หลังจากได้ลองสำรวจถังขยะที่โรงเรียนตัวเองแล้ว คราวนี้เราเลเวลอัพถึงขั้นไปลองคุ้ยถังขยะริมถนนจริงๆ (ซึ่งข้อดีของนิวยอร์กคือเราจะออกไปทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ เพราะเขาเคารพในสิทธิของทุกคนค่ะ) โดยการคุ้ยขยะครั้งนี้ เรายังไม่ได้กล้าขนาดเดินไปรื้อเองหรอก แต่เราออกไปร่วม Trash Tour 101 กับกลุ่ม Freeganism ที่มีชื่อว่า NYC Freegan ค่ะ

Freeganism คืออะไร

Freeganism มาจากคำว่า Free + Vegan โดย ‘วีแกน’ คือกลุ่มคนที่ไม่บริโภคสิ่งของที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เพื่อต่อต้านการทารุณสัตว์ในกระบวนการผลิตนั้นๆ ส่วน ‘ฟรีแกน’ คือกลุ่มที่ต่อต้านระบบบริโภคนิยมและทุนนิยมโดยเฉพาะเรื่องอาหาร

กิจกรรมของกลุ่ม Freeganism นี้ มักออกมาในรูปแบบของการลดการซื้อ หรือการเก็บขยะ (waste goods) มากินมาใช้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าขยะเหล่านี้คือผลของการที่ตลาดผลิตของมาเกินความต้องการและความจำเป็น ซึ่งมีในกลุ่มคนที่เชื่อและฝึกปฏิบัติแบบนี้ในหลายประเทศ ด้วยชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น ในอเมริกาเหนือเรียกว่า ‘dumpster diving’ หรือ ‘urban foraging’ ในอังกฤษเรียกว่า ‘skipping’ ‘bin raiding’ หรือ ‘skipitarianism’ ในออสเตรเลียเรียกว่า ‘skip dipping’ ในเยอรมันเรียกว่า ‘containern’ หรือในประเทศนิวซีแลนด์เรียกว่า ‘doing the duck’

ทัวร์คุ้ยขยะของ NYC Freegan

กลุ่ม NYC Freegan นิยามตัวเองว่าเป็น movement พวกเขาไม่มีกฎตายตัวว่าต้องทำหรือไม่ทำอะไร แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อว่าระบบบริโภคนิยมและทุนนิยมคือต้นเหตุของการสร้างขยะ (Wasteful system) พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่จะแสดงความขัดขืนต่อระบบ โดยหัวใจของฟรีแกนคือความเชื่อว่า ‘ของบางอย่างไม่ควรกลายเป็นขยะ’ การออกไปเก็บขยะของพวกเขาจึงเป็นการ Rescuing Food & Products ไม่ใช่การเก็บขยะเพื่อยังชีพ (Dumpster diver) ชาวฟรีแกนจะไม่เอาของที่เก็บได้ไปขาย แต่จะนำไปใช้เองหรือแจกจ่าย เพื่อให้ของเหล่านั้นได้มีชีวิตต่อ

Trash tour 101 คือกิจกรรมที่เปิดให้คนมาเรียนรู้แนวคิดแบบฟรีแกน และมาเห็นสถานการณ์ของปัญหาด้วยการลองเปิดถุงขยะด้วยตัวเอง โดยของทั้งหมดในภาพถ่ายที่เราถ่ายมา (และที่ไม่ได้ถ่ายอีกเพียบ) มาจากการเปิดถุงขยะหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตเพียงแค่ที่เดียว การได้มาเห็นเอง มาคุ้ยเอง ถึงจะเตรียมใจไว้ก่อนแล้ว มันก็ยังน่าตกใจอยู่ดี

“ผลไม้พวกนี้มันผิดอะไร ที่จริงแล้วมันยังกินได้อยู่ แต่บางคนได้ผลประโยชน์จากมัน พอวันหนึ่งที่มันไม่สวยหรือไม่มีที่วางบนเชลฟ์ ก็จะถูกเอามาซ่อนไว้ที่ถังขยะ เพราะคนพวกนั้นกลัวว่าจะมีคนอื่นรู้ว่ามีอาหารฟรีหลังสี่ทุ่ม แล้วพวกเขาจะเสียผลประโยชน์ – What’s wrong with our system?”

