สาธารณรัฐปาเลา (Palau) เป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ มีจุดเด่นที่ความสวยงามของธรรมชาติและความสมบูรณ์ของโลกใต้ทะเล ทำให้ปาเลาเป็นอีกหนึ่งปลายทางในฝันของนักดำน้ำ มีอากาศอบอุ่นตลอดปี มีหน้าฝนระหว่างกรกฏาคมถึงตุลาคม ฤดูท่องเที่ยวเริ่มขึ้นช่วงตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ จากสถิติอัตรานักท่องเที่ยวต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 8 คน ประมาณ 160,000 คนต่อปี ทำให้รายได้หลักของประเทศ (85%) มาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ขณะที่การท่องเที่ยวรุ่งเรือง ธรรมชาติของปาเลาก็ถูกใช้งานอย่างหนักและเริ่มเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่ทำลายธรรมชาติเป็นเรื่องเกิดขึ้นกับหลายที่เที่ยวทั่วโลก บางประเทศแก้ปัญหานี้ด้วยการจำกัดนักท่องเที่ยว หรือปิดสถานที่ท่องเที่ยวชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาของที่เกาะเล็กๆ แห่งนี้
The Palau Legacy Project
Laura Clarke เป็นชาวปาเลา เธอย้ายกลับมาทำงานที่บ้านเกิด และทราบดีว่าการท่องเที่ยวคือรายได้หลักของประเทศปาเลา หากมีการจำกัดนักท่องเที่ยวนั่นคือการขาดรายได้ของประชาชน ในขณะเดียวกันเธอก็เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติและหวังให้ลูกหลานของเธอเติบโตมาพร้อมกับธรรมชาติที่สมบูรณ์
ลอร่าจึงรวมทีมกับเพื่อน อันประกอบด้วย นิโคล (Nicolle Fagan) เจนนิเฟอร์ (Jennifer Koskelin-Gibbons) และนานาเอะ (Nanae Singeo) ก่อตั้ง The Palau Legacy Project ขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะปกป้องอนาคตของเด็กๆ ที่ปาเลาให้ได้เติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์ โปรเจกต์นี้มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยได้รับความร่วมมือและพลังสนับสนุนจากเด็บบี้ (Debbie Remengesau) สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ
ในปี 2558 ปาเลาเริ่มโดยการเปลี่ยนน่านน้ำส่วนใหญ่ให้กลายเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำสำรองขนาด 500,000 ตารางกิโลเมตร ในอาณาเขตนี้ห้ามทำการประมงและขุดเจาะน้ำมันเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเขตรักษาพันธ์ุสัตว์น้ำที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก
จากโปรเจกต์ สู่แคมเปญระดับโลก
มีคนพูดว่าโลกจะเหวี่ยงคนที่คล้ายๆ กันมาเจอกัน สำหรับเรื่องนี้ความตั้งใจดีของพวกเธอคงช่วยเพิ่มแรงเหวี่ยงให้ได้มาเจออีกหนึ่งคนสำคัญที่ทำให้โปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล คนนั้นคือ Seamus Higgins ECD ของ Havas เอเจนซี่โฆษณาแนวหน้าของโลก ผู้ก้าวเข้ามาเป็น creative leader ให้กับโปรเจกต์นี้
Seamus และทีม เริ่มคิดจากมองหาวิธีแก้การปัญหาอย่างยั่งยืน พวกเขามองว่าต้องเริ่มที่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว โดยทำให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและทำให้มั่นใจว่าทุกคนจะทำตามกฎ จึงออกแบบแคมเปญชื่อ Palau Pledge ขึ้น
Palau Pledge คือนโยบายการเข้าเมืองประเทศของโลกที่ให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่เข้ามาในปาเลา ต้อง ‘ลงนามทำสัญญา’ กับเด็กๆ ของปาเลาว่าจะรักษาบ้านที่สวยงามของพวกเขา โดยเซ็นชื่อที่ตราประทับในหนังสือเดินทาง และทำตามกฏรักษ์ธรรมชาติ เช่น ห้ามเหยียบปะการัง ไม่เก็บสัตว์ทะเลกลับบ้าน ไม่ให้อาหารปลา ไม่เด็ดดอกไม้หรือเก็บผลไม้ จะเรียนรู้วัฒนธรรมและชุมชน เป็นต้น โดยตราประทับมี 5 ภาษา (ตามประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมามากที่สุด) ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน และภาษาอังกฤษ (อเมริกา)
แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างอิมแพกระดับประเทศและระดับโลก ทำให้ปาเลาถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการนำกฎหมายคนเข้าเมืองมาช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และแคมเปญนี้ก็ได้รับความสนใจจากสื่อและคนดัง เช่น Leonardo DiCarprio, Dame Ellen Macarthur, Dr. Sylvia Earle, The Rolling Stones, Queen Noor of Jordan and Sir Richard Branson โดยมียอดคนลงนามปีแรกมากกว่า 150,000 ชื่อ ทำให้ประเทศปาเลาเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น
