โลกที่คนกินเห็ด

‘เห็ดรา’ เป็นหนึ่งในสมาชิกของตระกูลฟังไจ (Fungi) หรืออาณาจักรของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่พืชและไม่ใช่สัตว์ สมาชิกของครอบครัวนี้ที่เราคุ้นเคยกันดี ก็เช่น เห็ด รา ยีสท์ เป็นต้น เห็ดราเป็นของกินได้ แต่หากได้ยินคำว่าเห็ดราแล้วนึกถึงภาพราสีดำบนขนมปังแล้วละก็ ก่อนจะร้องยี้ เราข้อแก้ตัวแทนพวกเขาว่านั่นเป็นเพียงแค่สมาชิกตัวเล็กของครอบครัวเท่านั้น รสเปรี้ยวในอาหารหลากชนิดที่เราหลงใหล เช่น โยเกิร์ต ครีมชีส คอมบูชา แหนม ไปจนกลิ่นแอลกอฮอล์ในเบียร์และไวน์ ล้วนเป็นผลผลิตจากพี่น้องเห็ดราชนิดดีทั้งนั้น

รู้ไหม เห็ดกินพลาสติกได้

ฟังไจแต่ละชนิดจะมีการกินอาหารที่ต่างกันไป รสชาติเปรี้ยวและแอลกอฮอลล์ที่เราทานกันนั้น เกิดจากการย่อยน้ำตาลของเชื้อเห็ดราสายหวาน และด้วยคุณสมบัติของฟังไจที่กินอาหารด้วยการย่อยสลายวัสดุต่างๆ ในธรรมชาติ จึงเริ่มมีคนนำฟังไจมาทดลองย่อยสลายขยะชีวภาพ 

มากกว่านั้น ปัจจุบันวิทยาศาสตร์มีการค้นพบเห็ดราหลายชนิดที่สามารถย่อยพลาสติกได้ เช่น Aspergillus Tubingensis ในปากีสถานที่สามารถเติบโตบนพลาสติกชนิด PU ช่วยลดเวลาการย่อยสลายของพลาสติกได้หลายปี โดยเห็ดราชนิดนี้จะปล่อยเอนไซม์ที่ช่วยสลายพันธะระหว่างโมเลกุลของพลาสติก การกินพลาสติกของเห็ดกำลังเป็นที่ตื่นตัวและได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ด้วยความหวังว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยลดขยะพลาสติกได้

เมื่อคนกินเห็ดที่กินพลาสติก

หนึ่งในสมาชิกตระกูลฟังไจกินพลาสติกที่น่าสนใจ คือ Schizophyllum Commune และ Pleurotus Ostreatus หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ เห็ดนางรม เห็ดราชนิดนี้สามารถพบเห็นได้ตามต้นไม้ต่างๆ และพื้นผิววัสดุที่ทำจากพืชแทบทุกที่ทั้งในยุโรป เอเชีย แอฟริกา อเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งเจ้าเห็ดราชนิดนี้เป็นสายพันธ์ุที่ถูกห้ามนำมารับประทานในประเทศอเมริกาและประเทศอังกฤษ แต่กลับเป็นที่นิยมนำมารับประทานกันอย่างแพร่หลายในประเทศเม็กซิโกและอินเดีย 

พิเศษกว่านั้นคือ นอกจากเจ้าเห็ดรานี้จะช่วยย่อยพลาสติกโดยการกินพลาสติกเป็นอาหาร เช่นเดียวกับที่ราชนิดอื่นกินขนมปังหรือเศษไม้แล้ว เจ้าเห็ดราชนิดนี้ไม่เก็บสารพิษจากการย่อยพลาสติกไว้ในตัวเอง ทำให้มันยังคงปลอดภัยต่อการนำมารับประทานต่อได้

Fungi Mutarium กล่องเพาะเห็ดย่อยพลาสติกสุดล้ำ

Katharina Unger นักออกแบบชาวออสเตรีย แห่งสตูดิโอ Livin เห็นว่าคุณสมบัตินี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะนำเชื้อเห็ดรานี้มาแก้ปัญหาขยะพลาสติก และพัฒนามันให้เป็นอาหารแห่งโลกอนาคต เธอจับมือกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Utrecht ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกแบบ Fungi Mutarium กล่องเพาะเห็ดราย่อยพลาสติกสุดล้ำเพื่อสร้างอาหารชนิดใหม่

