ช่วงนี้สถานการณ์ไวรัส COVID-19 กำลังระบาด รัฐบาลและหลายหน่วยงานออกมารณรงค์ให้อยู่บ้าน ลดการรวมตัวและรับประทานอาหารในร้าน รวมทั้งงดใช้ภาชนะส่วนตัวในร้านค้าทั่วไป ทำให้ทุกคนต้องปรับไลฟ์สไตล์มาอยู่กับบ้านมากขึ้น สั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น และคงหนีไม่พ้นปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน (และอาจจะน้ำหนักมากขึ้นด้วย!)

ถึงเเม้หลายคนจะปรับตัวทำงานจากที่บ้าน (work from home) ได้ แต่ยังมีอีกหลายอาชีพที่ยังต้องออกจากบ้านไปปฎิบัติหน้าที่และทำงานหนักขึ้นในช่วงนี้ หนึ่งในนั้นคือพนักงานเก็บขยะ 

ท่ามกลางกองขยะในบ้านที่เพิ่มมากขึ้น ในระหว่างที่อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ อยากชวนมา อยู่บ้าน เเยกขยะติดเชื้อ เพื่อพนักงานเก็บขยะและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันได้ด้วย 

วิธีแยกทิ้งหน้ากากอนามัย


1. พับหรือม้วนหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว โดย
หันด้านที่สัมผัสกับหน้าของเราเข้าด้านใน แล้วใช้สายคล้องหูพันโดยรอบ
2. นำใส่ถุงพลาสติกปิดปากให้มิดชิด โดยอาจรวมไว้หลายๆ อันได้ ใส่ถุงสีขาวหรือถุงใสเพื่อให้มองเห็น หรือ ติดสัญลักษณ์สีแดง ไว้ที่หน้าถุง

สามารถนำไปทิ้งได้ 2 ทาง 

1. เขียนหน้าถุงว่า หน้ากากอนามัย หรือ ทำสัญลักษณ์สีแดง รอรถขยะมาเก็บ
2. ทิ้งในถังขยะเฉพาะหน้ากากอนามัย หรือทิ้งที่ถังขยะติดเชื้อหรือขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ที่ทาง กทม. เตรียมไว้ให้ 

  • สำนักงานเขต 50 เขต
  • ศูนย์บริการสาธารณสุข 
  • โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
  • ศาลาว่าการกรุงเทพ (เสาชิงช้า)
  • ศาลาว่าการกรุงเทพ (ดินแดง)

อย่าลืมล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังทิ้ง

วิธีแยกทิ้งขยะจากผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสผู้ป่วย COVID-19
ผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้กักตัว
 

แบ่งเป็น 3 ประเภท

1. ขยะมูลฝอยที่ปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งจากผู้ป่วย เช่น หน้ากากอนามัย ทิชชู่ เป็นขยะติดเชื้อ ให้ใส่ในถุงสีแดง ซ้อนถุง 2 ชั้น สเปรย์ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ทิ้งในถังขยะติดเชื้อ หรือทำสัญลักษณ์ให้เห็นชัดเจนว่าเป็นขยะติดเชื้อ ขยะติดเชื้อทั้งหมด ทาง กทม. จะส่งให้บริษัทกรุงเทพธนาคม นำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตามูลฝอยติดเชื้อ ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช 

2. อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าปูเตียง และอื่นๆ ไม่ต้องทิ้ง สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยซักทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกชนิดเข้มข้น และน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์, เดทตอล(รุ่นมงกุฏสีฟ้า), Clorox ในอัตราส่วน 1:10 หรือตามที่ผู้ผลิตกำหนด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำกลับมาใช้ต่อได้ 

3. ขยะทั่วไปในสถานที่ทำงาน บ้าน สถานประกอบการร้านค้า ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อ ให้สเปรย์พ่นด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์, เดทตอล (รุ่นมงกุฏสีฟ้า) , Clorox ในอัตราส่วน 1:10 หรือตามที่ผู้ผลิตกำหนด ใส่ถุงให้มิดชิด ทิ้งในถังขยะทั่วไป (จะน่ารักขึ้นอีกนิด ช่วยติดป้ายห้ามเปิดเพื่อบอกพนักงานเก็บขยะกันการเปิดถุง) ขยะส่วนนี้จะถูกส่งไปกำจัดด้วยวิธีการเผา ในเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชน ที่ศูนย์กำจัดฯ

วิธีแยกทิ้งบรรจุภัณฑ์อาหาร 

อันนี้น่าจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุด เพราะสั่งอาหารแต่ละทีก็มาพร้อมกองทัพแพ็กเกจ ทั้งช้อน ส้อม หลอด กล่องข้าว ถ้วยซุป ถุงน้ำจิ้ม สารพัดแบบ แถมช่วงนี้ชาวกรีนยังไม่สามารถนำภาชนะส่วนตัวไปที่ร้านได้อีก 

