จากชุด PPE ถึงชุด ‘พี่ไม้กวาด’ เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นชุดวิบวับ

ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยได้ยินหรือได้ร่วมโครงการ ‘แยกขวดช่วยหมอ’ ที่รวบรวมขวดพลาสติกเพื่อไปรีไซเคิลเป็นชุด PPE ให้คุณหมอกันมาบ้างแล้ว รวมถึงการต่อยอดโครงการมาเป็นชุด พี่ไม้กวาด กทม. วิบวับสีสะท้อนแสง หรือหากใครยังไม่เคยก็ไม่ต้องกลัวว่าจะตกข่าว เพราะเราอาสาพาไปรู้จักเครือข่ายสังคมลดขยะ ‘Less Plastic Thailand’ ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการที่กล่าวมา และอื่น ๆ อีกมากมาย

อะไรคือจุดเริ่มต้นของ Less Plastic Thailand และเราทุกคนจะมีส่วนร่วมกับการช่วยกันลดขยะพลาสติกได้อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบและร่วมเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นประโยชน์กัน

เราจะทำโครงการเพื่อช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้อย่างไร?
หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ เมื่อกลับมาเมืองไทย แป้น-สมรมิตต์ ล่ำซำ ได้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องขยะที่เกิดขึ้นมหาศาล จึงคิดหาไอเดียเพื่อช่วยลดขยะ โดยมี ป๊อป-เมธา เสนทอง มาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ

จากแรกเริ่มที่มีความตั้งใจอยากพัฒนาให้น้ำประปาดื่มได้ หรือมีตู้กดน้ำดื่มสาธารณะเหมือนในหลายประเทศที่มีน้ำสะอาดบริการ ประชาชนไม่ต้องซื้อน้ำดื่ม และช่วยลดขยะขวดพลาสติกได้จำนวนมาก แต่เมื่อพิจารณาจากเหตุและปัจจัยความเป็นจริงของประเทศไทย น้ำประปาดื่มได้เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยคนหรือกลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียว ไอเดียนี้จึงถูกพักไว้ก่อน

ในความตั้งใจมีเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นจึงเป็นจังหวะและโอกาสที่ดี เพราะปี พ.ศ.2562 ไทยได้จัดพิธีมิสซาของพระสันตะปาปาขึ้นที่สนามกีฬา 3 สนาม เป็นงานใหญ่ในระดับอาเซียน และมีผู้เข้าร่วมมาจากหลายประเทศกว่า 60,000 คน ทีมงานชาวคริสต์เป็นห่วงเรื่องขยะที่จะเกิดขึ้นในงาน จึงชวนให้แป้นและป๊อปเข้ามาช่วยดูเรื่องการจัดการขยะ งานนี้ทำให้ทีมเห็นภาพการจัดการขยะอย่างจริงจังในงานอีเวนต์มากขึ้น มีการทำรายงานผลการลดการฝังกลบขยะ และที่สำคัญได้รู้จักพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อมหลากหลายทีม ที่เข้ามาช่วยกันในงานนี้

“เราพบว่ามีคนสนใจทำเรื่องสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก แต่ปัญหาของตอนนั้นคือทุกคนพยายามจะทำโครงการเพื่อให้ตัวเองมี signature เลยกลายเป็นว่าคนนั้นทำเรื่องนึง คนนี้ทำอีกเรื่องนึง ซึ่งมันไม่มีความยั่งยืน เราอยากทำให้ทุกคนมาทำงานกลุ่มร่วมกันได้ และทำงานกันได้ยาว ๆ” ป๊อปซึ่งเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand เล่าให้เราฟัง

และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดเครือข่าย Less Plastic Thailand เพื่อรวมตัวพันธมิตรที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม มาร่วมขับเคลื่อนโครงการด้วยกันอย่างยั่งยืน โดยเงินในการดำเนินการหลักมาจากทุนส่วนตัวของแป้น เพื่อไม่ให้มีข้อผูกมัดในการรับทุนจากแหล่งทุน หรืออยู่ภายใต้การทำงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ยึดเป้าหมายของสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และทำงานโดยอิสระ