หากพูดกันแบบวิทยาศาสตร์ Fungi Mutarium คือการทดลองสร้างชีวมวลที่กินได้จากเส้นใยรา (mycelium) ซึ่งเป็นคนละภาพกับการเพาะเห็ดแบบเกษตรกรรมที่เล่าคุ้นเคยกันอย่างสิ้นเชิง โดยทีมวิจัยและออกแบบเริ่มต้นจากการหาชนิดของเชื้อเห็ดราที่กินได้ มาทดลองเพาะบนพลาสติกหลากชนิด เพื่อศึกษาการย่อยสลายของพลาสติกและการเติบโตของเส้นใยราในรูปแบบต่างๆ จากนั้นจึงออกแบบบ้านให้เจ้าเชื้อเห็ดราได้เติบโต โดยต้องควบคุมทั้งสภาพแวดล้อมให้พอดีต่อการเติบโตปลอดจากเชื้อโรคเพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์ และได้เห็ดออกมาในรูปทรงที่น่ารับประทานด้วย

ขั้นตอนการเพาะ

1. การขึ้นรูป ขั้นนี้เปรียบเหมือนการสร้างกระถางให้เส้นใยราได้เกาะเพื่อแผ่อาณาจักร โดยทรงกลมที่เราเห็นนั้น เกิดจากกระถางที่ทีมออกแบบตั้งชื่อให้ว่า ‘FU’ หรือถ้วยทรงกลมขนาดเล็กที่ทำด้วยวุ้น (Agar) โดยวุ้นนี้ทำมาจากเจลาตินสาหร่ายทะเล ผสมกับแป้งและน้ำตาลซึ่งเป็นอาหารตั้งต้นให้เชื้อ อาจเพิ่มรสชาติอื่นๆ เช่น โกโก้ สตรอว์เบอร์รี่ และอื่นๆ ได้ตามใจชอบ รูตรงกลางมีไว้เพื่อใส่พลาสติกซึ่งจะเป็นอาหารเสริมให้เชื้อ เหตุผลที่ต้องเป็นถ้วยทรงกลมเพราะมีพื้นผิวให้เห็ดราปกคลุมได้มากและยังดูน่ารักน่ากินเหมือนเห็ดกลมๆ ในธรรมชาติ

2. เตรียมพลาสติก โดยก่อนจะนำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ต้องนำไปผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV ก่อน ซึ่งติดตั้งไว้ที่ส่วน Activation Cylinder ด้านล่างของตัว Mutarium โดยแสง UV นี้นอกจากจะช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อาจแฝงอยู่ในพลาสติกแล้ว ยังมีผลให้พลาสติกสลายตัว ซึ่งช่วยให้เชื้อย่อยสลายพลาสติกได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

3. ใช้คีมคีบ FU ไปวางลงในช่อง Growth Sphere เผื่อไม่ให้สัมผัสกับ FU โดยตรง ต้องมีการฆ่าเชื้อทุกอุปกรณ์และระวังให้ปลอดเชื้อมากที่สุด

4. ใส่ชิ้นพลาสติกเข้าไปในถ้วย FU

5. ใช้ปิเปต (pipet – อุปกรณ์ตวงวัดปริมาตร) ดูดเชื้อจากอนุบาลเห็ด ซึ่งประกอบไปด้วยเชื้อตัวแม่ในสารละลายที่เป็นอาหารเหลว

6. หยอดเชื้อเข้มข้นในสารละลายอาหารเหลวลงไปใน FU เพื่อช่วยเร่งกระบวนการเจริญเติบโต

7. ทิ้งไว้ประมาณสองถึงสามสัปดาห์ เส้นใยสีขาวจะโตขึ้นคลุมทั้งถ้วย กลายเป็นก้อนกลุ่มสีขาวนุ่มฟู พร้อมนำมารับประทาน และหากทิ้งไว้ต่ออีกหลายเดือนเชื้อจะย่อยพลาสติกภายในจนหมดได้

นอกจากนี้ทีมงานยังซน เพิ่มด้วยการออกแบบ FUNGI CUTLERY ช้อนส้อมและมีดสำหรับกินอาหารจานพิเศษนี้โดยเฉพาะอีกด้วย 

ตอนนี้ โปรเจ็กต์นี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลองและวิจัยเพิ่มเติม ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นเห็ดกินพลาสติกเป็นเมนูบนโต๊ะอาหารของเราก็ได้นะ

ที่มาข้อมูล:

www.livinstudio.com/fungi-mutarium
www.sciencealert.com/this-device-turns-plastic-waste-into-safe-edible-mushrooms
www.dezeen.com/2018/09/25/state-of-the-worlds-fungi-report-mushrooms-eat-plastic-kew-gardens/