ช่วงนี้ หนึ่งในความสุขเล็กๆ ในการอยู่บ้านของเรา คือการเฝ้ารอกล่องพัสดุมาส่ง ไม่รู้ทำไม ทั้งที่เราเองก็เป็นคนเสียเงิน แต่ก็ยังตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เปิด มีใครเป็นเหมือนกันไหมคะ กล่องเหล่านี้คือความสุขที่ส่งตรงถึงบ้าน แต่พอได้ของข้างในสมใจ กล่องพวกนี้ก็กลายเป็นกองขยะที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงนี้ และเวทมนตร์ที่จะทำให้กล่องไม่กลายเป็นขยะก็คือการ แยก ประเภท
เราเลยอยากชวนทุกคนมาร่ายคาถาแยกร่าง (ประเภท) ขยะ ให้กลายเป็นประโยชน์ ว่าเราจะนำกล่องกระดาษพวกนี้ส่งต่อไปที่ไหนได้บ้าง แล้วสามารถกลายเป็นอะไรได้บ้าง ที่ไม่ใช่ขยะ
ขายให้ร้านรับซื้อของเก่า – กลายเป็นลังกระดาษอีกครั้ง และผ้าอนามัย
วิธีนี้เป้าหมายคือการนำเข้าระบบรีไซเคิล เพราะความจริงลังพวกนี้ทำมาจากกระดาษรีไซเคิลที่สามารถหมุนวนกลับมาเป็นกล่องได้อีกด้วย ร้านรับซื้อมีทั้งรับซื้อแบบรวมทุกชนิดซึ่งราคาจะได้อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 1 บาท แต่ถ้าแยกชนิดจะทำให้ได้ราคาสูงขึ้น เช่น กระดาษลังลูกฟูก กิโลกรัมละ 3.5-4 บาท ถ้าเป็น กล่องที่พิมพ์สี่สี เคลือบพลาสติก เช่น ลังผลไม้ กล่องของขวัญ นับเป็นกระดาษรวมทั่วไป หรือในวงการเรียกว่า กระดาษจับจั๊วะ (หลากหลายชนิด) เช่น กระดาษห่อของขวัญ นิตยสาร จดหมายและแค็ตตาล็อกโฆษณาต่างๆ จะได้ราคากิโลกรัมละ 1 บาท หนังสือพิมพ์ กิโลกรัมละ 3 บาท กระดาษ A4 สีขาว หรือมีพิมพ์หมึกดำ กิโลกรัมละ 4-5 บาท
(แค่แยกประเภท ราคาก็ต่างกันเท่าตัวแล้วนะ)
โดยร้านรับซื้อจะส่งเข้าโรงงาน เพื่อไปบีบอัดให้ให้เป็นก้อน แล้วขายต่อให้โรงงานรีไซเคิลกระดาษ เอาไปต้ม เพื่อนำเยื่อกระดาษมาผลิตเป็นกระดาษรีไซเคิล ซึ่งแต่ละประเภทก็จะหมุนวนกลับมาเป็นกระดาษในรูปแบบต่างกัน เช่น ลังลูกฟูก กลายเป็นกระดาษห่อพัสดุสีน้ำตาล กระดาษคราฟต์ (กระดาษสีน้ำตาลแผ่นบางๆ) และกลายมาเป็นลูกฟูกได้อีก หรือกระดาษ A4 สีขาว กลายมาเป็นเยื่อกระดาษอนามัย และผ้าอนามัยได้ด้วย
บริจาคให้มูลนิธิกระจกเงา – กลายเป็นหนังสือนิทาน
ที่นี่รับบริจาคทุกสิ่งเพื่อส่งต่อให้ผู้ด้อยโอกาส โดยส่วนของลังและกระดาษจะถูกจัดการ คัดแยก และรับซื้อโดยบริษัท SCG ที่มีการทำสัญญารับซื้อที่ให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด รายได้จากการขายกระดาษจะนำเข้า โครงการอ่านสร้างชาติ เพื่อนำมาทำนิทานท้องถิ่น ซึ่งเป็นการหยิบเอาเรื่องเล่าในหมู่บ้านและชุมชนที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น มาทำเป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็ก จัดพิมพ์เพื่อส่งต่อให้เป็นสมบัติของชุมชนและส่งต่อเรื่องเล่าไปยังเด็กๆ ชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ห่างไกลด้วย