งานในช่วงแรกส่วนใหญ่ เป็นการช่วยจัดการเรื่องการแยกขยะของอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น งานวิ่ง งานแข่งกีฬา จนกระทั่งเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การทำงานของ Less Plastic Thailand ต้องปรับรูปแบบใหม่

เราจะทำให้ขยะ มีประโยชน์ในช่วงโควิด-19 ได้อย่างไร
“เราพบว่ามีขยะพลาสติกเกิดเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด บวกกับชุด PPE ขาดแคลน เลยคิดโครงการขึ้นมาหลายอย่าง”

ในช่วงแรก Less Plastic Thailand ริเริ่มโครงการ เช่น หน้ากากช่วยหายใจ โดยใช้หน้ากากดำน้ำมือสองมาปรับเป็นอุปกรณ์ป้องกันภาคสนาม ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯ ระดมทุนสร้างหุ่นยนต์โรโบโควิด ให้สมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯ ผลิตหุ่นยนต์ช่วยคุณหมอลดการสัมผัสคนไข้ เพราะทำงานระยะไกลผ่านแท็บแล็ตได้ และโครงการแยกขวดช่วยหมอ

“ในเวลานั้นชุด PPE ขาดตลาด และต้องนำเข้าผ้ามาจากไต้หวัน ช่วงแรกเราทำการระดมทุนและหาโรงงานตัดเย็บที่ได้มาตรฐาน เมื่อระดมทุนเพื่อผลิตได้ประมาณ 2,000 ชุด เครือข่ายก็พบว่าผ้าที่ใช้ตัดชุด เป็นผ้าที่ทำมาจากการรีไซเคิลพลาสติกมาเป็นโพลีเอสเตอร์ เลยเกิดความคิดว่า ทำไมเราไม่ใช้ขยะของคนไทยล่ะ จึงเริ่มต้นร่วมมือกับบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งมีโรงผลิตเส้นด้ายจากขวดพลาสติกใส ที่เรียกว่า ‘ขวดพีอีที’ หรือ ‘ขวดเพ็ต’ (PET) ในจังหวัดนครปฐม และชักชวนโรงทอผ้าของบริษัทไทยแทฟฟิต้า ที่จังหวัดระยองมาร่วมทำงานกลุ่ม พร้อมกับหาโรงงานตัดเย็บที่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อหาจุดรับขวด”

โครงการแยกขวดช่วยหมอ เฟส 2 จึงเป็นการเปิดรับขวดพลาสติกจากทั่วประเทศ ร่วมกับโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ส่งต่อรีไซเคิลเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์เพื่อมาตัดชุด PPE ส่งให้คุณหมอที่ต้องการ เป็นการลดขยะในประเทศ และใช้วัสดุรีไซเคิลในประเทศอย่างครบวงจร

แต่ในขณะเดียวกัน การรับบริจาคขวดที่ดูเหมือนจะตรงไปตรงมาและได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ก็มีรายละเอียดเล็ก ๆ ที่มีความหมายต่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

“มีคนอยากส่งขวดมาร่วมโครงการจากทั่วประเทศ แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถรับขวดทุกใบเข้าระบบได้” ประโยคนี้อาจชวนให้หลายคนคิ้วขมวด ป๊อปเล่าเสริมว่า บางคนไม่เข้าใจว่าเขาอยากบริจาคขวดแต่ทำไมโครงการถึงไม่อยากรับ หรือรับไปแล้วแต่ขวดของเขาไม่ถูกนำไปทำชุด จึงอยากอธิบายความจริงให้ทุกคนเข้าใจ โดยไม่ทำร้ายความตั้งใจกัน

“สาเหตุที่ไม่ได้ส่งเสริมให้ส่งขวดทุกใบมาที่กรุงเทพฯ เพราะถ้าส่งมาจากต่างจังหวัดเพื่อรีไซเคิลขวด การขนส่งจะก่อให้เกิดขยะแพ็กเกจจิ้งเพิ่มขึ้น และสร้างคาร์บอนฟุตปรินต์จากการขนส่ง รวมทั้งในการตัดชุด นอกจากใช้ขวดนั้นมารีไซเคิลเป็นเส้นใยทอผ้า ยังมีค่าใช้จ่ายในการตัดเย็บเสื้อผ้าด้วย”