เจเนทหัวหน้ากลุ่ม NYC Freegan กล่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราตลอดทัวร์คุ้ยขยะ คือการลุ้นว่าจะเจออะไร ช่วยเหลือกัน แบ่งหน้าที่ เปิดถุงแล้วคอยตะโกนบอกกันตลอดเวลาว่าถุงนี้ขนมปังนะ ถุงนี้ผักผลไม้ แล้วแบ่งปันกัน วันที่เราไปมีทั้งขาประจำ มือใหม่แบบเรา คนที่มาหาประสบการณ์ในนิวยอร์ก และคนที่เคยใช้ชีวิตแบบนี้ในเมืองอื่นอย่างปารีสมาแล้ว พอพูดว่าคุ้ยขยะหลายคนอาจจะกลัว ตอนเราไปครั้งแรกเราเองก็กลัว คิดว่ามันจะสกปรกรึเปล่า แต่พอเห็นกระบวนการ เห็นความเป็นจริง เราเองและเพื่อนก็ได้ผักติดมือกลับบ้านมาเหมือนกัน

“เรารู้สึกว่า Dumpster dive เหมือนกับการตกปลา ตื่นเต้น เราไม่รู้ว่าเราจะเจออะไรแต่เรารู้ว่าเราจะไม่มือเปล่ากลับบ้านแน่ๆ” เพื่อนสาวร่วมทริปคนหนึ่งบอกกับเรา

Trash Tour เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมของชาวฟรีแกน หัวใจหลักคือการบอกเล่าปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยความเชื่อว่าของหลายอย่างไม่สมควรถูกเรียกว่าเป็นขยะ โดยการรวมตัวผ่านแพลตฟอร์ม Meetup.com โดยการพามาเห็น มาสัมผัส มาช่วยกันหาทางออกแบบ Dumster dive เป็นเพียงอีกหนึ่งทางแก้ของปัญหานี้

นอกจากจะพาคนที่เชื่อเหมือนๆ กันให้ได้มาเจอกัน กลุ่มนี้ยังเป็นจุดสอนพื้นฐานการช่วยชีวิตขยะ ทำให้อีกหลายๆ คนเริ่มลองทำใกล้บ้านตัวเอง โดยในกลุ่มก็จะมีการนัดกลุ่มย่อยออกไปคุ้ยขยะตามย่านต่างๆ และยังมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ Freegan Feast เอาของที่เก็บได้มาดินเนอร์ร่วมกัน Freemarket พื้นที่ให้ทุกคนเอาของที่ไม่ใช้แล้วมาแลกกันหรือแจกจ่าย Movie night กิจกรรมดูสารคดีและแลกเปลี่ยนความเห็น รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่สมาชิกในกลุ่มเสนอ

ส่วนตัวเราชอบเรื่องการเปลี่ยนมุมมองของ ‘การเก็บขยะ’ มาเป็นการ ‘ช่วยชีวิตขยะ’ และการ ‘ประท้วงแบบเท่าที่ตัวเองจะทำได้’ ถ้ามองจากมุมกว้าง นี่อาจเป็นจุดเล็กมากๆ ที่ดูไม่มีทางสู้กับระบบได้เลย แต่อย่างน้อย มันคือตัวอย่างของการเชื่อแล้วลงมือทำ ซึ่งเราว่ามันยิ่งใหญ่มาก เพราะการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นได้บนโลกนี้ ก็เกิดจากจุดเล็กๆ ที่มารวมกันแล้วแข็งแรงมากพอ ไม่ใช่เหรอ 🙂

เคล็ดลับสำหรับมือใหม่หัดคุ้ยขยะ
– ยังกินได้อยู่ไหม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวันหมดอายุอย่างเดียว แต่ขึ้นกับการเก็บรักษาด้วย
– ฟรีแกนจะทัวร์เปลี่ยนย่านไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้ไม่เป็นการไปแย่งขยะกับคนที่ใช้ขยะยังชีพ
– อย่าไปคุ้ยตามร้านอาหาร หรือขยะที่เขาเททุกอย่างทิ้งรวมกัน เพราะขยะจะกลายเป็นของเสียทั้งหมด
– ข้อดีของบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างห่อแซนด์วิช สลัด คือมันเก็บไปกินต่อได้ รวมไปถึงขยะร้านเบเกอรี่และโดนัท เพราะต่อให้เทรวมกันก็ยังกินได้อยู่ดี
– เคยได้ยินว่าที่ไทยบางร้านเอาขยะไปทำลาย เพราะกลัวว่าจะมีคนมาเก็บแล้วเอาขยะวนมาขายในระบบอีกที เลยแอบถามคนที่นิวยอร์ก เขาบอกว่าที่นี่แก้ปัญหาด้วยการตัดบาร์โค้ดออก หรือทำสัญลักษณ์ไม่ให้เอามารีเทิร์นได้
– เตรียมถุงไปอาจไม่พอ ควรเอาไปเป็นเป้ ไม่ก็รถเข็นลากไปเลย ดีที่สุด

ภาพถ่าย: Parppim pim, Zongliang Shang

ที่มาข้อมูล:
www.freegan.info/?page=home
www.meetup.com/dumpsterdiving
www.wikipedia.org/wiki/Freeganism#History