ส่งให้ SCG – กลายเป็นถุงกระดาษ ทดแทนถุงพลาสติก
กระดาษที่บริษัท SCG รับไปก็จะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล กลายมาเป็นนวัตกรรมวัสดุรีไซเคิลในรูปแบบต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ กระดาษ Recycle 100% จากกล่องลัง ที่กลายมาเป็นถุงกระดาษสีน้ำตาล เพื่อใช้ทดแทนถุงพลาสติกตามห้างสรรพสินค้า เช่น เทสโก้โลตัส วิลล่ามาร์เก็ต และ SCG Home Solution ที่ร่วมมือกับห้างโลตัส นำขยะกล่องกระดาษกลับมาผลิตเป็นถุงกระดาษ และเราสามารถนำไปให้ตามจุดรับในสถานที่ต่างๆ นอกจากนั้นมีโครงการ PaperX เป็นจุดรับกระดาษอัตโนมัติ (PaperX drop point) ที่เปิดบริการ 24 ชม. ให้นักรีไซเคิลสามารถสแกน QR code หย่อนกระดาษแล้วรับคะแนนสะสมเพื่อนำไปแลกของรางวัลได้อีกด้วย ทดลองให้บริการที่แรกสองจุดที่เอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ ข้อมูลเพิ่มเติม Facebook page: Paper X
บริจาคให้มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ – กลายเป็นสื่อการสอนสำหรับนักเรียนผู้พิการทางสายตา
โรงเรียนสอนคนตาบอด รับบริจาคกระดาษ A4 สีขาวและกระดาษทุกชนิด เพื่อนำไปทำสื่อการเรียนให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตา โดยกระดาษที่มีความหนา เช่น กล่องกระดาษแบบบาง กล่องของขวัญ หรือกล่องใส่ของต่างๆ ที่มักจะซ้อนมาชั้นใน หรือกระดาษที่มีผิวสัมผัส กระดาษสีสด สามารถนำไปทำต้นฉบับหนังสือเรียน (ตัดกระดาษมาแปะเป็นรูปภาพเพื่อเอาไปปั๊มนูน) และทำที่คั่นหนังสือตามความเหมาะสม ส่วนกระดาษชนิดอื่นๆ ที่เหลือ ทางโรงเรียนนำไปขายเพื่อนำรายได้มาซื้อกระดาษชนิดพิเศษสำหรับพิมพ์นูนโดยเฉพาะ เพื่อเป็นหนังสือเรียน
แยกทิ้งให้ซาเล้งหรือรถขยะของ กทม. มาเก็บ – กลายเป็นรายได้เสริม
“แยกมาได้เลย เราก็จะแยกเป็นขยะรีไซเคิลไว้” คือคำตอบจากพี่พนักงานเก็บขยะ เมื่อเราถามว่าเอากระดาษลังมาทิ้งกับที่นี่ได้ไหม โดยสามารถสามารถทิ้งลังกระดาษ กระดาษชนิดต่างๆ รวมกับขยะรีไซเคิลประเภทอื่น เช่น พลาสติก โลหะ ขวด กระป๋อง แยกใส่ถุงและทำสัญลักษณ์สีเหลืองไว้ได้เลย
