพจนานุกรม ตามด้วยเรื่องเกี่ยวกับคนผิวสี และนิยายสืบสวนสอบสวน 

BTB รับบริจาคหนังสือทุกประเภท ยกเว้นนิตยสาร ขอแค่ไม่มีไฮไลต์หรือรอยขีดเขียนในหนังสือ เนื่องด้วยกฏที่เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยของเรือนจำ เรือนจำส่วนใหญ่จะรับบริจาคหนังสือที่มาจากร้านหนังสือเท่านั้น บางที่ไม่อนุญาตให้ญาติหรือบุคคลส่งหนังสือใช้แล้วให้ผู้ต้องขังโดยตรง (เพื่อกันการติดต่อ ส่งโค้ดลับ หรือแอบยัดสิ่งของไว้ในหนังสือ) หนังสือทุกเล่มที่ส่งจากที่นี่จึงถูกส่งในนาม Bluestocking Bookstore

นอกจากนั้น ในเรือนจำแต่ละที่ก็จะมีรายละเอียดความเข้มงวดที่ต่างกันไป ซึ่งจะโน้ตไว้ที่หน้าซองจดหมาย เช่น ต้องเป็นหนังสือใหม่เท่านั้น ห้ามเป็นปกแข็ง เพื่อกันการนำไปเป็นอาวุธทำร้ายกันและกันการแอบยัดยาเสพติดในสันหนังสือ ขอใบ Invoice เพื่อแจงรายละเอียดและจำนวนหนังสือ เป็นต้น

อย่างเช่น จดหมายที่เราเปิดวันนี้ เขาเขียนมาขอหนังสือที่เกี่ยวกับยุคกลาง หรือ Midieval โชคดีที่มีหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะพอดี แต่เป็นปกแข็ง จึงต้องตัดเอาปกและสันแข็งที่หุ้มทั้งหมดออก หลังจากหาหนังสือได้ครบตามลิสต์แล้ว ก็นำมาชั่งน้ำหนัก เนื่องจากเวลาส่งจะต้องติดแสตมป์ตามน้ำหนัก ถ้ามีเศษมาเล็กน้อย เราต้องหาหนังสือมาเพิ่มเพื่อให้คุ้มค่าแสตมป์มากที่สุด โดยส่วนมากเฉลี่ยคนนึงจะได้ 3-5 เล่ม

“มากเล่ม ย่อมดีกว่าน้อย” ราเชล ทีม BTB บอกกับเราแบบนั้น 

นอกจากนี้ความน่ารักอีกอย่าง คือ กระดาษที่นำมาห่อพัสดุ ก็เป็นการรีไซเคิลจากถุงกระดาษของซุปเปอร์มาร์เก็ตด้วย เมื่อห่อเสร็จ จากนั้นประทับตราว่าเป็น Media mail เพื่อลดค่าสแตมป์ แปะที่อยู่จัดส่ง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย 

Books Through Bars NYC เปิดรับบริจาคหนังสือตามจุดต่างๆ ทั่วนิวยอร์ก ร้านหนังสือ Freebird Books & Goods ในเวลากลางวัน หรือนำมาให้โดยตรงในชั่วโมงอาสา ทีมดำเนินการด้วยแรงอาสาสมัครทั้งหมด ดังนั้น รายจ่ายหลักจึงเป็นส่วนของค่าแสตมป์ในการส่งเท่านั้น และบางครั้งถ้ามีคำขอหนังสือเฉพาะที่ไม่มีในคลังบริจาค ก็จะโพสต์ขอรับบริจาคตามรายชื่อ หรือเปิดรับบริจาคเงินมาใช้ซื้อหนังสือ และใช้เป็นค่าส่งไปรษณีย์ 

สำหรับเรา Books Through Bars เป็นอีกตัวอย่างของการจัดการขยะในบ้าน ให้สามารถแก้ได้สองปัญหาในครั้งเดียว 

ภาพถ่าย: Parppim Pim