  • พลาสติก ล้าง ทิ้งใส่ถังขยะรีไซเคิล ส่วนนี้สามารถรวมกันได้หมด ทั้งกล่องอาหารพลาสติก ขวดน้ำ ถ้วยน้ำจิ้ม แก้วน้ำ หลอด ฝาขวด 
  • อาหารกระป๋อง กระป๋องน้ำอัดลม ทิ้งใส่ถังขยะรีไซเคิลรวมกับขยะรีไซเคิลอื่นๆได้เลย ส่วนนี้การล้างคราบอาหารไม่มีผลต่อการรีไซเคิล แต่จะช่วยลดการเน่าเหม็นจากการสะสมไว้ในบ้านเรา

  • ถุงพลาสติก ถุงกับข้าว ถุงขนม ทิ้งในขยะทั่วไป แต่ถ้าอยากแอดวานซ์ขึ้นอีกนิด สามารถล้างแล้วตากให้แห้ง เก็บรวบรวมไว้ เอาไปทิ้งในถังขยะที่มีสัญลักษณ์ Won ที่สำนักงานเขต กทม.ได้
  • กล่องอาหารกระดาษ แก้วน้ำแบบกระดาษ แก้วน้ำ แก้วกาแฟหรือกล่องอาหารที่มีฟิล์มพลาสติกเคลือบเพื่อให้กันน้ำหรือกันคราบมัน (ลองลูบดูได้) ไม่สามารถย่อยสลายได้ ให้ทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

  • กล่องอาหารแบบชานอ้อย สามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้ ทิ้งรวมกับขยะเศษอาหารได้เลย หรือทิ้งในขยะทั่วไป 
  • ผลิตภัณฑ์ biodegradable หรือผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เช่น ช้อนส้อม กล่องอาหาร แก้วน้ำ หลอด ของประเภทนี้ที่ tricky (เหลี่ยมเยอะ) ที่สุด เพราะแม้จะแปะป้ายว่าย่อยสลายในธรรมชาติได้ แต่มักจะมีดอกจันเล็กๆ หรือสิ่งที่คนมักไม่ค่อยพูดถึงคือ ย่อยสลายได้ในธรรมชาติที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งธรรมชาติที่เหมาะสมนั่นเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้โดยที่เราไม่อาจรู้ได้เลย บางชิ้นอาจย่อยสลายได้ในดินภายใน 45 วัน แต่หากลงน้ำหรือลงทะเลก็จะไม่สามารถย่อยสลายได้ วิธีที่ควรทิ้งตอนนี้คือรวมกับขยะทั่วไป นอกจากนั้น ลองมองหาสัญลักษณ์ไม่รับช้อนส้อม ตอนนี้หลายแอปฯ มีฟังก์ชั่นนี้ให้กด หรือเขียนโน้ตปฏิเสธช้อนส้อม เพื่อลดขยะจากต้นทาง
  • ผลิตภัณฑ์ compostable คือผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ (biodegradable) แต่แตกต่างจาก biodegradable ตรงที่วัสดุนี้เมื่อย่อยสลายมีสารอาหารต่อพืชและคุณค่าต่อดิน สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย จึงสามารถทิ้งรวมกับขยะเศษอาหาร เอาไปทำปุ๋ยได้เลย 

วิธีแยกทิ้งเศษอาหาร

ส่วนนี้ต้องทิ้งทุกวันกันเน่าเสีย หากมีไม่มากและไม่อยากนำออกไปทิ้งบ่อยๆ ขอแนะนำให้แยกใส่ถุงพลาสติกหรือกล่องขนาดเล็กรวมกัน แล้วนำไปแช่ในช่องแช่แข็งเพื่อลดกลิ่นและการเน่าเหม็นไว้ก่อน รอให้มีปริมาณมากแล้วนำไปทิ้งทีเดียว หรือนำไปทิ้งที่สำนักเขตใกล้บ้านได้ ทาง กทม. จะนำไปทำปุ๋ยหมักต่อ วิธีนี้ยังช่วยลดปริมาณของขยะถุงพลาสติกได้อีกด้วย

หรือหากใครอยากลองทำปุ๋ยหมักเองที่บ้าน ก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดย หาถังมาใส่ หรือขุดหลุมฝัง ส่วนประกอบสำคัญ คือ

1. เศษอาหาร โดยแยกน้ำออก หากมีเศษอาหารชิ้นใหญ่ให้สับก่อน ควรมีผลไม้หรือใส่น้ำตาลเพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์
2. จุลินทรีย์ ควรเป็นประเภทที่ใช้ออกซิเจน จะช่วยให้ไม่ส่งกลิ่นเหม็นและไม่ทำให้เกิดน้ำเสีย สามารถหาซื้อได้จากน้ำหมัก หรือพบในมูลสัตว์
3. เศษใบไม้แห้ง วางคลุมด้านบน

**ต้องแยก ทิชชู่ ไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบลูกชิ้นออก พวกนี้ไม่สามารถย่อยเป็นปุ๋ยได้

ไม่รู้ว่าการอยู่บ้านครั้งนี้จะยาวนานแค่ไหน แต่เราเชื่อว่าในทุกวิกฤตนั้นมีโอกาสเสมอ ถือซะว่าเป็นโอกาสดีในการกลับมาอยู่บ้าน กลับมาดูแลตัวเอง และคนอื่นไปพร้อมกันเท่าที่จะทำได้เนอะ 

รักษาสุขภาพนะคะ 🙂

ภาพถ่าย: Parppim Pim
ที่มาข้อมูล: สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.