ที่น่าดีใจกว่านั้น แคมเปญนี้ยังเป็นต้นแบบของ Tousrist Pledge ที่กำลังเริ่มขึ้นที่เกาะฮาวาย (Pono Pledge) ประเทศไอซ์แลนด์ (Icelandic Pledge) ประเทศนิวซีแลนด์ (Tiaki Promise) เพื่อเพิ่มทางออกให้กับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากนี้ ยังกวาดรางวัลจากเวทีการออกแบบและโฆษณาใหญ่ๆทั่วโลกมาได้กว่า 70 รางวัล เช่น 7 รางวัล จากเวที Cannes Lions โดยได้ 3 Grand prix 7 รางวัลจากเวที D&AD 5 Grand prix จาก Spikes และอีกมากมาย
ภายใต้ความสำเร็จของ Palau pledge นี่ไม่ใช่เพียงแคมเปญเพื่อสร้างความตระหนักรู้ (raising awareness) แต่คือการวางแผนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนโดยความร่วมมือของคนทั้งประเทศเพื่อทั้งโลก และสำหรับทีม The Palau Legacy Project นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐตั้งแต่ สมาชิกวุฒิสภา กระทรวงการท่องเที่ยว และประธานาธิบดีที่ผ่านร่างนโยบายนี้ มีการบังคับใช้จริงตามกฏหมาย มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองให้สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักท่องเที่ยว ภาคเศรษฐกิจ ทุกเที่ยวบินที่บินเข้าประเทศ จะมีการฉายวิดิโอ ‘The Giant’ เล่าเรื่องเพื่อขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวผ่านคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนยักษ์ที่น่ารัก
“มันสำคัญมากที่จะทำให้นักเที่ยวรู้สึกตื่นเต้น เข้าใจ และพร้อมให้ความร่วมมือ โดยที่ไม่รู้สึกว่าเราไปชี้นิ้วสั่งให้เขาทำ ทำให้เราสร้างวิดีโอตัวนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับพวกเขา ” -Seamus Higgins
ยิ่งกว่านั้น Thomas Remengesau Jr. ประธานาธิบดี ยังจัดตั้งโครงการสำหรับให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติประชาชนในประเทศ และโดยเฉพาะเด็กๆ มีการเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมสำหรับโรงเรียนประถมและมัธยม มีการฝึกอบรมครูและมีโครงการส่งเสริมความเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์และตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมให้กับเจ้าของกิจการในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้แน่ใจว่าปาเลาจะได้รับการปกป้องจากทั้งเจ้าของบ้านและผู้มาเยือน
ก้าวต่อไปของปาเลา
เรื่องราวไม่จบแค่นั้น แผนต่อไปของประเทศเล็กๆ นี้ยังมีอีก 2 ด้าน คือ หนึ่งด้านการศึกษา ที่จะสนับสนุนให้การอนุรักษ์เป็นหลักสูตรการเรียนของประเทศ มีการนำครูวิทยาศาสตร์กว่า 100 คนไปทัศนศึกษาเพื่อให้เห็นถึงผลกระทบของกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น ทริปเหล่านี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณครูท้องถิ่นนำแนวคิดด้านการอนุรักษ์มาประยุกต์กับการสอนวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยโฟกัสที่เจ้าของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ
สองคือ Palau Pledge Business ที่จะโฟกัสฝั่งเจ้าของกิจการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้ร่วมมือกันสร้างการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มีแผนให้บริการฟรี wifi ทั้งเกาะโดยต้อง sign pledge เพื่อการ sign in เพื่อกระตุ้นให้คนนึกถึงสัญญาที่ให้ไว้
สำหรับฉัน ความน่ารักของกิจกรรมทั้งหมดในโครงการนี้คือการออกแบบบนพื้นฐานความคิดที่จะไม่สั่งหรือบังคับให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ค่อยๆ ขอความร่วมมือสร้างพฤติกรรมใหม่บนฐานของพฤติกรรมเดิม เช่น ชอบเล่น wifi ก็ให้เล่น แต่ขอให้ดูแลธรรมชาติด้วยนะ
โปรเจกต์นี้คือตัวอย่างของการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบไม่ปิดกั้นนักท่องเที่ยว แต่สร้างระบบที่อยู่ร่วมกันได้ ทั้งธรรมชาติ เจ้าบ้าน และคนที่มาเที่ยว เพราะถ้าไม่มีธรรมชาติก็ไม่มีอะไรให้เที่ยว ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวคนในประเทศก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน
นั่นแปลว่านอกจากโปรเจกต์นี้จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศปาเลาให้มีคนมาเที่ยวมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบที่ยื่นโอกาสให้นักท่องเที่ยวทุกคนมีส่วนร่วมปรับพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนี่ไม่ใช่แค่เพื่อประเทศปาเลา แต่เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกต้องช่วยกัน
ที่มาข้อมูล:
https://palaupledge.com
https://www.dandad.org/en/d-ad-palau-pledge-case-study-insights/
ที่มาภาพ:
https://www.dandad.org/awards/professional/2018/branding/26732/palau-pledge/