หลังจากที่เราพยายามใช้ชีวิตด้วยการลดใช้ขยะ และแยกขยะ แต่บางครั้งเราก็พบว่าถึงจะแยกขยะจากในห้องของเราแล้ว พอเอาออกไปทิ้งที่ส่วนกลางกลับไม่มีถังให้เราทิ้ง ต้องถูกโยนรวมกันอยู่ดี มีใครเจอปัญหานี้เหมือนกันไหมคะ?

นิทรรศการ Designing Waste: Strategies for a Zero Waste City ที่ The Center of Architecture ณ มหานครนิวยอร์ก เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ และเชื่อว่าสถาปนิกรวมทั้งนักออกแบบสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหานี้ได้เช่นกัน เพื่อส่งเสริมให้นิวยอร์กรุกสู่เป้าหมายการเป็นเมืองปลอดขยะภายในปี ค.ศ. 2030 จึงผลักดันให้เกิดการร่วมมือระหว่างดีไซเนอร์ สถาปนิก และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ เพื่อมองหาวิธีการที่จะนำความรู้ความสามารถด้านการออกแบบ มาใช้ออกแบบกลยุทธ์เพื่อลดขยะร่วมกัน

ปี 2016 พวกเขามารวมตัวกันเพื่อสร้าง the Zero Waste Design Guidelines เป็นไกด์ไลน์ในการออกแบบอาคารอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable architecture) ซึ่งไม่ใช่แค่การออกแบบแล้วจบ แต่มีการติดตามงานหลังการออกแบบเพื่อนำไปพัฒนางานชิ้นต่อไป โดยโฟกัสที่การจัดการขยะในมุมของการจัดเก็บ พื้นที่ในการแยกและจัดเก็บ รวมไปถึงเส้นทางขนส่งขยะที่ส่งผลต่อทางเดินรอบอาคารด้วย โดยเริ่มจากการแบ่งเส้นทางของขยะออกเป็น 4 ช่วงที่น่าสนใจ คือ 1 จากมือผู้อาศัยไปถึงที่ตั้งถังขยะ 2 เส้นทางลำเลียงขยะในอาคาร 3 ที่จัดเก็บและแยกขยะส่วนกลางในอาคาร และ 4 ที่จัดเก็บขยะนอกอาคารระหว่างรอรถขยะมารับและทางเดิน

ตัวนิทรรศการเริ่มด้วยการเล่ากระบวนการจัดเก็บขยะในเมือง ปัจจุบันการจัดการขยะในนิวยอร์กตอนนี้คือแต่ละอาคารจะนำถุงขยะมาวางไว้บนทางเดินหน้าอาคาร หรือหน้าบ้านเพื่อรอให้รถขยะมาเก็บแบบเดียวกับบ้านเรา แต่ที่นี่รถขยะจะมี 2 ระบบคือ จาก Sanitation Department หน่วยงานของรัฐ ที่เก็บขยะจากอาคารที่พักอาศัย บริษัทเอกชน เก็บจากอาคารพาณิชย์ โดยเจ้าของอาคารเป็นผู้เลือกจ้างและรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตารางการจัดเก็บก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท โดยส่วนใหญ่รัฐจะเก็บขยะเวลากลางวัน

ส่วนเอกชนจะวิ่งรถเวลากลางคืน  จากสถิติพบว่ารถขนขยะเอกชนวิ่งในเมืองเป็นระยะทางมากกว่า 23 ล้านล้านไมล์ต่อปี จุดนี้จะทำให้เห็นว่าการทับซ้อนกันของระบบจัดเก็บก็สร้างมลภาวะเช่นกัน และเป็นจุดที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการจัดการ ซึ่งนิวยอร์กกำลังพิจารณาเรื่องการจัดโซนนิ่งเพื่อลดปริมาณการวิ่งทับซ้อนกันของรถและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน  

ต่อมาคือการอธิบายวิธีการจัดเก็บขยะแบบต่างๆ ในอาคารรูปแบบต่างกัน เช่น Corridor Chute with Central Recycling หรือ Trash room with Chute and Bins และอธิบายถึงข้อดีข้อเสียในแต่ละแบบ ส่วนต่อมาคือวิดีโอเล่าเบื้องหลังการลำเลียงขยะจากถังขยะแต่ละชั้น ไปแยกและจัดเก็บในส่วนกลาง ก่อนจะไปถึงรถขนขยะ

ทำให้เราเห็นว่า ระหว่างทางนั้นเราใช้แรงงานคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการออกแบบที่ดีนั้นไม่ใช่แค่เพื่ออยู่อาศัย แต่ต้องคำนึงถึงคนที่ทำงานส่วนนี้ แม่บ้าน ส่วนซ่อมบำรุง และออกแบบเพื่อช่วยให้พวกเขาทำงานง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่งานออกแบบสามารถเข้าไปเสริมได้ เช่น การออกแบบป้ายข้อมูลการแยกขยะ ประเภทขยะ ออกแบบขนาดของ Baler (เครื่องอัดขยะ) เพื่อออกแบบพื้นที่สำหรับเครื่องและช่วยลดพื้นที่จัดเก็บขยะ การจัดการขยะประเภทอาหารพร้อมเสนอวิธีการแก้ไข

ส่วนสุดท้ายคือ Waste Calculator ที่เราสามารถใส่จำนวนผู้ใช้งานในอาคาร ห้องพัก แล้วโปรแกรมจะคำนวนปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นต่อปี แยกตามประเภท พร้อมเสนอทางเลือกในการจัดการทั้งเชิงพื้นที่ในการจัดเก็บและเวลา เข้าไปลองกดเล่นได้ ที่นี่

ปัญหาขยะนั้นทุกคนสามารถช่วยกันแก้ได้ ถึงแม้ว่านิทรรศการนี้จะมีเป้าหมายในการเสนอทางแก้ปัญหาเน้นไปที่มุมมองและหน้าที่ของสถาปนิก แต่นั่นทำให้เราเห็นว่า

ทุกอาชีพสามารถมีส่วนร่วมต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และนำความถนัดของตนเองมาสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้เรายังสามารถนำข้อมูลมาปรับใช้ เพราะการจัดการขยะนั้นสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในบ้านและที่ทำงานของเราเอง บางทีแค่การเปลี่ยนที่ตั้งถังขยะก็อาจช่วยลดปริมาณขยะได้เหมือนกัน

สนใจรายละเอียดของไกด์ไลน์สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.zerowastedesign.org

ภาพถ่าย: Parppim Pim