PPE 1 ชุด จะใช้ขวดขนาด 600 มิลลิลิตร 18 ขวด และมีค่าตัดเย็บรวมขนส่งต่อโรงพยาบาลประมาณ 500 บาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้จากการนำขวดส่วนที่เกินความต้องการแปรรูปไปขาย เพื่อไม่ให้เป็นการพึ่งพาเงินบริจาค

“โครงการจึงเปลี่ยนวิธีสื่อสารมาเป็น ‘คุณสามารถมีส่วนร่วมในโครงการ โดยการนำขวดไปขายให้กับซาเล้งในพื้นที่ และนำเงินมาบริจาคเพื่อสมทบทุนค่าตัดเย็บได้เช่นกัน’ ด้วยวิธีการนี้ ขวดในมือคุณ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถกลายเป็นประโยชน์ได้หลายต่อ ทั้งช่วยส่งเสริมอาชีพและรายได้ของซาเล้งและคนเก็บขยะในพื้นที่ ช่วยให้ขยะพลาสติกได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ลดการฝังกลบ ไม่สร้างขยะเพิ่ม และลดคาร์บอนที่เกิดจากการเดินทางและขนส่ง ขวดพลาสติกของคุณเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

หลังโควิดซา โครงการจึงมาดูว่ามีกลุ่มไหนต้องการชุด PPE อีกบ้าง พวกเขาได้รับคำขอมาจากทันตแพทยสภาว่า กลุ่มหมอฟันเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการทำฟัน จึงต่อยอดมาเป็นโครงการ ‘แยกขวดช่วยหมอฟัน กับทันตแพทยสภา’ เพื่อทำชุด PPE ให้หมอฟันบ้าง โดยในรอบนี้ได้ดึงกลุ่มนักศึกษาแพทย์เข้ามาช่วยแยกขยะด้วย เพื่อทำให้เกิดความตื่นตัวเรื่องการแยกขยะในกลุ่มนักศึกษา

ป๊อปเล่าต่อว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในรอบนี้ คือปัญหาเรื่องการขนส่งและจุดรับ ที่ทำให้หลายคนที่อยากส่งขวดมาร่วม หรือไม่สะดวกขายให้กลุ่มซาเล้งใกล้บ้าน ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แม้ว่าจะมีแพลตฟอร์ม Trash Lucky เข้ามาช่วยระดมขวดให้อีกทีม รวมทั้งโรงงานรีไซเคิลไม่สามารถแบกรับค่าขนส่งได้ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทีมทดไว้ในใจเสมอมา เมื่อได้ชุด PPE ตามเป้าหมายแล้ว ทุกคนในทีมกำลังจะขอพัก แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อโควิดกลับมาระบาดอีกครั้ง และมีเฟกนิวส์ว่าโครงการนี้กำลังดำเนินอยู่ ทำให้กลับมาเป็นกระแสในโลกโซเชียลอีกครั้ง มีคนติดต่อเข้ามาจำนวนมาก แผนการที่ทีมจะได้พักจึงต้องพับไปก่อน แล้วกลับมาลุยกันอีกรอบ

โดยในครั้งนั้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องระบบจัดเก็บและขนส่ง ทีมได้ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มการขนส่งขยะรีไซเคิลของ PTTGC ที่มีชื่อว่า ‘Youเทิร์น’ จึงเป็นการทำงานแบบเป็นเครือข่ายมากขึ้น มีจุดรับขวดที่ปั๊มน้ำมัน PTT Station หลายแห่ง ซึ่งเป็นจุดที่ดีมากเพราะเข้าถึงง่าย ทำให้เก็บขวดได้เยอะมากเกือบ 5 ล้านขวด หรือนับกว่าแสนกิโลกรัม และในแต่ละเดือนยังสามารถขายขวดส่วนเกินความต้องการเพื่อมาเป็นค่าตัดชุดได้อีก ทำให้ลดการพึ่งพาระบบรับเงินบริจาคผ่านมูลนิธิต่าง ๆ ได้มากถึงหลักแสนบาท

ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายร้านรับซื้อของเก่าอย่างร้านวงษ์พาณิชย์ ซึ่งมีสาขาในหลายจังหวัด มาเป็นจุดรับเพิ่มเติม รวมทั้งทางสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เห็นว่าโครงการนี้น่าสนใจ อยากให้ประชาชนชาว กทม. และเครือข่าย กทม. เข้ามามีส่วนร่วม จึงริเริ่มโครงการ ‘แยกขวดช่วยหมอ ฝาก กทม. ก็ได้นะ’ เปิดศาลาว่าการฯ ที่เสาชิงช้าและดินแดง รวมถึงสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตเป็นจุดรับขวดพลาสติก เรียกว่าใครใกล้เขตไหนเอาไปให้เขตนั้น

โครงการในรอบดังกล่าว จึงครอบคลุมและได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทำให้เมื่อนับถึงปี 2564 ยอดสะสมของชุด PPE มีการบริจาคไปกว่า 30,000 ชุด

จนมาถึงปี 2565 เมื่อเห็นว่าการแยกขยะส่งรีไซเคิล นอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเปลี่ยนมาเป็นเงินนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อื่น ๆ ต่อได้อีกมาก ทีมงานจึงตกลงกันว่า การแยกขวดช่วยหมอจะช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ ที่โรงพยาบาลขาดแคลนด้วย เช่น เครื่องช่วยหายใจ หรือแม้กระทั่งเครื่องซักผ้าของโรงพยาบาลเสีย ก็สามารถแจ้งความต้องการมายังทีมได้ จึงได้ตั้งชมรมของกลุ่มนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CICM) เป็นแกนนำเพื่อต่อยอดระบบการแยกขยะในสถานศึกษาและโรงพยาบาล ทำให้โครงการมีความยั่งยืน ส่งต่อแนวคิดในกลุ่มนักศึกษาแพทย์รุ่นต่อรุ่น ผ่านชมรม Less plastic.tu

และอยากส่งเสียงให้ถึงกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ทำโครงการ Green Hospital จัดการขยะในโรงพยาบาลเอง เปลี่ยนขยะในโรงพยาบาลมาเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มนักศึกษาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) มาเข้าร่วม เกิดเป็นโครงการ ‘แยกขวดช่วยหมอ นนทบุรี’ มีจุดไดรฟ์ทรูให้เข้าไปส่งขยะ กลายเป็นแลนมาร์กการจัดการขยะครบวงจรที่สำคัญในปากเกร็ด รวมไปจนถึงปรับรูปแบบงานประกวดชุดแฟชั่นจากขยะ ที่กลายเป็นขยะหลังเลิกงาน มาเป็นการออกแบบชุดแฟชั่นจากสิ่งทอรีไซเคิล ต่อยอดเป็นธุรกิจรักษ์โลกแทนได้ ซึ่งป๊อปเป็นตัวแทนจาก Less Plastic Thailand เข้าไปโค้ชให้กับนักศึกษาผ่านกิจกรรมการจัดการขยะด้วย

เราจะทำให้ขยะพลาสติก เป็นประโยชน์ต่อพี่ ๆ พนักงานเก็บขยะและกวาดขยะได้อย่างไร ?
อีกหนึ่งทีมสำคัญที่ช่วยให้ประเทศนี้สะอาด และเป็นกลไกสำคัญในการจัดการขยะ คือกลุ่มพนักงานเก็บขยะและพนักงานกวาดถนน ซึ่งอุบัติเหตุในหลาย ๆ ครั้งทำให้กลุ่มคนเหล่านี้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปอย่างเงียบ ๆ และถูกลืม

จากที่เคยร่วมมือกับสำนักสิ่งแวดล้อมของ กทม. ในโครงการแยกขวดช่วยหมอ Less Plastic Thailand มองเห็นโอกาสที่จะปรับโครงการมาช่วยส่งเสริมพี่ ๆ พนักงานเก็บกวาดขยะของ กทม. ด้วย ในรอบนี้จึงทำโครงการ ‘มือวิเศษ กรุงเทพ’ ในภารกิจ ‘แยกเพื่อให้ พี่ไม้กวาด’ พัฒนาเป็นชุดปกป้องคนกวาดถนนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยชวนทีมงานแยกขวดช่วยหมอ มาออกแบบชุดพนักงานเก็บกวาดขยะรุ่นทดลอง

