ความนิยมในการบริโภคกรีกโยเกิร์ตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอเมริกา เพราะความเข้มข้นของโปรตีนที่สูงกว่าโยเกิร์ตธรรมดา ทานง่าย และอิ่มท้อง กรีกโยเกิร์ตเลยขึ้นมาครองตำแหน่งอาหารของสายคนรักสุขภาพ มีรายงานว่าภายในเวลาเพียง 5 ปี กรีกโยเกิร์ตเข้ามาครองส่วนแบ่งของตลาดโยเกิร์ตได้ถึง 50% เฉพาะในนิวยอร์ก ความนิยมของกรีกโยเกิร์ตสูงขึ้นเป็นสามเท่าของการบริโภคโยเกิร์ตแบบธรรมดา และปัจจุบันมียอดขายในตลาดอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือ มีการบริโภค 315,000 ตันต่อปี

กรีกโยเกิร์ต หรือ โยเกิร์ตกรอง หรือ ลับนะฮ์ (Labneh) คือนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตที่ถูกกรองเพื่อแยกเอาหางนมออกไป เหลือแต่เนื้อโยเกิร์ตที่เป็นครีมข้นเสมอกัน โดยมีความข้นอยู่ระหว่างโยเกิร์ตทั่วไปกับเนยแข็ง และยังคงลักษณะเด่นคือรสเปรี้ยวไว้ เนื่องจากไม่มีโปรตีนจากหางนมแล้ว และแลกโตสบางส่วนจะถูกดึงออกไประหว่างกระบวนการกรอง โยเกิร์ตชนิดนี้จึงมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่านมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตทั่วไปแต่มีปริมาณโปรตีนสูงกว่า  

ดีต่อเรา แต่อาจจะไม่ดีต่อโลก 

ในการผลิตกรีกโยเกิร์ต 1 แกลลอนนั้น ต้องใช้นมในการผลิต 3 แกลลอน ซึ่งมากกว่าโยเกิร์ตแบบปกติที่ใช้นม 1 แกลลอนเพื่อให้ได้โยเกิร์ต 1 แกลลอน ซึ่งแปลว่าในการผลิตกรีกโยเกิร์ตหนึ่งแกลลอนจะเกิดของเสีย 2 แกลลอนที่เรียกว่า เวย์ (Whey)

เวย์ที่เหลือทิ้งจากการผลิตกรีกโยเกิร์ตคือของเหลวที่ประกอบไปด้วย น้ำ 93-95% แลกโตส (น้ำตาลที่พบในนม) กรด ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โพแทสเซียม ซึ่งเป็นอาหารโปรดของแบคทีเรียที่เป็นตัวย่อยสลายขยะชีวภาพในน้ำ โดยในกระบวนการนี้แบคทีเรียจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการย่อยสลาย เพราะฉะนั้นถ้าเราปล่อยของเสียลงแหล่งน้ำโดยตรง แบคทีเรียจะไปแย่งออกซิเจนกับสิ่งมีชีวิตในน้ำและทำให้น้ำเน่า การทิ้งของเสียประเภทนี้จึงเป็นภัยต่อธรรมชาติเทียบเท่ากับการปล่อยของเสียจากโรงงานซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ส่วนมากโรงงานจึงจัดการด้วยการเอาไปถมฟาร์มหรือใช้เป็นอาหารสัตว์

พลังงานทางเลือกจากเวย์เหลือทิ้ง

General Mills บริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกเจ้าของแบรนด์ที่เราคุ้นชื่อกัน เช่น Häagen-Dazs, Cheerios, Betty Crocker และ Yoplait ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโยเกิร์ต (และหนึ่งในสามยักษ์ใหญ่ของวงการกรีกโยเกิร์ต) ได้มองเห็นปัญหานี้ และหาวิธีเพื่อจัดการขยะเวย์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสินค้าไลน์กรีกโยเกิร์ต โดยที่โรงงานผลิตกรีกโยเกิร์ตของ Yoplait ใน เมือง Murfreesboro รัฐ Tennessee ออกแบบโรงงานให้สามารถนำเวย์ที่เหลือจากการผลิตกรีกโยเกิร์ตมาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า

โครงสร้างระบบแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ถังเก็บกักขนาด 6 ล้านแกลลอน เพื่อเป็นโรงบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้ออกซิเจนที่ (anaerobic digester) เวย์ที่เหลือทิ้งจากการทำกรีกโยเกิร์ตจะถูกส่งมาที่นี่ตามท่อระบายน้ำรวมกับของเสียอื่นๆ ที่ต้องการการบำบัด เวย์ทำหน้าที่เป็นอาหารสำหรับแบคทีเรียที่ใช้ในระบบบำบัดน้ำเสีย โดยแบคทีเรียจะใช้ออกซิเจน (Dissolved Oxygen) ในการย่อยสลายเวย์ และกระบวนการย่อยนี้จะสร้างก๊าซมีเทนขึ้นมา ส่วนที่สองคือระบบที่จัดเก็บก๊าซมีเทน เพื่อนำก๊าซไปเป็นพลังงานเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้านั่นเอง

ปัจจุบัน 10% (1.6 megawatt) ของพลังงานที่ใช้ในโรงงานโยเกิร์ตของ Yoplait ที่รัฐ Tennessee ได้มาจากระบบจัดการเวย์ นวัตกรรมนี้ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งต่อโลกและต่อธุรกิจ คือ นอกจากจะเป็นการลดขยะและลดแก๊สมีเทนที่อันตรายต่อชั้นบรรยากาศโลกแล้ว ยังช่วยให้โรงงานลดต้นทุนในการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย

นอกจากนี้ ที่ General Mills ยังปฎิญาณว่าจะลดการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยการหาพลังงานธรรมชาติทดแทนและลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากอุตสาหกรรมอาหารในเครือทั้งหมดลงให้ได้ 28% ภายใน 10 ปี และโดยมีโปรเจกต์ที่น่าสนใจมากมาย เช่น การขยายโปรเจกต์การใช้เวย์เหลือทิ้งมาสร้างพลังงานไฟฟ้า ไปยังโรงงานที่ Saint-Hyacinthe ในคิวบิกและแคนาดา โปรเจกต์ระบบการผลิตไฟฟ้าจากน้ำเสียจากโรงงานไอศกรีม Häagen-Dazs ที่เมือง Arras ประเทศฝรั่งเศสเช่นกัน และระบบผลิตไฟฟ้าจากการเผาขยะแป้งข้าวโอ๊ตที่โรงงานทำขนม

ความนิยมในการบริโภคกรีกโยเกิร์ตยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการจัดการขยะเวย์จากสายการผลิตกรีกโยเกิร์ตนั้นยังไม่มีทางออกของปัญหาที่ชัดเจน แต่มีความต้องการสูง นับว่าเป็นอีกพื้นที่ที่น่าสนใจในการลงทุนเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ค่ะ

ที่มาข้อมูล:  https://blog.generalmills.com, www.foxnews.com/health/toxic-waste-from-greek-yogurt-poses-danger-to-waterways