*ขอเสริมอีกนิดว่า ราคากระดาษค่อนข้างต่ำลงอย่างมากในช่วงปีที่แล้ว ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของซาเล้ง และการแยกขยะไม่ใช่หน้าที่หลักของพี่ๆ พนักงานเก็บขยะ รวมทั้งพื้นที่สำหรับการจัดการขยะประเภทต่างๆ บนรถขยะมีจำกัดและยังต้องได้รับการพัฒนาและปรับปรุงในเชิงระบบอีกมาก ตอนนี้ กทม. มีรถรุ่นที่มีช่องสำหรับขยะรีไซเคิลแต่ยังมีไม่ครบทุกเขต ส่วนที่เราคุ้นตากับพวงถุงแยกขยะที่ห้อยท้ายรถนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาทำและจัดการกันเอง หากบางครั้งบางทีเจอพนักงานบางคนที่ไม่ได้แยกกระดาษหรือไม่สามารถนำกระดาษที่เราแยกแล้วไปใส่ในถุงที่ห้อยไว้ได้ ก็อยากให้เข้าใจกันสักนิดว่าฝั่งคนเก็บเขาขายได้กิโลกรัมละ 1 บาท มันก็ไม่คุ้มต่อการจัดการ ดังนั้น ฝั่งคนทิ้งก็อย่าเพิ่งท้อใจที่อุตส่าห์แยกมาเลยนะ ยังมีอีกหลายที่ที่ต้องการและหลายคนกำลังช่วยกันพัฒนาระบบจัดการขยะอยู่*
และอย่างที่หลายคนรู้กันว่า กล่องและกระดาษสามารถเอาไปรีไซเคิลได้ ทั้งลังกระดาษและถุงกระดาษจึงกลายมาเป็นทางเลือกแทนถุงพลาสติก แต่ขยะประเภทนี้กลับหล่นหายออกไปจากระบบเนื่องจากคนไม่ค่อยแยก รวมทั้งการแยกที่ไม่ถูกวิธี ทำให้ปะปนกับขยะเปียกและเน่าเสียไป
“ตั้งแต่มีเรื่องโควิด ความต้องการรับซื้อกระดาษมือสองจากโรงงานรีไซเคิลมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการในการผลิตมากขึ้น แต่หน้าร้านกลับมียอดรับซื้อลดลงครึ่งหนึ่ง”
พี่จากร้านรับซื้อกระดาษเล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ในวงการกระดาษรีไซเคิล โดยปกติกระดาษจะมาจาก 2 ช่องทางหลัก คือรับซื้อในปริมาณมากโดยตรงจากโรงงานต่างๆ และรับซื้อจากรายย่อย เช่น ครัวเรือนและซาเล้ง ช่วงนี้โรงงานหลายแห่งพักกิจการทำให้ยอดรับซื้อจากโรงงานหายไป แต่ที่น่าใจหายคือยอดจากรายย่อยก็หายไปเช่นกันซึ่งสวนทางกับปริมาณการใช้กล่องส่งพัสดุที่มากขึ้นในช่วงนี้
“กระดาษใช้แล้วมันหายไปจากระบบ เราอยู่ตรงนี้มานาน เราเห็นว่าคนเขาไม่ค่อยอยากยุ่งกับซาเล้ง เขาก็ทิ้งของเขาไปไม่ได้แยก หรือก็ไม่ได้อยากให้ซาเล้งมารื้อของหน้าบ้านเขา มันก็ไปปนกับขยะเปียก เศษอาหาร กลายเป็นขยะไป และรายย่อยเขาก็ไม่ค่อยได้เอามาขาย แต่เราเข้าใจนะ กิโลนึงขายได้ 2-3 บาท อย่างปีที่แล้วราคาตกไปเหลือกิโลละบาท มันก็ไม่คุ้มที่เขาต้องมานั่งแยกนั่งเก็บ และก็ไม่คุ้มซาเล้งที่ตากแดดเก็บมาทั้งวันด้วย”
เรื่องราคาเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การนำเข้าขยะจากต่างประเทศ และความต้องการใช้ของผู้บริโภคภายในประเทศ กับการที่ขยะรีไซเคิลตกหล่นออกไปจากระบบ ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้น เรื่องนี้ (ก็คงเหมือนเรื่องอื่นๆ) ที่ต้องแก้ไขกันในเชิงโครงสร้าง ไปพร้อมๆ กับความร่วมมือของภาคประชาชน
ดังนั้น พลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงก็เหมือนไม้กายสิทธิ์ที่อยู่ในมือเราทุกคน
มาร่วมกันร่ายคาถา แยกประเภท ให้ขยะกลายเป็นประโยชน์ร่วมกันนะคะ
ภาพถ่าย: Parppim Pim