ชุดที่เห็นนี้อ้างอิงแบบมาจากเกาหลี และควบคุมการผลิตมาตรฐานความปลอดภัย EN20471 โดยใช้เส้นใยรีไซเคิลจากขวดเพ็ตอีกเช่นเคย และตั้งเป้าทำชุดต้นแบบ 1,200 ชุดก่อน ใครที่อยากร่วมด้วยก็แยกขยะและส่งต่อไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ทั้ง 2 แห่งคือเสาชิงช้าและดินแดง หรือสำนักงานเขตใกล้บ้านทั้ง 50 เขต จุดเดิมกับที่เคยรับแยกขวดช่วยหมอ

ขยะพลาสติกที่รับไปทำชุดวิบวับของพี่ไม้กวาด มีอยู่ 3 ชนิดคือ ขวดเพ็ตใส ขวดขุ่น และฟิล์มยืด ในการผลิตชุด 1 ชุด เขาจะนำขวดเพ็ตใส 42 ขวด ไปรีไซเคิลเป็นเส้นใย ถักทอ แล้วย้อนสีสะท้อนแสง เคลือบกันน้ำ ส่วนขวดเพ็ตใสส่วนที่เกินมาจากการแปรรูป ขวดขุ่น และฟิล์มยืด จะถูกนำไปขายเพื่อเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าขนส่งและการจัดการ ที่มีราคาอยู่ประมาณชุดละ 900 บาท

และขยะรีไซเคิลที่เกินความต้องการแปรรูปชุดในโครงการ จะเปลี่ยนเป็นเงินเยียวยากรณีพี่ ๆ พนักงานเก็บกวาดขยะ ประสบภัยจากการทำงานหรืออุบัติเหตุ โดยจะเชื่อมต่อกับงานพัฒนาสวัสดิการของคนกวาดถนน ขนขยะต่อไปในอนาคต

ใครที่ไม่ได้อยู่ กทม. หรือไม่สะดวกไปส่งขยะ สามารถขายขยะรีไซเคิลที่แยกไว้ ร่วมสมทบทุนการผลิต/ตัดเย็บแทนได้ ผ่านบัญชี มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเมืองทองธานี บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 147-1-13740-6 แนบหลักฐานการโอนไปยัง pinyada@tei.or.th

แล้วเราจะช่วยกันลดขยะพลาสติกฝังกลบ กับ Less Plastic Thailand ได้อย่างไร ?
นอกจากโครงการแยกขวดช่วยหมอในช่วงโควิด และ ‘มือวิเศษ กรุงเทพ’ แล้ว ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่ป๊อป เข้าไปเป็นที่ปรึกษา และเสริมพลังการทำงานกลุ่มอยู่ เช่น โครงการบางขยะ รวมตัวเคลื่อนไหวเรื่อง กิจกรรมขยะกำพร้าสัญจร กลุ่มนี้เชื่อว่า ‘ขยะมีทุกบาง ขยะบางอย่างยังจัดการได้’ ขยะแบบไหนควรเผาเป็นเชื้อเพลิง และเผาในเตาที่ไว้ใจได้

โครงการ ‘เรา รัก อโศก’ พันธมิตรชาวอโศกบุเรี่ยน ที่รักสิ่งแวดล้อมมาร่วมขับเคลื่อนให้เขตอโศก เป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งความสุขของทั้งอาหาร อากาศ และอนามัย โครงการ ‘เพื่อนคู่คิด(ส์) โรงเรียนปลอดขยะ’ พัฒนาสื่อการสอน เกม การ์ตูน คลิปวิดิโอ เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตมาพร้อมกับทักษะชีวิตในการจัดการขยะ คุณครู ผู้ปกครองสามารถดาวน์โหลดสื่อการสอนได้ที่นี่

ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในประเทศนี้ ถ้าลดใช้พลาสติกไม่ได้ ขอเพียงช่วยกันแยกขยะพลาสติกเพื่อให้พลาสติกได้เข้าสู่ระบบการรีไซเคิลแทนการฝังกลบ

สามารถติดตามรายละเอียดและการมีส่วนร่วมกับโครงการของ Less Plastic Thailand ได้ที่ www.facebook.com/lessplasticthailand

Send Us a Message